top of page
327304.jpg

‘น้ำมัน-ถ่านหิน’ เมนูหลัก! โรงกลั่นน้ำมัน ‘กระดูกไก่’


ฟันธง! โลกยังใช้ “น้ำมัน-ถ่านหิน” ไปอีกนาน แม้กระแสใช้พลังงานไฟฟ้า-รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง แถมน้ำมัน-ถ่านหินเป็นพลังงานราคาถูก ให้กำลังมหาศาลไร้เทียมทาน จับตาโลกพลังงานเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์จาก “เชลล์ออยล์” มะกันทำผู้ผลิต-ผู้ใช้เปลี่ยน ส่งผลให้โลจิสติกส์น้ำมัน-อำนาจโลก โอเปกกลายเป็นเสือลำบาก อดีตคนเคยรวยสั่งขายน้ำมัน

นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ราคาน้ำมันเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2560 ถือว่าได้กลับมาในสภาพที่สมดุลอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ ราคาน้ำมันสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักที่ผ่านมาปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวเกิดจากข้อมูลที่ไม่ได้เป็นปัจจัยพื้นฐานเช่น การเมือง, สงคราม ขณะที่ทางโอเปกเองก็มีผลบังคับใช้ในระดับหนึ่ง ว่าสมาชิกในกลุ่มโอเปกพอใจที่จะกำหนดเพดานที่ทำไว้และยอมรับในการผลิตซึ่งตอนนี้ยังผลิตอยู่เท่าเดิม

“ส่วนผู้ผลิตนอกโอเปกก็ประมาณการณ์ว่าอย่างน้อย 70% เห็นด้วย ว่าคงจะไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตให้ราคาตกลงไปเยอะ มีอยู่หลายแฟ็กเตอร์ที่ทำให้ความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมการผลิตได้ ในขณะที่ความต้องการของโลกค่อยๆ กลับมาเพิ่มเล็กน้อย คือปีหนึ่งจะโต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะฉะนั้นราคาน้ำมันที่เคยเห็นขึ้นไปกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรล ก็จะตกมาที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ถือเป็นราคาที่สมดุลอยู่” นายสุรงค์กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ฐานราคาน้ำมันในปีที่แล้วจาก 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับปี 2560 นี้ คาดว่าฐานราคาน่าจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนน้ำมันยังมีต้นทุนสูงที่อ่าวเม็กซิโก หรือที่บราซิล ก็ยังกลับมาไม่ได้ ส่วนเรื่องโอเปกก็ยังมีการควบคุม วันนี้เองหลักๆ ทางสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต้องการการนำเข้าน้ำมันจากโอเปกมากแล้ว คือแทบจะไม่มีการนำเข้าเลย ดังนั้น โอเปกต้องไปพึ่งยุโรปและเอเชียในการระบายน้ำมันเป็นหลัก เพราะฉะนั้นอุปสงค์และอุปทาน ก็ยังไม่มีตัวแปรที่สำคัญทำให้ราคาน้ำมันสวิงไปมาก ถือเป็นข่าวดี โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนนี้ของประเทศไทย ราคาน้ำมันคงไม่ผันผวน”

ส่วนกรณีล่าสุดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกากลับลำเซ็นคำสั่งออกมาให้เลิกกฎสู้โลกร้อน และไม่เอาแผนพลังงานสะอาดของ “บารัก โอบามา” ตรงนี้จะมีผลต่อพลังงานอย่างไรนั้น นายสุรงค์กล่าวว่า ก่อนที่จะบอกว่านโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเวิรค์หรือไม่ ต้องดู 3 เดือนแรกว่าจะมีผลอย่างไร ซึ่งเรื่องเฮลท์แคร์ก็ปรากฏว่าสะดุด ส่วนเรื่องแผนพลังงานคิดว่ามี 2 ประเด็นหลักๆ ก่อนว่าคือ 1. โดนัลด์ ทรัมป์ หรือคนสหรัฐอเมริกายอมที่จะสวนกระแสโลกหรือไม่ว่า เราต้องการพลังงานสะอาด ดังนั้นประเด็นเดียวที่จะเกิดขึ้น คือเมื่อเกิดเอลนินโญ่ ลานินญ่า ไฟไหม้อะไรต่างๆ เหล่านี้ นโยบายเหล่านี้จะต้องถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนตัวเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเอง เมื่อผู้นำประกาศออกไปแล้ว ก็คงต้องทำ เพียงแต่ว่าผลที่ทำจะได้มากน้อยขนาดไหน คิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำได้ คือต้องตัดงบประมาณกลาง แต่กระแสโลกสีเขียว กระแสโลกสะอาดต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวที่ฉุดให้ความต้องการของคนในโลกนี้ ต้องการเห็นพลังงานที่สะอาดขึ้น เพราะฉะนั้นเองจะเป็นส่วนที่ขัดขวางนโยบายเหล่านี้

“โดนัลด์ ทรัมป์เอง ต้องการให้เสียงของเขา ในแถบที่มีเหมืองถ่านหินแถวฟิลาเดเฟีย หรือเวสต์อินจิเนียได้มีงานทำ ซึ่งเรื่องถ่านหิน คงจะต้องอยู่กับโลกอีกหลายร้อยปี เพราะเป็นพลังงานพื้นฐาน การจะเลิกถ่านหิน คงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องเป็นถ่านหินที่มีความสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สัดส่วนคือไม่ใช่ถ่านหินจะเพิ่ม แต่ว่า พลังงานทดแทน จะเข้ามาแทนได้เร็วมากน้อยขนาดไหน โดยจำนวนการใช้ถ่านหินของโลก คงไม่ได้ลดลงและไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่ประมาณการณ์ไว้ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพลังงานทดแทน แบตเตอรี่ เรื่องของรถอีวีเข้ามา ส่วนน้ำมันก็ยังอยู่กับเราอีกนาน เพราะเราคงไม่กล้าขึ้นเครื่องบินที่ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ยังคงใช้น้ำมันเป็นตัวหลัก คือเป็นพื้นฐาน”

“แต่กระแสของโลกที่ต้องการเห็นพลังงานสะอาดมีมากขึ้น นายสุรงค์กล่าว โดยเฉพาะการกักเก็บพลังงานทำให้กระบวนการในการผลิต การใช้แตกต่างกันไป และคงจะเห็นรถที่เป็นไฟฟ้ามากขึ้น แต่คงไม่สามารถทดแทนรถทั้งหมดได้ อย่างรถบรรทุกต้องการแรงฉุดแรงเหวี่ยง ซึ่งการใช้ไฟฟ้า ยังไม่สามารถมาทดแทนได้ในปัจจุบัน จึงคิดว่าต้องใช้เวลา แต่กระแสรถไฟฟ้า ก็ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้ามา แต่คงจะเป็นอะไรที่ปรับตัวเข้าไป คือน้ำมันยังมีสัดส่วนอยู่ แต่คงไม่หวือหวา เหมือนวันนี้ที่ไม่ค่อยมีคนตื่นเต้นกับราคาน้ำมันเท่าไหร่”

นโยบายพลังงานของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้ประกาศออกมาแล้วนั้น นายสุรงค์กล่าวว่าคงจะเดินตาม แต่ว่าประสิทธิภาพของการใช้นโยบายนี้ ยังเป็นคำถามอยู่ว่ามันจะง่ายอย่างนั้นเลยหรือ เพราะสหรัฐอเมริกาเอง จะไม่เป็นคนที่ทำให้โลก คือตัวเองแย่อยู่แล้ว ก็ต้องถามว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นคนเดียวที่ยืนอยู่ในโลกนี้ได้หรือไม่ จะสวนกระแสโลก และคิดว่าในที่สุดแล้วการที่โลกกำลังป่วยอุณหภูมิโลกร้อนเป็นเรื่องหลัก และในที่สุดแล้ว ตัวนี้จะเป็นคำตอบของสังคมเองว่า ควรทนอยู่กับพลังงานสกปรก เรามองว่าเรื่องถ่านหินไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่องการใช้ถ่านหินที่มีคุณธรรม มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพต่างหาก ได้เห็นแล้วกับถ่านหินสะอาดที่ญี่ปุ่นก็มีการใช้กันจำนวนมาก คือถ่านหินไม่ใช่ผู้ร้าย แต่กระบวนการผลิต กับโรงไฟฟ้า ส่วนนี้ที่ต้องไปควบคุม

ส่วนในเรื่องเชลล์ออยล์ของสหรัฐอเมริกา นายสุรงค์กล่าวว่า เป็นตัวสวิงตัวหลักเลย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ถือเป็นประโยชน์กับคนไทยที่ใช้น้ำมัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาหยุดการนำเข้า เชลล์ออยล์เป็นน้ำมันที่ผลิตในชั้นหินดินดาน ในอดีตกว่า 40 ปีที่ผ่านมาขุดมาไม่ได้ และเมื่อขุดได้แล้วจะเป็นลักษณะของน้ำมันใสน้ำมันเบา ถือเป็นน้ำมันที่เหมาะสมกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้น้ำมันแก๊สโซลีนเป็นตัวขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของฤดูร้อนที่มีความต้องการใช้น้ำมันเบนซินค่อนข้างสูง

“เชลล์ออยล์จะมาแทนน้ำมันแอฟริกาโดยตรง ซึ่งน้ำมันแอฟริกาในอดีตก็จะมีที่ใช้คือที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยเฉพาะในรัฐนิวยอร์กและนิวเจซี่เป็นหลักไม่ได้ใช้และใช้น้ำมันในประเทศของตัวเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเอง น้ำมันแอฟริกาก็จะมาอยู่ในเอเชียบ้าง ยุโรปบ้าง และไปตัดราคาน้ำมันดูไบ จึงเห็นว่าราคาน้ำมันจะมีเพดานขวางอยู่ ก็คือตัวน้ำมันแอฟริกาซึ่งไม่มีทางนำเข้าไปในสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาจะใช้น้ำมันของตัวเองเป็นหลัก” นายสุรงค์กล่าว

“หากสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันเชลล์ออยล์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องโลจิสติกส์ต่างๆ ก็เปลี่ยน ตอนนี้คลองปานามาก็ขยายแล้ว ทำให้เรือขนาดใหญ่วิ่งได้ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูว่าในอนาคตหากสหรัฐอเมริกาส่งออกน้ำมันได้แล้ว ภาคของโอเปกจะเป็นอย่างไร ภาคของตะวันออกกลางจะเป็นอย่างไร ความต้องการของญี่ปุ่นคงไม่ต้องไปพึ่งตะวันออกกลาง คงต้องจับตาดู

ส่วนโรงกลั่นในเมืองไทยจากนี้ต้องปรับตัวหรือไม่จากที่กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้นในอนาคตนั้น นายสุรงค์กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่ากระดูกไก่ คือจะทิ้งก็เสียดาย จะทานก็ลำบาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงกลั่น ขณะนี้ถือว่าทำเงินได้จำนวนมหาศาล ได้กำไรจากการผลิต เพราะว่าประเทศไทยไม่ได้สร้างโรงกลั่นมา 30 ปีแล้ว โดยโรงกลั่นสุดท้ายที่สร้างก็กว่า 10 ปีแล้วคือ SPRC

“ตอนนี้เชื่อว่าทุกคนคงจะมองว่าน้ำมันจะใช้ไปจนถึงเมื่อไหร่ แต่ก็ยังยืนยันว่าน้ำมันยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อีกนานมาก เพียงแต่ว่าเรื่องการลงทุนเรื่องโรงกลั่น ที่ต้องลงทุนค่อนข้างสูง แนวโน้มจะกลับไปเรื่องของการขยายโรงกลั่นมากกว่าการสร้างใหม่ เพราะฉะนั้นศักยภาพการกลั่น จะมีจำกัด แม้น้ำมันมีจำนวนมาก แต่ก็กลั่นได้จำกัดด้วยกำลังการผลิตเป็นสำคัญ ดังนั้น ที่พูดถึงเรื่องรถไฟฟ้า ยังเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนในเมือง กลุ่มอีโคคาร์ แต่ว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่เรามีอยู่กว่า 30 ล้านคันบนโลกใบนี้ หลักๆ ยังเป็นน้ำมันอยู่ และตอนนี้เองสัดส่วนรถไฟฟ้ามีแค่ไม่ถึง 5% คงยังต้องใช้เวลา และถามว่ารถไฟฟ้าจะมาทดแทนรถที่ใช้น้ำมันทั้งหมด คงไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่รถไฟฟ้าทำไม่ได้ เช่นการขนสิ่งของหนัก การเดินทางในระยะที่ไกล การใช้น้ำมันที่เป็นอากาศยาน ยังเป็นข้อจำกัดอยู่” นายสุรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรงและที่ขาดไม่ได้คือสถานีเติมไฟฟ้า...สถานีเติมอีวี ทางปตท.ก็มีแนวโน้มที่จะทำเรื่องของอีวีสเตชั่น และจะส่งผลให้ปตท.เป็นบริษัทที่ผลิตเชื้อเพลิงทุกชนิดที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูป แอลพีจี หรือจะเป็นสถานีเติมไฟฟ้า อนาคตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปของรีเทล บิสิเนสไป เช่นไปทานข้าวผู้บริโภคก็อาจจะไปชาร์ตไฟด้วย คงจะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกและเมืองไทย คือสมัยก่อนจะเอารถเป็นศูนย์กลาง แต่ตอนนี้ต้องใช้ผู้บริโภคหรือคนเป็นศูนย์กลาง วันนี้เองหากพิจารณาคอนเซ็ปต์ของร้านกาแฟอเมซอน เกิดขึ้นจากการให้บริการคนไม่ใช่รถ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์”

139 views
bottom of page