top of page
327304.jpg

จี้รัฐบาล-ธปท. เกาให้ถูกที่คัน...คนจน 14 ล้านน่าเป็นห่วง


นักเศรษฐศาสตร์มองตัวเลขลงทะเบียน “คนจน” เมืองไทยมีมากถึง 14 ล้านคนว่าน่ากลัว แล้วยังไม่น่ากลัวเท่าปัญหาปากท้องประชาชนมีมากกว่านี้บานตะไท ติงบทบาทแบงก์ชาติทำหน้าที่ตาลปัตร แทนที่จะดูงานหลัก เรื่องหลักๆ กลับไปดูงานเรื่องรองๆ หรือเรื่องที่เอกชนทำได้อยู่แล้ว

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยลำบากมานาน ขณะที่ประชาชนคาดหวังว่าจะดีขึ้น ส่วนภาครัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจริงๆ ดังนั้น การคาดคะเนที่คลาดเคลื่อน มีส่วนเหมือนกัน ทำให้การคาดคะเนต่างๆ ของประชาชนเปลี่ยนไป จากเดิมที่มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เริ่มไม่มั่นใจว่าจะดีจริงหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้ามาก ถึงแม้บางเดือน จะมีตัวเลขที่ดีขึ้นบางตัว อย่างเช่นส่งออก แต่ก็ไม่ชัดว่าจะเป็นแนวโน้มสั้นๆ ตรงนี้ก็มีส่วนทำให้มองว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง ถึงไม่ตรงกับสถานการณ์ที่ออกมา ขณะที่รัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณออกมาจำนวนมากซึ่งก็ไม่เห็นผล

“ก่อนหน้านี้ผมได้ให้ข้อสังเกตไปว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีลักษณะชั่วคราว เพราะฉะนั้นโอกาสที่ทำให้ฟื้นขึ้นมา คงต้องใช้เวลา และคงไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ขณะนี้เมื่อครอบ 3 ปีรัฐบาลใหม่ คนเริ่มมองและรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรดีขึ้น จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ด้านลบมาก” ดร.ตีรณกล่าวและให้ความเห็นว่าต้องเข้าใจรัฐบาลชุดนี้และนายกรัฐมนตรีเข้ามาในสถานการณ์เฉพาะ เป็นสถานการณ์พิเศษ ดังนั้นยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบาย ก็ต้องพยายามหนีออกมาจากสถานการณ์ปกติ คือไม่ควรไปกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เคยทำกันมา หรือดำเนินนโยบายตามทั่วไปแบบรัฐบาลปกติ

“ในทางตรงกันข้ามควรจะเน้นการปฏิรูป แก้ปัญหาจากที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่ได้แก้ไว้ สะสมไว้ หรือยากมาก ส่วนนี้ควรต้องทำ โดยที่รัฐบาลปัจจุบันมีมาตรา 44 สามารถที่จะผ่าตัดระบบราชการ ผ่าระบบการคลังของประเทศได้ง่าย สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่ได้ทำ ที่ทำมีส่วนเดียวคือลดภาษี แต่ในส่วนที่เป็นการเพิ่มภาษีหรือเป็นการทำภาษีใหม่ๆ มันก็ช้าไป โดยในส่วนการลดภาษีถือว่ามาถูกทางแล้ว เช่นการลดภาษีรายได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดา ถือว่ามาถูกทิศทางแล้ว แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ขณะที่หน่วยงานราชการที่มันเทอะทะมากและมันก็ใหญ่ กลายเป็นขุมทรัพย์ของตัวข้าราชการเอง ไม่ได้มีการแก้ไข ส่วนนี้กลายเป็นจุดอ่อนที่ว่า รัฐบาลที่มาจากสถานการณ์พิเศษกลับไม่ได้ดำเนินนโยบายการปฏิรูปที่แสดงความเป็นพิเศษของรัฐบาลนั้นๆ”

สำหรับตัวเลขลงทะเบียนคนจนที่มีประมาณ 14 ล้านคน .ดร.ตีรณกล่าวว่า เป็นการเปิดโอกาสให้คนมีอาชีพอิสระมาลงทะเบียน และจะรวมไปถึงคนที่จนจริงๆ กับคนชั้นกลางล่างๆ ที่ไม่ได้มีอาชีพในระบบ เช่น เป็นพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ และก็มีชนชั้นกลางผสมด้วย คือไม่ได้มีอาชีพมนุษย์เงินเดือน ขณะที่รัฐบาลคิดว่ามีตัวเลขดีกว่าไม่มี ต่อไปจะช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นเป็นวิธีการมองแบบราชการ แต่ถ้ามองแบบวิชาการจริงๆ ก็ต้องรู้ว่าคนจนคือใครบ้าง เพราะจริงๆ รัฐบาลไม่รู้ว่าคนจนคือใครบ้าง แล้วแต่จะบันทึก

“หลักสถิติจะชี้แนวได้ คือการศึกษาสถิติมันไม่จำเป็นต้องไปรู้ตัวเลขจริงๆ ว่ามี 14 ล้านคนหรือ 16 ล้านคน ถึงจะกำหนดนโยบายได้ แต่ก็เป็นวิธีการทำงานที่แต่ละคนอาจจะมองวิธีการอย่างนั้น ข้าราชการมีคำถามอยู่เยอะ ว่าจะช่วยคนจนแล้วคนจนอยู่ที่ไหน พอถูกวิจารณ์มากๆ ข้าราชการบอกถ้าอย่างนั้นไปหาทางให้ลงทะเบียนคนจน คือข้าราชการไม่ได้ศึกษาทางสถิติศาสตร์ก็อาจจะอ่อนเรื่องสถิติ วิธีคิดต่างๆ ก็ต้องเสียเงินมาก เพื่อจะได้ข้อมูลตรงนี้มา ก็เป็นปัญหาอยู่” ดร.ตีรณกล่าวและมองตัวเลขคนจน 14 ล้านคน ถือว่าน่ากลัวเพราะมีคนจนจำนวนมากเมื่อพิจารณาจากคนที่มาลงทะเบียน คือคนที่มีทรัพย์สินไม่มาก คนหาเช้ากินค่ำ “ความลำบากของประชาชนในทางเศรษฐกิจหรือปัญหาปากท้องประชาชนจะมีมากกว่าตัวเลขทางการที่ออกมาก็ได้”

ส่วนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจับมือกับสมาคมแบงก์และแบงก์ต่างชาติในเมืองไทยรวมถึง Nonbank เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน, หนี้ส่วนบุคคล-บัตรเครดิต มีการตั้งคลินิกแก้ปัญหา ดร.ตีรณกล่าวว่า เป็นวิธีที่เราเคยได้ทำมาตอนหลังปี 2540 มีปัญหาผู้ส่งออก รัฐบาลในขณะนั้นก็ตั้งคลินิกส่งออก เพื่อสางหนี้ของแต่ละรายไป ลงไปในรายละเอียด ถือเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่ง อย่างน้อยมีวิธีการในระดับบุคคลเข้ามาดูการสางหนี้ให้กับประชาชน ดังนั้นวิธีนี้เป็นแนวทางในทางบวก เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่าวิธีการแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศขณะนี้ยังเป็นเศรษฐกิจไปที่ทุนใหญ่ หมายถึงว่าผลประโยชน์ของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ กลายเป็นทุนใหญ่หรือนักธุรกิจระดับใหญ่ที่ได้สัมปทาน แต่ประชาชนชั้นกลางและคนทั่วไปไปไม่ถึงเขา ตรงนี้เป็นภาพใหญ่ที่แบงก์ชาติจะต้องคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

“อย่างเศรษฐกิจไม่ดีแต่บาทแข็งค่าอะไรแบบนี้ที่แบงก์ชาติต้องคิดเยอะๆ ” ดร.ตีรณกล่าว “ในส่วนคลินิกแก้ปัญหาหนี้เป็นส่วนที่สามารถดำเนินการได้โดยภาคเอกชนอยู่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแบงก์ชาติก็คงอยากจะมีบทบาทด้วย คิดว่าในส่วนของเอกชนก็ทำอยู่แล้ว เวลาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ มีการดูแลลูกค้าเขาอยู่แล้ว เพียงแต่แบงก์ชาติเข้าไปดูว่าอย่าปล่อยให้คนที่ปล่อยสินเชื่อเอาเปรียบ ก็ไปดูส่วนนั้นก็พอ ดังนั้น ตรงนี้ก็ถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ว่าจริงๆ ไม่ใช่ภารกิจหลักเท่าไหร่ เพราะสถาบันการเงินทำงานได้อยู่แล้ว”

27 views
bottom of page