top of page
312345.jpg

นายแบงก์-นักเศรษฐศาสตร์มองปี 2560...ปัจจัยภายนอกยังป่วนศก.ไทย


ผู้บริหารทีเอ็มบี-ฝ่ายวิจัยซีไอเอ็มบีไทย-อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. มองปัจจัยต่างประเทศเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไม่ว่านโยบายของ“ทรัมป์”-การตอบโต้ของจีน-การเลือกตั้งในยุโรป ข้อจำกัดด้านนโยบายการเงินของญี่ปุ่น ส่งผลตลาดเงิน-ตลาดทุนผันผวนหนักในทิศดอลลาร์แข็งค่า ชี้หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี กระทบกลุ่มอุตสาหกรรมหลักผลตอบแทนลดลง และไม่สามารถสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ทีเอ็มบี (TMB) หรือธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ในปี 2560 นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองจะมีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน และตลาดทุน ตัวอย่างจากปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นผลการลงประชามติเพื่อขอออกจากสมาชิกภาพประชาคมยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ได้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต่างสร้างความประหลาดใจและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและทิศทางตลาดการเงิน ทำให้ในปีนี้การเคลื่อนไหวของปัจจัยทางการเมืองจะยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในยุโรปจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศไม่ว่าจะในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งในภาวะกระแสชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป ผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่ม EU จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกลุ่ม และจะมีนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและเศรษฐกิจโลก

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องจับตามองความสามารถในการดำเนินนโยบายของ ทรัมป์ ตามที่ได้หาเสียงไว้ว่าจะปฏิบัติได้จริงและมากน้อยเพียงใด โดยตลาดการเงินได้พุ่งความสนใจไปยังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี การลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การลดกฎระเบียบต่างๆ และมาตรการที่กระตุ้นให้บริษัทสหรัฐอเมริกานำเงินกำไรที่อยู่นอกประเทศกลับเข้าไปในประเทศ ซึ่งการคาดหวังในมาตรการเหล่านี้ทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น และผลตอบแทนตราสารหนี้ในสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินยังไม่แน่ใจต่อมาตรการกีดกันการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานว่าจะออกมารุนแรงอย่างที่มีการหาเสียงไว้หรือไม่ ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผันผวน และทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ตลอดปี 2560

ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ลดภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแตกต่างจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่พึ่งนโยบายการเงินเป็นหลัก ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้ 0% และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (QE Program) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา อัตราการว่างงานที่ต่ำ และ Trumpolicy ส่งผลให้ตลาดการเงินมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะมีการปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายการเงินมีความสำคัญน้อยลง โดยในการประชุม FOMC (Federal Open Market Committee) ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนธันวาคม 2559 คณะกรรมการได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดไว้ พร้อมส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปี 2560 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริการุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.36% เมื่อกลางปี 2559 มาอยู่ในระดับ 2.46% ในปัจจุบัน โดยทีเอ็มบีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในปี 2560 ขณะที่นโยบายการเงินของกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลาย (Policy Divergence) ความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นแต่ยังไม่กระจายตัว โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ระดับ 3.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแรงส่งที่มาจากการลงทุนภาครัฐ และภาคบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนจะยังไม่มีผลมากนักในปีนี้ ในส่วนของภาคการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ +2.0% (จาก +0.4% ในปี 2559) เป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นเมื่อเทียบกับฐานคำนวณในปีก่อนหน้า โดยที่แรงกระตุ้นจากฝั่งอุปสงค์ (Demand Pull) ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ทีเอ็มบี คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. หรือ Monetary Policy Committee-MPC) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ไปตลอดทั้งปี 2560 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูงแต่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้จะผันผวนและได้รับอิทธิพลจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.56% เมื่อกลางปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 2.67% ในปัจจุบัน ซึ่งมองว่ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีก โดยภาพรวมนักลงทุนจะเผชิญกับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงชันขึ้น โดยเฉพาะตราสารระยะกลางถึงยาว (Steepening Yield Curve) ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยสภาพคล่องในระบบจะเริ่มลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการระดมทุนของภาครัฐผ่านการกู้ยืมและการออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับการใช้จ่ายโครงการลงทุน สิ่งที่ต้องจับตาดู คือ ผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น

ด้านค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีมีโอกาสแข็งค่า แต่ผันผวน โดยที่ผ่านมาตลาดการเงินมีความคาดหวังต่อ Trumpolicy ค่อนข้างสูง รวมถึงการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต่อนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่าสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายที่ Trump ประกาศไว้ และมีโอกาสสูงที่จะพบอุปสรรคในทางปฏิบัติ และหากนโยบายหลายอย่างไม่เป็นตามที่ตลาดการเงินรับรู้ จะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับตัวอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของกลุ่ม EU น่าจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และการเผชิญข้อจำกัดของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน จะกดดันให้ค่าเงินยูโรและเงินเยนแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ในส่วนของค่าเงินบาท คาดว่าปลายปี 2560 จะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างปีมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่าจากปัจจัยต่างประเทศ หากด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความชัดเจนทางด้านการเมือง จะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า นโยบายของทรัมป์ภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง มีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้บางส่วน เพื่อรักษาคะแนนนิยมในช่วงแรก ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ว่าจะทำในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง คงหนีไม่พ้นคำขวัญ "Make America Great Again" นั่นคือการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเร่งตัวแรง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น รวมถึงเงินดอลลาร์แข็งค่า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากคำพูดของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ ซึ่งการสื่อความของทรัมป์จะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในช่วงสั้น ขณะที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรให้น้ำหนักกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะบ่งชี้ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดยมองว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังของทรัมป์จะช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศผ่านการลดภาษี ซึ่งสามารถทำได้เร็วและเห็นผลชัดเจน เมื่อคนธรรมดาและบริษัทจ่ายภาษีลดลงก็จะนำเงินไปใช้จ่าย ไปลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ทรัมป์มีแผนการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งจะกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนอย่างมาก

ทั้งนี้ นโยบายนี้จะเป็นตัวหลักในช่วง 2 ปีแรกของทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนที่เรียกว่า Midterm election เพื่อคงฐานเสียงพรรครีพับลิกันไว้ ข้อเสียของนโยบายนี้ คือ หนี้ภาครัฐของสหรัฐจะเร่งตัว ราคาสินทรัพย์แพงขึ้น ภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นอีกครั้ง ขณะที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น และลดการนำเข้าลงนั้น เชื่อว่าจะไม่ได้รับการผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการให้กระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบันชีประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งจะมีผลทำให้สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าได้ถึง 45% อันจะกระทบการส่งออกของจีนอย่างมาก แต่ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอาจกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐเองในที่สุด

แม้ส่วนใหญ่จะกังวลว่าจีนจะมีปัญหาจากนโยบายดังกล่าว แต่ผมมองว่านี่เป็นการขู่มากกว่า เพราะไม่ใช่จีนพึ่งสหรัฐอย่างเดียว สหรัฐก็พึ่งจีนเช่นกัน ดังเห็นได้จากสหรัฐพึ่งสินค้าจากจีนถึง 20% ของการนำเข้าทั้งหมด หากสินค้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบและค่าครองชีพของคนสหรัฐเพิ่มสูงตาม ซึ่งสุดท้ายจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้ นอกจากนี้จีนก็มีวิธีการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน ด้วยการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาจีนเทขายต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น ซึ่งก็คือต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะสูงขึ้นตาม และอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้” ดร.อมรเทพ กล่าวและเผยต่อไปว่า

แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นจาก “Make America Great Again” แต่เศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยอาจจะไม่ได้ Great หรือยิ่งใหญ่ตามสหรัฐ ซึ่งไทยควรต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้ไทยกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ Make Thailand Great Again โดยอย่างน้อยก็ให้เอกชนไทยหันมามีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น เพราะหากไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในได้แล้ว ไทยคงหนีไม่พ้นการเป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมของทรัมป์

“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้แสดงจุดยืนในการกดดันบริษัททั้งของสหรัฐและประเทศอื่นให้กลับมาตั้งโรงงานในสหรัฐ แต่จะทำได้สักเท่าไร บริษัทจะคุ้มทุนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกัน หรือนี่อาจเป็นทฤษฎีเกม (Game Theory) ที่ผู้เล่นต้องพยายามไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าเราคิดอะไร เพราะการที่เขาคาดเดาเราได้ยากเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีโอกาสได้ผลประโยชน์เหนือคู่แข่ง ซึ่งบ่อยครั้ง คนมักจะมองทรัมป์เป็นคนบ้า แต่ผมมองเขาเป็นนักธุรกิจที่แยบยล อย่างน้อยเขาก็ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของชาติมหาอำนาจของโลกได้ ซึ่งเชื่อว่าเขาพร้อมเดินเกมท้าชนประเทศอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสหรัฐมากขึ้น โดยชาติอื่นอาจต้องยอมอ่อนข้อให้ในช่วงแรก ซึ่งก็จะมีผลให้การค้าโลกชะลอลง อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ความชัดเจนยังมีไม่มากนัก” ดร.อมรเทพ กล่าว

ส่วน ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่างประเทศ อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา แนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเมืองในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี 2560 เพื่อปรับสมดุลและรับมือกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงินและต้นทุนในการประกอบการอื่นๆ ของภาคเศรษฐกิจจะสูงขึ้นด้วย โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซึ่งผลจากงานวิจัย “ผลของนโยบายการเงินต่อระบบเศรษฐกิจ: ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ซึ่งศึกษาผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออัตราผลตอบแทนในภาคเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลา 24 เดือน พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นฐานการผลิตของประเทศ

ในขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ การท่องเที่ยวและการพักผ่อน การบริการทางการแพทย์ กลุ่มยา และพาณิชยกรรม มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ยเพียง 0.339% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจน้อย อันสะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงควรดำเนินมาตรการการเงินอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สินเชื่อพิเศษ การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน-ชำระเงิน ฯลฯ เพื่อเป็นการเหยียบคันเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

นอกจากผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมข้างต้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยแตกต่างกันไป อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค โดยผลงานวิจัยระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในภาคกลาง มีผลอย่างอ่อนๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และไม่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคตะวันตก และภาคใต้ เพราะฉะนั้นนอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เกิดความสมดุลของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแล้ว ภาครัฐควรศึกษาและดำเนินมาตรการการเงินที่สอดคล้องกับกิจกรรม และภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพย่อย อันจะสะท้อนกลับมาเป็นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ยั่งยืน

3 views
bottom of page