top of page
327304.jpg

อย่าเพิ่งหวัง ‘ส่งออก’ ฟื้น...จี้แบงก์ชาติเห็นหัวผู้ส่งออก

ห้ามด่วนสรุป “ส่งออกไทย” ฟื้นคืนชีพหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตเกินเป้าที่ตั้งไว้ในปี 2560 เหตุครึ่งปีหลังเจอราคายางตกค่อนข้างเร็ว ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกดิ่งหนัก กระทบกำลังซื้อทั่วโลก คนกังวลเรื่องการใช้จ่าย ฉุดกำลังซื้อ ผู้นำสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือเตือนแบงก์ชาติบริหารค่าเงินบาทช่วย “สินค้าไทย” อีกทาง อย่าให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเกิดความรู้สึกว่าซื้อสินค้าไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก ตอนนี้แพงกว่าเขา 5% วอนให้นึกถึงหัวอก “ผู้ส่งออก” บ้าง อย่ามองแค่เงินไหลเข้า-ออก กับเงินดอลลาร์แข็ง-อ่อนค่าเท่านั้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 เติบโตกว่า 13% ว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกค่อนข้างจะน้อย ขณะที่ศักยภาพของไทยเน้นเรื่องการส่งออก มีน้ำหนักในจีดีพีกว่า 60-70% เศรษฐกิจของไทยที่เติบโตต้องพึ่งพาการส่งออก แต่เมื่อการส่งออกไทยมีการเติบโตล่าสุดนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ และอีกหลายหน่วยงานก็ดีใจ แต่ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกหลายปัจจัยเสี่ยง

“ตัวเลขเดือนพฤษภาคมหรือในช่วง 5 เดือนแรกมาวิเคราะห์ดู จะเห็นว่าการส่งออกในส่วนที่มีการเติบโตขึ้นมา มาจากผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา กลุ่มนี้จะมีการเติบโตค่อนข้างสูงมาก มาจากราคายางที่สูง แต่ขณะนี้ในเดือนมิถุนายนราคายางเริ่มตกลงแล้ว และลงค่อนข้างรวดเร็ว ตรงนี้ในอุตสาหกรรมยางก็เป็นกังวลว่าจะพยุงราคาได้ขนาดไหน ขณะที่เกษตรกร ผู้ปลูก ชาวสวนก็เป็นกังวลในเรื่องนี้ ขณะที่เราคิดว่าไม่น่าจะติดลบ คือยังเป็นบวก แม้ว่าราคายางจะลงมา แต่ราคายังสูงกว่าปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าอัตราการเติบโตจะช้าลง อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ทำให้ราคายางลดลง ส่วนหนึ่งจะมาจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลง ดังนั้น จึงดึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน และสารเคมีต่างๆ ให้ลดลงตาม”

สำหรับการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานางสาวกัณญภัคเปิดเผยว่า มีการเติบโตที่ดี เนื่องจากผลิตผลพืช ผัก ผลไม้ มีการออกผลตามฤดูกาล เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น ไทยเราต้องเจอภาวะภัยแล้ง ตั้งแต่ต้นปี 2560 มาจนถึงปัจจุบัน ไทยเราได้ผลผลิตที่ดีมาตลอดต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น โดยในกลุ่มข้าวช่วงนี้หมดสต็อกแล้วกำลังปิดฤดูใหม่ น่าจะมีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มผัก ผลไม้สด พอหมดฤดูนี้ อาจจะนิ่งไปเล็กน้อย เพราะเป็นผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล ตัวเลขอาจจะผันผวนลงมาบ้าง

ขณะที่ในกลุ่มรถยนต์เริ่มช้าลง ถ้าเราพิจารณาดูกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึงกลุ่มอัญมณี ตอนนี้จะไม่เติบโตเลย หากไปดูกำลังซื้อในต่างประเทศ จะเห็นว่ารถยนต์ได้ถดถอยลงมา เพราะจากที่ดูเศรษฐกิจโลกอาจจะโตก็จริง แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องการใช้จ่าย การใช้จ่ายแบบไม่ฟุ่มเฟือย เห็นว่าอัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินยูโร ดอลลาร์ จะมีการอ่อนตัวลงไปมาก ส่วนนี้ จะฉุดกำลังซื้อในต่างประเทศลงไปมากทีเดียว”

นางสาวกัณญภัคเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้พาคณะผู้ประกอบการเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยากให้ทางผู้บริหารแบงก์ชาติได้ทราบถึงสถานการณ์เรื่องการส่งออก ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ไทยไม่ได้ขายสินค้าประเทศเดียวในโลกนี้ ขณะเดียวกันไทยยังมีคู่แข่งขัน อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านที่ไปขายในประเทศเดียวกัน วันที่เข้าพบทางผู้บริหารแบงก์ชาติออกมาชี้แจง ทำให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยเงินบาทที่ผันผวนจะเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับเงินสกุลในภูมิภาคเดียวกัน

“เราเองเห็นด้วย คือค่าเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ แต่ก็ได้เรียนย้ำกับทางแบงก์ชาติ ให้ช่วยกรุณาแยกกลุ่มประเทศ คือจะมีประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ซึ่งถ้าค่าเงินไทยสัมพันธ์กัน ผู้ซื้อจะมีความรู้สึกว่าซื้อของไม่แพงขึ้น แต่ถ้าเราไปเทียบกับสกุลเงินที่เป็นคู่แข่งของไทยอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้ ค่าเงินจะอ่อนค่ากว่าไทย และความผัวผวนค่าเงินของเขาจะติดลบด้วยซ้ำไป ขณะที่ของไทย ค่าเงินจะแข็งค่าประมาณ 5% ส่วนคู่แข่งของเราค่าเงินแข็งค่าไม่ถึง 1% เลยกลายเป็นว่าของไทยแพงขึ้นแล้ว 5% ทางเราก็เลยไปชี้แจงกับทางแบงก์ชาติว่าช่วยกรุณาดูเรื่องค่าเงินให้เราด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่ามีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในไทยทั้งตลาดหุ้นและตลาดทุน และได้ดุลการค้าจากการส่งออกสูง แต่ก็อยากให้ดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้ผู้ส่งออกด้วย” นางสาวกัณญภัคกล่าว

“ทางแบงก์ชาติมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ว่าเราอาจจะเข้าถึงและไม่ลึกพอ ซึ่งถ้าเราได้ข้อมูลพวกนั้นมากขึ้น และส่งให้กับอุตสาหกรรมมากขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จะสามารถที่จะดูวิเคราะห์ข้อมูล และนำมาป้องกันความเสี่ยงได้ คือตอนนี้เป็นในลักษณะที่ว่าค่าเงินแข็งค่าแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองได้รายละเอียดไม่มากพอ จึงไม่รู้ว่าค่าเงินที่แข็งค่าเกิดจากอะไร และควรจะดำเนินการอย่างไรต่อ ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่วงเงินความช่วยเหลือที่ทางแบงก์ชาติหรือธนาคารพาณิชย์จัดให้กับทางผู้ประกอบการก็จะช่วยให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วย”

ก่อนหน้านี้ มีคนแบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงในเรื่องค่าเงินบาทไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่จะเกี่ยวเรื่องสินค้าไทยขายได้หรือไม่ หรือลูกค้ามีกำลังซื้อหรือไม่ นางสาวกัณญภัคกล่าวว่าลูกค้าไม่ว่าเป็นประเทศไหนจะนิยมสินค้าไทยแน่นอน ไม่เช่นนั้นตัวเลขการส่งออกคงจะไม่ขยับขึ้นจากทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม CLMV การค้าชายแดนและผ่านแดนมีอัตราเติบโตที่สูง สะท้อนความเชื่อมั่นในสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เชื่อว่าคุณภาพของสินค้าไทยเราดี ตรงนี้คือจุดแข็ง ไทยจะมีสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนมาก จากการส่งออกที่มากขึ้น พิสูจน์ให้เห็นได้ แต่ถ้าราคาสินค้าไทยแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราแลกเปลี่ยน จำเป็นจะต้องมีมาตรการ วิธีการให้ผู้ประกอบการรู้ว่าควรป้องกันอย่างไร และผู้ประกอบการไทยจะแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน

“มีการเสนอให้ผู้ส่งออกไทยค้าขายกับเพื่อนบ้าน ด้วยการใช้เงินสกุลของเพื่อนบ้านในการซื้อขาย ไม่ต้องผ่านเงินดอลลาร์ ตรงนี้จะเป็นเทรนด์ที่ดีขึ้น ถือเป็นอีกวิธีหนึ่ง ถ้าไทยไปพึ่งพาเงินดอลลาร์มากเกินไป และหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนมาก ค่าเงินไทยกับดอลลาร์ก็จะผันผวน การใช้สกุลเงินบาทในภูมิภาคตอนนี้มีการยอมรับกับทางประเทศเพื่อนบ้าน ตรงนี้ดีเพราะต้นทุนของไทยเป็นเงินบาท ถ้าไทยได้รายได้เป็นเงินบาท จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเลย” นางสาวกัณญภัคกล่าวและเปิดเผยว่าผู้ประกอบการได้พยายามชี้แจงกับทางแบงก์ชาติถึงเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกนิยมใช้ดอลลาร์เพราะทุกวันนี้ตลาดศูนย์ซื้อ/ขายดอลลาร์ใหญ่มาก จนกระทั่งต้นทุนในการซื้อขายเงินล่วงหน้าไม่เยอะ ความผัวผวนวันนี้จะดูน้อยกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเงินปอนด์

“ยกตัวอย่างหลังจากที่อังกฤษเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ผลออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะไม่ได้เสียงข้างมากในสภา เงินปอนด์หายไป 1.2% ถือว่าเยอะมาก แล้วพอเริ่มเจรจาเบรกซิท เมื่อช่วงสองอาทิตย์ที่แล้วก็หายไปอีกเกือบ 1% และอีกประการหนึ่งคือ วันนี้ความผันผวนในสกุลเงินอื่นอาจจะดูมากกว่าเพราะว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจกับการเมืองกระทบแรงมาก ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้อังกฤษทำให้การกระจายไปใช้เงินสกุลอื่นในวันนี้อาจจะดูเป็นความเสี่ยงมากกว่าเป็นการป้องกัน แต่ว่าจริงๆ เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าการซื้อขายในสกุลประเทศ CLMV ทางชายแดน หลายๆ ประเทศก็เริ่มยอมรับที่จะซื้อขายเป็นเงินบาท ถ้าทำได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงแน่นอน เพราะเพื่อนบ้านยอมรับเงินบาท และดูว่าความชอบจะเพิ่มมากขึ้นด้วย”

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นกับกาตาร์ จะกระทบกับการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางหรือไม่นั้น นางสาวกัณญภัคกล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ในช่วงแรกๆ กลุ่มประเทศ อ่าว ตัดสัมพันธ์เลย และปิดกั้นเส้นทางไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางเรือ และทางบก เพื่อไม่ให้กาตาร์เข้าถึงพวกสินค้าต่างๆ ได้ แต่ว่าวันนี้ทางกาตาร์สามารถนำเข้าสินค้าโดยผ่านกลุ่มประเทศอื่นแทน ทำให้ตอนนี้ปัญหาเริ่มคลี่คลายลงบ้าง เมื่อสามารถส่งสินค้าเข้าไปกาตาร์ได้ “แต่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นคือค่าระวางเรือ คือก่อนนี้เข้าผ่านดูไบและมากาตาร์ค่าระวางเรือยังไม่สูงเท่าไหร่ แต่พอเริ่มเปลี่ยนเส้นทาง ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการบางราย เพราะค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากที่ต้องไปสต็อกสินค้างที่ดูไบ ก็ต้องไปรับสินค้าและส่งออกต่ออีกขั้นตอนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี การค้าวันนี้ที่กาตาร์เริ่มเปิด คิดว่าไม่นานน่าจะมีการเจรจา และเปิดทำการค้าปกติได้”

15 views
bottom of page