top of page
312345.jpg

ธุรกิจอ้าแขนรับ EEC...ให้ตั้งศูนย์เชื่อมรัฐ-เอกชน


จากอีสเทิร์นซีบอร์ด รัฐต่อยอดเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามรอยเศรษฐกิจพิเศษคันไซ ภาคเอกชนไทยพร้อมใจร่วมมือเต็มที่ แต่จะให้ดีต้องมีศูนย์กลางเชื่อมภาครัฐและเอกชนเพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาร่วมกัน ส่วนการพัฒนาอุตฯภาคใต้ต้องสร้างจุดแข็งด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการสร้างเส้นทางขนส่งชายฝั่งที่ต้นทุนการขนส่งถูก เพื่อทดแทน ถ.เพชรเกษม เส้นทางหลักในช่วงน้ำท่วม รวมทั้งยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงมุมมองภาคเอกชนต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ภาคเอกชนให้การสนับสนุน ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของอีสเทิร์นซีบอร์ด มีอุตสาหกรรม มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการรองรับ ถือว่ามีความพร้อม แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งทำให้เริ่มจะหมดเสน่ห์ ดังนั้น เมื่อมีการจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง ถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง

“อุตสาหกรรมของเราหลายประเภทเข้าไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะที่ไทยกำลังมีแผนในการทดสอบยานยนต์อยู่แถวจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่แล้ว ตรงนี้จะสอดคล้องกัน ซึ่งจากความพร้อมหลายอย่างรวมถึงโลจิสติกส์ และยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาสร้างอะไรมาก ที่ผ่านมา 20-30 ปี เราได้สร้างอุตสาหกรรมสนับสนุนในย่านดังกล่าวนี้จำนวนมาก ทำให้มีความพร้อม นอกจากนี้ ยังมีสถาบันศึกษาในพื้นที่ซึ่งจะสอดคล้องในเรื่องบุคลากร และทรัพยากรมนุษย์”

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า จะนำแบบเศรษฐกิจพิเศษของคันไซมาเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้น นายเจนกล่าวว่า ทางภาคเอกชนยังไม่มีข้อมูลด้านนี้มากนัก แต่เบื้องต้นทราบว่าภูมิภาคคันไซจะมีเมืองโอซาก้าเป็นหลัก รวมไปถึงเกียวโตและโกเบ ซึ่งภูมิภาคคันไซกับภาคตะวันออกของไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกัน

“อย่างโกเบก็เมืองท่า ส่วนชลบุรีเราก็มีแหลมฉบังเป็นเมืองท่า ขณะที่โอซากาก็เป็นเมืองใหญ่เป็นเมืองธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งคล้ายคลึงกับทางระยองของไทย ส่วนเมืองที่เราขาดไปในระเบียงอีอีซีคือเกียวโตซึ่งจะคล้ายๆกับอยุธยามากกว่า เป็นแนวเมืองเก่า และยังเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกด้วย...

แต่อย่างไรก็ตาม ทางอีสเทิร์นซีบอร์ดของเราก็ถือว่ามีการท่องเที่ยวพอสมควร และส่วนหนึ่งที่ต้องมาเสริมตรงนี้คือภาคการเกษตร เพราะแถบนั้นจะมีสวนผลไม้จำนวนมาก ก็อาจจะเป็นการร่วมกันได้ คือนำเกษตรอุตสาหกรรมมาเป็นท่องเที่ยวทางการเกษตร เป็นต้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้...

สำหรับคันไซ ทางส.อ.ท.ก็มีการไปมาหาสู่กันอยู่ ซึ่งมีสมาพันธ์ Kansai Economic Federation ก็คือสมาพันธ์เศรษฐกิจคันไซนั่นเอง มีการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งคันไซมีบริษัทขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีจำนวนมากพอสมควร ดังนั้น มองว่าเรื่องของมาตรการ นโยบายต่างๆในการพัฒนาเอสเอ็มอีของคันไซมีความน่าสนใจมาก แต่ก็ไม่ได้มีแค่บริษัทเล็กเพียงอย่างเดียว บริษัทใหญ่ก็มีอยู่ในนั้นหลายบริษัท ถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจ หากทางภาครัฐอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับภาคเอกชนของคันไซ ทางส.อ.ท.ก็มีความพร้อมที่จะหาข้อมูลตรงนี้มาให้”

นอกจากนั้นนายเจนยังกล่าวด้วยว่า ถ้าจะให้ระเบียงอีอีซีของไทยคล้ายกับทางคันไซ จะต้องมีตัวกลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางทางด้านผู้ประกอบการแบบเดียวกับของคันไซ โดยตัวกลางหรือศูนย์กลางระเบียงอีอีซีนี้จะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลต่างๆ เป็นศูนย์กลางในการรับนโยบายภาครัฐมาสื่อสารให้กับสมาชิก เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอข้อเรียกร้อง การขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

“คิดว่าอีอีซีจะเกิดแบบคันไซได้อยู่แล้ว เพราะ 3 จังหวัดของไทยในอีอีซีมีสภาอุตสาหกรรมอยู่ทั้ง 3 จังหวัด โดยเฉพาะทางระยองที่มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด ซึ่งที่ผ่านมาจะมีประเด็นเรื่องของผังเมือง โดยจะต้องมีการเตรียมการให้ดี เพราะถ้าเราแบ่งพื้นที่ให้ทางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรืออุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐาน ก็ต้องดูในเรื่องของพื้นที่ให้ดี ต้องเตรียมพร้อมไว้ ไม่ใช่ว่าเราจะนำโน่นทำนี่ แต่ไม่มีพื้นที่รองรับ”

ทั้งนี้ นายเจนยังกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ ของไทยด้วยว่าต้องดูประเด็นตามแต่ละภาค เช่น ถ้าพูดถึงภาคใต้ จะต้องมียุทธศาสตร์เรื่องของยางพารากับปาล์มซึ่งเป็นผลผลิตหลักของภาคใต้ รวมไปถึงการคมนาคม การขนส่งหรือโลจิสติกส์ เพราะขณะนี้ภาคใต้มีถนนซึ่งเป็นเส้นทางหลักเพียงเส้นเดียว ดังนั้น ต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งชายฝั่งเป็นตัวสำรอง โดยเฉพาะเป็นเส้นทางทดแทนกรณีเกิดเหตุน้ำท่วม เส้นทางหลักคือถนนเพชรเกษม ซึ่งเส้นทางขนส่งทางชายฝั่งจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะเดียวกันยังสามารถนำเอามาเสริมเป็นเส้นทางในเรื่องการท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยในเรื่องของเส้นทางขนส่งชายฝั่งนี้เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่มีการนำเสนอไว้ในเวทีเสวนางบประมาณปี 2561 ด้วย

“ส่วนภาคเหนือ จะเน้นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับผลผลิตที่ชอบอากาศหนาว เช่นไม้ดอกเมืองหนาว ผลไม้เมืองหนาว เรื่องของการท่องเที่ยวอากาศหนาว เพราะเป็นภาคเดียวที่มีอากาศที่เย็นพอ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของผลผลิตที่มีความพิเศษเช่น ข้าวหอมมะลิ สำหรับภาคกลาง คือเรื่องการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมในพื้นที่ ซึ่งภาคกลางอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เป็นที่ทำการเกษตรพื้นที่ราบลุ่ม มีการปลูกข้าว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เราใช้พัฒนาอุตสาหกรรมเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ อยู่ใกล้ท่าเรือ สิ่งสำคัญก็คือต้องจัดการให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ โดยเรื่องลุ่มน้ำต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้ไม่ท่วม”

นายเจนยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรมของไทย ไม่ควรเน้นการพัฒนาเพื่อแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ควรเป็นการพัฒนาที่เน้นความร่วมมือระหว่างกันมากกว่า

“เมื่อมีการยกระดับของเราแล้ว ก็อย่าไปมองว่าจะสู้กับเพื่อนบ้านเราได้หรือไม่ แต่ต้องมองไปถึงความร่วมมือกัน ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องความร่วมมือกันได้มาก ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งพม่าที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือ พม่าเหมือนเป็นประตูทางด้านทิศตะวันตกของไทย หากไทยจะพัฒนาตลาดทางด้านเอเชียใต้ คือทางอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ และขยับไปถึงตะวันออกกลาง แอฟริกา ไทยต้องพึ่งประตูทางด้านทิศตะวันตก ดังนั้น พวกนิคมอุตสาหกรรมของพม่าก็จะสามารถเป็นฐานให้กับการผลิตของไทยได้อย่างดี ขณะที่พม่าก็อยากให้ไทยไปลงทุนซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกัน...

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านทางกัมพูชาและลาวก็มีแรงงาน และไทยจะได้ประโยชน์ทางจีเอสพีด้วย ตรงนี้เราต้องมองว่าเป็นฐานการผลิตของไทย ดังนั้น ควรจะเป็นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน สำหรับเวียดนาม ตอนนี้ไม่มี TPP แล้ว ขณะที่เรามองว่าไทยจะเป็นต้นน้ำให้เวียดนาม ซึ่งไทยมีวัตถุดิบให้เวียดนามนำเอาไปต่อยอด ไปทำผลิตภัณฑ์ส่งออก โดยตลาดสำคัญของเวียดนามคือสหรัฐอเมริกา และส่วนตัวไม่คิดว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะมารังแกเวียดนาม ก็มองว่าเวียดนามยังมีโอกาสส่งออกได้จำนวนมาก ซึ่งไทยอยู่ในฐานะป้อนวัตถุดิบให้”

ในตอนท้ายนายเจนได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าด้านไอทีที่อาจมาลงทุนในไทยเพิ่มหลังจากกลุ่มธุรกิจไอทีไม่พอใจโดนัลด์ ทรัมป์ แบนพลเมือง 7 ประเทศมุสลิมไม่ให้เข้าสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้บางส่วนของอุตสาหกรรมไอทีมีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้อุตสาหกรรมไอทีมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นได้

แต่ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องมองไอทีในตัววัตถุดิบมากขึ้น คือเมื่อก่อนไทยจะเป็นตัวที่ทำฮาร์ตดิสก์ไดรฟ์ คือจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปก็ยังไม่ใช่นัก แต่ว่าพวกออฟฟิศ อีควิบเมนท์ จะเป็นสินค้าสำเร็จรูป ก็ต้องถามว่าสหรัฐอเมริกาต้องการผลิตสินค้า หรือต้องการวัตถุดิบ เช่นชิ้นส่วนหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยก็ทำอยู่แล้ว เช่นแผงวงจรต่างๆ ตรงนี้ เชื่อว่าจะไม่ถูกกีดกันในส่วนนี้ ก็ถือเป็นส่วนที่ไทยมีความหวัง”

0 views
bottom of page