top of page
327304.jpg

มองจีดีพีปีนี้โตได้ 3.3-3.5%...กังวลจ้างงานน้อยแม้ศก.โต


ออมสิน-ไทยพาณิชย์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยโต 3.5% กับ 3.3% อานิสงส์จากลงทุนภาครัฐ ท่องเที่ยวมาแรง ไทยพาณิชย์มองภาคแรงงานยังน่ากังวล หลังความต้องการสินค้าเพิ่ม แต่ภาคเอกชนไม่กล้าจ้างงานเพิ่ม เหตุห่วงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการเมืองต่างประเทศ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.5% โดยประเมินว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2560 ประกอบด้วย การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังคงขยายตัวจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมซึ่งเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือลดกำลังการผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับภาคการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ได้แก่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมีผลทำให้อำนาจซื้อลดต่ำลง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินและการค้าระหว่างประเทศจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันของประเทศคู่ค้า จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยังคงอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไป รวมทั้งผลกระทบจากกระบวนการ Hard Brexit ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนทั้งในและจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1% โดยปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุน ประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งจากครัวเรือน

ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ด้านการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐจะเริ่มกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งหลังจากชะลอการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 โดยจะมีเม็ดเงินจากแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ สำหรับ ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ประกอบด้วยความเสี่ยงจากการใช้นโยบายการเงินของประเทศคู่ค้าที่แตกต่างกัน ประกอบกับมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อีก 25 basis points (อยู่ที่ร้อยละ 0.75-1.00) จากการประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 มีนาคม 2560 และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มได้อีก 50 bps. ในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนจากแรงเทขายในตลาดพันธบัตรและตลาดทุนไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ด้าน ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center :EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ยังคงประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2560 ไว้ที่ 3.3% โดยเป็นการขยายตัวที่ทั่วถึงกว่าช่วงปีที่ผ่านมา โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้รายได้ของผู้ส่งออกและเกษตรกรไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นหลังซบเซามาเป็นเวลานาน

การฟื้นตัวในทั้งสองส่วนดังกล่าวจะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผ่านไปยังการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนต่อไปในระยะข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในภาคบริการก็ยังขยายตัวได้ดีทั้งจากภาคการก่อสร้างที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากปัจจัยกดดันระยะสั้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี EIC ห่วงภาคเอกชนยังไม่จ้างงานแม้เศรษฐกิจฟื้น โดยล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนหน้า สภาวะดังกล่าวเป็นแรงฉุดต่อการบริโภคภาคเอกชนเพราะกำลังซื้อของแรงงานจะได้รับผลกระทบหากการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและกำลังการผลิตที่ยังคงมีเหลือพอในช่วงที่ความต้องการสินค้าเพิ่งเริ่มฟื้นตัว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนยังระมัดระวังในการขยายกำลังการผลิตแม้รายได้จะเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้นแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ หากการฟื้นตัวสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการลงทุนและการจ้างงานจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นได้ตามลำดับ แต่สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนในประเทศอาจมีการขยายตัวที่ไม่สูงนัก เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มหันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง ต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า และมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

สำหรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและการเมืองโลกอาจเป็นจุดสะดุดการฟื้นตัว แม้พื้นฐานเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ ที่เริ่มมีความคืบหน้ามีโอกาสส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังสหรัฐ เสร็จสิ้นการสอบสวนข้อเท็จจริงด้านการค้ากับไทย นอกจากนี้ สภาวะการเมืองในยุโรปก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาหลังสหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปอย่างสิ้นเชิง (Hard Brexit) ขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งในประเทศสำคัญอื่นๆ ในยุโรปที่จะมีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ด้านความผันผวนในตลาดเงินยังคงมีสูงตามความคาดหวังของตลาดต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักมีความไม่แน่นอน ประกอบกับแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐ ที่ตึงตัวมากขึ้นผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะเริ่มลดขนาดงบดุล (balance sheet) ในอนาคตอันใกล้ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินในระดับสูงได้ในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ ตัดสินใจลดขนาดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (quantitative easing)

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าความเสี่ยงในด้านความผันผวนทางการเงินต่อไทยยังมีจำกัดจากเสถียรภาพที่แข็งแกร่ง แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้จะไม่ได้ปรับเพิ่มตามแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐ

28 views
bottom of page