top of page
449010.jpg

จีน-อเมริกาเปิดอกคุย...ไทยเตรียมรับอานิสงค์



จีน-อเมริกาเปิดอกคุย เคลียร์ข้อขัดข้องหมองใจ เป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย คู่ค้าทั่วโลกทั้งของจีน-อเมริกา โล่งอก คาดได้อานิสงส์ผลบวกไปด้วยกัน จากนี้จีน-อเมริกาจะจับเข่าคุยต่อในรายละเอียดเบื้องลึกอีกหลายยกนาน 2-3 เดือนกว่าจะสะเด็ดน้ำ ชี้...อังกฤษหลวมตัวเจรจากับอเมริกาเร็วไป ทำเสียประโยชน์โดยใช่เหตุ ส่วนไทยให้ยึดคติ ‘ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม’ สรุปประเด็นเงื่อนไขของทั้งจีน-อเมริกา เป็นบรรทัดฐานในการเจรจาทางการค้ากับทั้งจีนและอเมริกาเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด มั่นใจ...จีนยังมองไทยเป็นมหามิตร ไทยควรใช้จังหวะนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดจีน และขอความช่วยเหลือจากจีนในการสนับสนุนสินค้าจากไทยให้มากขึ้น

 

Interview : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

ล่าสุดที่จีนกลับมาคุยกับอเมริกา ส่งสัญญาณอะไร

           

ในด้านหนึ่ง จีนต้องการแสดงจุดยืนว่าจีนพร้อมจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขของความเสมอภาคความยุติธรรมต่างๆ เพื่อจะทำให้หลักการของการค้าเสรีกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจีนแบะท่าเรื่องนี้มาตลอด เพียงแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมามาตรการกีดกันการค้าระหว่างกันอยู่ช่วงขาขึ้น คือต่างคนก็ต่างขึ้นอากรนำเข้าระหว่างกัน แล้วไม่อยากเสียหน้า ไม่อยากเสียศูนย์ เลยต้องปล่อยให้บรรยากาศเป็นแบบนั้น

           

ส่วนเรื่องต่อมา ถ้าเราดูจริงๆ แล้วจีนก็รู้ว่า หากขืนเดินหน้าอย่างนี้ต่อไป เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศซึ่งก็เป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งและเบอร์สองของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็จะเสียหาย เลยคิดว่าตอนนี้เป็นจังหวะโอกาสที่เหมาะ

           

ขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาคิดว่าเขาก็มีแรงกดดันจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักลงทุน หรือองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งนานาประเทศรอบโลกก็เรียกร้องอยากให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนใจ กลับมาสู่เรื่องของเศรษฐกิจและการค้าเสรีมากขึ้น

 

ทรัมป์โพสต์ในโลกโซเชียลเขา ก็คุยภาษาทรัมป์ บอกว่าจีนกับอเมริกาคุยกันดีมาก ซึ่งทั้งหมดที่คุยกันเหมือนกับว่าเป็นการรีเซ็ตกันใหม่ทั้งหมด มองอย่างไร

           

รีเซ็ตของทรัมป์ คิดว่าจะเป็นการรีเซ็ตที่ท้ายที่สุดจะเกิดประโยชน์ร่วมทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ทั้งนี้ ทรัมป์มองว่าตลอดเวลาการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการค้า จีนได้รับประโยชน์มากกว่า ฉะนั้น สหรัฐอเมริกาก็อยากได้อะไรตอบแทนคืนจากจีน ก็น่าจะมาปรับจูนหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน คือมองความหมายรีเซ็ตประมาณนี้ ไม่ใช่ว่าภาษีจะกลับไปสู่ศูนย์เหมือนเดิม

 

ทรัมป์อยากให้จีนเปิดตลาดให้ธุรกิจสหรัฐอเมริกามากขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

           

มิติของการเปิดตลาดก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าพูดถึงอากรนำเข้า จีนอาจจะเก็บอากรนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกาในอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บจากสินค้าของจีน ตีค่าเฉลี่ยสัก 5% สมมุติถ้าปรับให้เท่ากัน จีนก็อาจจะลดอากรนำเข้าที่เรียกเก็บจากสหรัฐอเมริกาจากสินค้าลดลงเฉลี่ยแล้วประมาณ 5% อันนี้ยกตัวอย่าง

           

กรณีที่สอง ที่มากกว่านั้นคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่ตลาดในมิติของสินค้า แต่อาจจะหมายถึงตลาดในมิติของบริการและธุรกิจอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้ว แม้ในช่วงที่ผ่านมานับจากจีนเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ก็พยายามเปิดเสรีด้านการค้าเรื่องสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจจะไม่ทันใจหรือถูกใจสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ การเงิน ประกันภัย เราจะเห็นว่าสื่อพวกสังคมออนไลน์ต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถไปเปิดให้บริการ หรือของประเทศอื่นๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการในเมืองจีนได้ ตรงนี้ก็อาจจะมีรายละเอียดเงื่อนไขบางอย่าง เพราะหลักคิดของสหรัฐอเมริกากับจีนอาจจะไม่เหมือนกัน

           

ทั้งนี้ จีนอาจจะมองเรื่องการพัฒนาและความมั่นคงหรือเสรีภาพความมั่นคง ควบคู่กันไป ดังนั้น พอพวกซอฟต์แวร์พวกสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ไม่ยอมให้รัฐบาลจีนนำข้อมูล เขาก็เอาตรงนี้มาเป็นเหตุผล ในการที่จะระงับการให้บริการ หลายๆ คนไปใช้บริการพวกสื่อดิจิทัลพวกนี้ในจีน ก็ต้องไปซื้อพวก VPN มาช่วยทำอะไรต่างๆ กันไป


คิดว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะลงเอยอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์เขาก็โชว์ผลงานว่าคุยกับอังกฤษรู้เรื่อง คืออังกฤษยังยอมเลย

           

อังกฤษเขาเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา อาจจะมีมิติทางการเมืองซ่อนอยู่ ขณะที่อังกฤษก็ไม่ใช่คู่ค้าหลักของสหรัฐอเมริกาถ้าเทียบกับจีน ดังนั้น กรณีของจีนคิดว่าเขามีหลายเรื่องที่เป็นชนักผูกหลังระหว่างกัน เช่นการเกินดุลการค้า ขณะที่อังกฤษขาดดุลการค้าสหรัฐอเมริกาก็ยังโดนขนาดนั้นเลย ขณะที่จีนมีการเกินดุลการค้ามหาศาล ปีหนึ่ง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

           

ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองที่เขากำลังพูดว่าเขาต่อสู้บนหลักการของความถูกต้อง ความยุติธรรม บนหลักการของการค้าเสรีของโลกที่พยายามอุ้มชูสร้างกันขึ้นมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การที่จะเห็นผู้นำคนหนึ่งมาจัดระเบียบสังคมโลกใหม่โดยใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่ฟังเสียงคนอื่น ทำให้จีนบอกว่าเขายอมรับไม่ได้ เขาก็มีงานวิจัยจำนวนมาก ตอนครบรอบ 100 วันของการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ เกือบทุกประเทศในโลก จริงๆ แล้วแอบเชียร์จีน ว่าอยากเห็นจีนต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในหลักการต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นที่เห็นด้วยก็อาจจะไม่มีอำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกาที่มากพอ ก็ขอไปอยู่ฉากหลัง

 

ก่อนหน้านี้อเมริกาประกาศให้มีการเลือกข้างว่าหากค้าขายกับจีน ก็อย่ามาค้าขายกับสหรัฐอเมริกา

           

คิดว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่กล้าประกาศกร้าวขนาดนั้น หรือประกาศแล้วก็ไม่กล้าดำเนินการในลักษณะแบบนั้น คิดว่าประเทศจำนวนมากวันนี้เขาเห็นว่าต่อไปจีนจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตรงนี้มันก็เป็นภาพที่หลายๆ คนไม่อยากเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ประเทศเล็กๆ ยกตัวอย่างไทยเรา ถ้ามาบีบไทย เราต้องตอบเขานะ เราอยากเป็นกลาง เราอยากเป็นมิตรกับทุกประเทศในโลก ก็ต้องตอบเขาไป แม้เขาจะบีบให้เราต้องไม่ค้าขายกับเขา ให้เลือกข้าง คุณไม่ใช่แค่ไม่เลือกจีนอย่างเดียวแต่คุณกำลังไม่เลือกประเทศอีกกว่าครึ่งโลก เพราะในมุมมองผมวันนี้จีนมีพันธมิตรในเวทีโลกมากกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก เพราะบรรดาประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันวันนี้ขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วก็ใหญ่กว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในแง่ของจำนวนก็แน่นอนว่ายิ่งมากกว่า คิดว่าการบีบให้เลือกข้างไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือพยายามทำก็ไม่น่าจะสำเร็จ

 

การมาเจรจากันที่สวิตเซอร์แลนด์ จีนเขายึดหลักอะไร

           

คือการที่จีนจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาจีนเขาบอกเลยว่าต้องเอาหลักการของการค้าเสรี เรื่องของระหว่างประเทศมาเป็นที่ตั้ง เอาเรื่องของความยุติธรรม ความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกัน แน่นอนต้องไม่ไปแตะประเด็นที่อ่อนไหว ยกตัวอย่างประเด็นไต้หวันอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเมื่อไหร่สหรัฐอเมริกาแตะประเด็นพวกนี้ก็อาจจะเห็นจีนลุกออกจากโต๊ะเจรจา เพราะจีนมีจุดยืนที่ชัดเจน

           

ล่าสุดกับการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ส่วนใหญ่เป็นการเปิดให้อีกฝ่ายแสดงจุดยืนว่าต้องการอะไร สหรัฐอเมริกาต้องการอะไร ซึ่งจีนก็ไม่รู้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการอะไร แล้วก็เปิดโอกาสให้จีนได้พูดนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของความร่วมมือ สหรัฐอเมริกาก็ถามว่าจริงๆ แล้วที่คุณพยายามเรียกร้องหรือทำในลักษณะนี้ จะกระทบกับภาพใหญ่ของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจขนาดไหน

           

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายมองว่าโอกาสที่จะคีบหน้าไปมากอย่างที่ทรัมป์โปรยไว้น้อย เพราะมีเหตุผลหลายประการ จริงๆ แล้วถ้าสมมุติว่าสหรัฐอเมริกายอมตกลงกับจีนในหลักการที่จีนต้องการ ทุกอย่างเลิก ไม่เอาแล้วเรื่องจะมากีดกันการค้ากันอะไรกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นเท่ากับว่าเงื่อนไข 90 วัน ที่สหรัฐอเมริกาให้กับ 75 ประเทศ ไม่ต้องไปเสียเวลาคุยเลย หรือกับ 17 ประเทศใหญ่ที่ค้าขายกับสหรัฐอเมริกา กลายเป็นว่าอังกฤษหลวมตัวเจรจาเปิดตลาดให้สหรัฐอเมริกาไป

           

ทั้งนี้ คิดว่ายังมีช่วงเวลาอีกระยะหนึ่ง อาจจะมีการตกลงกันได้บางประเด็น ในบางเงื่อนไข ในบางสินค้าและบริการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมที่จะเปิดและยอมรับซึ่งกันและกัน คือมันเป็นผลประโยชน์ร่วม สองฝั่งอาจจะบอกเอาตรงนี้ออกจากโต๊ะเจรจา แล้วอาจจะนัดกันอีก 2 สัปดาห์ แล้วมาพบกันใหม่ ต่างฝ่ายต่างไปเตรียมที่จะหยิบเอาประเด็นอื่นๆ เงื่อนไขอื่นๆ เข้าสู่โต๊ะเจรจา ก็จะช่วยทำให้คืบหน้ากว่าประชุมครั้งเดียว 2 วันแล้วจะบอกว่าสามารถที่จะแก้ปัญหาเรื่องข้อพิพาททางการค้าที่อยู่มาเป็นเวลานานหลายปีได้ คิดว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

 

หากผลการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนออกมา ไทยเราจะเดินอย่างไรต่อไปดี

           

ต้องทำตามสำนวนไทยที่กล่าวไว้ว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ซึ่งการผลีผลามไปพูดคุยในห้วงนี้ ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่ใช่เรื่องที่ดี ปล่อยให้ตัวใหญ่ๆ เขาคุยกันก่อน แล้วเรามาดูข้อมูล แล้วเรารู้เขารู้เรา ซึ่งเราไม่ค่อยรู้เขา ไม่รู้ประเทศอื่น ไม่รู้สหรัฐอเมริกาด้วย เขาต้องการอะไรให้เขาแสดงจุดยืน แสดงท่าทีในเรื่องเหล่านี้ พอเรารู้เรารู้เขาจะทำให้เราเสนอเงื่อนไขของความร่วมมือในอนาคตระยะยาวระหว่างกันที่ดี แล้วจะเกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นก็ต้องทะเลาะกันเรื่อยๆ ต้องมาเจรจากันเป็นระยะๆ คิดว่าไม่จำเป็นต้องรีบ บางทีนักการเมืองบางส่วนอาจจะบอกว่าช้าเกินไป คิดว่าตอนนี้ช้ากลับเป็นผลดี เร่งรีบไปไม่มีประโยชน์

 

ก่อนเจรจาทางจีนโดนภาษีเกิน 100% ปัจจุบันจีนเป็นอย่างไร

           

โครงสร้างการค้าของจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนลดลง ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 20% ขณะเดียวกันยอดส่งออกของจีนมาโผล่ที่อื่นเช่นในอาเซียน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ภาพรวมของการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาของจีนยังมีการเติบโตอยู่ประมาณ 8% ถือว่าเก่งมาก ตรงนี้เองสะท้อนหลายอย่าง แสดงว่าจีนเตรียมการหลายเรื่องเป็นอย่างดี รู้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะได้รับผลกระทบ ก็ให้ผู้ประกอบการของตัวเองไปบุกตลาดอื่น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ทำง่ายๆ หากไม่ได้ปูพื้นฐานมาก่อนหน้านี้หลายปี เพราะการที่เขากระจายตลาด กระจายแหล่งนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว การที่จะขยายเรื่องระดับของการค้าระหว่างกันก็เลยทำได้

           

ก็เป็นบทเรียนที่เราควรเรียนลัดจากจีนเหมือนกันว่าถ้าเป็นอย่างนี้ระยะยาวอาจจะต้องมาปรับโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของเราหรือไม่ การส่งออกของเราที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาเกือบ 20% เราจะกระจายส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไหมอย่างไร ยิ่งชั่วโมงนี้ตลาดในประเทศกำลังพัฒนากำลังเติบโตในระดับที่สูง กำลังก้าวหน้าอย่างนี้ ก็อาจเป็นโอกาสของเราถ้าเราเริ่มปรับโครงสร้างและบุกตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

           

อย่างไรก็ดี พวกนี้ต้องไปควบคู่ จะให้ดีต้องไปควบคู่กับการปรับเรื่องภาคการผลิตภายในประเทศของเราให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดี จะทำให้การส่งออกของเรามีความสามารถในการแข่งขันทั้งในด้านราคาและคุณภาพได้อย่างแท้จริง

 

ไทยเราควรจะคุยกับจีนอย่างไรดี

             

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตามประวัติศาสตร์จีนก็พร้อมช่วยเหลือไทยอยู่แล้ว ตลาดจีนก็เปิดกว้างสำหรับสินค้าและบริการของไทย เพียงแต่ว่าเราไม่มีในเรื่องของยุทธศาสตร์ในเรื่องของเศรษฐกิจที่จะบุกตลาดจีน เราไม่ค่อยมีหรือมีก็ไม่ค่อยทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ฉะนั้น การเข้าไปบุกตลาดจีนของผู้ประกอบการไทยเลยไม่ค่อยเกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ยิ่งมาชั่วโมงนี้คิดว่าสินค้าไทยรวมถึงสินค้าต่างประเทศโดยรวม จะเสียเปรียบสินค้าที่ผลิตขึ้นในจีน เพราะพอเศรษฐกิจเขาทำท่าจะชะลอตัวเนื่องจากสงครามการค้าล่าสุดนี้ จีนเขาก็บอกว่าดังนั้นต้องมาช่วยภาคการผลิตในประเทศ แล้วก็ทำโครงการพิเศษให้เงินอุดหนุนแคมเปญเก่าแลกใหม่ ซึ่งของใหม่นั้นเป็นการผลิตในจีน ซึ่งเราอยู่ต่างประเทศแล้วจะส่งเข้าไป เรากลับเสียเปรียบมากขึ้น

           

ที่ผ่านมา หอการค้าไทยในจีนได้เคยเสนอโมเดลอย่างรัสเซียโมเดลให้กับทางรัฐบาล นำเรียนไปทางนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีพร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ว่าเราน่าจะคิดขออะไรกับจีนในเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้บ้าง ซึ่งรัสเซียเขาก็มีปัญหาส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ไปยังยุโรป โดนแซงชั่น เขาก็มาขอจีน แต่เนื่องจากว่ารัสเซียเขามีอำนาจต่อรองที่เยอะ แต่จีนก็พร้อมที่จะช่วยไทย ถ้าเราลงไม้ลงมือและทำเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยเอ่ยปาก และผลักดันเรื่องแบบนี้ คิดว่าจีนก็พร้อมให้การสนับสนุน

 

คิดว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

           

ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายจะมีการปรับท่าที และผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่การค้า แต่รวมทั้งเรื่องการส่งออก การนำเข้า การลงทุนระหว่างกัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและจีนเขามีผลประโยชน์ครอบคลุมส่วนนี้รอบด้าน และก็ไม่ใช่แค่สินค้าอาจจะหมายรวมไปถึงบริการ ซึ่งจีนพูดง่ายๆ ว่าพร้อมจะทำสิ่งเหล่านี้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การที่คุณจะเอาปืนไปจ่อหัวแล้วก็ข่มขู่ให้จีนต้องทำโน่นทำนี่ อันนี้จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จีนจะยอมเพราะหมายถึงการที่ทำให้จีนเขาเสียหน้าไปด้วยซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมของโลกตะวันออก อันนี้สำคัญยิ่งกว่าการบาดเจ็บล้มตายเสียอีก

           

ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายคงต้องค่อยๆ ปรับท่าทีกัน แต่คิดว่าคงไม่เกิดขึ้นง่าย อาจจะต้องมีเวลาอีก 1-2 เดือนเป็นอย่างน้อย ถึงจะเป็นรูปธรรม และในท้ายที่สุดอาจจะชงให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสพบกัน และบรรลุความตกลงนี้ในช่วงปลายๆ ปี แต่ไส้ในอาจจะมีความผ่อนคลายทีละส่วนๆ เพื่อลดแรงกดดันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ถ้าสหรัฐอเมริกายอมรับเงื่อนไขที่จีนตั้ง เชื่อว่าจีนก็พร้อมให้ความร่วมมือในหลายๆ ส่วน ไม่ถึงกับจะต้องแตกหัก ซึ่งถ้าแตกหัก หญ้าแพรกอย่างประเทศเล็กๆ แบบเราๆ ก็จะซวยไปด้วย

 

Comments


bottom of page