top of page
327304.jpg

เตือน “บาท” แข็งค่าเกินจริง ไทยติดกับดักค่าเงิน..สะสมวิกฤตรอปะทุ!


ศ.ดร.ตีรณ เตือนไทย...หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย ต้องระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติเกินจริง ต้องจับตาปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจ-การเงิน ซึ่งมีสิทธิ์จะพลิกผันทั้งราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้น ขณะที่แบงก์ชาติและรัฐบาลยังติดกับดักเรื่องค่าเงิน ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ทำให้เป็นการสะสมวิกฤตที่จะแผลงฤทธิ์เหมือนภูเขาไฟที่รอการระเบิด

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการนสพ. “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ-การเงินหลังจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า ทำให้ตลาดมีความผันผวน แต่เป็นความผันผวนในช่วงสั้นๆ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนของโลกมาอย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนของยุโรปอาจเบาใจนิดหน่อยว่าความเสี่ยงทางการเมืองต่างๆ ที่เคยมองไว้นั้น ถือว่ามีการได้รับข่าวสารล่วงหน้าไปเยอะแล้ว ของทางฝั่งสหรัฐอาจจะแปลกตรงที่เมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วกลับมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามกัน...

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้เกิดจากความเชื่อมั่นต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ หากมองย้อนไป 5 เดือนที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วของเฟด น่าจะเป็นประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนซึ่งจะเป็นจังหวะที่เหมาะ แต่ในช่วง 2-3 เดือนนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐค่อนข้างดี และมีคนเริ่มลาออกจากงานเพื่อไปหางานใหม่ที่ดีกว่า ก็เป็นตัวเลขบางอย่างที่ทำให้ตลาดโดยรวมเริ่มมองว่าต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว และในสถานการณ์แบบนี้ทำให้เฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่า จังหวะที่ดีของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือเดือนมีนาคม ซึ่งถ้าไม่ขึ้นก็จะสวนตลาด ก็เป็นความโชคดีของเฟดด้วยที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย เพราะถ้าไม่ปรับขึ้นตลาดก็คงสับสนเพราะทุกฝ่ายมองว่าสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้”

ศ.ดร.ตีรณยังกล่าวด้วยว่า เฟดยังคงมีท่าทีว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งท่าทีแบบนี้ตลาดคาดการณ์และรับรู้ข่าวสารล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว และเชื่อว่าแล้ว โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปนั้นต้องทิ้งช่วงอีกระยะหนึ่ง โดยจะไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้

“คงไม่ถึงขั้นต้องขึ้นทุกไตรมาส เพราะฉะนั้นอาจเหลือ 1-2 ครั้งที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยเป็นข่าวที่รับรู้กันหมดแล้ว เราจะเห็นว่าราคาหุ้นในสหรัฐก็ขึ้น และทั่วโลกก็มองว่าสถานการณ์น่าจะปลอดโปร่ง หุ้นทั่วโลกเลยขึ้นตาม สถานการณ์ต่างๆ เริ่มผ่อนปรนมากขึ้น แต่การผ่อนปรนมองว่าเป็นระยะสั้น โดยทิศทางเงินดอลลาร์ยังไปได้อีก คนที่ซื้อล่วงหน้าหรือทำสัญญาระยะยาวไว้ก็อาจจะหวั่นไหวหน่อยในช่วงสั้น จะเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแกว่งแรงมาก พอราคาสินค้าพุ่งขึ้นค่าเงินก็แข็งทันที เพราฉะนั้นคนที่ดูแลค่าเงินต่างๆ ก็ต้องเผื่อเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ตรงนี้เป็นสถานการณ์ที่ผ่อนคลายสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาในระยะสั้น ทำให้เงินไหลเข้ามาในไทยและเอเชียในช่วงนี้มากขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะไหลออก”

ส่วนท่าทีของกนง.ต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยหลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ศ.ดร.ตีรณมองว่ากนง.จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เพราะแบงก์ชาติไทยมักจะกล้าๆ กลัวๆ จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

“ก็ต้องดูบทบาทอื่นๆ ของแบงก์ชาติว่าในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะผ่อนคลายให้ธนาคารไหม ซึ่งปกติแบงก์ชาติจะเน้นความระมัดระวังมากเป็นพิเศษแล้วก็จะบีบมาทางธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ปล่อยสินเชื่อง่ายๆ เพราะแบงก์ชาติเป็นโรคกลัวหนี้ NPL แต่แบงก์ชาติก็ไม่สามารถไปสกัดแบงก์รัฐในการปล่อยสินเชื่อ ก็ยังเป็นปัญหาในเรื่องของโครงสร้างเหมือนกันว่าคนที่มีเครดิตดีสามารถกู้ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่กล้ากู้และรวมถึงกู้ยาก ส่วนคนที่ไม่มีเครดิตก็กู้ง่ายเพราะเป็นกลุ่มลูกค้าของแบงก์รัฐ ก็ทำให้มีปัญหาอยู่พอสมควร...

ด้านทิศทางในแง่เงินไหลออกก็คงพักตัวในระดับหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยของไทยยังสูงอยู่ แม้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับขึ้นมา 0.25% ถือว่าไม่ได้มากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยไทยที่มีอยู่ในตอนนี้และค่าเงินที่ยังแข็งอยู่ แต่ในระยะต่อไปในช่วงปลายปีอาจจะได้เห็นค่าเงินดอลลาร์ปรับขึ้นและค่าเงินบาทก็จะอ่อนตัวลงหลังจากที่สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอีกครั้ง ถึงตอนนั้นก็จะเริ่มกังวลว่าถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปีครั้งหนึ่งแล้วขึ้นต้นปีอีกครั้งหนึ่งก็จะสร้างแรงกดดันอยู่เป็นระยะๆ ส่วนเงินทุนระหว่างประเทศก็มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเริ่มจะเห็นบางประเทศมีปรับขึ้นแล้ว อย่างอังกฤษเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นทำให้ค่าเงินปอนด์แข็งขึ้น บางประเทศเริ่มมองแล้วว่าจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ”

จากสถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับเศรษฐกิจของไทยโดยรวมใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลมีงบรายจ่ายจำนวนมาก มีการลดภาษีบางประเภทและขึ้นภาษีบางประเภท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้านนโยบายการเงินยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยคงขยายตัวช้าไปอีกระยะหนึ่ง

“ตัวเลขการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นอาจจะกลับมาต่ำลงอีกครั้ง ขณะนี้ราคาน้ำมันลงแล้วและอาจจะลงอีกจะเป็นปัจจัยทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีแรงกดดัน เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยก็จะผ่อนคลายลงเพราะราคาน้ำมันลงไปตั้งแต่แรก แต่เป็นที่ทราบดีว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐมีออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งความต้องการน้ำมันของสหรัฐฯก็ยังขยายอยู่ ก็เป็นปัจจัยที่ยังพอมองได้ว่าราคาน้ำมันยังคงผันผวน แต่ราคาที่เห็นอยู่ก็น่าจะต่ำแล้ว ราคาคงไม่ต่ำไปมากกว่านี้ น่าจะยืนอยู่ที่ 50 เหรียญฯต่อบาร์เรลและจะกลับมา 53-54 เหรียญฯต่อบาร์เรล ก็จะแกว่งตัวอยู่ประมาณนี้ในระยะหนึ่ง ส่วนในปีหน้าจะเห็นการขยับราคาขึ้น...

คนที่ทำธุรกิจต้องมองปัจจัยเหล่านี้ว่ามันไม่แน่นอน ยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ขณะนี้ทุกคนมองว่าราคาน้ำมันคงจะแย่และถูกพลังงานไฟฟ้ามาทดแทน รถยนต์จะเป็นรถไฟฟ้าหมด จะไม่มีใครใช้น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งก็เป็นการมองตามกระแส ซึ่งกระแสคงอยู่ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้ว 3-4 ปีก็จะกลับมาสู่ยุคราคาที่น้ำมันจะไม่ต่ำแบบนี้ ก็เหมือนกันกับอัตราดอกเบี้ย ทุกวันนี้อยู่ในสภาพที่ดอกเบี้ยถูกซึ่งในอนาคตก็อาจไม่ถูกแบบนี้ ก็ต้องเผื่อสถานการณ์แบบนี้ไว้โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจระยะยาว”

สำหรับในภาคการส่งออกนั้น ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องมีระบบการบริหารการจัดการที่ดี โดยต้องตั้งรับถึงการแข่งขันเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

“เช่นสมมุติว่าถ้าค่าเงินหยวนถูกมากไทยจะแข่งขันอย่างไรเพราะค่าเงินไทยแข็งมากซึ่งก็ส่งออกยาก ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลหรือแบงก์ชาติก็แก้ปัญหาไม่ได้ ยังติดกับดักเรื่องค่าเงินตัวเองสูงอยู่ แล้วจะทำอย่างไรให้ค่าเงินอ่อน ซึ่งค่าเงินก็อ่อนไม่ได้อีกเพราะจะลดดอกเบี้ยก็ไม่กล้าลดเพราะกลัว NPL และก็ไม่กล้าไล่เงินต่างชาติเพราะกลัวว่าจะออกไปจริง แบบนี้เรียกว่าเป็นการสะสมวิกฤตไว้ วันหนึ่งก็จะได้เห็นสิ่งที่มันรุนแรงจากการที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้มันน่ากลัว อะไรก็ตามที่ดูนิ่งๆ ให้ระวังไว้ว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลมันก็จะลำบาก อย่างค่าเงินบาทไทยตอนนี้ถือว่าแข็งเกินความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแต่ค่าเงินแข็ง อาการผิดปกติแบบนี้ให้มองเลยว่าวันหนึ่งจะแผลงฤทธิ์ วันนี้ยังไม่แผลงฤทธิ์ ยังรู้สึกว่าทุกอย่างดีไปหมด แต่วันที่แผลงฤทธิ์ก็เหมือนภูเขาไฟพร้อมระเบิด จะเข้าไปแก้ไขก็ทำไม่ได้...

รัฐบาลส่วนใหญ่หรือคนราชการที่ดูแลคงมองแค่ระยะสั้น มองอะไรที่ไม่ให้ตัวเองถูกตำหนิ ทำให้ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะถ้าทำอะไรไปแล้วคนไม่เห็นด้วยก็อธิบายไม่ได้ ซึ่งก็จะอยู่กันไปแบบนี้แบบข้าราชการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ชอบสหภาพยุโรปเพราะเกี่ยวข้องแบบนี้ด้วย เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ และอีกหลายๆ คนมองสหภาพยุโรปรักข้าราชการมาก ก็ทำงานแบบนโยบายราชการ ทำแบบไหนก็ทำแบบนั้น ถ้าเปลี่ยนแล้วก็จะกลายเป็นว่าประเทศร่ำรวยไม่มีความอ่อนโยน ไม่มีความเมตตาต่อประเทศยากจน”

ทั้งนี้ ศ.ดร.ตีรณยังฝากบอกถึงนักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนชาวไทยว่า ต้องไม่ไว้ใจในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงอย่าไว้ใจว่ารัฐบาลจะมีความสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

“ต้องมองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลก็เอาไม่อยู่ อะไรก็ตามที่ดูแล้วไม่มีเหตุผลที่เพียงพอก็ให้ระมัดระวังไว้ เช่น ค่าเงินบาทแข็งกว่าชาวบ้านทั้งที่เศรษฐกิจไม่โตหรือโตช้ากว่าคนอื่นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เพียงแต่ว่าจะแผลงฤทธิ์เมื่อไหร่ ก็เป็นการให้ตั้งข้อสังเกต ไม่ได้เป็นการทำนายล่วงหน้า”

8 views
bottom of page