top of page
327304.jpg

ภาคอุตฯ-ขนส่งแข่งเดือด...ผู้ค้า LPG ตีปีกรับ ลอยตัวราคาก๊าซ


ธุรกิจค้าก๊าซหุงต้ม-LPG เชียร์สนั่น “ลอยตัวราคา” ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน ไม่ต้องมาช่วยแบกรับภาระแทนคนใช้ ประเมินสถานการณ์แข่งขันธุรกิจก๊าซหุงต้มในครัวเรือนไม่รุนแรง เพราะถูกคุมด้วย “ถังบรรจุ” ของใครของมัน ห้ามล้ำเส้น ตรงข้ามกับภาคอุตสาหกรรม-ขนส่ง อาจแข่งกันดุเดือด จัดโปรฯลด/แลก/แจก/แถม ยิ่งถ้ามีหน้าใหม่ประเภทเสือข้ามห้วยจากต่างแดน การต่อสู้แย่งลูกค้าจะเข้มข้น ถือเป็นโอกาสดีของผู้ใช้

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการลอยตัวราคาก๊าซ LPG วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ว่า เป็นเรื่องสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคพอสมควร เพราะไปเข้าใจคำว่า “ลอยตัว” มีผลให้ราคาก๊าซ LPG ปรับขึ้นอย่างเดียว เป็นการเข้าใจผิดในความเป็นจริง คือราคาก๊าซ LPG จะปรับให้ตรงกับกลไกของตลาดที่เปิดเสรี เห็นได้ชัดเจนจากราคาน้ำมันรถยนต์ ทุกวันนี้เป็นราคาเสรีมาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น อย่าไปกังวลแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้ราคาลอยตัวคงไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแน่

“เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งและทำตอนนี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสม เนื่องจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกได้ลดลงมาต่ำกว่า 300 เหรียญต่อตัน ไม่แน่ว่าภายหลังจากวันที่ 1 สิงหาคม และหลังจากมีการประชุมของคณะกรรมการพลังงาน บวกกับราคาตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งทุกเดือนจะมีการกำหนดราคาก๊าซ LPG ครั้งเดียว เราอาจจะเห็นราคาก๊าซ LPG ลอยลงก็เป็นได้ คือราคาไม่ได้ลอยขึ้น”

สำหรับการแข่งขันในส่วนผู้ประกอบการ นายชิษณุพงศ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันสามารถแบ่งผู้ใช้ก๊าซ LPG ออกเป็น 3 ส่วน 1. ภาคอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกนำก๊าซ LPG ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น ผลิตพลาสติก และส่วนที่สองคือนำก๊าซ LPG ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตสินค้า สำหรับผู้ใช้ก๊าซ LPG ส่วนที่ 2. ภาคขนส่ง เป็นผลจากที่ราคาน้ำมันสูงถึง 140 เหรียญต่อบาร์เรลในอดีต ทำให้เป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้ก๊าซ LPG กับรถยนต์มากขึ้นจากที่ลิตรละกว่า 10 บาทเท่านั้น ทำให้ช่วงหลายปีมานี้ ตัวเลขการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งมีจำนวนมากขึ้น และส่วนที่ 3. ภาคครัวเรือน ที่บรรจุใส่ถังใช้ตามบ้านเรือน

“ถ้าเปิดเสรี กับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น แล้วมีผู้ค้ารายใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดด้วยนั้น 2 ภาคผู้ใช้ก๊าซ LPG ที่น่าจะได้รับผลกระทบและเกิดการแข่งขันสูง คิดว่าน่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ขณะที่ภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัดในเรื่องที่ว่าเราจะให้ผู้ใช้ตามครัวเรือน คือก๊าซต้องบรรจุถัง ทุกวันนี้เรามีถังก๊าซซึ่งมีเจ้าของมียี่ห้ออยู่ประมาณ 4 ยี่ห้ออยู่ 3 กรุ๊ปในการที่ดูแลถังก๊าซครัวเรือนในประเทศไทย โดยมีผู้ใช้ก๊าซจากที่คาดการณ์น่าจะอยู่ที่ 20-22 ล้านครัวเรือน เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามีถังก๊าซที่อยู่ในครัวเรือนทั่วประเทศก็ประมาณกว่า 20 ล้านใบ และในจำนวนนี้มันก็เป็นของยี่ห้อที่อยู่ในปัจจุบัน 4 ยี่ห้อ คือ ปตท.ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด, สยามแก๊ส, ยูนิคแก๊ส และดับบลิวพีแก๊ส” นายชิษณุพงศ์กล่าวและมองว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดครัวเรือนยังมีค่อนข้างจำกัด และมีอุปสรรคมากในเรื่องถัง เพราะถ้าเอาถังก๊าซมาบรรจุก๊าซ กฎหมายกำหนดว่าห้ามบรรจุข้ามแดน คือจะเอาถังก๊าซยี่ห้อนี้มาบรรจุกับยี่ห้อนี้ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ตรงนี้ก็อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาในตลาดก๊าซ LPG ในตลาดครัวเรือนมีอุปสรรคพอสมควร ทำให้การแข่งขันไม่สูงนัก

“ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง การแข่งขันรุนแรงขึ้นถ้ามีรายใหม่ๆ เข้ามา อาจจะมีการลด แลก แจก แถม โดยทุกวันนี้ก็เริ่มเห็นแล้ว จากราคาน้ำมันจากกว่า 40 บาทต่อลิตรเหลือกว่า 20 บาทต่อลิตร ฉะนั้นแรงจูงใจที่คนจะมาใช้ก๊าซ LPG จะน้อยลง ถ้าเราไปมองผู้ติดตั้งถังก๊าซ LPG รถยนต์ตอนนี้แทบจะไม่มีงาน แถมจากที่ปัจจุบันราคาน้ำมันไม่สูงมาก คนที่ใช้รถยนต์ 2 ระบบ คือน้ำมันกับก๊าซ หันมาใช้น้ำมันมากขึ้น ส่วนรถแท็กซี่มีการกำหนดจากทางราชการ ก็ไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีอย่างเดียว ดังนั้น ตอนนี้ตัวเลขยอดจำหน่ายก๊าซ LPG ของปั๊มทั่วประเทศลดลง ทุกวันนี้ปั๊มก๊าซ LPG ก็มีเลิกดำเนินการบ้างเล็กน้อย และมีการปรับตัว สร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันเช่นเติมก๊าซ 100 บาท แจกน้ำ 1 ขวด หรือเติม 200 บาท แจกสินค้าอื่นๆ”

นายชิษณุพงศ์กล่าวถึง ล่าสุดมีผู้ประกอบการรายใหม่จากญี่ปุ่นเข้ามาอีก 1 ราย ว่าคงให้ความสนใจ จากที่เห็นรัฐบาลไทยเปิดเสรีราคาก๊าซ LPG เพราะในช่วงที่ผ่านมายังเป็นการควบคุม การเปิดเสรีก็ถือเป็นธรรมกับทุกฝ่ายสำหรับผู้ใช้พลังงาน เพราะมีช่วงหนึ่งที่ก๊าซ LPG ตลาดโลกราคาสูง เราต้องนำเข้าเนื่องจากเราผลิตไม่พอ ราคาเคยสูงถึง 1 พันเหรียญต่อตัน แต่เรายังกำหนดราคาผู้ที่ใช้ก๊าซ LPG ที่กว่า 300 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือลิตรละ 11-12 บาท สำหรับผู้ใช้เติมก๊าซ LPG รถยนต์ ผู้ที่เติมน้ำมันไม่ว่าจะเป็นเบนซิน หรือโซฮอลล์ แต่ละลิตรต้องออกเงินเข้ากองทุนเพื่อไปพยุงราคาก๊าซ LPG เพื่อไม่ให้ราคาก๊าซ LPG ขึ้นซึ่งผู้ใช้น้ำมันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยที่รัฐเก็บเงินลิตรละประมาณ 50 สตางค์ เข้าไปพยุงกองทุนเพื่อไม่ให้ราคาก๊าซ LPG ปรับขึ้น ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะผู้ใช้ก๊าซ LPG ลิตรละ 11-12 บาทได้รับการอุดหนุนจากผู้ใช้น้ำมันลิตรละกว่า 40 บาท แต่ว่าวันนี้ก๊าซ LPG ปล่อยราคาเป็นไปตามเสรี ถือว่าเป็นธรรมแล้ว

“วันนี้ถ้าราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกสูง ก็ใช้แพง ถ้าถูก เราก็ใช้ถูกเหมือนน้ำมัน และวันนี้เราคาดการณ์ว่าราคาพลังงานจะไม่ขึ้นไปสูงเหมือนสมัยก่อนแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้รัฐบาลหน้า หรือรัฐบาลต่อไป คงไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างแน่นอน ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกสูงขึ้น มีกลไกเข้ามาดูแลหรือแทรกแซงคือกองทุนน้ำมัน หรือจะกลับมาใช้ราคาควบคุมก็ได้ ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่ง ผู้ใช้ในไทยใช้ก๊าซถูกกันมานาน โดยจากที่ใช้ก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม ราคากว่า 300 บาท และเคยขึ้นสูงสุดที่ 400 บาท ขณะที่เพื่อนบ้านไทยอย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ราคาอยู่ที่ 600 บาททีเดียว ถือว่าเราใช้ถูก และยังเป็นการสกัดกั้นการลักลอบก๊าซออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย”

 

Picture Credit: Pixabay

84 views
bottom of page