top of page
327304.jpg

'โลจิสติกส์ไทย' ไร้หัว - จี้รัฐเร่งตั้งสำนักงาน....รวมศูนย์ 16 หน่วยงาน


นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด หรือ EBCI กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเรื่องการตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติว่าได้พยายามผลักดันตั้งแต่สมัยอยู่สปช.-สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคณะกรรมการของสปช.มีความเห็นชอบที่จะมีการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ เพื่อที่จะบูรณาการรวมหน่วยงานราชการ 16 หน่วยงานมารวมอยู่ที่เดียวกัน และหลังจากนั้นได้ย้ายมาเป็นประธานที่สปท.-สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังได้ดูเรื่องโลจิสติกส์ได้รับเรื่องการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติมาจากสปช. และที่ประชุมสปท.มีมติเห็นชอบให้มีสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติด้วยคะแนนท้วมท้น 145 ต่อ 1 เมื่อผ่านความเห็นชอบจากสปท.ได้ส่งเรื่องนี้มาที่นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมีความเห็นสนับสนุนในเรื่องนี้และยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปเตรียมการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์ห่งชาติ แต่การดำเนินงานของการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ก็ใกล้จะครบ 1 ปีแล้วก็ยังไม่ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง

“การจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติยังไม่มีความคืบหน้า อาจเป็นเพราะติดระบบราชการและไม่ทราบว่าเรื่องนี้ติดอยู่ตรงไหน อีกทั้งยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่ถึงจะดำเนินการได้ระบบราชการไทยเหมือนกับที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยบรรยายไว้ว่าประเทศไทยจะแก้อะไรก็ตามต้องแก้ที่กฎหมายก่อน เพราะประเทศไทยมีกฎหมายโยงกันไปมาจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เรื่องสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติอาจจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังโดยคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ไม่อย่างนั้นการดำเนินการก็จะติดขัดแบบนี้ไปตลอด” นายสายัณห์กล่าวและมองสาเหตุที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ ส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากหน่วยงานโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง 16 แห่งหรืออาจมีมากกว่านี้ไม่อยากเสียความเป็นหัวหน้าก็เป็นได้

“ที่จริงแล้วการจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ได้ทำอะไรให้ใครเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการสร้างท่าเรือ สนามบิน หรือ ศูนย์กระจายสินค้า ก็ยังทำงานกันอย่างปกติ เพียงแต่ต่อไปหากจะสร้างโครงการต่างๆ อย่างรถไฟฟ้าหรือสนามบิน อาจจะต้องนำเรื่องมาเสนอที่สำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาตินี้ก่อน โดยสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติจะเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศเพื่อเชื่อมต่อกับอาเซียนหรือระดับโลก ปัจจุบันหน่วยงานใดที่จะสร้างสะพานหรือสร้างสนามบินก็สามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาการสร้างโครงสร้างต่างๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารเกษตรจำนวนมาก แต่ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดคิดที่จะจัดตั้งศูนย์รับส่งกระจายสินค้าเกษตร ทำให้ชาวนาต้องออกค่าขนส่งข้าวเปลือกเองจากนาไปโรงสี โดยแต่ละปีชาวนาต้องใช้เงินจำนวน 8,000 ล้านบาทในการขนส่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครลงมาดูแล แม้กระทั่งขณะนี้ชาวต่างชาติมารับซื้อล้งผลไม้ไทยด้วยตัวเอง โดยทำการจัดเก็บ ขนส่ง ทำโลจิสติกส์เองทั้งหมด ทำให้การขายผลไม้ไทยผูกขาดโดยคนต่างชาติ ถามว่าจะมีหน่วยงานราชการไหนลงมาทำแบบจริงจังบ้างหรือไม่ แม้แต่สนช.ออกรายงานมา 1 ฉบับว่าถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการดูแลล้งต่างชาติ ท้ายสุดชาวสวนไทยก็จะเป็นผู้รับจ้างปลูกผลไม้เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก”

เมื่อปราศจากสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ นายสายัณห์กล่าวว่า การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษกับการค้าชายแดนก็ยังไม่มีใครคิดจะทำ เพราะไทยได้เปรียบดุลการค้า ปัจจุบันการค้าชายแดนไทยเกือบจะ 2 ล้านล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งสินค้าจากภาคใต้มาทางเรือเพื่อมาขึ้นสินค้าที่ท่าเรือใหญ่แหลมฉบัง แม้ว่าจังหวัดในภาคใต้มีท่าเรือชายฝั่ง 300-400 แห่ง แต่คนที่ขนส่งสินค้าจังหวัดหนึ่งมาอีกจังหวัดหนึ่งทำไมถึงต้องใช้รถแล้วทำไมถึงไม่ใช้เรือ การขนส่งทางเรือไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก เพราะมีแต่คิดจะสร้างถนนโดยทราบหรือไม่ว่าการสร้างถนนใช้ต้นทุนสูงที่สุด แต่ต้นทุนทางน้ำใช้งบประมาณต่ำที่สุด รวมถึงระบบขนส่งทางรถไฟทั่วประเทศมีปริมาณการใช้เพียง 2% ของการขนส่งทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นผลจากการไร้ศูนย์กลาง

“สิ่งเหล่านี้ คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ ซึ่งในอดีตมีแต่ต่างคนต่างทำ แต่สำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติจะเข้ามาดูแลสิ่งเหล่านี้ หากสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติมีการอนุมติแล้วก็สามารถสร้างได้เพราะไม่ได้ไปยุ่งกับงบประมาณของคนจะสร้าง เพียงแต่จะดูแผนรวมใหญ่ว่าถ้าสร้างรถไฟสายหนึ่งไปเชื่อมกับรถยนต์หรือสนามบิน หรือเชื่อมต่อกันอย่างไรให้มีทางเลือกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจยังมีการพูดถึงโลจิสติกส์ แต่ก็อยากจะถามถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยแล้วแต่หน่วยงานราชการยังทำอะไรกันอยู่ถึงไม่มีใครนำเรื่องนี้มาผลักดัน”

นายสายัณห์กล่าวและเปิดเผยว่า เรื่องงานโลจิสติกส์แห่งชาติอยู่ในความดูแลของการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศหรือ กบส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน “แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่มีกบส.มาเป็นระยะเวลา 10 ปี ในบางปีมีการประชุม 1-2 ครั้ง หรือประชุมมากสุด 3 ครั้ง การประชุมแต่ละครั้งก็เป็นการแจ้งเรื่องเท่านั้น และคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกบส.เป็นหน่วยงานราชการทั้งสิ้น มีภาคเอกชนเป็นสมาชิกอยู่ 4 หน่วยงานเท่านั้น เวลาจะโหวตคะแนนก็จะเป็นเรื่องของภาครัฐเป็นแกนนำ และในปีนี้ทั้งปียังไม่ทราบเลยว่ามีการประชุมของกบส.หรือยัง”

นายสายัณห์เปิดเผยว่า สปช.เคยให้ข้อเสนอกับรัฐบาลโดยให้กบส.สามารถจัดตั้งอนุกรรมการได้ และให้อนุกรรมการทำเรื่องเสนอขึ้นมาว่าจะจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติและร่างพรบ.ขึ้นมาเพื่อเสนอให้กบส. โดยกฎหมายสามารถทำได้ทันทีแต่กบส.ไม่ทำ อีกการมีสภาพัฒน์ฯเป็นเลขาธิการของกบส.ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่ทำ โดยส่วนตัวไม่ได้เป็นคนเกี่ยวของกับราชการมากมาย เพียงแต่เห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา “คิดว่าเรื่องนี้ถ้านายกรัฐมนตรีถามไปถึงหน่วยงานราชการถึงสปช.ที่ได้ส่งเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้วว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ ขณะนี้เรื่องไปถึงไหนอย่างไร และทำไมถึงไม่มีการขับเคลื่อนออกมาเป็นเรื่องเป็นราว”

 

Picture Credit: Pixabay

39 views
bottom of page