top of page
327304.jpg

เตือนภัย “จีน” กินรวบ..ขนส่งไทย ไร้อนาคต! “Alibaba” คุมโลจิสติกส์


เตือนภัยระบบโลจิสติกส์ “ขนส่งสินค้า” ไทยอยู่ในภาวะอันตรายตายทั้งเป็น อาจถูกต่างชาติฮุบผูกขาดหรือไม่ประดาเถ้าแก่รถปิกอัพ-รถบรรทุกต้องเข้าไปอยู่ใต้อาณัติรับจ๊อบทำงานให้กับระบบขนส่งสินค้า หาก “อาลีบาบา” เข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าสำเร็จ ปลุกรัฐบาลไทยและผู้ประกอบการให้รวมตัวรวมกลุ่มยกเครื่อง มีระบบจัดการที่ดีกับใช้เทคโนฯช่วยบริหารจัดการกระจายสินค้า เตรียมตัวรับมือ “แจ๊ค หม่า” เจ้าสำนักอาลีบาบาลุยขายสินค้าจีนถึงบ้าน

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณี “แจ๊ค หม่า” ไปลงทุนในมาเลเซีย จากที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่า ถ้ามองในด้านยุทธศาสตร์ จะมี 2 ประเทศที่ แจ๊ค หม่า สนใจเข้าไปลงทุนคือไทยกับลาว แต่ลาวมีประชากรเพียง 6 ล้านคน จึงยังไม่เหมาะเท่ากับประเทศไทย เพราะไทยมีประชากรถึง 68 ล้านคน

ทั้งนี้ประเทศไทยมีภูมิประเทศตั้งอยู่ตรงกลาง หากไปทางซ้ายเป็นพม่ากับอินเดีย ไปทางตะวันออกก็จะไปถึงกัมพูชา เวียดนามและถึงจีน หากไปทางเหนือก็จะไปลาว พม่าและจีน ส่วนไปทางใต้ จะเป็นมาเลเซียและสิงคโปร์ ไทยถือว่าเหมาะกับการลงทุนศูนย์กระจายสินค้า การที่ แจ๊ค หม่า ไปลงทุนในมาเลเซีย ทำให้ไทยตื่นเต้น ทำให้รัฐบาลไทยคิดหนักว่าจะให้เงื่อนไขตามที่ แจ๊ค หม่า ขอมาทั้งหมดได้หมดหรือไม่ โดยมองว่า แจ๊ค หม่า อยากจะมาลงทุนในไทย เพียงแต่สิ่งที่ขอไปกับรัฐบาลไทย จะได้ทั้งหมดหรือไม่

“ถ้าเราเป็นรัฐบาล ก็ต้องคิดหนัก เพราะถ้าไม่ให้ แจ๊ค หม่า ก็อาจจะไม่มา แต่ถ้าให้สิ่งที่ แจ๊ค หม่า ขอมาทั้งหมด ก็คงจะไม่ถูกเหมือนกัน เหมือนกับจีนสร้างทางรถไฟ พอท้ายที่สุดเราสร้างเอง แต่เป็นหนี้จีนครึ่งๆ” นายสายัณห์กล่าวและว่าธุรกิจกลุ่มอาลีบาบา ของ แจ๊ค หม่า หากเข้ามาลงทุนในไทย ส่งผลดีต่อสินค้าไทยคือสินค้าโอทอปและสินค้าที่อยู่ต่างจังหวัด มีโอกาสขายผ่านออนไลน์ ผ่านอาลีบาบาได้มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือสินค้าเหล่านี้จะได้ตามมาตรฐานความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกัน สินค้าของจีนก็จะหลั่งไหลกันเข้ามาในไทยได้ง่ายและเร็วขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ สินค้าจีนที่เข้ามา จะมาตามกรอบเอฟทีเอไทยจีน ส่งผลภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ดังนั้น ต้นทุนของสินค้าจากจีนจะถูก เมื่อไม่ต้องเสียภาษี

“สิ่งที่น่าห่วงต่อมา อาลีบาบาจะทำให้สินค้าที่ขายในออนไลน์ขายได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เขาจะจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทของคนจีนเช่นกันที่ตั้งอยู่ในไทย โดยจะมีการวางเครือข่ายในการที่จะขนส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมง ถือว่าขนส่งได้รวดเร็วมาก ตรงนี้เลยมองว่าในอนาคตถ้าอาลีบาบาเข้ามา ซึ่งขณะนี้ไทยกับจีน เราก็ขาดดุลการค้ากับจีนอยู่แล้วทุกปี และยิ่งเข้ามาแบบออนไลน์ ไทยก็ยิ่งจะขาดดุลมากขึ้น โดยไม่เชื่อว่าสินค้าไทยจะขายไปจีนได้มากกว่าสินค้าจีนขายไทย

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงอีกว่า อาลีบาบา มีการขยายไปยังระดับหมู่บ้าน ซึ่งการที่ขนส่งทำได้ง่ายมาก โดยอาจจะพักสินค้าไว้ที่จังหวัดเชียงราย จากนั้นก็ขนมาที่ศูนย์กระจายสินค้าที่กรุงเทพฯหรือที่ใดที่หนึ่งจะกระจายต่อไปตามจังหวัดต่างๆ อาลีบาบาอาจไปเช่าพื้นที่สร้างศูนย์กระจายสินค้าในต่างจังหวัด จะกระจายต่อไปยังหมู่บ้าน ทำให้คนไทยมีโอกาสได้ซื้อสินค้าจีน ผ่านระบบการขนส่งของอาลีบาบาที่มีการจัดตั้งขึ้น ส่งผลทำให้รถปิกอัพของผู้ประกอบการไทยทั้งหลายที่เคยวิ่งอยู่ ต้องไปอยู่ในอาณัติของอาลีบาบา ไปเป็นเอ้าท์ซอร์ส หรือไม่งั้นต้องปิดกิจการไป”

“นายสายัณห์เปิดเผยว่าปัจจุบันมีบริษัทขนส่งที่กำลังมาแรง ชื่อ เคอรี่ จากฮ่องกง คือมีเคอรี่ โลจิสติกส์ กับเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เคอรี่ โลจิสติกส์ ทำเกี่ยวกับการขนส่งขนาดใหญ่ มีรถคอนเทนเนอร์ มีคลังสินค้า มีการกระจายสินค้า ส่วนเคอรี่ เอ็กซ์เพรส รับขนส่งสินค้าขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก ตรงนี้ก็ห่วงไปรษณีย์ไทย อนาคตจะอยู่ได้หรือไม่ โดยที่เคอรี่ได้จับมือกับทางลาซาด้า ตรงนี้ก็น่าห่วง เพราะทางอาลีบาบาได้ใช้กลยุทธ์เข้าตามหมู่บ้าน เคอรี่เองก็ไปตั้งหน่วยรับของแข่งกับทางไปรษณีย์ไทย เราก็ไม่ได้ต่อต้านเขาเพราะเราเป็นเสรีนิยม แต่กำลังเป็นห่วงว่ารัฐบาลไทย จะมีวิธีการไม่ให้เกิดการผูกขาดอย่างไร ในเมื่อเรามีพ.ร.บ.การแข่งขันมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งใช้ไม่ได้ผลเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลตรงนี้

“แม้ไทยจะมีธุรกิจของภาคเอกชนไทย อย่างปูนซีเมนต์ไทยมีธุรกิจให้บริการรับส่งสินค้า พูดได้เลยว่า อย่าว่าแต่ปูนซีเมนต์ไทยเลย บริษัทของไทยใหญ่ๆที่ทำธุรกิจนี้กันมานานมากก็พยายามสู้ แต่สู้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ยกตัวเอย่างเช่น ใครมีเงินเข้าเคอรี่ ใครมีเงินเข้าอาลีบาบา จากเงินจำนวนมหาศาลแล้วเขายังมีเทคโนโลยี มีระบบซอฟต์แวร์สามารถเอามาใช้ได้เลย ถามว่าบริษัทไทย มีซอฟต์แวร์เหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อซึ่งราคาระดับ 1 พันล้านบาทขึ้นไป จะมีใครสามารถลงทุนตรงนี้ได้” นายสายัณห์กล่าวและชี้แนะรัฐบาลไทยจะต้องรับมืออาลีบาบาก็คือ 1. ปรับปรุงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กับสินค้าโอทอป ให้เป็นแบรนด์อินเตอร์ 2. ต้องมีการรวมตัวกลุ่มโลจิสติกส์ ที่เป็นบริษัทเล็กๆ รวมเป็นสหกรณ์ หรือเป็นบริษัทไทยสักแห่งหนึ่ง และมีระบบการจัดการที่ดี มีรัฐสนับสนุนด้วยการให้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระจายสินค้าตรงนี้ “ขณะที่การปรับปรุงไปรษณีย์ไทยก็ควรทำ เพราะทุกวันนี้ยังทำงานกันแบบโบราณ และล่าสุดบริษัทลูกมีข่าวเกิดขึ้นว่ามีการโกงกันอีก”

สำหรับบริษัทรถบรรทุกขนาดเล็กในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นนายสายัณห์เปิดเผยว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย แต่ละบริษัทมีรถบรรทุก 1-3 คัน เฉลี่ยแล้วรถบรรทุกในไทยจะมีอย่างน้อย 3 แสนคัน มีอนาคตธุรกิจน่าเป็นห่วงเพราะถ้าบริษัทจากจีนสามารถเข้ามาควบคุมระบบได้ อย่างเช่น ถ้าเราขับรถไปแหลมฉบังไปพัทยา จะเห็นบริษัทหนึ่งขนาดใหญ่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง มีสาขาอยู่ในประเทศต่างๆ บริษัทนี้หากถ้าเขาดั๊มพ์ราคาค่าบริการ เชื่อว่าบริษัทของไทยก็อยู่ยาก หากรายเล็กรายน้อยของไทยไปไม่ไหว เชื่อว่าบริษัทจีนจะประสานให้มาเป็นเอ้าท์ซอร์สทันที มาเป็นลูกข่าย ขณะที่รายได้ ก็จะถูกตัดส่วนแบ่งไป สุดท้ายระบบการขนส่งโลจิสติกส์ไทยอยู่ในมือต่างชาติหมด เชื่อว่าคงไม่มีบริษัทไทยรายใหญ่เข้าไปสู้ได้ ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะมีถึง 16 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูแลในเรื่องนี้ แต่ต่างคนก็ต่างทำงาน

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เคยเสนอความคิดให้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นบริษัท ELA โลจิสติกส์ อัลลาแอนซ์ กับ XLA สยามโลจิสติกส์ อัลลาแอนซ์ มีบริษัทอยู่ในสองบริษัทนี้ประมาณ 60 บริษัท ผ่านมาหลายสิบปีก็เจ๊ง เพราะไม่มีใครจะเอาจริงเอาจังในการรวมตัวกัน ต่างคนต่างอยากฉายเดี่ยว ไม่คิดรวมตัวเพื่อต่อสู้กับต่างชาติในอนาคต ต่างคนต่างอยู่ 30 กว่าปีมานี้ยังไม่เคยเห็นการรวมตัวที่แท้จริง ผมอยากเรียกร้องบริษัท โลจิสติกส์ของไทยทั้งหลายให้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับบริษัทต่างชาติ โดยที่ตอนนี้บริษัท โลจิสติกส์ที่มาจากอาเซียน สามารถที่จะลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ด้วยเงินต่างชาติได้ถึง 70% ดังนั้น บริษัทจากจีนก็ไปตั้งบริษัท โลจิสติกส์ในลาว ได้สัญชาติลาว แล้วบริษัทที่ลาวเข้ามาตั้งดำเนินกิจการในไทย เงินที่ลงทุนก็มาจากต่างชาติทั้งหมด”

1,307 views
bottom of page