top of page
327304.jpg

กองทุนประกันรอจ่าย...ลูกค้าบริษัทเจ๊ง 8 ราย


กองทุนประกันชีวิตและกองทุนประกันวินาศภัย มีสถานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

เงินกองทุนสามารถใช้จ่ายเพื่อ

1. ให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

2. เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ แต่ไม่เกินวงเงินที่ได้รับตามกฎหมาย

3. เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน แต่ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

ในเว็บไซต์ คปภ. ระบุว่ากองทุนประกันวินาศภัย มีเงินสะสมตามงบแสดงฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2558 จำนวน 2,992 ล้านบาท มีรายได้ 612 ล้านบาทและค่าใช้จ่าย 14.79 ล้านบาท ส่วนกองทุนประกันชีวิตไม่ได้ระบุรายละเอียดงบแสดงฐานะการเงิน มีเพียงรายงานเบื้องต้นระบว่ามีเม็ดเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา กองทุนประกันชีวิตยังไม่เคยจ่ายชดเชยให้เจ้าหนี้ผู้เอาประกัน เพราะยังไม่เคยมีบริษัทประกันชีวิตถูกสั่งปิด หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิตและกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 9 ปีของทั้ง 2 กองทุนว่าทั้ง 2 กองทุนมีบทบาทอย่างมากในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยในกรณีบริษัทประกันถูกปิดกิจการ ล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ จะทำหน้าที่ในการจ่ายชดเชยแทนบริษัทประกันที่ล้มละลาย สูงสุด 1 ล้านบาทต่อผู้เอาประกันภัย 1 ราย โดยที่ผ่านมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยได้ระดับหนึ่งและมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจประกันภัยด้วย

“นับจากนี้ไป ทั้ง 2 กองทุนจะต้องทำงานเชิงรุกและมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยมีความสำคัญต่อประชาชนและต่อการพัฒนาประเทศ โดยเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ”

นายสมชาย ดำรงสุนทรชัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ระบบประกันภัยถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงสำคัญที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ขณะที่การประกันวินาศภัยนับเป็นกลไกสำคัญในการบริหารทรัพย์สิน กองทุนจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัย ซึ่งปีนี้ได้ดำเนินการครบรอบ 9 ปีแล้ว

กองทุนประกันชีวิตได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562) โดยมีมาตรการหลัก ได้แก่

1. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นการประกันชีวิตของผู้เอาประกันภัยว่าจะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทภารกิจการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ของกองทุนให้กับประชาชน

2. การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการประกันภัยและส่งเสริมให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา สนใจศึกษาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย

3. การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ระบบสารสนเทศของกองทุนมีความทันสมัย พร้อมรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันชีวิตและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้สามารถเข้าถึงความรู้และสิทธิประโยชน์จากการทำประกันชีวิตและบทบาทหน้าที่ของกองทุนได้มากยิ่งขึ้น

4. การพัฒนากองทุนให้เป็นมาตรฐานสากล โดยสานความสัมพันธ์กับกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันชีวิตในต่างประเทศ ด้วยการรวบรวมข้อมูลด้านความคุ้มครองผู้เอาประกันชีวิตและศึกษารูปแบบแนวความคิดและวิธีการให้ความคุ้มครองของกองทุนประกันชีวิตในต่างประเทศ ในฐานะที่ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารของที่ประชุมนานาชาติเพื่อการคุ้มครองผู้เอาประกันภัย International Forum of Insurance Guarantee Schemes (IFIGS) ซึ่งมีสมาชิกจาก 24 ประเทศทั่วโลก

“สำหรับในปีนี้ คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีประชาชนถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 38% จากประชากรกว่า 65 ล้านคน ขณะที่หลายประเทศในทวีปเอเชียมีอัตราถือครองเกิน 100% แสดงให้เห็นว่าตลาดประกันชีวิตในไทยยังขยายตัวได้ดี”

นางกมลวรรณ กีรติสมิต ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่าบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จำนวน 8 บริษัท ประกอบด้วย สัมพันธ์ประกันภัย, เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนลอินชัวร์รันส์, วิคเตอรี่ประกันภัย (ประเทศไทย), ลิเบอร์ตี้ประกันภัย, ส่งเสริมประกันภัย, ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย, ศูนย์สุขภาพประเทศไทย และสัญญาประกันภัย ส่งผลให้มีประชาชนเข้ายื่นคำร้องต่อกองทุนประกันวินาศภัยและกรมบังคับคดี ประมาณ 25,000 คำขอ

ปีนี้มีคำขอที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยแล้ว จำนวน 8,419 คำขอ รวมเป็นเงินที่ต้องชำระจำนวน 299 ล้านบาท กองทุนได้ส่งจดหมายแจ้งจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับพร้อมเอกสารแนบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งล่าสุดอยู่ในระหว่างรวบรวมและตรวจสอบเอกสารตอบกลับจากเจ้าหนี้ เพื่อชำระเงินให้เจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร็วที่สุด

สำหรับทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2560 คาดว่าจะมีการเติบโตในอัตรา 2-3% จากสิ้นปี 2559 ที่คาดว่าจะโตที่อัตรา 2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตหลักๆ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งตลาดคาดการณ์ไว้ประมาณ 3-4% โดยเฉพาะปัจจัยจากการลงทุนโครงการภาครัฐและการเบิกจ่าย ขณะเดียวกันแนวโน้มภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวมีสัญญาณดีขึ้น

สำหรับแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันวินาศภัย ระยะ 3 ปี ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 บริหารการจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพ: คุ้มครองสิทธิประโยชน์ทางด้านการเงินของเจ้าหนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรการที่ 2 เสริมสร้างความรู้กองทุนประกันวินาศภัยของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

มาตรการที่ 3 การบริหารจัดการภายในกองทุนประกันวินาศภัย

มาตรการที่ 4 ด้านนวัตกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนประกันวินาศภัย

“กองทุนประกันวินาศภัย เน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าประสงค์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์และส่งเสริมธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยั่งยืน”

สาเหตุที่ทั้ง 2 กองทุนซึ่งตั้งมา 9 ปีแล้วและมีเงินสะสมเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะเตรียมจ่ายชดเชยเจ้าหนี้ที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกองทุนประกันวินาศภัยนั้น เป็นเพราะกระบวนการชำระบัญชีของบริษัทที่ล้มละลายของประเทศไทยใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระ มูลหนี้ก็แทบไร้ค่าไปแล้ว

12 views
bottom of page