top of page
327304.jpg

9 ปี คปภ.ปิด 8 บริษัทประกัน...ไซฟ่อน-ขี้ฉ้อ โมเดลสูตรเด็ด


แทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับการสั่งปิดบริษัทประกันภัย ไม่ว่าจะปิดแบบชั่วคราวก่อน โดยให้หยุดรับประกันภัย เพื่อให้บริษัทไปแก้ปัญหาให้จบสิ้น หรือถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด ที่สุดก็จะถูกสั่งปิดถาวร เหล่านี้เป็นกระบวนการถาวรของสูตรการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

นับจากสถาปนาเป็น คปภ.เมื่อช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ไล่เรียงแล้วเฉลี่ยมีบริษัทประกันภัยถูกสั่งปิดกิจการไปเกือบ 10 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นขึ้นอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่กฎระเบียบยังทำงานไปตามระบบอย่างเข้มข้นและจริงจัง ไม่บิดพลิ้ว ท่ามกลางภาวะแวดล้อมกดดัน ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศในปัจจุบัน

วันที่ 23 มี.ค. 2552 รมว.คลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัมสัมพันธ์ประกันภัย ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง จากสาเหตุมีปัญหาฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน 748 ล้านบาท มีค่าสินไหมค้างจ่ายที่มีผู้เอาประกันมาร้องเรียนต่อ คปภ.16,585 ราย รวมเป็น 701 ล้านบาท ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่ง คปภ.ได้ให้เวลาบริษัทแก้ไขกิจการมาเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน นับจากบริษัทถูกสั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราวมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินได้ จึงต้องถูกสั่งปิดไป

ที่สำคัญ การสั่งปิดบริษัทในครั้งนั้น คปภ.ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้น แต่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริหารงานภายในของบริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินที่เกิดขึ้นและไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้สินที่มีต่อผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้อื่นๆของบริษัทได้

ปี 2553 บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ของกลุ่มทุนเอพีเอฟจากประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินชัวรันส์ ของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองในราคาราว 150 ล้านบาท แถมฟอร์มทีมยักษ์หรูหราในการเข้ามาทำธุรกิจ แต่สุดท้ายก็ไม่รอด เพราะทำไปได้ไม่ถึง 3 ปี ก็เกิดปัญหาเงินกองทุนขาดไปกว่า 200 ล้านบาท โดยที่บริษัทไม่มีคำอธิบายต่อ คปภ.และประชาชนผู้เอาประกันภัยว่าเงินที่ขาดหายไป โดยประวิงเคลมสินไหมจำนวนไม่น้อยนั้น เกิดจากสาเหตุอะไร ระหว่าง “ไซฟ่อน” หรือ “ฟอกเงิน” ออกจากบริษัท

วันที่ 7 มิ.ย. 2554 คปภ.สั่งปิดบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัย เพราะดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท จึงสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันภัย ต้งแต่ชั่วคราว เมื่อ 30 เม.ย. 2553 ซึ่งต่อมาบริษัทได้ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะการเงิน ณ 30 มิ.ย. 2553 บริษัทมีเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย แต่บริษัทยังคงขาดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้สินและค่าสินไหมแก่ผู้เอาประกันภัยได้

คปภ. จึงให้โอกาสบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาที่ค้างคาเป็นเวลานานพอสมควร แต่บริษัทก็ไม่มีความคืบหน้า กลับมีจำนวนค่าสินไหมค้างจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าขาดสภาพคล่องอย่างแรง โดยมีค่าสินไหมค้างจ่ายสูงถึง 232.05 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัทยังดำเนินกิจการต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย คปภ.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 6.มิ.ย. 2554

ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท วิคเตอรีประกันภัย ก็ไม่พ้นคำสั่งถูกสั่งปิด ด้วยเหตุผลคลาสสิกไม่แพ้บริษัทอื่นๆ นั่นคือ บริษัทมีการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิชอบและทำธุรกรรมการเงินที่ตามปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจไม่พึงกระทำ บริษัทจึงอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย

ดังนั้น นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ บอร์ด คปภ. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกันนวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้ บริษัทวิคเตอรี ประกันภัย หยุดรับประกันภัยรชั่วคราว ตั้งแต่ 28 ม.ค. 2554

วันที่ 15 พ.ค. 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง (ขณะนั้น) สั่งเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจของบริษัทส่งเสริมประกันภัย เพราะพบว่าบริษัทมีพฤติการณ์ที่หากให้ประกอบธุรกิจต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย

วันที่ 28 ต.ค. 2557 นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง (ขณะนั้น) มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทศูนย์สุขภาพประเทศไทย เพราะมีพฤติการณ์ที่หากให้ประกอบธุรกิจต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน โดยบริษัทมีภาระหนี้ค้างจ่ายแก่ผู้เอาประกันจำนวนมาก, ใช้กรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ, ตั้งบุคคลอื่นรับเงินเป็นผู้รับชำระเบี้ยประกันภัย, ไม่จัดส่งรายงานประจำปี, ไม่จัดส่งรายงานการประเมินระบบควบคุมภายในและระเบียบวิธีปฏิบัติการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันวินาศภัยสำหรับปี 2552-2553 ต่อนายทะเบียน, ไม่จัดส่งนโยบายการบริหารความเสี่ยงและสรุปแผนธุรกิจ 3 ปี สำหรับปี 2552 และยังลงทุนในหุ้นทุน โดยฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย

วันที่ 31 มี.ค. 2559 คปภ.สั่งปิดบริษัทสัญญาประกันภัย เนื่องจากดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง คปภ.ได้ให้โอกาสบริษัทแก้ปัญหาเป็นเวลาพอสมควร แต่บริษัทยังไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้ ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น คปภ.ได้ให้โอกาสบริษัทแก้ปัญหาเรื่อยมา กระทั่งยังคงไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกสั่งปิดในที่สุด

วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา บอร์ด คปภ.มีมติเห็นชอบให้บริษัทสัจจะประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพราะดำรงสินทรัพย์สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 51 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงินในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือและยังค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ จึงเป็นกรณีที่ทำให้บริษัทอยู่ในลักษณะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

นางกมลวรรณ กีรติสมิต ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่านับจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อปี 2552 เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยรอคอยที่จะได้รับการชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัยโดยเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 เป็นต้นไป

ตามกฎหมายประกันวินาศภัยฉบับที่ 3 ที่มีผลบังคับเมื่อ 6 มี.ค. 2558 กองทุนประกันวินาศภัยมีแนวทางดำเนินงาน คือ กรณีที่อยู่ในกระบวนการล้มละลายหรืออยู่ในกระบวนการชำระบัญชีเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือ ผู้ชำระบัญชีแล้วแต่กรณีใดกรณีหนึ่ง แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้กองทุนแล้ว กองทุนจะจ่ายตามมูลหนี้ที่เหลือแต่ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรณีบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยและได้รับแจ้งจากผู้ชำระบัญชี กรณีบริษัทศูนย์สุขภาพประเทศไทย

ดังนั้น กองทุนได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ โดยตรวจสอบว่าจะต้องเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัย เพื่อที่กองทุนจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของทั้ง 2 บริษัท ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

ในรายสัมพันธ์ประกันภัยที่ถูกสั่งปิดมานานกว่า 8 ปี กว่ากระบวนการล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อเคลียร์หนี้เจ้าหนี้และคู่ค้าต่างๆจะสำเร็จเสร็จสิ้น ก็กินเวลานานมากมาย จนมูลค่าหนี้แทบจะไร้ค่า เช่นนี้แล้วคงจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้เกี่ยวข้องในวงการทั้งหลายให้ตระหนักมากขึ้นว่าจากนี้ไปควรต้องใช้ความระมัดระวังและดุลพินิจให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อบริษัทประกันภัยที่ไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ

ทว่า ที่สำคัญ ภายใต้ภาวะแวดล้อมและปัจจัยธุรกิจ ทำให้ไม่น่าจะมีจำนวนบริษัทประกันภัยเท่านี้ที่ถูกสั่งปิดไป เพราะยิ่งสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบันที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายองค์ประกอบ ยิ่งน่าจะทำให้ธุรกิจประกันภัยที่ปรับตัวไม่ทันยุคสมัย ก้าวย่างไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม

1,702 views
bottom of page