top of page
327304.jpg

ชำแหละการเงินไทย...'แบงก์ชาติ' บกพร่อง ธุรกิจเจอ 'ดอกโหด'


รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า โดยปกติแล้วแบงก์จะทำหน้าที่รับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ กรณีที่ประชาชนไปฝากเงินกับทางแบงก์ ถ้าตามความหมายของการเงิน คือ ประชาชนจะเป็นเจ้าหนี้แบงก์ หมายความว่าแบงก์เป็นผู้กู้เงินจากประชาชน หลังจากนั้นแบงก์ก็จะนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่จะกู้แบงก์ ผู้กู้ก็จะเป็นลูกหนี้ของแบงก์ ดังนั้น แบงก์จะมีต้นทุน คือ ดอกเบี้ยเงินฝากและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการปล่อยให้ลูกหนี

ปัจจุบันตัวเลขส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากที่แบงก์นำเสนออย่าง MLR , MOR หรือ MRR เป็นการบอกถึง MLR เป็นลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี , MOR ลูกค้าต่างๆ หรือ MRR ที่เป็นลูกค้ารายย่อย จะขึ้นป้ายบอกอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยกว่า 7% ทำให้ประชาชนคงแปลกใจว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์ทำไมถึงให้น้อย เพราะอย่างดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้ประมาณไม่ถึง 1% หรือ ฝากประจำให้ดอกเบี้ยประมาณกว่า 1% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ต้องจ่ายให้แบงก์กว่า 7% ทำให้มีส่วนต่างถึง 6% จึงเกิดคำถามว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ต่างกันมากหรือน้อยไป

“สะท้อนว่าดอกเบี้ยของประเทศไทยมีช่องว่างของตัวเลขค่อนข้างกว้าง แต่ในต่างประเทศช่องว่างของดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างจะแคบกว่าไทย อย่างประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนต่างตัวเลขตรงนี้จะต่างกันเพียง 2.5% เป็นเรื่องของกลไกลตลาดเงิน เหตุผลที่ดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้แคบกว่า เพราะในต่างประเทศมีสถาบันการเงินจำนวนมากทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง รวมไปถึงการแข่งขันของดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย จึงมีผลทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะที่ไทยได้ใช้ระบบแบงก์แบบในยุโรป ส่งผลจำนวนแบงก์ในไทยจึงมีไม่มาก โดยในไทยมีเพียง 15 แบงก์เท่านั้นแต่มีสาขาแบงก์จำนวนมาก ทำให้ระบบนี้มีการแข่งขันที่น้อยกว่า ส่งผลต่อการแข่งขันมีน้อย กลไกลของการทำตลาดไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะถ้ามีการแข่งขันมากกว่านี้ก็น่าจะส่งผลดีต่อประชาชนดีขึ้น” ดร.มนตรีกล่าว

“ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานที่กำกับธนาคารพาณิชย์ภายใต้พรบ.ธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติมีอำนาจ แต่แบงก์ชาติกลับใช้วิธิการ คือ ห้ามปล่อยสินเชื่อในอัตราที่กำหนดเพดานไว้ เพื่อให้กลไกลทางการเงินจะจัดการกันเอง อย่างเช่น ถ้ามีการแข่งขันกันมากโดยหลักการดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะลง และถ้าหากความต้องการเงินเพื่อไปลงทุนน้อย ก็จะส่งผลทำให้เงินในแบงก์ล้น หรือสมมุติว่าแบงก์มีเงิน 10 ล้านล้านบาท แต่มีคนมาขอกู้ 6 ล้านล้านบาท เงินก็จะเหลืออยู่ 4 ล้านล้านบาท แบงก์ก็จะมีภาระต้นทุนของเงินฝาก ซึ่งถ้ากลไกลตลาดสมบูรณ์จริงดอกเบี้ยในไทยน่าจะลงมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ดร.มนตรีกล่าวว่า ต้องเห็นใจฝ่ายแบงก์เหมือนกันเพราะการปล่อยสินเชื่อก็จะมีเรื่องของหลักการการปล่อยเงินกู้เช่นกัน คือ ลูกหนี้แต่ละรายมีฐานะไม่เท่ากัน บางรายมีความมั่นคงแข็งแรงแต่คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ บางรายไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงสูงแต่คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทำให้มีกลุ่มของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหลายกลุ่มด้วยกัน มีฐานะไม่เหมือนกันและความมั่นคงที่แตกต่างกัน และรวมไปถึงผลประกอบการที่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นแบงก์ก็ต้องประเมินตรงนี้เพื่อความมั่นคงของแบงก์เช่นกัน ทำให้มีที่มาว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยจึงมีหลากหลายอัตรา อย่างลูกค้าชั้นดีบางแบงก์เรียกว่า MLR- คือ ลบจาก MLR ลงไปอีก ซึ่งถ้าลูกค้าดีมากๆ MLR จะอยู่ที่ประมาณ 4 โดยจะลบ 2-3 จาก MLR ปกติอยู่ที่ 7.25 จึงเป็นที่มาของตัวเลขที่ออกมาแตกต่างกันระหว่างลูกค้ารายใหญ่ถึงได้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนลูกค้ารายย่อยมีดอกเบี้ยที่แพงกว่า

ส่วนในเรื่องการแข่งขันของธุรกิจรายใหญ่กับรายย่อยนั้น รายย่อยไม่สามารถที่จะสู้กับรายใหญ่ได้เลย เพราะการทำธุรกิจต้นทุนของรายใหญ่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ส่วนรายย่อยมีต้นทุนที่แพงกว่าแล้วจะชนะกันได้อย่างไร นับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่แบงก์ชาติต้องหามีวิธีที่จะมาช่วยรายย่อยหรือรายเล็กให่แข่งขันได้ เพราะรายย่อยแพ้ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจแล้วและยังต้องมาแพ้เรื่องเงินกู้อีก ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ต้องช่วยรายย่อย อาจจะต้องให้แบงก์ชาติที่เป็นผู้กำกับโดยตรง กำกับให้ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้พรบ.ธนาคารพาณิชย์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้วิธีง่ายๆ ช่วยรายย่อยมีโอกาสสู้ได้บ้างโดยทำให้ต้นทุนถูกลง และยิ่งตอนนี้มีเรื่องการส่งเสริมเรื่อง SME ที่ยังไม่มีประวัติการทำธุรกิจหรือการทำงาน หากเริ่มต้นจากศูนย์จะคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ อยากฝากถึงแบงก์ชาติช่วยหาวิธีการบางอย่างที่จะช่วย SME ให้แข่งขันได้

“อย่างแบงก์มีการปล่อยสินเชื่อ 100 ส่วน ขอ 1-2 ส่วนมาช่วยรายย่อยได้หรือไม่ แน่นอนว่าแบงก์ก็ต้องการความมั่นคงจึงให้แต่รายใหญ่อย่างเดียว สมมุติปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ 1 รายปล่อยกู้ 10,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารต่อเคส ตั้งแต่ค่ากฎหมาย ค่าบุคคลากร ค่าประเมินที่ดิน ต้องมีเกือบ 200,000 บาท ดังนั้นแบงก์จะปล่อยกู้ให้รายใหญ่จะใช้เงินเพียง 200,000 บาทในการทำธุรกรรมเอกสารทั้งหมด ส่วนรายย่อยปล่อยสินเชื่อ 1 ล้านบาทแต่เสียค่าใช้จ่ายเท่ากัน ทำให้เป็นที่มาของค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งประเทศชาติต้องมีการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเอกชนรายย่อยไทยมีเยอะมากถึง 2.7 ล้านราย จะทำอย่างไรให้เติบโตได้ซึ่งธุรกิจทุกอย่างเริ่มต้นจากขนาดเล็ก แต่ถ้าเราไปกดไว้ก็ไม่โตเสียที วิธีการตรงนี้ก็ต้องให้แบงก์ชาติหาวิธีการให้แบงก์ทั้งหลายที่มีลูกค้ามั่นคงจำนวนมาก กันไว้ส่วนหนึ่งได้หรือไม่ขอเพียง 1-2% มาดูแลลูกค้ารายย่อยกลุ่มนี้ได้หรือไม่ ก็อาจจะช่วยให้รายย่อยมีโอกาสเติบโตบ้าง” ดร.มนตรีแนะ

“หากแบงก์ชาติจะทำเรื่องอย่างจริงก็สามารถทำได้เพราะมีอำนาจ อาจจะขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์แล้วแบงก์ชาติอาจจะมีกลไกลอย่าง Soft Loan เหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการช่วยในเรื่องดอกเบี้ยต่ำ โดยแบงก์ชาติรับภาระด้วยยการให้ดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยในกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะด้านหรือเฉพาะทาง รวมถึงอยากเห็นแบงก์มีการแข่งขันมากกว่านี้เพื่อให้กลไกลตลาดเงินดีขึ้น ดอกเบี้ยลดลง ขณะเดียวกันขอให้แบงก์มองถึงรายเล็กที่สุดท้ายก็จะต้องเติบโตเป็นรายใหญ่ต่อไป น่าจะมีกลไกลที่จะให้แบงก์ทั้งหลายหันมาเน้นรายเล็กให้เกิดได้ ต้นทุนถูกสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่จะช่วยรายเล็ก คือ กลไกลตลาดทุน ตลาดทุนตอนนี้ไทยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีตลาดหลักทรัพย์ MAI สำหรับ SME ต่อไปจะมีตลาดเล็กสำหรับ Start Up ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกกลไกลหนึ่งว่าจะทำให้รายเล็กมีช่องทางเพิ่มขึ้น แทนที่จะพึ่งพาแบงก์ก็มาใช้ตลาดทุนช่วยอีกทาง นับว่าเป็นกลไกลที่จะมาเสริมรายย่อย”

62 views
bottom of page