top of page
327304.jpg

สถานการณ์บีบมะกัน! “ทรัมป์” หวนกลับเอเชีย


รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงช่วงที่ผ่านมา “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้เชื้อเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในอาเซียนว่า เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดอาเซียน และมีปรากฏการณ์แถวๆ ภูมิภาคอาเซียน เป็นที่น่าจับตามอง

“ตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ นั้น ได้เคยกล่าวสุนทรพจน์ตอนรับตำแหน่งว่าจะไม่มาก้าวก่ายประเทศใดๆ ทั้งนั้น ต่างคนต่างอยู่ อยากทำให้สหรัฐอเมริกาทำตัวอย่างที่ดี โดยจะไม่มาบังคับประเทศอื่นๆ ให้ทำตามสหรัฐอเมริกา” ดร.ฐิตินันท์กล่าวและว่าเป็นการปรับดุลยภาพสหรัฐอเมริกา หลังจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา อยู่ในตำแหน่งมา 8 ปี สมัยโอบามาก็ยึดติดอยู่กับเรื่องประชาธิปไตย มนุษยชน อุดมการณ์ เสรีภาพ อิสรภาพ “แต่พอมายุคโดนัลด์ ทรัมป์ จะมาอีกทางหนึ่ง คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ เรื่องจัดการกับเกาหลีเหนืออย่างไร ส่วนเรื่องมนุษยชนและเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องรองแต่ก็ไม่ได้ทิ้ง โดยจะให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือเป็นโจทย์ใหญ่ ว่าจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาจะเห็นว่าได้ใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง ขณะที่ คิม ยอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือก็ไม่ยอม หัวชนฝา สุดโต่ง ประกาศจะทดสอบขีปนาวุธบ้าง จะยิงสหรัฐอเมริกาบ้าง โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องหามาตรการตอบโต้ มีการส่งกองเรือเข้าไป และยังมีไม้อ่อนคือเปิดให้มีการเจรจา ซึ่งมีการหยอดคำเชิญให้มาคุยกันที่สหรัฐอเมริกาก็ได้”

ดร.ฐิตินันท์มองสหรัฐอเมริกามีการหาพวก เพื่อให้เกาหลีเหนือโดดเดี่ยว มีการคุยกับจีนอย่าไปถือหางเกาหลีเหนือ และยังมีการคุยกับอาเซียนให้ช่วยกันโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ การหาพวกในอาเซียน สหรัฐอเมริกาก็มาทาบทามหาฟิลิปปินส์กับไทยก่อน ซึ่ง 2 ประเทศนี้คือพันธมิตรหลักทำสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกา

“สำหรับไทยผมมองว่าได้อานิสงส์จากฟิลิปปินส์ คือตอนนี้ถ้าบอกว่าเป็นประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จริง แต่ไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เป็นอย่างนี้ ฟิลิปปินส์ก็โดนกล่าวหาอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน ผู้นำฟิลิปปินส์ก็ไม่สนใจเรื่องนี้ ยิ่งไปกล่าวหามากๆ เขาก็ยิ่งเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเนียบขาวในส่วนรัฐมนตรีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยมาเยือนภูมิภาคนี้ ก็คงมีการคำนวณแล้วว่า จะมาใช้ไม้แข็ง ต้องมีเลือกตั้ง รักษาคุมครองสิทธิ์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้ทิ้ง แต่ว่าตอนนี้ยังใช้เป็นข้อกำหนดอันดับหนึ่งยังไม่ได้ ให้เป็นเรื่องรองลงไป คืออาจต้องยอมไปก่อน ก็เลยถึงขนาดเชิญโดยโทรศัพท์มาหาทั้งผู้นำของทั้ง 2 ประเทศคือไทยกับฟิลิปปินส์ และ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ด้วย คือเป็นประเทศที่เป็นหลักสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ให้ไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพูดคุยกันได้ ถือเป็นเรื่องที่พลิกแนว และทิศทางเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” ดร.ฐิตินันท์กล่าว

“จะเห็นว่าเวลาเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มักจะเห็นจากถ้าคนใหม่ขึ้นมา และมาจากต่างพรรค ก็จะพยายามหาทิศทางใหม่ หาอาเจนด้าใหม่ๆ เพราะไม่ต้องการจะเดินตามรัฐบาลที่แล้ว ต้องดูต่อว่าจะเกิดผลอย่างไร จากนี้ไปเกาหลีเหนือจะต้องโดดเดี่ยวแน่ และจะต้องเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ ยกตัวอย่าง คือเกิดรัฐประหารภายในเกาหลีเหนือ เพราะ คิม ยอง อึน ไปลำบากแล้ว จากที่ไปต่อว่าจีนจนจีนไม่พอใจ ซึ่งจีนพยายามรักษารัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่สุดท้ายก็อาจตัดหางปล่อยวัดได้ แต่ทั้งนี้ การที่สหรัฐอเมริกามีท่าทีกับภูมิภาคนี้ ต่อไปก็จะเป็นบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ซึ่งอาจจะกลับเข้ามาสร้างดุลภาพใหม่ขึ้นมา ขณะที่ทางอาเซียนก็ดูเหมือนจะต้องการอย่างนั้นเหมือนกัน”

ดร.ฐิตินันท์กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปรากฏว่า เอมมานูเอล มาครง ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า ตลาดเงินตลาดทุนต่างๆ จะเบาลง ค่าเงินยูโรก็จะมีเสถียรภาพขึ้น หลายคนโล่งอก เพราะนอกจากจะกลัวเรื่องสภาพเศรษฐกิจแล้ว ก็เกรงว่าสหภาพยุโรปจะไปไม่รอด จากที่คู่แข่ง มารีน เลอ เพน มีนโยบายนำฝรั่งเศสออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป “มาคองชนะก็หมายถึงสหภาพยุโรปยังอยู่ได้ มิหนำซ้ำอาจจะยิ่งบูรณาการกัน ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น อาจจะทำให้เงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และการพัฒนาการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจจะขยายตัวได้อีกพอสมควร”

69 views
bottom of page