top of page
312345.jpg

จีดีพีกับปัญหาน้ำท่วม


เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 60 มีข่าวดีจากสำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังแห่งหนึ่งคือสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เศรษฐกิจไทยโตขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี เพราะผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยวขยายตัวสูง

บลูมเบิร์กรายงานว่า รายได้ประชาชาติของไทยขยายตัว 3.7% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากที่ขยายตัวเพียง 3.3% ในไตรมาสแรก โดยอ้างที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

บลูมเบิร์กระบุว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของจีดีพีของไทยสูงกว่าที่เขาสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 21 คนที่ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 3.2%

บทความของบลูมเบิร์กแสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีน่าจะแข็งแกร่งขึ้นต่อไป เพราะการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าดีมานด์ภายในประเทศจะยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร การลงทุนภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองแม้ว่ารัฐประหารจะผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี ส่วนการบริโภคภายในประเทศขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย

นอกจากนั้น ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยยังด้อยลง เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นปัญหาที่ทางการไทยต้องพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งตัวขึ้นจนกระทบต่อการส่งออกของประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนแห่งหนึ่งในลอนดอนแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อไปใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า เพราะดีมานด์ในประเทศเพิ่มขึ้นและทางการไทยยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง

สรุปรายงานของสำนักข่าวแห่งนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นทั่วๆ ไปของนักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจในเมืองไทยว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ให้ประเทศตราบเท่าที่ชาวจีนยังคงมาเที่ยวเมืองไทย กินอาหารไทย ไหว้พระพรหมเอราวัณ ส่วนภาคเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงคือภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในช่วงขาลงต่อไป แต่ไม่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก กับภาคการเกษตรที่มีความผันผวนสูง

อย่างไรก็ดี ต้องถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น และต้องให้เครดิตรัฐบาลที่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกขาลงได้ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แต่คงต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาภาคการผลิต ลดช่องว่างของการกระจายรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออก

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือเรื่องของอุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะปัญหาอุทกภัยเคยสร้างความเสียหายครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ให้กับชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศ

ผมเห็นข่าวน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่บังกลาเทศที่ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้คนเสียชีวิตไปนับร้อยคน และทำให้ผู้คนนับล้านไร้ที่อยู่อาศัยแล้ว นอกจากจะเห็นใจเพื่อนร่วมโลกแล้ว ทำให้เป็นห่วงและภาวนาว่าอย่าให้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เหมือนเมื่อปี 2554 อีก เพราะถ้าเกิดขึ้นอีกครั้งเชื่อได้เลยว่า นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยจะขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยจนย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่นอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแม้จะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 ก็จะเกิดคำถามว่า หลังจากที่เกิดอุทกภัยในครั้งนั้นผ่านมาเกือบ 7 ปี ทางการไทยได้ดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมบ้าง

ที่พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมีการถามไถ่กันพอสมควรในวงสนทนาว่า ปีนี้ดูเหมือนน้ำจะมาก จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ คาดเดากันไปต่างๆ นานา แต่ไม่มีใครมีคำตอบที่แน่นอนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร และคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง ในระดับไหน ความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ไม่ใช่ประเภทน้ำรอระบายมีมากน้อยเพียงใด

ผมจำได้ว่า หลังจากที่เกิดอุทกภัยปี 2554 ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ และกำหนดมาตรการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งในระยะเร่งด่วน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำไว้แล้ว แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการสื่อให้ประชาชนทราบว่าภาครัฐได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการเสนอแนะไว้ ก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด เมื่อใดที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดคำถามว่า น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 อีกหรือไม่

ผมเชื่อว่าหากภาครัฐให้ข้อมูลทั้งตัวเลขและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนและมาตรการบริหารจัดการน้ำที่เคยศึกษาเป็นทางการมาแล้ว (ถ้ามีการดำเนินการจริง) จะทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯและเมืองอุตสาหกรรมด้านบนปลอดภัยจากภัยน้ำท่วม และทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตในเขตที่เคยถูกน้ำท่วมมีความมั่นใจที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปที่เขตจังหวัดอื่นหรือแม้แต่ประเทศอื่น

ผมคิดว่าการที่หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ให้ย้ายสำนักงานบริหารน้ำมาสังกัดสำนักนายกฯให้นายกรัฐมนตรีดูแล น่าจะเป็นมาตรการที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยปัญหาน้ำของรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานตามแผนหรือนโยบายยังกระจายอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการหลายหน่วยงาน จึงควรที่จะมีการประเมินผลงานที่ผ่านมาจากยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำที่เคยจัดทำไว้แล้วนำมาให้ประชาชนทราบ และน่าจะทำให้การดำเนินการต่อไปมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น

จะได้ไม่มีใครถามต่อไปว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมไงครับ

 

Image: Pixabay

17 views
bottom of page