top of page
327304.jpg

คุมสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต Gen-Y...กระทบแบงค์แค่วงจำกัด


มองเกณฑ์ใหม่แบงก์ชาติคุมสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตของลูกค้าเจนวาย 14 ล้านคน หวังลดหนี้ภาคครัวเรือน ให้วงเงินแค่ 3 เท่ารายได้ มีบัตรเครดิตได้ไม่เกิน 3 ใบ ระบุส่งผลกระทบธนาคารพาณิชย์ไม่มาก เหตุปัจจุบันปล่อยจริงไม่ถึง 5 เท่าของรายได้อยู่แล้ว ทั้งเฉลี่ยคนมีบัตรแค่ 2.23 ใบ อีกทั้งแบงก์หาทางลดวงเงินรองรับการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตใหม่ตามเกณฑ์บาเซิล 3 ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อปีนี้โตลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานบทวิเคราะห์กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกเกณฑ์คุมการปล่อยกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตว่า ธปท.มีแนวคิดวางกรอบการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต “สำหรับลูกค้ารายใหม่” โดยสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล จะจำกัดวงเงินสินเชื่อให้สูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าต่อรายได้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต จะจำกัดจำนวนการถือครองบัตรเครดิตสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เบื้องต้นคือ 30,000 บาทต่อเดือน) ให้ไม่เกิน 3 แห่ง หรือ Card Issuers (เนื่องจากในกรณีทั่วไปแล้ว ลูกค้า 1 ราย แม้จะมีหลายบัตรในธนาคารนั้นๆ แต่ก็จะรวมทุกบัตรอยู่ภายใต้วงเงินเดียว) นอกจากนี้ ยังมีแนวทางจะจำกัดวงเงินสินเชื่อให้สูงสุดไม่เกิน 3 เท่า จากเดิม 5 เท่าต่อรายได้ ตลอดจนดูแลการผ่อนชำระสินค้าของผู้บริโภคให้อยู่ในกลุ่มที่มีความจำเป็นเป็นหลัก มากกว่าการมุ่งใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เกินความจำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้ สะท้อนความพยายามของทางการในการมุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาแตะระดับ 79.9% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2559

สำหรับแนวทางดังกล่าว สะท้อนความตั้งใจของ ธปท.ในการดูแลการก่อหนี้ของประชากร Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่จะขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ อันจะช่วยตีกรอบการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้า โดยปัจจุบัน Gen Y มีจำนวนประมาณ 14 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของประชากรไทยทั้งหมด และสำหรับการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในแต่ละปี ส่วนหนึ่งต้องอาศัยประชากรกลุ่มนี้ที่อยู่ระหว่างใกล้หรือจบการศึกษาแล้ว และเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อเป็นฐานลูกค้าใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ซึ่งหากนับเฉพาะนักศึกษาที่จบขั้นอุดมศึกษา จะมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 4 แสนคนต่อปี ดังนั้น การดูแลให้การก่อหนี้ใหม่ของประชากร Gen Y ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน (First Jobbers) นี้ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง จึงเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยลดการ ‘เพิ่มขึ้น’ ของหนี้ครัวเรือนจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้

ส่วนทางด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คงจำกัด เนื่องจากเกณฑ์การอนุมัติวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ธนาคารไม่เคยมีประวัติเครดิตมาก่อน มักอยู่ในกรอบที่ต่ำกว่า 5 เท่าต่อรายได้อยู่แล้วในปัจจุบัน โดยในกรณีของบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่าต่อรายได้ ขณะที่ จำนวนบัตรเครดิตที่ถือครองในปัจจุบัน มักไม่เกิน 3 บัตร ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า การถือครองบัตรโดยเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถาม จะอยู่ที่ประมาณ 2.23 ใบต่อคน (ยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนเกิน 1 แสนบาท)

นอกจากนี้ แนวทางของ ธปท.ในการลดเพดานวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลงจากเดิม ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ที่เน้นกำหนดวงเงินสินเชื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานจริงของลูกค้ามากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมรองรับการบังคับใช้เกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตใหม่ (New Credit Risk RWA) ของ Basel III ในอีก 2-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากน้ำหนักความเสี่ยงของ Unused Credit Lines ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็เป็นหนึ่งในหลายผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะการให้วงเงินสินเชื่อต่อรายลูกค้าไว้ แต่ลูกค้าจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้ไม่เต็มวงเงิน อันทำให้วงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือจะย้อนกลับมาสร้างภาระต่อเงินกองทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ได้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารพาณิชย์จึงเริ่มเน้นนโยบายการให้วงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และ/หรือแต่ละรายมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีรายละเอียดชัดเกี่ยวกับการดูแลแคมเปญการผ่อนชำระสินค้า และกำหนดการบังคับใช้ แต่ภาพการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในปี 2560 ก็ยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยอื่นๆ

โดยคาดว่า การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบสถาบันการเงินในปี 2560 จะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ทำได้ใกล้เคียงเลข 2 หลัก ท่ามกลางหลายปัจจัยทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ไม่ว่าจะเป็น

1. การใช้นโยบายคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มงวดของสถาบันการเงิน จากภาระหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งทำให้การขยายฐานลูกค้าใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

2.ลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต มีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว สังเกตได้จากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบสถาบันการเงินช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวชะลอลงมาที่ 4.4% เทียบกับทั้งปี 2559 ที่ขยายตัว 7.1% เช่นเดียวกับยอดเบิกใช้เงินสดผ่านบัตรเครดิตที่หดตัวลง 2.9%

3.การเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ หรือ First Jobbers มีจำนวนน้อยลง รวมถึงประกอบอิสระมากขึ้น หรือ Freelancer ทำให้ฐานลูกค้าศักยภาพใหม่ของทั้งผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโตในระดับจำกัด

ดังนั้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีมุมมองต่อคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยให้กรอบการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 3.0-5.0% (ค่ากลางที่ 4.0%) และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 5.0-7.0% (ค่ากลางที่ 6.0%) โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์มีปัจจัยบวกจากสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่น่าจะไม่ทรุดตัวลงจากระดับ ณ สิ้นปี 2559 มากนัก จากการบริหารหนี้ในเชิงรุกของสถาบันการเงิน ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิต น่าจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการขยายเครื่อง EDC ตามโครงการ National e-Payment

ขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อาจต้องอาศัยการดูแลเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วนในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยนอกเหนือจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.ที่มีสัดส่วนประมาณ 6.1% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีสินเชื่อเพื่อการบริโภค (ในกลุ่มที่ไม่ใช่สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์) ที่ปล่อยกู้โดยสถาบันอื่นๆ ด้วย ซึ่งการดูแลในเชิงนโยบายจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทิศทางที่สอดคล้องกัน ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่ในระดับเยาวชน และปลูกฝังค่านิยมในการบริโภคที่ถูกต้อง น่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับประเทศนี้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

231 views
bottom of page