top of page
327304.jpg

ให้ผู้ประกันฯมั่นใจ..เงินสปส 1.6ล้านล้าน


กฎหมายคืนสิทธิประกันตนใกล้คลอด ผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ขาดสิทธิในทุกเงื่อนไขขอกลับเข้าระบบได้ จะได้สิทธิคุ้มครองเหมือนเดิม ทั้งเจ็บ ป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เสียชีวิต บำนาญชราภาพ ทางสปส.ยืนยันจะไม่เรียกเก็บเงินขาดส่งย้อนหลัง ส่วนเงินสะสมคงค้างที่ยังไม่ได้เบิกจะนำมารวมกับเงินสะสมใหม่ทั้งหมด ย้ำ...ผู้ที่ขาดสิทธิต้องแจ้งยืนยันกลับเข้าระบบกับสปส.ก่อน จึงจะได้รับสิทธินั้นหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้

น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบในการเสนอกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคืนสิทธิประกันตน สำหรับผู้ประกันตนในระบบสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง 6 กรณี คือ เจ็บ ป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เสียชีวิต และ บำนาญชราภาพ โดยผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างในมาตรา 33 และลาออกจากงานมีสิทธิสมัครการประกันตนต่อเพื่ออยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปได้

“ขณะนี้สมาชิกของเรามีอยู่ประมาณกว่า 1 ล้านคน ส่วนอีกประมาณ 960,000 คนที่หลุดออกไปจากระบบ เหตุเพราะอาจจะลืมนำเงินเข้าธนาคาร ทำให้ขาดเงินจ่ายส่งสมทบกับสำนักงานประกันสังคม 3 เดือนติดต่อกัน หรือบางรายมาจ่ายไม่ทันหลายรายฝากเพื่อนหรือญาติมาส่ง แต่เพื่อนกับญาติลืมส่งก็ทำให้ขาดสิทธิตรงนี้ไป ซึ่งคนเหล่านี้ยังเห็นความสำคัญของการประกันสังคม พอขาดสิทธิไปทางรัฐบาลก็เห็นว่าถ้าคืนสิทธิให้กลับเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม ก็เป็นโอกาสที่คนเหล่านี้ประมาณ 960,000 คนกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

สำหรับพ.ร.บ.คืนสิทธิประกันตนนี้ น.พ.สุรเดชกล่าวว่าเป็นการออกกฎหมายใหม่แทนการแก้กฎหมายฉบับเก่า เพราะการแก้กฎหมายเก่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งเมื่อกฎหมายใหม่ผ่านครม.แล้วจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ผู้มีสิทธิประกันตนตามมาตรา 39 ที่ออกจากระบบไปก่อนหน้านี้ต้องเข้ามาแสดงเจตนายื่นเรื่องกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง จากนั้นทางสำนักงานประกันสังคมจะทำเรื่องคืนสิทธิให้โดยจะรู้ผลภายใน 7 วัน

“ที่จริงแล้วประมาณ 1 วันก็สามารถทำเสร็จเรียบร้อย ยกเว้นในกรณีบางเคสที่มีปัญหา และเมื่อคืนสิทธิให้เรียบร้อย ผู้ประกันตนมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ ที่สำคัญคือเมื่อกลับเข้าสู่ระบบ ไม่ต้องกังวลว่าเงินที่ขาดส่งไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะจะไม่มีการเรียกเก็บย้อนหลัง ส่วนเงินที่สะสมอยู่กับสำนักงานประกันสังคมอยู่แล้ว หากกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งเงินที่สะสมไว้ก็จะนับต่อเนื่องให้ทั้งหมด...

ที่ถามกันบ่อยคือ ขาดสิทธิไปเมื่อตอนอายุ 58 ปี แล้วตอนนี้อายุ 60 ปีจะกลับเข้ามาได้หรือไม่ ซึ่งด้วยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะไม่ได้จำกัดอายุ ถ้าท่านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และลืมส่งหรือลืมเอาเงินเข้าธนาคาร ถ้าหากจะกลับเข้าสู่ระบบก็กลับมาได้หมด”

น.พ.สุรเดชกล่าวด้วยว่า ในระหว่างขั้นตอนการออกฎหมายพระราชบัญญัติคืนสิทธิประกันตน ทางผู้ที่มีสิทธิประกันตนที่ต้องการกลับสู่ระบบสามารถแสดงความจำนงโดยให้เบอร์โทรศัพท์ไว้กับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเมื่อกฎหมายพระราชบัญญัติคืนสิทธิประกันตนผ่าน ทางสำนักงานประกันสังคมจะติดต่อกลับไป

“ที่ต้องให้แสดงความจำนงก่อนเพราะหากคืนสิทธิอัตโนมัติให้ทุกรายก็อาจจะมีบางรายไม่จ่ายเงินประกันสังคมเพราะอาจไม่ต้องการกลับสู่ระบบก็จะทำให้สิทธิหลุด ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ทุกคนมีสิทธิทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ที่ต้องให้มาแสดงความจำนงคือให้มาจ่ายเงิน โดยคนที่จ่ายเงินก็จะได้กลับเข้ามาสู่ระบบอีกครั้ง ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็เหมือนเดิมและเงินที่สะสมไว้ก็ยังนับต่อเนื่อง ถ้าจำนวนเดือนครบท่านก็จะได้เงินบำนาญไปตลอดชีวิต แต่จะยกเว้นกับคนตกงานเพราะเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยกรณีนี้จะไม่เรียกเก็บเงินเพราะเป็นคนว่างงาน สิทธิเรื่องของเจ็บไข้ได้ป่วย จะคลอดลูกหรือสงเคราะห์บุตร ยังได้รับสิทธิเหมือนเดิม”

ส่วนประเด็นที่มีความกังวลกันว่าการคืนสิทธิประกันตนตามกฎหมายใหม่จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับกองทุนประกันสังคมหรือไม่นั้น น.พ.สุรเดชกล่าวยืนยันว่ามีผลกระทบต่อกองทุนฯน้อยมาก อีกทั้งผู้ที่กลับมาใช้สิทธิต่างเป็นสมาชิกกับกองทุนประกันสังคมมานาน ประกอบกับรัฐบาลต้องการให้คนไทยทุกคนมีสิทธิในหลักการประกันสังคม มีหลักประกันในชีวิต

“กองทุนฯจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยไม่ว่าจะมีเงินมากเท่าไหร่หากประชาชนหรือสมาชิกฯไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะฉะนั้นผู้ประกันตนต้องมาก่อนเสมอ ส่วนผลกระทบที่บอกว่าผู้ประกันตนเหล่านี้เมื่อกลับเข้ามาแล้วจะได้สิทธิมากกว่าคนอื่น ซึ่งจากที่ดูตัวเลขแล้วไม่จริง ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในระบบของสปส.จะช่วยกันทำให้กองทุนฯมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่แอบมาใช้สิทธิในระบบจะมีการตรวจสอบโดยตลอด อย่างเช่น นายจ้างมีการจ่ายเงินแบบจ่ายๆ หยุดๆ ทางเราก็จะเข้าไปดูว่ามีเงินเพิ่ม มีค่าปรับ จะมีการเรียกย้อนหลังแบบเป็นรายคดี หากนายจ้างแกล้งลูกจ้าง 1 คนก็จะดำเนิน 1 คดี ถ้าแกล้งลูกจ้าง 10 คน จะดำเนิน 10 คดี ถ้าทำแบบนี้แล้วนายจ้างก็จะไม่กล้าที่จะแจ้งเท็จต่อสปส....

ขณะนี้กองทุนประกันสังคมมีเงินอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท และย้ำว่ามีการดูแลเงินก้อนนี้อย่างดี โดยนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคง เช่น พันธบัตรของทางรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น การซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่มีการจัดเรตติ้งดี ส่วนการซื้อหุ้นก็มีข้อตกลงว่าหุ้นปั่นทั้งหลายจะไม่มีการซื้อแน่นอน โดยจะเป็นการซื้อหุ้นเพื่อมีผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัท ซึ่งตอนนี้คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นประมาณ 11%”

ทั้งนี้ น.พ.สุรเดชยังกล่าวด้วยว่า เนื่องจากเงินกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ดังนั้น การลงทุนต้องคำนึงถึงเหตุผล ความมั่นคง ผลตอบแทน ทางสปส.จึงมีการปฏิรูปการลงทุนให้เหมาะสม

“เวลาที่พันธบัตรของรัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาทุกคนก็อยากจะซื้อเพราะมีความมั่นคง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังถือว่าเล็กสำหรับกองทุนขนาดใหญ่ หากเข้าไปลงทุนในตลาดเดียวและเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างวิกฤตปี 2540 หุ้นทุกอย่างลงมาหมด แปลว่าเงินทุกอย่างที่อยู่ในหุ้นก็เกิดปัญหาไปด้วย เพราะฉะนั้นสปส.จึงกระจายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง ก็จะช่วยให้กองทุนฯมีความมั่นคงมากขึ้น ขณะเดียวกันหลายประเทศอยู่ในระหว่างฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นนับเป็นโอกาสที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงขึ้น...

นอกจากนั้น ระเบียบราชการที่มีจะเป็นระเบียบสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป จะไม่มีระเบียบราชการในเรื่องการลงทุน เวลาที่เอาระเบียบราชการที่มีอยู่มาใช้ก็อาจจะติดขัดล่าช้าในการลงทุน ทำให้ลงทุนไม่ทัน บางทีเห็นหุ้นขึ้นก็อยากจะรีบซื้อ แต่กว่าจะทำเรื่องอนุมัติ หุ้นก็วิ่งไปไหนแล้ว ทำให้มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการลงทุนของสปส. ซึ่งรวมไปถึงผลตอบแทนบุคลากร เช่น ผู้ที่ต้องตัดสินใจเรื่องการลงทุนในหุ้น เพราะคนเหล่านี้ในตลาดการลงทุนไทยยังมีไม่มาก รวมทั้งเงินเดือนของภาครัฐก็ไม่ได้สูงมาก ทำให้ไม่สามารถรั้งคนเหล่านี้ได้ อีกทั้งตลาดการลงทุนในไทยก็เติบโตขึ้นทุกวันทำให้การมีการแย่งชิงคนกัน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น...

“ก็จะใช้คนของเราในการรีพอร์ตการลงทุน ไม่ได้ใช้บรรดาบลจ.เข้ามาบริหาร ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทนให้กองทุนฯแล้ว เรายังมีหน้าที่เป็นสถาบันอย่างหนึ่งที่ต้องช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินการคลังในประเทศไทยด้วย อย่างปีล่าสุดผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีแบบราชการอยู่ที่ประมาณ 5 กว่า ซึ่งดีแน่นอน และเงินผลตอบแทนที่ได้มาทั้งหมดกลับไปเป็นประโยชน์ทดแทนที่จะจ่ายให้กับสิทธิผู้ประกันตน”

72 views
bottom of page