top of page
327304.jpg

ไทยรีหนีตาย..ชูสู้ทุกกลยุทธ์


ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ หรือไทยรี (THRE) ให้ข้อมูลในงาน Opportunity Day & Company หรืองานผู้บริหารพบผู้ลงทุน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศพร้อมสู้ทุกกลยุทธ์

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่าปีที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันภัยต่อรวม 5,500 ล้านบาท หดตัว 1.5% แต่ถ้านับเฉพาะเบี้ยรับสุทธิอยู่ที่ 3,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% กำไรจากการรับประกันภัย 250 ล้านบาท รายได้จากลงทุน 404 ล้านยาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโตด้านเบี้ยประกันรวมที่ 8% ซึ่งไทยรีประเมินว่าในปีนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบจะเติบโตประมาณ 3-4%

ปัจจุบัน ไทยรีมีค่า car ratio 330% หรือเทียบเท่าเรทติ้งที่ระดับ AAA โดยนโยบายหลักจะรักษาค่าเฉลี่ยนี้ได้ที่ประมาณหลัก 300% ขึ้นไป ซึ่งความเสี่ยงของไทยรี คือ ในการขออนุมัติกรมธรรม์ใหม่ๆ อาจทำได้ล่าช้าไปบ้าง ผลจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลจะเน้นพิจารณาและเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกได้ช้า

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตในภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ คาดจะโตตามผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สำหรับไทยรีคาดว่าการเติบโตหลักๆจะมาจากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจดั้งเดิมเป็นหลัก (non-conventional) ที่ประมาณ 6% จากภาพรวมทั้งหมด 8% โดยอีก 2% เป็นรายได้จากธุรกิจรับประกันภัยต่อแบบดั้งเดิม

สัดส่วนงานหลักๆจะเป็นกลุ่มประกันภัยทรัพย์สิน ซึ่งปีก่อนไทยรีมีส่วนแบ่งการตลาด 8%เมื่อเทียบกับปี 2558 ปีก่อนมีกำไรทั้งปี 875 ล้านบาท ติดลบ 4.2% เพราะในปี 2558 ได้ขายหุ้นไทยรีไลฟ์ (THREL) ออกไป 103 ล้านหุ้น ทำให้ปัจจุบัน ไทยรี (THRE) ลดสัดส่วนถือหุ้นใน THREL เหลือ 17% และภาพรวมปีก่อน ไทยรีจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นหุ้นละ 0.10 บาท

สิ้นปี 2559 ไทยรีมีสินทรัพย์ลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตร 26% ภาพรวมของการลงทุนทั้งพอร์ตให้ผลอบแทนเฉลี่ย 4.9%

แผนงานปีนี้ยังคงไว้ซึ่งรายได้จากการรับประกันงานแบบดั้งเดิมในสัดส่วน 39% และ non-conventional 61% ถ้าแยกงานในแต่ละกลุ่มการรับประกันภัยออกมา จะเป็นประเภทประกันภัยรถยนต์ในสัดส่วน 22% ประกันภัยทรัพย์สิน 9% ประกันภัยมารีน 1% ที่เหลือเป็นประเภทอื่นๆ 7% โดยมี combine ratio เฉี่ยที่ 92.4%

สำหรับความคืบหน้าของการลงทุนธุรกิจรีอินชัวรันส์ในต่างประเทศ ในแผนงานที่เริ่มไปแล้วในเวียดนามและกัมพูชา นอกจากนั้นมีการร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ในลาว อินโดนีเซียและศรีลังกา โดยในเวียดนามและกัมพูชา อยู่ระหว่างลอนช์แผนงานแบงก์แอสชัวรันส์ ส่วนในกัมพูชาและอินโดนีเซีย กำลังอยู่ในขั้นตอนเซ็ทอัพระบบบริการสินไหม เฉพาะรายได้จากต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นที่เวียดนามประมาณไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งวางเป้าหมายไว้ที่ 50-100 ล้านบาท

แผนธุรกิจของไทยรีในปีช่วงระหว่างปี 2017-2519 มองว่าท่ามกลางภาวะธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง บริษัทประกันภัยต่อในหลายประเทศเอเชียล้วนมีสภาพคล่องและศักยภาพเหลือล้น ไม่ว่าจะเป็นไชน่ารี, GIC อินเดีย โคเรียรี ฯลฯ กลายเป็นภาวะตลาดซอฟต์ เหล่านี้ ล้วนมีเงินล้นหน้าตัก ทำให้ต้องเข้ามาแข่งขันในในตลาดทั้งในและนอกประเทศตัวเอง

“เหตุที่ตลาดซอฟต์ เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1. ขึ้นอยู่กับซัปพลายในตลาด 2. มีเงินจากตลาดทุนเข้ามามาก (capital market) และ 3. การลงทุนในอดีตของกลุ่มบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่เคยผิดพลาดอย่างร้ายแรง เช่น วิกฤตของกลุ่ม AIG ในอดีต เหล่านี้ เมื่อมองย้อนไปที่ไทยรี ทำให้เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ควบคู่กับบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง โดยลดงานในกลุ่มประกันภัยทรัพย์สินลงมา เพราะรีอินชัวรันส์พาเหรดเข้ามาแข่งเยอะมาก ยิ่งภาวะตลาดซอฟต์มากเท่าไร เบี้ยยิ่งถูก ทำให้การแข่งขันยิ่งรุนแรงมากขึ้น”

ทิศทางของไทยรีนับจากนี้ คือ 1. พยายามรีเฟรซผลิตภัณฑ์ทุกๆ 2 ปี จากเดิม 4-5 ปี เพื่อเกิดความทันสมัย ทันต่อการตอบสนองลูกค้าและพันธมิตรคู่ค้า

2. โฟกัสไปที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายบุคคล (personal line) โดยดีไซน์ผลิตภัณฑ์พิเศษต่างๆ เช่น รับประกันภัยสปอร์ตแมน หรือการคุ้มครองนักฟุตบอล หรือผู้เล่นของสโมสรฟุตบอลต่างๆในประเทศไทยที่ปัจจุบันกระแสฟุตบอลลีกไทยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยกรมธรรม์จะคุ้มครองในการเงินรายได้ หรือเงินเดือนให้แก่ผู้เล่นที่บาดเจ็บ ไม่สามารถลงแข่งได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ รวมทั้งการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยการจัดงานอีเว้นต์และประกันภัยก่อการร้าย

3. ด้านตลาดต่างประเทศ จะเน้นไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ แต่จะประยุกต์ให้เข้ากับสภาพของแต่ละตลาดที่เข้าไป

4. ความร่วมมือกับรีอินชัวรันส์อื่นๆในการพัฒนาช่องทางขายใหม่ๆร่วมกัน โดยร่วมกับพันธมิตร หรือผู้ประกอบการที่เป็นอินชัวร์เทค ฟินเทคและบริษัทลูกของไทยรี ซึ่งเร็วๆนี้จะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ในรูปแบบคาร์พลู (car pool) โดยเป็นอินชัวร์เทคตัวแรก ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างหรืออัปเกรดในการต่อยอดรีอินชัวรันส์พรีเมียมให้กับไทยรี

“บริษัท EMCS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยรี ถือเป็นหนึ่งในอินชัวร์เทค ปีก่อนมีเคลมสินไหม 1.1 แสนคัน จากทั้งหมด 38 บริษัทประกันภัยที่ใช้บริการผ่าน EMCS มียอดบิลลิ่งประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท มีอู่ซ่อมในเครือประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจากนี้ไปบริษัทสามารถดึงอู่ซ่อมที่เป็นดีลเลอร์ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ให้เข้ามาใช้ระบบของ EMCS ให้เข้ามาใช้ระบบของไทยรีได้”

314 views
bottom of page