top of page
312345.jpg

ทำไมหนี้สาธารณะสูงสุดในรอบ 20 ปี ?


หนี้สาธารณะของไทยย้อนกลับไปสู่ช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ยอดหนี้โตที่สุดในรอบ 20 ปี รัฐกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะขึ้นแวตที่เป็นรายได้ทางภาษีสูงสุดก็กลัวประชาจะไม่นิยม การออกกฎหมายใหม่หวังหารายได้เพิ่ม ก็ถูกมองเป็นการขูดรีด

แม้แต่การขึ้นภาษีสรรพาสามิต ที่ดูคล้ายกับทำเพื่อให้คนไทยลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดการสูบบุหรี่

แต่แท้จริงเป็นการหาเงินมาปิดรูกลวงในงบประมาณ ที่คลังถังแตกจนหารายได้มาชดเชยไม่ได้ จะกู้เพิ่มก็ไม่กล้า อ้างจะชนเพดานกู้

แต่เหตุผลแท้จริงคือ หนี้สาธารณะ (public debt) ขณะนี้สูงที่สุดในรอบ 20 ปี

หนี้สาธารณะคือหนี้ที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อ แต่ที่ใช้คำว่าสาธารณะก็เพราะเป็นหนี้สินของสาธารณะ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งด้านผลประโยชน์จากหนี้และด้านชำระหนี้

ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ทำสถิติสูงที่สุดมีขึ้นในปี 2540 อันเป็นปีวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ครั้งนั้นต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟมาพยุงเศรษฐกิจ

แต่ต่อมาจ่ายหมด หลังทักษิณ ชินวัตรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับประโยคอหังการ “ไอเอ็มเอฟไมใช่พ่อ”

จากนั้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โครงการเก่ากะลาอย่างสนามบินหนองงูเห่าก็เอามาปัดฝุ่นสร้างจนเสร็จหลังจากค้างคามา 42 ปี

มองเชิงเศรษฐกิจ โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดในรอบศตวรรษ คนไทยมีงานทำกันเพิ่มขึ้น สภาพคล่องล้นเหลือเจือจานไปสู่เศรษฐกิจภาคอื่นๆ

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง

มองในแง่ธุรกิจ โครงการนี้ทำให้มีมหาเศรษฐีเมืองไทยเกิดขึ้นหลายคน โดยเฉพาะนักการเมืองสายไทยรักไทย

บางคนก็ถูกตราหน้าว่าทรยศ “นาย” หลังถูกทหารจับไปปรับทัศนคติในค่ายทหารหลังรัฐประหาร 2549

เศรษฐกิจไทยยุคนั้นอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน มาจนถึงช่วงขัดแย้งทางการเมือง จึงดิ่งลงมาอยู่แถวที่ 2

ยิ่งเมื่อเกิดการชัตดาวน์กรุงเทพฯ เศรษฐกิจไทยก็ตกไปอยู่หลังเวียดนามที่ก่อนหน้านั้น กูรูเศรษฐศาสตร์ไทยเกือบทุกท่านปรามาสว่า กว่าจะทันไทย ต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปี

ถึงวันนี้ ไทยกลายเป็นชาติที่ตัวเลขจีดีพีโตต่ำสุดในอาเซียน ทั้งที่อาเซียนได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อัตราเติบโตของจีดีพีสูงที่สุดในโลก

เสียดายที่ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองเป็นตัวถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทย

โครงการ 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคม น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ดีที่สุด เพราะจะช่วยให้ไทยมีขีดแข่งขันสูงกว่าเพื่อนอาเซียนด้วยกัน

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 โครงการนี้ถูกระงับคือล้ม ทั้งๆ ที่หากเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่เป็นผู้ร่างแผนแม่บทฉบับนี้

เงินจะไหลเข้าสู่ระบบปีละนับแสนๆ ล้านบาท

จะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี)

ทำให้ขีดแข่งขันของสินค้าไทยในการส่งออก ซึ่งไทยต้องพึ่งพา เพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 75% (สิ้นปี 2559) มีสูงขึ้น

ตามแผนใช้เงินในโครงการนั้น ปีแรก (2557) กำหนดใช้ 81,597 ล้านบาท

ปี 2558 ใช้ 310,508 ล้านบาท ปี 2559 ใช้ 473,043 ล้านบาท ปี 2560 ใช้ 508,336 ล้านบาท ปี 2561 จะใช้ 362,633 ล้านบาท ปี 2562 จะใช้ 177,552 ล้านบาท และปีสุดท้ายของโครงการ 2563 จะใช้ 65,280 ล้านบาท

เงินจำนวนเหล่านี้ ไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบ 2-3 รอบภายใน 7 ปี คนไทยจะมีงานทำเท่าใด? จีดีพีจะโตขึ้นมาอีกเท่าใด?

ยิ่งช่วง 10 ปีแรกที่ปลอดหนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ก็ยิ่งช่วยให้ไทยสามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างไม่ฝืดเคืองเชื่องช้านัก

เมื่อยกเลิกโครงการ เงินลงทุนของรัฐตามโครงการที่ตั้งไว้ก็หดหายไป

ต้องกินบุญเก่า กินอยู่ 2 ปี 8 เดือนหลังทำรัฐประหาร ก็หมด

ช่วงก่อนรัฐประหาร เงินคงคลังที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทิ้งไว้มีอยู่ 605,052 ล้านบาท สิ้นปี 2559 เหลือแค่ 74,907 เท่านั้น

เป็นตัวเลขเงินคงคลังที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับแต่ปี 2550

ปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายน รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ 4.7 แสนล้านบาท ต้องกู้มาชดเชยการขาดดุล 1.04 แสนล้านบาท แต่ก็ยังขาดดุลเงินสดอยู่อีก 3.66 แสนล้านบาท

นี่เองที่เป็นที่มาของเงินคงคลังที่เหลือแค่ 74,907 ล้านบาท

เข้าข่ายถังแตก

ทำให้ต้องเร่งหารายได้เป็นการด่วน ด้วยการออกพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้าคลังหลายฉบับ

ตั้งแต่ พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว ที่เนื้อหาหลักคือการให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องโดยค่าขึ้นทะเบียนตกหัวละ 50,000 บาท ใครฝ่าฝืน หากถูกจับได้จะโดนปรับหัวละ 400,000 บาท

ปรากฏว่าแรงงานต่างด้าวกลับบ้านเรียบ กว่า 3 ล้านคน กลับมาขึ้นทะเบียนแค่ 7-8 แสนคนเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่รับภาระค่าขึ้นทะเบียนไม่ไหว

พ.ร.บ.ต่อๆ มาก็คือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ร.บ. ค่าใช้น้ำหรือชาวบ้านเรียกว่าภาษีน้ำ ล่าสุด พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์พืช

แต่ละพ.ร.บ.ล้วนถูกประชาพิจารณ์กันรุนแรงทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาษีน้ำ ต่างมองว่ารัฐบาลรังแกคนจน

พ.ร.บ.ไหนโดนโจมตีหนักๆ นายกฯก็แก้ปัญหาแบบง่ายๆ โดยสั่งระงับหรือชะลอการบังคับใช้

อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชน 9 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่า ขยายตัวติดลบ ทั้งจำนวนรายและมูลค่า

ทำให้หวั่นกันว่า การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลปีงบประมาณนี้ที่เริ่มต้น 1 ต.ค.จะเก็บได้ต่ำไม่ต่างจากปีที่แล้ว ที่เก็บได้ต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึง 22.7%

ภาษีที่เก็บได้ ก็คงจะพลาดเป้าอีกตามเคย ต้องกู้หนี้มาอุดรอยถังแตกอีกรอบ

เหตุเหล่านี้เองที่เป็นผลให้หนี้สาธารณะพอกพูนสูงที่สุดในรอบ 20 ปี

400 views
bottom of page