top of page
312345.jpg

สมาคมวินาศภัยคาดนาข้าวใต้ เสียหาย 2 แสนไร่ = 200 ล้านบาท


เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 “Rice Insurance Focus Group #2” ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและบริษัทประกันภัยร่วมทั้ง 16 บริษัทที่เข้าโครงการ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559

ผลการหารือเบื้องต้น จากกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน 12 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งสถานการณ์โดยรวมยังไม่กลับสู่ภาวะปกตินั้น พบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้รับผลกระทบ มีประมาณ 2.02 แสนไร่ ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ใน 6 จังหวัดที่ความเสียหายค่อนข้างหนักมาก โดยสมาคมคาดการณ์ว่าจะเสียหายทั้งหมด คิดเป็นความเสียหายในการเคลมสินไหมไร่ละ 1,111 บาท หรือมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท

การประกันภัยข้าวนาปี ปี 2559/2560 มีพื้นที่เอาประกันภัยทั่วประเทศประมาณ 27 ล้านไร่ จากจำนวนนาข้าวทั่วประเทศ 56 ล้านไร่ คิดเป็นเบี้ยประกันรับรวม 2,700 ล้านบาท ล่าสุดตัวเลขสรุปสินไหมและเบี้ยประกันภัยทั้งหมดยังอยู่ที่ ธ.ก.ส. แต่แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมยังไม่ถึงกับขาดทุนในโครงการ เพราะมีการกระจายพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีแรกๆของโครงการและคาดว่าปีการเพาะปลูก 2560 นี้ จะมีพื้นที่รับประกันภัยเพิ่มขึ้นอีก เพราะเกษตรกรตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นตามแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปมากตามภาวะปรากฎการณ์ลานินญา

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยจำนวนเงินความคุ้มครองสำหรับ 6 ภัยแรก จำนวน 1,111 บาทต่อไร่ และจำนวน 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่าได้เร่งให้ภาคธุรกิจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรอให้ประเมินความเสียหายทั้งหมด ทั้งด้านการประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ซึ่งกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่มีการซื้อภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์อัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นๆที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมและกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต

นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยประกันชีวิต แจ้งว่าได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่รวม 12 จังหวัด ขยายระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันเพิ่มอีก 60 วัน นับจากวันครบระยะเวลาผ่อนผันตามปกติ สำหรับผู้เอาประกันที่ครบกำหนดชำระเบี้ยฯ ระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค. 2560 โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่อนผันนี้ ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องสินไหมทดแทน รวมถึงใช้บริการ Fax Claim เสมือนกรมธรรม์มีผลบังคับตามปกติ

ขณะที่ผู้เอาประกันที่ถือกรมธรรม์ประเภทสามัญ (รายงวด) และมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้วในระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค. 2560 แต่ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ภายในระยะเวลาผ่อนผัน บริษัทอนุโลมไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเบี้ยประกัน หากติดต่อชำระเบี้ยฯ ภายใน 6 เดือน

กรณีผู้เอาประกันขอต่ออายุกรมธรรม์ภายใน 6 เดือน สำหรับกรมธรรม์ที่สิ้นผลบังคับในระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค. บริษัทจะยกเว้นการตรวจสุขภาพและยกเว้นดอกเบี้ยเบี้ยประกันภัย นอกจากนี้ บริษัทยังยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการออกกรมธรรม์ที่ชำรุด รวมถึงกรณีบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัยสูญหาย หากผู้เอาประกันติดต่อแจ้งกับบริษัทภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2560

46 views
bottom of page