top of page
312345.jpg

ดัดหลังตัวแทน-นายหน้าขี้ฉ้อ..รัฐจี้ คปภ.ชูกฎเข้มโทษอาญา


ปัญหาตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่ขาดคุณสมบัติมาตรฐานและไม่มีประสิทธิภาพยังคงเป็นเรื่องปกติของวงการประกันภัยในแต่ละยุคสมัย ทั้งที่หน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทต้นสังกัดพยายามควบคุมไม่ให้เกิดเหตุแตกแถวเพื่อไปสร้างผลกระทบเสียหายให้กับประชาชน หรือผู้เอาประกันภัย แค่เรื่องขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ ยังสามารถสร้างปัญหาความรำคาญให้กับประชาชนได้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี แต่ปัญหายังคงไม่ได้ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย สรุปสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันชีวิต ปี 2535 และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ปี 2535 ให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติธุรกิจ เหมาะสมกับภาวะและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยมีบทบัญญัติที่จะช่วยคุ้มครองประชาชนจากการฉ้อฉลประกันภัย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตและนำเสนอให้กฎหมายที่แก้ไขครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการดูแลพฤติกรรมการขายประกันผ่านโทรศัพท์และให้ดูแลการบังคับขายประกันผ่านธนาคาร เมื่อลูกค้ามีการกู้เงินด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาตรวจแก้ไข

ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจและแก้ไขคุณสมบัติของตัวแทนประกันชีวิตบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กำหนดให้นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้า ต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำของบุคคลธรรมดาที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าที่ได้ก่อขึ้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้รองรับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลธรรมดาที่จะขอรับใบใบอนุญาตให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

สาระสำคัญโดยสรุปของร่างแก้ไขเหล่านี้ ได้แก่

1. ป้องกันการฉ้อฉล เช่น กรณีตัวแทนหลอกลวงเอาเบี้ยประกันจากประชาชน แต่ไม่นำเบี้ยนั้นส่งบริษัทประกันต้นสังกัด ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ต้องการ รวมถึงยังมีกรณีผู้เอาประกันภัยสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์และกรณีให้สินบนตัวแทน หรือตัวแทนเรียกรับสินบน เพื่อสร้างหลักฐานเท็จไปขอรับเงินค่าสินไหม

2. ปัจจุบันตัวแทนและนายหน้าประกันภัยทั้งระบบรวมกันกว่า 3 แสนคน เดิมกำกับดูแลผ่านบริษัทประกันภัย เปลี่ยนมาเป็นการกำกับดูแลโดยตรง ซึ่งจะทำให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของตัวแทนว่าต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายเกี่ยวกับการทำธุรกิจประกันมาก่อนและกำหนดให้มีตัวแทนต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ

3. การประเมินความเสียหายจากเหตุวินาศภัย เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ จากเดิมที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้เปลี่ยนไปเป็นนิติบุคคลทำหน้าที่ประเมินความเสียหายทางการประกันภัยแทน

4. กรณีธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรนิกส์ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด

ดังนั้น การแก้ไขร่างกฎหมายเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ในวงการธุรกิจประกันภัย เพราะพบว่าก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานถึง 24 ปีที่ไม่ได้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์มาตรฐานการกำกับควบคุมครั้งใหญ่

แหล่งข่าวในวงการประกันวินาศภัยรายหนึ่ง กล่าวว่าร่างกฎหมายใหม่มีประเด็นบทลงโทษทางอาญาด้วยนั้น ถือเป็นเรื่องสมควร เพราะจำนวนตัวแทนและนายหน้าทั้งระบบมีมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งไม่ได้มีกฎเกณฑ์จัดระเบียบมาตรฐานว่าแต่ละรายจะเป็นตัวแทนและนายหน้าที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนจำนวนมากแทบทุกช่องทางการขาย

ล่าสุด ในร่างกฎหมายได้ระบุให้จำนวนตัวแทนและนายหน้านิติบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจถูกต้อง แต่พบว่ากลับไม่ได้ดำเนินธุรกิจ จะต้องถูกยึดใบอนุญาตคืน หรือปิดกิจการลงไป ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้จำนวนบริษัทนายหน้าประกันภัยหายไปกว่า 3 ใน 4 ของระบบที่มีรวมกันมากกว่า 400 บริษัท ทำให้เหลือแต่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจจริงจัง โดยมีการส่งงบการเงินบัญชีให้ คปภ.อย่างถูกต้องและโปร่งใสประมาณ 100 แห่ง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.นั้น ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ เพื่อประกาศใช้ คาดจะบังคับใช้ได้ในปี 2560 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการซื้อประกันทุกชนิดผ่านตัวแทน นายหน้าและระบบออนไลน์ต่อไป

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่จะมีบทลงโทษทางอาญา จำคุก 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ก่อนหน้านั้น บอร์ด คปภ.มีมติเห็นชอบในหลักการออกกติกากำกับดูแลวิธีออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย ตามแนวทางที่ คปภ.นำเสนอ โดยให้ข้อสังเกต เพื่อให้ คปภ.นำไปปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภายนอก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากนั้นเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย พิจารณากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความรอบคอบก่อนเสนอต่อที่ประชุม คปภ.

ขณะที่ประกาศ คปภ.ที่ใช้ในการกำกับดูแลการขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกในปี 2551 และ 2552 ยังมุ่งกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมที่อาศัยตัวบุคคลและการพิสูจน์ตัวเอกสารเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการกำกับดูแลโดยตรงในการทำธุรกรรมประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นการกำหนดกติกาครอบคลุมธุรกรรมทั่วๆไป โดยไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ ดังนั้น ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลระบบประกันภัยยุคใหม่และอาจทำให้ประชาชนผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงมีความจำเป็นที่ คปภ.จะต้องมีกฎกติกาโดยเฉพาะ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยออนไลน์

สาระสำคัญๆของร่างประกาศ เช่น การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสามารถดำเนินการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ ไม่มีการพึ่งพา ตัวแทนประกันภัย หรือนายหน้าประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแสดงเจตนาขอทำประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัท นายหน้า หรือธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้นที่จะสามารถเสนอขายผ่านช่องทางนี้ได้และแบบกรมธรรม์ประกันภัยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.

การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ประกอบการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือธนาคาร ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย หรือลดต้นทุนของบริษัทในระยะยาว เช่น การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยโดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนการชดใช้เงิน หรือ ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยสามารถกระทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการรับเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

นอกจากนี้ ยังระบุมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยกำหนดให้บริษัท นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธนาคาร ต้องมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ขอทำประกันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย.

213 views
bottom of page