top of page
327304.jpg

บ.กลางฯ รับทำใจ...เคลมพรวด 130%


เกือบ 20 ปีของการก่อตั้งบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มีบทบาทและภารกิจรับบริหารความเสี่ยงจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) หรือเรียกได้ว่าอยู่คู่เหล่าบรรดาผู้ใช้รถใช้ถนน เฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศนับสิบๆล้านคัน ภายใต้หลักการและนโยบายองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร เพียงแต่ต้องอยู่ให้รอดได้ด้วยเงินสมทบของผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทประกันภัยสมาชิก

สิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทกลางฯ มีเบี้ยประกันรับรวม 3,809 ล้านบาท มีรายได้รวม 5,771 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากเงินสมทบ 1,578 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักในการค้ำยันฐานะกิจการของบริษัทมาอย่างต่อเนื่องและมีกำไรในปีที่ผ่านมา 546 ล้านบาท โดยตัวเลขกำไรที่โชว์ให้เห็นนั้น ถ้าเป็นบริษัทอื่นๆอาจมีความสุขที่เห็นผลประกอบการออกมาไม่ได้ย่ำแย่ แถมก้ำกึ่งผูกขาดด้วยซ้ำไปตามสภาพรูปแบบองค์กรที่ต่างจากบริษัทอื่นๆ

เฉพาะอย่างยิ่ง หลักการสำคัญ คือ การไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรทางธุรกิจแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นมูลนิธิ หรือองค์กรเพื่อการกุศล บริษัทอยู่ได้เพราะเงินสมทบ 12.5% จากสมาชิกผู้ถือหุ้น

ทว่า ปัญหาที่กำลังกระทบบริษัทในปัจจุบัน คือ การขาดทุนจากการรับประกันภัยรถจักรยานยนต์ในภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมเกินกว่า 100% โดยกว่า 99% ของงานประกันภัย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ถูกเทมาที่บริษัทกลางฯ ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมาแต่แรก ในลักษณะการรับประกันกลุ่มรถที่มีความเสี่ยงภัยสูง (high risk pool) ซึ่งผลประกอบการสิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นอัตราความเสียหายของค่าสินไหม (loss ratio) เกินกว่าระดับ 100%

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางฯ ให้เหตุผลว่าผลขาดทุนของ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ จนทำให้ loss ratio ในปัจจุบัน ขยับพรวดขึ้นมาแต่หลัก 130% และยังจะเป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปได้อีกนั้น เกิดจากจำนวนค่าสินไหมที่เพิ่มขึ้น ภายหลังที่ภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องตัดสินใจปรับเพิ่มวงเงินจ่ายสินไหม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเพิ่มทุกระดับ ได้แก่

1. ค่าเสียหายเบื้องต้น (กรณีเป็นฝ่ายผิด) ในส่วนค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/คน และการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร 3.5 หมื่นบาท/คน รวมแล้วทั้งหมดไม่เกิน 6.5 หมื่นบาท/คน

2. จำนวนเงินค่าเสียหายที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น (กรณีเป็นฝ่ายถูก) เช่น ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 8 หมื่นบาท จากเดิมไม่เกิน 5 หมื่นบาท การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร 3 แสนบาท จากเดิม 2 แสนบาท วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 5 ล้านบาท/ครั้ง และสำหรับรถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง ทั้งหมดนี้ เฉพาะที่เป็นฝ่ายถูกเท่านั้น

เงื่อนไขความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ใหม่ มีผลมาตั้งแต่เริ่ม 1 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี เพื่อความคุ้มครองต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกายและผู้ประสบภัยจากรถเป็นสำคัญ แต่ผลจากการนี้ ทำให้จำนวนการจ่ายสินไหมเพิ่มขึ้นทุกระดับวงเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บและการเสียชีวิต ต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

“แม้ว่าจำนวนการเกิดอุบัติเหตุในภาพรวมปรับลดลงไปบ้าง ถ้าไม่นับช่วงรณรงค์อย่างหนักในเทศกาลต่างๆแล้ว แต่อัตราค่าสินไหมไม่ได้ปรับลด เพราะสถานพยาบาลต่างๆยังคิดรักษาพยาบาลในอัตราสูงมากและมากเกินจริง ทำให้บริษัทกลางฯ ยังต้องมุ่งเน้นควบคุมการจ่ายสินไหมผ่านระบบ E-ClaIm”

ดังนั้น เมื่อภาคธุรกิจประกันภัยรับรู้ร่วมกันมาแต่แรกเริ่มว่าบริษัทกลางฯ เป็นหน่วยงานที่ไม่ควรมุ่งแสวงหากำไร หรือต่อให้ไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลประกอบการมีกำไร จึงไม่ควรจะมีแนวคิดที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ตามที่มีผู้ถือหุ้นบางรายเสนอเข้ามา เพราะอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะธุรกิจ

เขากล่าวว่าแนวโน้ม loss ratio ของบริษัทกลางฯ ยิ่งจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันยังไม่ผ่านวงรอบของการปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 เม.ย.ปีก่อน loss ในปัจจุบัน ซึ่งวิ่งไปแตะหลัก 130% แล้ว

ที่สำคัญ รถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง สถิติการเกิดเหตุแทบจะไม่ลดลง แม้จะมีการโหมรณรงค์แค่ไหนก็ตาม ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการสำรองจ่ายสินไหมของบริษัทกลางฯ จึงยังต้องมีอยู่ต่อไป แต่จะปรับระบบให้ดีและกระชับมากขึ้น

42 views
bottom of page