top of page
327304.jpg

ไก่ไทยผงาด! หวัดนกให้ลาภ


ปีระกาไก่ 2560 ให้ลาภใหญ่สัตว์ 2 เท้า อุตสาหกรรมไก่ไทย No.4 ส่งออกของโลกผงาด หลังเกิดไข้หวัดนกระบาดหนักเล่นงานชาติผู้เลี้ยง/ผู้ส่งออกขาใหญ่ทั้งโลกเดี้ยงไปตามๆ กัน เตือนสติส่งออกไก่ไม่ใช่เรื่องง่าย ถูกคุมเข้มตั้งแต่การเลี้ยงจนถึงโรงเชือดและแปรรูป กว่าเมืองไทยจะมีวันนี้กะเขา

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ไข้หวัดนกระบาดในขณะนี้ ว่าไข้หวัดนกได้ระบาดทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายสนใจเนื้อไก่เมืองไทย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่เปิดตลาดไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา และเมื่อไก่ของสหรัฐอเมริกาเป็นไข้หวัดนกอีกทำให้เกาหลีแบนการนำเข้า เป็นโอกาสดีที่จะหันมาซื้อสินค้าเนื้อไก่ของไทย ในส่วนของญี่ปุ่นน่าจะหันมาสนใจเนื้อไก่ไทยมากขึ้นเพราะญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าหลักของเมืองไทย สหรัฐอเมริกาก็ส่งเข้าญี่ปุ่นเหมือนกันแต่ว่าจำนวนไม่เยอะ ขณะที่สิงคโปร์หลังจากที่อนุญาตให้ไทยส่งเข้าไปได้ในปีนี้การส่งออกไก่ไทยน่าจะขยายตัวดีขึ้น

“การส่งออกไก่ไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 743,000 ตัน มีมูลค่าประมาณ 96,000 ล้านบาท ในปี 2560 นี้ทางสมาคมฯคาดว่าขั้นต่ำน่าจะส่งออกได้ประมาณ 760,000 ตัน มีมูลค่าประมาณ 98,000 ล้านบาท ดูแนวโน้มถ้าไปได้ดีก็น่าจะสูงกว่านี้ได้ ส่วนเรื่องราคาไก่ในช่วงนี้ของทางตลาดญี่ปุ่นค่อนข้างดี ส่วนของเกาหลีช่วงใหม่ๆ ยังไม่ดีแต่ตอนนี้หลายประเทศที่โดนเรื่องไข้หวัดนกส่งผลทำให้ราคาไก่ไทยมีการปรับขึ้นตามความต้องการ อย่างที่เป็นข่าวทางเกาหลีมีความคิดที่จะลดภาษีนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้เกาหลีเก็บภาษีนำเข้าเนื้อไก่สดประมาณ 20% ส่วนแปรรูปประมาณ 30% ตอนนี้มีการประกาศลดภาษีชั่วคราวก็อาจจะทำให้การส่งออกดีขึ้นในตลาดเกาหลี” นายคึกฤทธิ์กล่าว

“ลักษณะการส่งออกไก่ไทยไปต่างประเทศมีส่งไป 2 ประเภท ประเภทเนื้อไก่สดตัดแบ่งชิ้นส่วน เนื้อน่อง เนื้อหน้าอก อย่างเนื้อน่องก็ส่งออกไปญี่ปุ่น เนื้ออกก็ส่งออกไปยุโรป ส่วนแปรรูปเนื้อปรุงสุกก็ส่งออกทั้งญี่ปุ่นและยุโรป แต่ญี่ปุ่นจะมีเยอะหน่อยเพราะว่าจะเห็นจากสไตล์ญี่ปุ่นที่จะมีชุบแป้งทอดคาระเกะ ย่างแบบยากิโทริ หากส่งไปยุโรปก็จะเป็นนึ่งซึ่งไม่เหมือนกัน มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสูตรแต่ละลูกค้าที่ดีลอยู่อาจจะใส่ซอสที่แตกต่างกันไป ส่วนเรื่องซัพพลายตามตัวเลขไม่น่ามีปัญหา ไทยมีการผลิตอย่างเพียงพอบางช่วงอาจจะล้นด้วยซ้ำ แต่ตัวผู้ผลิตมีการเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์พร้อมอยู่แล้วสามารถที่จะขยายเพิ่มขึ้นได้”

สถานการณ์ไข้หวัดนกที่ระบาดในตอนนี้ นายคึกฤทธิ์เปิดเผยว่า ไทยมีประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ในฟาร์มต้องมีระบบความปลอดภัย มีการฉีดยารอบฟาร์มเพื่อไม่ให้นกเข้ามาใกล้เพราะนกเป็นพาหะนำโรค ต้องดูแลสุขภาพไก่เพราะไก่ที่เลี้ยงประมาณ 40 วันก็สามารถส่งออกได้แล้ว ในส่วนของภาครัฐก็จะมีการทำ X-ray 2 ครั้งใน 1 ปี และจะมีการตรวจแต่ละพื้นที่ และด่านตามชายแดนก็จะคุมเข้มในช่วงนี้ คุมเข้มมาตลอดเพื่อไม่ให้ลักลอบสัตว์ปีกเข้ามาเพื่อป้องกันไข้หวัดนก

“ไข้หวัดนกที่มากับคนโอกาสที่ติดมีน้อยมาก เพราะว่าเวลาไปเที่ยวไม่ได้ไปฟาร์มไก่แต่ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว สำหรับมาตรการของภาครัฐและเอกชนถ้าเกิดลูกค้ามาก็จะไม่ให้เข้าฟาร์ม โดยเฉพาะจะเข้าฟาร์มต้องพักก่อน 3 วันเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าลูกค้ามาส่วนใหญ่จะมาดูโรงงานเป็นหลัก การเข้าฟาร์มค่อนข้างลำบากหน่อยเพราะว่ามีระบบ Biosynthesis เพื่อความรัดกุม ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจะเกิดความเสียหายต่อฟาร์ม เพราะเป็นฟาร์มใหญ่ที่มีการเลี้ยงจำนวนมากถ้าเกิดความเสียหายกำไรก็หมดจะไม่คุ้ม”

ส่วนผู้เลี้ยงฟาร์มไก่รายย่อยมีการเพิ่มกำลังการผลิตในขณะนี้หรือไม่นั้น นายคึกฤทธิ์เปิดเผยว่า การเพิ่มกำลังการผลิตทำกันมาตั้งแต่ปี 2558-2559 แล้ว เรื่องซัพพลายไม่น่ามีปัญหา โดยเลี้ยงไก่เป็นรอบๆ ถ้าเกิดรับออร์เดอร์จากต่างประเทศมาก็จะส่งไก่ให้เกษตรกรเลี้ยง บางทีออร์เดอร์มา 3 เดือนล่วงหน้าก็จะรู้ก่อนและสามารถเตรียมไก่เพื่อผลิตได้ แต่ถ้าเป็นไก่แปรรูปต้องใช้เวลา 6 เดือนในการผลิตต้องมีการวางแผน โดยการวางแผนการเลี้ยงต้องใช้เวลาเป็นปีหากทุกบริษัทคาดการณ์โต 5-10% ก็ต้องเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้ ถ้ามีออร์เดอร์พิเศษขึ้นมาก็สามารถเพิ่มได้

“หากผู้เลี้ยงฟาร์มไก่รายย่อยแห่กันเลี้ยงไก่ก็จะมาดูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่นำเข้าว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นบริษัทจะมีแผนการผลิต ถ้า 5-10% จะมีการเตรียมไว้เท่านี้ แต่ถ้าล้นเยอะก็จะชะลอการฟักไข่เพื่อไม่ให้เข้าตลาดก็จะช่วยได้บางส่วน แต่โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามกลไกลตลาดของไก่จะระยะสั้นกว่าหมู หมูจะเลี้ยงเป็นปีใช้เวลานานกว่า แต่ของไก่เพียงเดือนกว่าก็จับแล้ว” นายคึกฤทธิ์กล่าวและพูดถึงราคาไข่ถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผ่านมาจะสูงขึ้นก็ช่วงวิกฤตน้ำมันในปี 2551 ราคาขึ้นไป 150 เหรียญฯต่อบาร์เรล ดึงพวกต้นทุนข้าวโพดขึ้นไปหมด ต้นทุนการเลี้ยงก็ขึ้น ราคาไก่ขึ้นไป 40-50 บาท/โล หลังจากนั้นลดลงมากว่า 30 บาท ก็ขึ้นตามวัตถุดิบเป็นหลัก พอปรับขึ้นในระยะหนึ่งพอแข่งขันสูงราคาก็ลงมาใหม่จะไม่มียืนไปตลอด ส่วนผลกระทบจากไข้หวัดนกลูกค้าบางทีจากต่างประเทศจะแบนอย่างสหรัฐอเมริกาก็ประมาณ 3 เดือนจากญี่ปุ่น เกาหลีก็เปลี่ยนผู้นำเข้าใหม่ก็ไม่ได้แบนเป็นปี ซึ่งตลาดส่งออกไว้ใจไม่ได้เสมอไปอย่างตอนนี้เป็นระยะสั้น”

สำหรับค่าเงินบาทแข็งขึ้นนายคึกฤทธิ์กล่าวว่ามีผลกระทบถ้าค่าเงินแข็งมากเหมือนสมัย 31-32 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าอย่างญี่ปุ่น หรือ EU ถ้าค่าเงินแข็งค่าด้วยก็พอคุยราคากันได้ แต่ถ้าค่าเงินบาทแข็งแล้วญี่ปุ่นหรือ EU มีค่าเงินอ่อนทางผู้ส่งออกก็เหนื่อยเหมือนกัน คู่แข่งไทยคือบราซิลอย่างค่าเงินที่ผ่านมาอ่อนลงไปเยอะมาก ทำให้บราซิลเป็นผู้นำตลาดส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ของไทยเป็นเบอร์ 4 หากราคาบราซิลลงมาของไทยก็ต้องปรับราคาลงตาม ถ้าค่าเงินญี่ปุ่นแข็งค่าทางผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็จะปรับราคาขึ้น แต่ถ้าค่าเงินญี่ปุ่นอ่อนก็อ่อนลงตาม แต่ก่อนเคยขาย 3,000 เหรียญ ตอนนี้เหลืออยู่ 2,800-2,900 เหรียญ ก็จะอ่อนตามค่าเงิน

“ถ้าเรียงตามลำดับผู้ส่งออกไก่ในโลก ที่1.บราซิล 2.สหรัฐอเมริกา 3.ยุโรป มีทั้งนำเข้าและส่งออก โดยจะส่งไปที่อเมริกาใต้ หรือ ตะวันออกกลาง 4.ไทย ส่งออกกว่า 700,000 ตัน ส่วนเบอร์ 1 ส่งออก 2-3 ล้านตัน ขนาดของบราซิลใหญ่กว่าเมืองไทยมาก ประชากร 200 ล้านคน พื้นที่ก็มีขนาดใหญ่และวัตถุดิบมีเยอะ เมืองไทยส่งได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งแล้ว” นายคึกฤทธิ์กล่าวและว่า การส่งออกไก่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการส่งออกไก่จะมีระบบ อยู่ๆ จะส่งออกไก่ไม่ได้

“อย่างแรกต้องปลอดโรค ทางรัฐบาลหรือกรมปศุสัตว์ของประเทศนั้นต้องเข้มแข็งในการควบคุมโรค ถ้ามีโรคต่างประเทศก็จะไม่ซื้อ 2.เรื่องโรงงานต้องสะอาดมีสุขอนามัยที่ดี ลูกค้าหรือรัฐบาลคู่ค้าต้องมาตรวจดู การตรวจต้องดูว่ามีระบบตรวจสอบย้อนกลับว่าไก่ชิ้นนี้มาจากฟาร์มไหน การให้อาหารสัตว์มาจากล็อกไหน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมด 3.ถ้าส่งออกไปยุโรป ต้องมีระบบ Animal Welfare ดูแลไก่อย่างดี เลี้ยงไม่ให้หนาแน่น ไก่ต้องจับอย่างนิ่มนวล ก่อนเชือดต้องมีห้องพักให้ไก่เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ก็เป็นระบบที่คู่ค้ากำหนดมาและเราต้องทำตามให้ได้ อันดับแรกต้องไม่มีโรคระบาดเลยต้องปลอดอนามัยทุกเรื่องมาตรฐานต่างๆ ต้องมี คือเมืองไทยทำมานาน ส่งออกมาตั้งแต่ปี 2516 กว่า 40 ปีแล้ว นับว่าพัฒนามาโดยตลอดและเจอปัญหามาเยอะ ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับทั้งระบบฟาร์ม ระบบโรงงาน ในการส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาต้องคอยติดตาม”

11 views
bottom of page