top of page
312345.jpg

อย่าห่วงเงินร้อน เข้าไทยแค่จิ๊บๆ....เทียบไม่ติดมาเลย์-อินโดฯ


ประเมินสถานการณ์ “เงินร้อน” ไหลเข้ามาเก็งกำไรในเมืองไทยแค่จิ๊บๆ เทียบไม่ติดมาเลย์-อินโดฯ และยังไม่มากเท่ากับในอดีตเคยมีถึง 8.3 แสนล้านบาท แต่มีความเป็นไปได้สูง เพราะต่างชาติเริ่มหนีมาไทยจากอานิสงส์มีหนี้ต่างประเทศต่ำ มองปัญหาตั๋วเงิน B/E ยังไม่น่าห่วง ส่วนใหญ่ชักดาบ “เจ้าหนี้” เพราะการบริหาร/จัดการหนี้ไม่ดี/มีปัญหาทางเทคนิคในองค์กร นอกจากนี้เจ้าหนี้/นักลงทุนส่วนมากยังเป็นขาใหญ่เงินหนา ขนหน้าแข้งไม่ร่วง สามารถรับความหายนะได้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเรื่องเงินทุนไหลมาจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยว่า ในช่วงที่มีข่าวเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ก็จะมีเงินไหลออกไประลอกหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่เข้ามาทั้งภูมิภาค

“ของไทยมีเม็ดเงินลงทุนไม่ได้เข้ามาภายใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา แต่เข้ามาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2560 แล้ว ขณะที่ในช่วงปลายปีที่แล้วเป็นช่วงที่เงินลงทุนไหลออกไปหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ถึงตอนนี้เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในไทยมีประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท มูลค่าพันธบัตรที่ต่างชาติถือครองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของตลาดตราสารหนี้และตลาดพันธบัตรไทยทั้งหมด ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่ได้เยอะมาก” นางสาวอริยา กล่าวและว่า เม็ดเงินการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยที่เข้ามาอย่างเร็ว หากเป็นเม็ดเงินร้อน หรือ Hot Money โดยปกติจะเข้ามาในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก คือ ต้องเข้าได้เร็วและออกได้เร็ว

“ที่เห็นเงินค่อยๆเข้ามาตั้งแต่ต้นปีจะกลายเป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 5-10 ปี โดยปกติถ้าเป็นการเก็งกำไรเป็นหลักจะไม่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาว แต่จะไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น 1-2 เดือน หรือ 14 วันเป็นหลัก เพื่อเวลาที่จะนำเงินไหลออกไปจะได้ทำง่ายและไม่มีความผันผวนด้านราคา โดยจำนวนเงินลงทุนที่เข้ามาครั้งนี้ส่วนใหญ่ 80% เป็นเม็ดเงินที่ดูเหมือนเป็นเจตนาด้านการลงทุน หรือ Real Investment ระยะกลางหรือระยะยาว”

นางสาวอริยา เปิดเผยว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนต่างชาติในพันธบัตรเคยสูงถึง 830,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้มูลค่าพันธบัตรที่ต่างชาติถืออยู่มีประมาณ 700,000 ล้านบาท นับว่ายังไปไม่ถึงในจุดพีคสุด อีกมูลค่าที่ต่างชาติลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นการลงทุนถือพันธบัตรระยะยาวมีประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาทมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระจายการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคนี้ ยังมองการลงทุนในไทยเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่ผ่านมาการลงทุนในไทยยังมีน้อยกว่ามาเลซียหรืออินโดนีเซีย

“ปีนี้นักลงทุนต่างชาติได้ถอนการลงทุนจากมาเลซียหรืออินโดนีเซียเยอะมาก เพราะมาเลเซียได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและตัวเลขการเปรียบเทียบเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างได้เปรียบกว่า คือ ไทยมีทั้งดุลการค้า บัญชีเงินสะพัด บัญชีเงินทุนสำรองที่ค่อนข้างสูง หรือ หนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ นับเป็นแรงดึงดูดอย่างหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย” นางสาวอริยากล่าวและว่าเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นได้แต่ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว ในภูมิภาคนี้ค่าเงินแข็งขึ้นกันหมด เพราะเงินที่เข้ามาไม่ได้เข้าไทยประเทศเดียว ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นก็ต้องดูในเชิงเปรียบเทียบกับในภูมิภาค การที่แบงก์ชาติดูแลช่วยเหลืออย่างน้อยต้องดูแลให้ไทยสามารถเแข่งขันได้เมื่อเทียบกับในภูมิภาค

“เหตุการณ์ล่าสุดในตะวันออกกลางคิดว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด เพราะกาตาร์เป็นประเทศได้รับอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการลงทุนผ่านกองทุนรวมเข้าไปในกาตาร์อยู่บ้างประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านกองทุนระยะสั้น 3-6 เดือน ผลกระทบถ้าจะเกิดขึ้นกับกาตาร์คงเป็นระยะยาวมากกว่า เพราะว่าในปัจจุบันแง่ของเศรษฐกิจของกาตาร์ยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้นเม็ดเงินลงทุนก่อหน้านี้และครบกำหนดอายุก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเงินทุนจะไหลเข้ามาในไทยก็ยังมีโอกาสเพราะว่าไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งเมื่อเทียบกับในประเทศภูมิภาคเดียวกัน ในแง่ของพื้นฐานเศรษฐกิจถึงแม้ไทยดูแล้วโตไม่ได้อย่างใจ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันไทยยังดีอยู่”

กรณีข้อกังวลของตั๋วเงินระยะสั้น B/E ไม่สามารถไถ่ถอนได้นั้น นางสาวอริยากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาปัญหาของการผิดนัดชำระหนี้หากแบ่งออกมามี 3 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ 1. Technical Default ที่มีบริษัทหนึ่งมีกรรมการบริษัทถูกปลดและอาจไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ทำให้ไม่มีคนที่มีอำนาจลงนามในเรื่องการจ่ายเงิน แต่ปัญหานี้ก็ได้ถูกเคลียร์จบเป็นที่เรียบร้อยสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิม เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดความกังวล 2. สาเหตุของบางบริษัทไม่มีการบริหารสภาพคล่องที่เพียงพอ จากเดิมที่ต้องพึ่งพาจากการใช้เงินระยะสั้นเป็นหลัก และที่ผ่านมาตั๋วเงินระยะสั้น B/E ได้รับความนิยมมาก ทำให้มีการพึ่งพาการหมุนเงินผ่านตั๋วเงินระยะสั้น B/E เพราะนักลงทุนพอลงทุนครบ 3-6 เดือนก็จะทำการต่อ ไม่ได้มีการสำรองเงินเพื่อทำสภาพคล่อง ทำให้เป็นบทเรียนที่ต้องมีการเตรียมตัว

และ 3. เรื่องการบริหารที่มีความน่ากังวลของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งหรือความไม่โปร่งใสของผู้บริหาร ผลกระทบอาจจัดการได้ยาก และอาจส่งผลต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ได้ยินข่าวกันว่ามีบริษัท 4-5 รายมีปัญหา มีบางบริษัทเคลียร์ปัญหาจบไปแล้ว อาจจะมีเพียงปัญหาเรื่อง Technical สภาพคล่องระยะสั้นที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว แต่เมื่อมีเวลาเตรียมตัวมีการใช้หนี้หมดแล้ว ยังเหลือบางบริษัทที่มีปัญหาเรื่องความน่ากังวลของผู้บริหารที่ส่งผลถึงการบริหารงาน ทำให้มูลค่าของการผิดนัดของตั๋วพันธบัตรระยะสั้น B/E นำมาสู่การ Cross Default ของหุ้นกู้ที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 0.25% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้ของเอกชนทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับ NPL ของธนาคารจะมีประมาณเกือบ 3%

“ปัญหานี้ยังไม่น่ากังวลมากนักเพราะตั๋วพันธบัตรระยะสั้น B/E หรือหุ้นกู้นี้ตอนเสนอขาย จะเสนอขายในกลุ่มจำกัด คือ นักลงทุนรายใหญ่ หรือ นักลงทุนสถาบัน เช่น ต้องมีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้ไม่ไปถึงบุคคลธรรมดาทั่วไปที่เป็นนักลงทุนรายย่อย หรือถ้าจะซื้อผ่านกองทุนรวมก็ต้องลงทุนตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป เป็นการคัดกรองระดับหนึ่งแล้วต้องมีกำลังลงทุน ถ้าหากมีความเสียหายก็ยังจะรับได้ในระดับหนึ่ง” นางอริยากล่าวและพูดถึงปัญหาของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ว่ายังเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจำกัดวง การ Default เกิดขึ้นเป็นปลายทาง ทำให้เห็นว่าปัญหาที่ต้นทางอาจจะมองไม่เห็น อาจจะเป็นเรื่องของการขัดแย้ง หรือการบริหารสภาพคล่องที่ยังไม่ดีเพียงพอ ก็มาปะทุตรงตราสารหนี้ว่าเป็นบริษัทใหญ่โต มีสินทรัพย์หลายหมื่นล้านบาท แต่หนี้มูลค่าหลายสิบล้านบาทในตั๋ว B/E ถึงไม่สามารถชำระได้ “สะท้อนให้เห็นว่าต้องไปจัดการเรื่องสภาพคล่องของการบริหารงานข้างในองค์กร”

39 views
bottom of page