โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ถอดบทเรียนจากเวเนซุเอลา-อาร์เจนตินา เงินกลายเป็นเศษกระดาษ เหตุจากรัฐใช้จ่ายเกินตัว อัดฉีดงบประชานิยม กู้เงินมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่รายได้จากการขายน้ำมันลดวูบไป 50% ซ้ำค่าเงินอ่อนยวบเมื่อเทียบกับยูเอสดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่อง ไทยควรดูเป็นตัวอย่าง ระวังอย่าซ้ำรอย ส่วนสงครามการค้าอเมริกา-จีน ไทยยังต้องคบทั้งสองฝ่าย แต่เลือกช่องทาง-โอกาสทางการค้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ของไทยให้มากที่สุด
จากวิกฤตการเงินที่อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา จนมาถึงตุรกี มองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
จากที่เราได้ยินเรื่องสงครามการค้า ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำกับประเทศที่เขาขาดดุลการค้าเยอะๆ แต่อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องของสงครามและค่าเงินด้วย ซึ่งมาจากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือทรัมป์ที่เข้าไปทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อดอลลาร์แข็งค่าเงินสกุลอื่นๆ ก็อ่อนค่าตามไป ส่วนสาเหตุที่สองเป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างภายในประเทศของเขาเอง ก็คือโครงสร้างเศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศที่สะสมปัญหามานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโครงสร้างเศรษฐกิจ 10 ปีที่ผ่านมามีการใช้จ่ายเกินตัวเกิน ตรงนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ซึ่งวัดจากค่าเงิน
อย่าว่าแต่ต่างชาติจะไม่ถือเงินเขาเลย ในประเทศเขาก็ไม่อยากถือเงินเขา เพราะเงินเหมือนเศษกระดาษ ไม่สามารถจะซื้ออะไรได้เลย อย่างเวเนซุเอลาเงินเขาเหมือนกระดาษ ซึ่งจะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อที่จะซื้อน้ำสักขวด คือเกือบจะไม่มีค่าอีกต่อไป ถ้าเอาเงินตั้งไว้ในเวเนซุเอลาก็อาจจะไม่มีใครมาหยิบ ซึ่งเงินเฟ้อไปถึง 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ ของแพงขึ้น มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ ปัญหาหลักๆ สะสมมานาน ในกรณีของเวเนซุเอลาจะหนักหน่อย ส่วนกรณีของอาร์เจนตินาจะไม่หนักเท่าเวเนซุเอลา ขณะที่กรีซก็คล้ายๆ กัน แต่ว่าปัญหาจะน้อยกว่าเวเนซุเอลา
สำหรับเวเนซุเอลาอย่าว่าแต่คนในประเทศจะไม่อยากถือเงินเลย ประเทศตัวเองเขาก็ไม่อยากจะอยู่ มีหนีออกไปอยู่กับเพื่อนบ้าน ที่หนีออกไปคิดว่าน่าจะ 3 ล้านคน จากคนในประเทศที่ 30-31 ล้านคน เขาคาดการณ์ว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีชาวเวเนซุเอลา 4-5 ล้านคนที่ไม่อยากอยู่ประเทศของตัวเอง และจะไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจแล้ว แต่มันลามไปยังสังคมและอีกหลายเรื่อง
อาร์เจนตินาที่ไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ จะกลายเป็นหนีเสือปะจระเข้หรือเปล่า
อาร์เจนตินาเขาก็มีหนี้ของเขาอยู่แล้ว ที่จะต้องหาเงินเข้ามาช่วยตัวเอง เหมือนบ้านไม่มีเงินก็ต้องกู้ยืมเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับอาร์เจนตินาที่ไปขอกู้ไอเอ็มเอฟแล้ว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สามารถจะมาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้หรือไม่ จะทำให้เงินเปโซเขากลับมาดีขึ้นหรือเปล่า แต่ตอนนี้มันอ่อนเท่ากับ 1 ดอลลาร์ใกล้เคียงกับค่าเงินบาท ประมาณ 30 เปโซ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะยืนระยะได้มั้ย และต้องมีการลดค่าใช้จ่ายในบ้านเขา ซึ่งประธานาธิบดีก็พยายามทำอยู่ ยุบกระทรวง ลดค่าใช้จ่าย ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้เหมือนกัน
แต่ว่าทั้ง 2 ประเทศนี้คืออาร์เจนตินากับเวเนซุเอลาต่างมีรายได้มาจากการขายน้ำมัน พอราคาน้ำมันตก ก็ทำให้รายได้หายไป เวเนซุเอลาเจอไปเยอะเลย จากเดิมขาย 100 เหรียญต่อบาร์เรล ตกมากว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล ตอนนี้เหลือ 50 เหรียญ จากเดิมขาย 100 เหรียญเหลือ 50 เหรียญ เงินในบ้านหรือรายได้หายไปครึ่งนึง ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ารายได้เขาจะเป็นอย่างไร อย่างเวเนซุเอลาของกินของใช้ต้องนำเข้าหมดเลย ส่วนอาร์เจนตินายังดีหน่อย ยังมีสินค้าเกษตรที่พอจะมีขาย ก็ถือเป็นข้อดีของอาร์เจนตินาที่พวกถั่วเหลือง สินค้าเกษตรไปขายให้สหรัฐอเมริกาที่มีปัญหากับจีนในแง่สงครามทางการค้า ส่วนจีนไม่ซื้อจากสหรัฐอเมริกา จีนก็หันไปซื้อจากอเมริกาใต้ บราซิล อาร์เจนตินา ตรงนี้อาร์เจนตินาก็พอมีช่องหายใจได้หน่อย ก็ขึ้นอยู่ว่ารายได้เขาจะเข้ามาได้แค่ไหนเพื่อจะประคับประคองเศรษฐกิจ
แล้วตุรกีที่กำลังป่วยอยู่
หนักๆ ที่ตุรกีเจอคือเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่อาจจะยังไม่รุนแรงเท่ากับอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา ปัญหาหลักของตุรกีคือโดนแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินของตุรกีตกลงไปเยอะเลย ตรงนี้คือหลักๆ รวมถึงเรื่องการเมืองที่ไปจับคนสหรัฐอเมริกาแล้วไม่ปล่อยออกมา ก็เจอการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไป ดังนั้นการทำธุรกรรมกับสหรัฐอเมริกา ก็ไม่สามารถทำได้ จะขายของ สหรัฐอเมริกาก็ไม่ซื้อ จะทำการลงทุน สหรัฐอเมริกาก็ไม่เอาด้วย ตุรกีก็เลยต้องหันไปคบค้าสมาคมกับประเทศอื่นอย่างรัสเซีย จีน ดังนั้น บางทีนโยบายตอนนี้ก็มีหลายมิติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งเป็นเรื่องการเมือง และจากที่สหรัฐอเมริกาตั้งธงว่า ฉันต้องมาก่อน อาจจะกลายเป็น “สหรัฐอเมริกาอโลน” ก็เป็นได้ จากที่สหรัฐอเมริกาทะเลาะกับจีน และก็กำลังจะทะเลาะกับญี่ปุ่น จากที่จะไปทำสงครามการค้ากับญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาก็จะดูโดดเดี่ยวในปัจจุบัน
ส่วนอินโดนีเซียเป็นอย่างไร หลังจากค่าเงินรูเปียห์ตกหนักสุดในรอบ 20 ปี
ช่วงที่เป็นอาเซียนใหม่ๆ ค่าเงินรูเปียห์ก็อ่อนมาตามลำดับ แต่ว่าช่วงนี้เราเห็นค่าเงินหลายประเทศจะอ่อนลงเยอะ ก็เหมือนที่บอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ภายในประเทศเขาดี ทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้น ดังนั้น ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนลงมา หรือจริงๆ ไม่ใช่แค่รูเปียห์ แต่ค่าเงินในภาคอาเซียนจะอ่อนตัวทุกประเทศ ส่วนจ๊าดของเมียนมาร์ก็อ่อนเยอะ รูเปียห์น่าจะอ่อนเป็นอันดับที่สอง ไทยเป็นอันดับที่สาม ซึ่งเป็น 3 เดือนที่ผมได้มอนิเตอร์อยู่ ซึ่งไม่ถึงกับเป็นปัญหารุนแรงมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าค่าเงินของประเทศของใครอ่อนกว่าใคร รอบนี้กลายเป็นอินโดนีเซียอ่อนกว่าเยอะ ถ้าเรามองในแง่ดีคือเขาอาจจะขายของได้เยอะกว่า เพราะมันถูกกว่าเมื่อเทียบกับไทย มาเลเซีย เขาก็ต้องได้รับความเจ็บปวดในเรื่องการนำสินค้าเข้ามาเพราะแพงกว่า ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นกว่าประเทศอื่น แต่ยังอยู่ในวิสัยที่เขาน่าจะควบคุมได้อยู่
จากประเด็นอเมริกาเฟิร์ส จนเกิดวิกฤตในประเทศต่างๆ สุดท้ายเราต้องระวังกันอย่างไร
บทเรียนในสองเรื่องคือกรณีทรัมป์และกรณีโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น
อย่างกรณีของเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา เราได้บทเรียนอะไร ทำไมเขาต้องเป็นอย่างนี้ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขามีการใช้จ่ายเกินตัวจนเกินไป รัฐบาลก็ไปอุดหนุนเกินไป ใช้งบประมาณในการขาดดุลทางการคลังเกินไป อัดเงินเข้าไปเกินตัว
พูดง่ายๆ คือมีเงินอยู่ 100 บาท แต่จ่ายเกินไป และที่จ่ายเกินไปเพราะไปกู้เขามา วันหนึ่งรายได้มีไม่พอ ก็ต้องเป็นหนี้เป็นสินสะสม อีกเรื่องคือเขาทำเรื่องประชานิยมเกินไป ไปอุดหนุนสินค้าเกษตรเกินไป ไปกู้เงินทำโครงสร้างพื้นฐานมากเกินไป วันหนึ่งรายได้ไม่มี ก็กลายเป็นหนี้เป็นสิน พอเป็นหนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจก็ไม่มี เห็นได้จากเงินของเขาเอง ที่ไม่มีใครอยากจะถือ และการที่ไม่มีใครอยากจะถือ ทำให้ค่าเงินของเขาอ่อนไปเรื่อยๆ แต่ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งไปเรื่อยๆ ค่าเงินเขาเลยไม่มีค่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของเวเนซุเอลาและอาร์เจนตินา
ส่วนกรณีที่สองผมคิดว่าเป็นกรณีของทรัมป์ ซึ่งทรัมป์ขณะนี้น่าจะเกิดเป็นเรื่องของลัทธิเอาอย่าง นโยบายของทรัมป์ก็คือ ไม่ต้องการทำการค้าที่เป็นระดับหลายๆ ประเทศรวมกัน ไม่เห็นด้วยที่จะเป็นสมาชิก WTO เขาโจมตี WTO เขาไม่เห็นด้วยที่จะอยู่ในนาฟต้า คืออเมริกา เม็กซิโก แคนาดา เขาเลือกที่จะเจรจา 2 ประเทศ เขาเจรจากับเม็กซิโกแฮปปี้มากเลย แคนาดาเขาก็พยายามเจรจากันอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่ ดังนั้นเขาจึงไม่เข้าร่วม TPP ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เลิกไปแล้ว เขาไม่เข้าร่วม เห็นมั้ยหลายกลุ่มเขาไม่ให้เข้าร่วม เกิดการเลียนแบบ เกิดการค้าแบบ 2 ประเทศมากขึ้นต่อไป แต่สิ่งที่เราเห็นวันนี้ก็คือจีน ที่ยังบอกว่าต้องรวมกลุ่มกัน จีนยังบอกว่าต้องทำการค้าแบบเสรี จีนยังพูดถึงความเป็นธรรมทางการค้ามากขึ้น กลายเป็นว่าจีนมาเป็นแกนหลักพูดแทนที่สหรัฐอเมริกาไปแล้ว
ประเทศที่ผูกขาดการค้าอย่างจีน กลับมาบอกพูดเรื่องเสรีทางการค้า อย่างนี้ โลกจะต้านทรัมป์อยู่มั้ย
รวมๆ กันหลายประเทศอาจจะเอาอยู่ คือทรัมป์เขาปรับมิตรเป็นศัตรูหมด ตุรกีก็ไม่เอา แคนาดาก็ไม่เอา ญี่ปุ่นก็ไม่เอา ซึ่งญี่ปุ่นคือเพื่อนแท้ของเขา อียูด้วย แต่กลับไปกอดคอกับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นศัตรูกันมานาน หลักๆ คือเรื่องการขาดดุลทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรัมป์ไปหาเสียงว่าจะแก้ไขปัญหานี้ของสหรัฐอเมริกากับประเทศต่างๆ ที่มีอยู่เยอะ แต่ทำไปทำมายิ่งแก้ก็ยิ่งขาดดุลเยอะเข้าไปอีก ซึ่งบทเรียนก็น่าจะมีอยู่แล้ว คือทรัมป์ไม่ใช่คนแรกที่มาแก้ปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้า ก่อนหน้าจะมีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และโอบามา ก็แก้ปัญหาทั้งแซงก์ชั่น คว่ำบาตรเศรษฐกิจ ก็ปรากฏว่าตัวเองเจ็บเอง การที่ขึ้นภาษีของประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาขาย ธุรกิจก็เดินไม่ได้ โรงงานผลิตก็ไม่ได้ เพราะนำวัตถุดิบมาแพง การว่างงานก็เกิดขึ้น มันเป็นบทเรียนที่ถูกมัดด้วยการที่เขาไปหาเสียงไว้ ก็ต้องทำ จะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องดูต่อไป สุดท้ายแล้ว เขาก็กลับมาช่วยภาคเกษตรประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ แต่ว่าด้วยนโยบายต่างๆ ที่เขาทำมา ข้างในมันแข็งขึ้น แบงก์ บริษัทใหญ่ๆ การจ้างงานมันมีมากขึ้น มันเลยยังไปได้อยู่ ความมั่นใจต่อดอลลาร์มีมากขึ้น ก็เลยยังเดินไปต่อได้ แต่ระยะยาวต้องดูว่าแกนเศรษฐกิจของโลกมันน่าจะเปลี่ยน มุ่งไปที่จีนมากขึ้น ฉะนั้นนี่คือเหตุผลหลักๆ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ เหตุผลหลักๆ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ชอบจีน นอกจากเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องของการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าไปขโมยความลับทางการค้า ก็เพื่อไม่อยากให้จีนเป็นใหญ่ ฉะนั้นนโยบายจีนที่บอกว่าเมด อิน ไชน่า 2025 นี่แหละ ที่ทำให้ทรัมป์ต้องการเตะตัดขาให้จีนล้มให้ได้ จึงทำทุกอย่าง
ไทยต้องทำอย่างไร เพราะเราต้องอยู่กับสองประเทศนี้เสียด้วย
เราต้องกลับมาดูบทเรียนเรื่องค่าเงิน บทเรียนของเวเนซุเอลา บทเรียนของอาร์เจนตินา เราน่าจะเรียนรู้อะไรมาได้พอสมควร ส่วนของไทยต้องทำอย่างไรนั้น เพราะเราต้องคบทั้งสองคน มันก็ต้องมาดูว่า จากกรณีที่เขาฮึ่มๆ กันอยู่ในแง่สงครามการค้า เราจะได้จะเสีย และทิศทางจะเป็นอย่างไร แน่นอนเราคบสองคน แต่ว่าเราส่งวัตถุดิบไปขายจีนเยอะ เราส่งยางไปขายจีน และจีนไปผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ จีนส่งไปสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ก็จะกระทบห่วงโซ่การผลิตของเรา เพราะจีนขายลดลง จีนจะทำอย่างไรดี แต่เห็นว่าจีนจะขยับขยายโรงงานมาผลิตวัตถุดิบในประเทศอาเซียนมากขึ้น นี่คือภายใต้ยุคทรัมป์ แต่เราจะทำอย่างไร เราไปขายจีนไม่ได้ หันไปขายยุโรปแทนมั้ย หรือไปขายสหรัฐอเมริกาแทนมั้ย เราก็ผลิตล้อรถยนต์ของเราไปขายสหรัฐอเมริกาแทนมั้ย กรณีถ้าเป็นสินค้าเกษตร จีนไม่ซื้อสหรัฐอเมริกา เราก็ขายจีนสิ จีนไม่มีสินค้าเกษตรกิน เราก็ไปขายให้จีนแทน งั้นเราก็เร่งค้าขายกับจีนแทน วิกฤตมันก็มีโอกาส เราก็เร่งเจรจากับสองประเทศนี้ เพื่อเป็นโอกาสการค้าของเรา