top of page
379208.jpg

งบฯ'65 ไม่ตอบโจทย์...ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยากที่จะเข้าถึงสินเชื่อรอบนี้


Interview : คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์

ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล


พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู หรือโครงการเงินกู้รอบใหม่ ดอกเบี้ยไม่ soft เหมือนรอบแรก แม้แบงก์ชาติผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ แต่สุดท้ายก็กู้ยากเหมือนเดิม โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว-ทัวร์-โรงแรม ยากที่จะเข้าถึงสินเชื่อรอบนี้ เพราะแบงก์ยังระวังตัวแจ แนะ...จะให้ดี ต้องเปลี่ยนจากสินเชื่อเป็นเงินช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้ผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าและผู้ประกอบการมีเรี่ยวแรงในการจ้างงานต่อไปได้ แจง...เศรษฐกิจธุรกิจที่สะดุด ชะงักงันในครั้งนี้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้ประกอบการ แต่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่บริหารจัดการปัญหาโควิดและวัคซีนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง พร้อมติงงบประมาณปี 65 มาแปลก ตั้งงบต่ำกว่าปีก่อน แต่สอดไส้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านมาใช้เป็นกรณีพิเศษ แถมงบเพื่อสู้ภัยโควิด รวมถึงงบเพื่อสวัสดิการประชาชน ถูกตัด ถูกลดกระจุย ต่างกับงบกองทัพ งบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่ถูกลดลงแค่กระจิริด


ยกมือให้ พ.ร.ก. soft loan ผ่านด้วยไหม

ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีการประชุมเพื่อหามติ ก็เป็นที่ถกเถียงกันค่อนข้างเยอะในที่ประชุม ส.ส. เพราะเสียงบางส่วนก็มองว่ามีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้เพื่อให้เห็นชอบที่จะผ่าน แต่ส่วนใหญ่มองว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังสามารถเขียนให้ดีกว่านี้ได้มติที่ประชุมจึงงดออกเสียงก่อน


เจตนาอยากให้เงินไปถึงผู้เดือดร้อน ผู้ประกอบการ SME จริงใช่ไหม

คือตัว พ.ร.ก.ฉบับนี้จริงๆ เขาตั้งชื่อเป็นสินเชื่อฟื้นฟูไม่ได้เรียก soft loan แล้ว เพราะดอกเบี้ยไม่ได้ soft แล้ว ดอกเบี้ยกลายเป็นอยู่ที่ 5% จากฉบับแรกที่ดอกเบี้ย 2% ฉบับนี้มีการแก้ไขในรายละเอียดหลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากขึ้น เป็นต้นว่าฉบับที่แล้วเงื่อนไขที่บอกว่าผู้ที่จะเข้าสู่การขอวงเงินหรือสินเชื่อได้ต้องมีภาระคงเหลือกับธนาคารเหลือเท่าไหร่และขอได้แค่ 20% แต่ฉบับนี้บอกว่าไม่ต้องเป็นลูกหนี้ธนาคารก็ได้ สามารถขอกู้ได้ ขอแต่เพดานสูงสุดอยู่ที่ 20 ล้านบาท ตรงจุดนี้เรามองว่าเป็นประโยชน์ประการนึงที่สร้างแรงจูงใจให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อที่จะปล่อยโดยมี บสย.มาค้ำประกันหนี้สูงสุดที่ 40% ของพอร์ตที่ธนาคารปล่อย คิดว่าเป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา

แต่พอเอาเข้าจริงที่ทางพรรค ส.ส.หลายๆ ท่านและรวมถึงตัวผมเองได้มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการที่ให้เราเห็นปัญหา คือยังมีผู้ประกอบการอีกเยอะที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อตัวนี้โดยเฉพาะ sector ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด บริษัทนำเที่ยวที่มีรถทัวร์ หลายอย่างที่รองรับนักท่องเที่ยว ไม่สามารถขอวงเงินสินเชื่อนี้ได้ ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆ นานาเยอะมาก โดยสรุปแล้วเราเห็นว่าถึงรัฐบาล หรือ ครม.จะตั้งเงื่อนไขอย่างไร สุดท้ายถ้าแบงก์พาณิชย์เขาไม่ปล่อยก็คือไม่ปล่อย แบงก์เองก็ต้องคำนึงถึงผลประกอบการเขา สุดท้ายผู้ประกอบการก็เข้าไม่ถึง ถ้าเราดูจากต่างประเทศเขาเยียวยาโดยจ่ายเงินตรงให้กับผู้ประกอบการ ช่วยเหลือโดยตรงโดยที่ไม่ต้องหยิบยื่นหนี้ไม่ต้องให้เขาเป็นหนี้


เห็นหัวหน้าพรรคคุณพิจารณ์บอกว่าตอนนี้คนไม่อยากมีหนี้ คนอยากได้ความช่วยเหลือ ขอเป็นเงินแทน แทนที่เอาเงินไปช่วยแบงก์ เอาเงินช่วยธุรกิจโดยตรงไม่ดีกว่าหรือ

สถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับ SME ช่วงนี้ไม่ได้เป็นความผิดของประชาชนที่เขาทำธุรกิจ ไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารธุรกิจ ไม่ได้เกิดจากความไม่รอบคอบในการวางแผนธุรกิจ มันเกิดจากความล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาด เราเคยยอมล็อกดาวน์ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจพินาศ ธุรกิจหยุดชะงัก 1-2 เดือน โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนโดนมากกว่านั้นคือ 6-8 เดือน ซึ่งตอนนั้นทุกคนเจ็บหมด แต่เราถือว่าทำให้หยุดการแพร่ระบาดได้ เศรษฐกิจกลับขึ้นมาใหม่ เจ็บแต่จบและมาฟื้นฟูกัน

แต่รัฐบาลที่ล้มเหลว ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดรอบ 2 จากการลักลอบข้ามชายแดน การระบาดในสถานบันเทิงทองหล่อและยังมีบ่อน ตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่กำลังพ้นน้ำขึ้นมาหายใจถูกกดลึกลงไปอีก ตอนนี้ถึงจะแก้ พ.ร.ก.ตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว หลายรายปิดกิจการไปแล้ว ผมคิดว่าด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงตอนนี้รัฐกำลังออก พ.ร.ก. 5 แสนล้าน เราคิดว่าเงินบางส่วนนี้นำออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรงจะดีไหม การต้องเอาเงินเยียวยาประชาชนโดยตรง การจ่ายเงินโดยตรงให้กับแรงงานต่างๆ ที่ตกงานก็เป็นสิ่งสำคัญ เราให้เงินเขาเป็นการเจือจุนหรือเยียวยา บางท่านอาจจะได้ 2-3 เดือนก็ตาม อันนี้เป็นเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่รัฐต้องทำคือทำอย่างไรให้ลดอัตราการว่างงาน ให้คนเหล่านี้กลับไปมีงานทำ พอมีงานทำก็มีรายได้กลับเข้ามา

แต่ถ้าการจัดสรรงบประมาณเยียวยาของรัฐไม่ช่วย SME และไม่มีโครงการฟื้นฟูที่ทำให้เกิดการจ้างงาน สุดท้ายก็วนเป็น loop คือเงินที่ให้ไปเยียวยาประชาชนก็จะหมดลง เขายังไม่ได้งานก็เดือดร้อนอยู่ดี ก็เป็นปัญหาที่ใน พ.ร.ก. 5 แสนล้านควรจะต้องทำ แต่สำหรับพรรคก้าวไกลเราคงยังไม่เห็นชอบให้รัฐบาลคุณประยุทธ์กู้เงิน 5 แสนล้านบาทได้ เพราะเราเห็นแล้วว่าใน พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทที่กู้ไปมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีการจ้างงานที่เป็นรูปธรรม งบที่เป็นแผนฟื้นฟูส่วนใหญ่เป็นโครงการไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือ reskill ให้แรงงานเปิดอาชีพ อย่างภาคท่องเที่ยวผันไปอยู่ภาคอื่นก็ไม่เห็น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้คุณประยุทธ์ทบทวนบทบาทตัวเองและลาออกได้แล้ว เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่มาจัดการแก้ไขปัญหา


การที่พรรคก้าวไกลไม่โหวตให้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ไม่กลัวว่าจะมีการยุบสภาหรือ เขาขู่ว่าคุณก็ลำบาก ต้องไปเลือกตั้งกันใหม่

สำหรับพรรคก้าวไกลเราพร้อมอยู่แล้ว ก็ตั้งแต่พิจารณางบประมาณปีที่แล้ว ถ้าจำกันได้ตอนนั้น ส.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นผู้อภิปราย แล้วเราก็พูดชัดเลยว่าถึงเวลาแล้วที่คุณประยุทธ์ต้องยุบสภา แล้วไปถามประชาชนใหม่ว่าเขายังอยากจะได้คุณประยุทธ์หรือพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ คิดว่าจะลาออกก็ดีหรือยุบสภาก็ดี ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน


ถามถึงเรื่องงบประมาณจริงๆ เข้าสภาก่อนพระราชกำหนดใช่ไหม ประมาณปี 2565 มองงบประมาณนี้อย่างไร

ใช่ วันที่ 31 พฤษภาคม และ วันที่ 1-2 มิถุนายน 3 วันที่ผ่านมาเป็นการพิจารณางบประมาณปี 2565 ปีนี้เป็นปีแรกที่งบประมาณเราลดลง ปีที่แล้วเข้าสภา 3.3 แต่ผ่านออกมา 3.285 ล้านล้าน ปีนี้เหลือ 3.1 ล้านล้าน ต้องบอกว่าเป็นเรื่องตลกที่รัฐบาลนี้ใช้วิธีการที่ลดงบประมาณเหลือ 3.1 และไปใช้เป็น พ.ร.ก.เงินกู้แทน โดยที่ 3.1 ล้านล้านที่ลดลงเพราะรายได้คาดการณ์ที่จัดเก็บมันจะลดลงตามเศรษฐกิจ เดิมทีปี 2564 เราคาดการณ์จะเก็บที่ 2.67 ล้านล้าน ปีนี้คาดการณ์แค่ 2.4 ล้านล้าน ที่ไม่พอก็ต้องไปกู้เพิ่ม ทีนี้จะกู้ชดเชยก็ติดกฎหมายกู้ไม่ได้ กู้ได้เต็มที่ 7 แสนล้าน จึงเป็นที่มาของงบ 3.1 อันนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของคลังรัฐบาล เพราะถ้าการจัดเก็บรายได้ที่ 2.4 ล้านล้านเกิดพลาดเป้า แปลว่าเราจะมีใช้ไม่พอ 3.1 ล้านล้าน ทำให้หลายโครงการที่รัฐตั้งขึ้นมาอาจจะไม่ได้งบไปใช้ อาจจะไม่ได้ทำ ก็เป็นปัญหานึง

ถ้าดูเนื้อในงบประมาณปีนี้จะเห็นว่ามีการลำดับความสำคัญที่ผิดตัว ถ้าย้อนดูรัฐบาลมีการทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล่าสุดออกแผนแม่บทฉบับใหม่เป็นแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้สถานการณ์โควิด มีการระบุถึงความเสี่ยง ผลกระทบต่างๆ ซึ่งจัดทำโดยสภาพัฒน์ ผมอ่านแล้วก็สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่พอมาดูการจัดทำงบประมาณมันกลับไม่ได้ทำตามแผน คืองบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชนซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สภาพัฒน์ระบุมากลับถูกลดลงในสัดส่วนที่มากกว่างบด้านความมั่นคง ความเสี่ยงภัยด้านทหาร หรือภัยสงคราม ซึ่งเป็นภัยที่ไม่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน เราไม่มีแนวโน้มไปทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ทุกอย่างสามารถทำได้ทางการทูต แต่เรายังเห็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ยังสูงมาก ถึงแม้ว่าลดแล้ว แต่ยังเยอะอยู่

ผมเรียบเรียงเป็นตัวเลขง่ายๆ กระทรวงกลาโหมลดงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลนี้ไปตัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน 3.5 หมื่นล้านบาท บัตรคนจนก็ลดลง กองทุนประกันสังคมก็ลดลง งบประมาณการเคหะแห่งชาติก็ลดลง อันนี้ด้วยสถานการณ์ที่เราต้องกู้เงินและยังต้องออก พ.ร.ก.อีกช่วงนี้เราต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่ม ถามว่าเรากู้มาทำอะไร ถ้าเรากู้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กู้มาเพื่อลดการว่างงาน กู้มาเพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจ อันนี้ต้องกู้ต้องทำ แต่ถ้ากู้มาเพื่อซื้ออาวุธ ถามว่าจะซื้อเอามาทำอะไร มันเป็นปีที่เราไม่ต้องซื้ออาวุธแล้วเพราะงบประมาณเราจำกัดมาก ถ้านับตั้งแต่ช่วงโควิดมาเรากำลังจะกู้รวมๆ 1.5 ล้านล้านแล้ว

10 views

Comments


bottom of page