top of page
379208.jpg

จี้ธปท.ลดดอกเบี้ย 1 สลึง


เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง อาจมีดีขึ้นบ้างแบบชั่วครั้งชั่วคราว โครงสร้างหลักของปัญหาคือภาระหนี้สินของแต่ละประเทศที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำ ด้านนักลงทุนจะลงทุนระยะสั้นแบบปีต่อปี เน้นเก็บเงินสดไว้ปลอดภัยกว่า ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่ยังเดินหน้าแบบไม่ดีนัก มีดีแค่ภาคท่องเที่ยว ขณะที่ค้าปลีก เกษตร อุตฯ การบริโภคของปชช.ยังซบเซา ติง...นโยบายภาครัฐ แบงก์ชาติยังไม่ชัดเจน ไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด พร้อมแนะ...ระยะสั้นควรลดดอกเบี้ย เพื่อทดลองยาขนานใหม่ ดูว่าจะมีผลต่อค่าเงินบาทและเศรษฐกิจอย่างไร

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมว่ายังชะลอตัวอยู่ โดยบางประเทศปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเป็นแบบชั่วคราว โครงสร้างปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจโลกยังเป็นเรื่องของภาระหนี้สินซึ่งขณะนี้ยังมีแนวโน้มยังไม่ลดลง แต่โอกาสที่ภาระหนี้สินจะปรับตัวสูงขึ้นคงมีไม่มาก ซึ่งภาระหนี้สินของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า ส่วนปัจจัยอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่นในช่วง 1-2 ไตรมาสนี้มีปัญหาเรื่องการเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่มีผลมาจากนโยบายต่างๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เดินหน้าไปได้ช้ามาก

“ปัญหาเกาหลีเหนือก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา แต่อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวล แต่คงไม่ถึงกับเกิดการสู้รบกัน ขณะนี้อยู่ในระดับของการก้าวเข้าไปสู่การแซงค์ชั่น และหลายประเทศก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยลักษณะของสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง ส่วนใหญ่จะทำในลักษณะหนักเพิ่มขึ้น..

ส่วนสถานการณ์ทั่วไปอย่างการเมืองในยุโรปอาจจะมีบ้างแต่ก็ผ่อนคลายลงไป หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีปัญหาเรื่องนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่มีคะแนนนิยมตกลงมาเล็กน้อย ส่วนการเมืองไทยยังมีความสับสนอยู่ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนมากว่าในอนาคตจะแปรสภาพออกมาแบบไหน เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองเป็นปัจจัยที่วนเวียนเข้ามาเป็นระยะและแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง...

ภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ส่วนใหญ่นักลงทุนพยายามเก็บออมเป็นสภาพคล่องมากกว่าเข้าไปลงทุนต่างๆ โดยยังเป็นการรอดูสถานการณ์แบบเป็นปี อย่างปี 2560 นี้นักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน ส่วนค่าเงินดอลลาร์นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของทางการเงินที่ขณะนี้มีความผันผวนผิดปกติ ซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก เป็นเรื่องที่คาดเดายาก การเมืองสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยที่คาดคะเนได้ยาก...

“ความผันผวนของค่าเงินคงอ่อนตัวลงนิดหน่อย แต่ก็คงไม่มากแล้ว สถานการณ์การเมืองของสหรัฐอเมริกาเป็นสถานการณ์ที่คาดเดายากโดยเพราะกระแสการต่อต้าน จึงยังไม่ทราบว่าจะออกมาทิศทางใด พวกที่จะพยายามสอบสวนเรื่องต่างๆ จะสืบสวนลึกลงไปไกลเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ แต่ปัจจัยนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวเพราะยังไม่ทราบว่าโดนัลด์ ทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะสามารถดึงปัจจัยอื่นเข้ามาทำให้ความน่าเชื่อถือทางการเมืองดีขึ้นหรือไม่ โดยตอนนี้อาจอยู่ในช่วงตั้งรับและพรรครีพับบลีกันไม่ได้มีเอกภาพมากมายที่จะสนับสนุน”

ส่วนสถานการณ์น้ำมันนั้น ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความผันผวนเกินที่คาดไว้พอสมควร จากที่เคยปรับตัวลดลงไปแรงเมื่อ 1-2 เดือนที่แล้วก็เกิดขึ้นเกินกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญเคยได้คาดการณ์เอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ง่ายนักที่ราคาน้ำมันจะกลับไปที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะยังมีน้ำมันที่อยู่ในสต็อกจำนวนมากและน้ำมันที่ผลิตออกมาในช่วงนี้ยังมีมากอยู่พอสมควร

“ความรู้สึกไม่มั่นใจกับการใช้น้ำมันยังมีสูงอยู่ คือด้านอุปสงค์ไปช้า แต่ด้านอุปทานเป็นตัวแปรใหญ่ในขณะนี้ ปัจจัยนี้ก็มีผลอยู่ว่า ถ้าราคาน้ำมันทรุดตัวลงแรงเหมือนเมื่อ 2 เดือนที่แล้วก็จะไม่ส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ใกล้ 48-49 เหรียญต่อบาร์เรล ก็ต้องมีการประมาณการใหม่ ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาที่ผลิตน้ำมันหรือแร่ธาตุยังสบายใจได้ ไม่ถึงกับเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแรง แต่ก็ยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีมาก เพราะหลายคนเคยมองว่าควรจะดีได้แล้ว...ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยการส่งออกดีชั่วคราว การท่องเที่ยวดี แต่การบริโภคที่เป็นตัวหลักยังชะลอตัวมาก ผ่าน 7 เดือนมาแล้ว ในปีนี้คาดการณ์ว่าการเติบโตคงใกล้เคียงกันกับปีที่แล้วคือโตกว่า 3% และต้องคาดคะเนไว้ล่วงหน้าด้วยว่าสถานการณ์แบบนี้จะเป็นต่อไปเป็นปีๆ เพราะขณะนี้กระทบประชาชนทั่วไปค่อนข้างมาก เพราะรายได้ของประชาชนมีน้อยมากแต่รายจ่ายมีมาก ขณะเดียวกันหนี้สินภาคครัวเรือนมีสูงมาก ทำให้ประชาชนพยายามจะไม่แบกรับหนี้สินอีก จึงไปกดตัวเลขการบริโภค”

สำหรับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาคุมเข้มเรื่องสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ กล่าวว่า มาตรการคุ้มเข้มการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือนให้น้อยลง แต่ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายทาง และสวนทางกับการกระตุ้นการใช้จ่าย

“แต่ภาระหนี้สินมาจากรายได้ด้วย ถ้ารายได้ดีภาระหนี้สินก็จะลดลง คนก็ไม่ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย ขณะนี้แหล่งรายได้ของประชาชนในไทยมีจำกัดมาก มีเหลือเพียงการท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ แต่ตัวอื่นไปไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ภัตตาคาร หรืออุตสาหกรรม ยังเดินหน้าแบบไม่ค่อยดีมากนัก ขณะที่การเกษตรเริ่มมาแย่ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความไม่แน่นอนของตลาดโลก สรุปคือในส่วนที่ยังดีต่อเนื่องคือการท่องเที่ยวที่ยังไปได้ดี แต่การบริโภคของประชาชนขั้นพื้นฐานไม่ดี มีความลำบากมากในขณะนี้ ส่วนการบริโภคของคนมีฐานะยังไปได้ดีอยู่”

ส่วนกรณีเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นปัญหาต่อการส่งออกของไทยนั้น ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า จะทำให้สินค้าของไทยแข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น ซึ่งค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคนั้น ค่าเงินบาทแข็งเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้

“เมื่อค่าเงินดอลล่าร์อ่อน เงินสำรองของไทยถือว่าจะยิ่งพอกพูน บัญชีเงินสะพัดค่อนข้างดีเพราะมีการท่องเที่ยวเข้ามา แต่เรื่องการนำเข้าของประเทศไทยมีน้อยเพราะเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว เพราะฉะนั้นดูเหมือนว่ามีภาวะที่ซ้ำเติมอย่างเรื่องค่าเงินบาท ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเข้าไปดูการบริหารค่าเงินบาทโดยจะต้องดูแลเพื่อไม่ให้ผิดปกติ เพราะถ้าค่าเงินแข็งผิดปกติก็จะไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว” ทั้งนี้ ศ.ดร.ตีรณกล่าวถึงช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทแข็ง แต่มีการลงทุนในตราสาร พันธบัตรไทยค่อนข้างมาก ว่าอาจเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยตราสาร พันธบัตรไทยยังสูง และดอกเบี้ยในต่างประเทศไม่ได้ขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้รู้สึกว่าการถือพันธบัตรไทยยังไปได้ดี กระแสเงินที่เข้ามาทำให้มีผลกับค่าเงินบาท

“ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่กล้าลดดอกเบี้ย เพราะยังลังเลว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็จริงแต่หนี้ครัวเรือนยังมากอยู่ ก็ยังกังวลเรื่องดอกเบี้ยและพยายามที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% และคาดว่าน่าจะคงที่ยาวไปจนถึงปีหน้า ไทยในภาวะแบบนี้คือเดินหน้าก็ไม่กล้าเดิน จะทำอะไรก็ไม่กล้าทำ จะขึ้นดอกเบี้ยก็กลัวว่าค่าเงินบาทแข็ง จะลดดอกเบี้ยก็กลัวว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่ม ทำให้มุมมองต่างๆ ไม่ชัดเจนขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด คือพยุงไปเรื่อยๆ ในแง่ของนโยบาย”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องภาษีไปแล้ว ส่วนค่าเงินบาทยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากปรับค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ก็ต้องลดดอกเบี้ย ต้องใจกล้าเหมือนหมอรักษาคนต้องลองใช้ยารักษา เช่นอาจจะลองลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อดูว่าค่าเงินบาทเป็นอย่างไร และภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่

“ส่วนหนี้ครัวเรือนก็เหมือนมาถึงทางตัน จะให้สูงไปกว่านี้คงไม่ได้แล้ว ขณะที่การจะลดหนี้ครัวเรือนก็คงต้องใช้มาตรการอื่น ซึ่งการแก้ไขปัญหาหลายด้านด้วยมาตรการเดียวคงทำไม่ได้ หากมองวิธีแก้แบบในระยะสั้นที่จะทำได้ง่ายก็ควรที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงนิดหน่อย ส่วนหนี้ครัวเรือนก็ออกใช้มาตรการอื่น เช่นมาตรการสถาบันการเงิน แล้วโฟกัสไปที่สถาบันการเงินของรัฐ เวลาที่จะปล่อยกู้ให้ดูรายได้ของผู้กู้ว่าจะกู้ได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่หนี้ครัวเรือนจำนวนมากไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิตอย่างเดียว สำคัญที่ประชาชนไปกู้สถาบันการเงินรัฐง่ายเกินไป เพราะสถาบันการเงินของรัฐไม่ได้มีการกำกับดูแลสินเชื่อมากเท่าสถาบันการเงินเอกชน หากทำตรงนี้ได้ก็ไม่ต้องกังวลหนี้ครัวเรือนมากนัก รัฐจึงควรลดดอกเบี้ยลงเพื่อไปแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสถาบันการเงินของภาครัฐแทน”

13 views
bottom of page