top of page
312345.jpg

ยื่น 5 ข้อ รอรัฐบาลใหม่ช่วย...SME ไทย ไร้เงินทุน-เทคโนฯ


SME ไทย โดยเฉพาะรายย่อยยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ หนักสุดคือเงินทุน การเข้าถึงแหล่งทุน-เทคโนโลยี และช่องทางการตลาด ฝาก 5 มาตรการให้ภาครัฐเร่งผลักดัน เริ่มจากฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ยกระดับขยายสัดส่วน GDP ของ SME ในแต่ละเซกเมนต์ เปิดช่องทางสินค้าไทยสู่ตลาดโลก ลดต้นทุน ค่าครองชีพ ให้กลุ่ม SME ส่งเสริมการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ให้มีราคาที่เป็นธรรม ไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะขีดความสามารถ สมรรถนะ ของผู้ประกอบการและแรงงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ ช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาครัฐ-หน่วยงานราชการ เพื่อให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


Interview : คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย


สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ปัจจุบันมีสมาชิกมากน้อยขนาดไหน

สมาชิกเราก็จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีสมาชิกอยู่ราวๆ 1 แสนราย และในส่วนของกรรมการที่มีอยู่ทั่วประเทศก็มีอยู่ประมาณ 1,000 ราย จะเป็นเครือข่ายเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสมาชิกเราเป็นผู้ประกอบการที่เป็นรายย่อย


มีหน่วยงาน องค์กรของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาตลอด แต่เอสเอ็มอีก็ยังมีปัญหาอยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุน สภาพคล่อง ทำไมเอสเอ็มอี ถึงไม่หลุดจากปัญหานี้ได้ง่ายๆ สักที

คิดว่าเราคงต้องมาคุยถึงเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของระบบในการทำงานที่จะเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ผ่านมาคิดว่าภาครัฐเองก็พยายามที่จะทำงานอย่างเต็มที่ในการที่จะเข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแก้ไขปัญหาต่างๆ มาทุกรัฐบาล และทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ สิ่งสำคัญเลย เราคิดว่าการที่จะทำให้ปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคลี่คลายหรือว่าลดน้อยลงไป อาจจะต้องมาทำเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาปฏิรูป พร้อมๆ กับการทำเรื่องปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ทำให้ขั้นตอนต่างๆ วิธีการทำงานต่างๆ การขออนุญาตหรือการเข้าถึงกลไกต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดกระบวนการที่จะเป็นวันสต็อปเซอร์วิส ทำแล้วสามารถที่จะมองเห็นสถานะของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน

จริงๆ แล้วเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุนก็ยังสามารถเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย เป็นการช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวดีขึ้น ทำให้เรารู้ว่าขั้นตอนไหนที่เป็นคอขวด ทำให้เกิดความโปร่งใส ติดตาม ประเมินผลตรวจสอบได้ เพื่อจะทำให้เกิดการทำงานที่เร็วขึ้น

เราคิดว่าวันนี้ภาคที่เราเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม จะทำให้เรื่องของมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ของกระทรวง กรม ต่างๆ ที่ทำเรื่องของงบประมาณ เรื่องของมาตรการ นโยบายในการที่จะขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สามารถที่จะบูรณการร่วมกัน ในงานที่คล้ายๆ กัน เพื่อที่จะใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็ใช้กำลังคนน้อยลง วิธีการทำงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงตัวชี้วัดร่วมกัน เราอยากมองเห็นเรื่องของงบประมาณที่มีน้อยแต่สามารถทำงานออกมาได้มาก เราคิดว่ากลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ยกระดับเรื่องนวัตกรรม เชื่อมโยงการเข้าถึงแหล่งทุน และส่งไม้ต่อไปถึงกลไกการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมถึงภาคแรงงานอย่างเข้มข้น Motive Intensive ทดแทน Labour Intensive


มีการผลักดันเรื่องเหล่านี้มาหลายปีแล้ว

ใช่ เรามองเห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการเร่งรัดทำให้เกิดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมี 5 มาตรการ

มาตรการที่หนึ่ง การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น วันนี้เราเห็นแล้วว่าเราควรเริ่มต้นที่นิยามของเอสเอ็มอี โดยใช้นิยามเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ภาคการศึกษา ภาคการธนาคาร หรือภาคประชาสังคม เพื่อที่จะได้มีการตั้งเป้าหมาย หรือตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรื่องของการนำจีดีพีเอสเอ็มอีเข้ามาเป็นตัวชี้วัดในการทำโครงการต่างๆ ที่จะยกระดับขยายสัดส่วนจีดีพีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละเซกเมนต์ เรื่องของการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าไปอยู่ในกลไกของเอสเอ็มอีเอกซ์พอร์ตเตอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดโกลบอลไลเซชัน ก็คือการนำเอาสินค้าเอาธุรกิจท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลก ตรงนี้เราคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องของการส่งเสริมการค้าการลงทุน ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีพื้นที่ทางการตลาด ไม่ใช่เพียงเฉพาะในประเทศ แต่จะต้องขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน อาเซ็ป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของการทำเอสเอ็มอีแบรนดิ้ง เอสเอ็มอีวอลเล็ตต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกิดระบบนิเวศในการที่จะมีเครดิตสกอริงที่จะเป็นตัวชี้วัดในการเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วย

มาตรการที่สอง เป็นเรื่องของการลดต้นทุนและลดค่าครองชีพ เราคิดว่าจะต้องมีกระบวนการในการที่จะทำเรื่องของโลคอลอีโคโนมี การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า หรือเกษตรกรผลิตพืชทางเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการนำเข้า ก็จะช่วยทำให้เกิดเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

มาตรการที่สาม คือการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ และการแก้ไขปัญหาหนี้เสียหรือหนีเอ็นพีแอล การเพิ่มคุณภาพ พัฒนาหนี้ครัวเรือนให้เป็นหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบ การให้แต้มต่อดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกในการช่วยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง เพิ่มสภาพคล่อง และสามารถนำเงินไปยกระดับธุรกิจได้

มาตรการที่สี่ คือการยกระดับทักษะ ขีดความสามารถ สมรรถนะของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน สิ่งเหล่านี้ต้องทำเป็นคู่ขนาน เพราะวันนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องมีระบบบ่มเพาะผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรม มาตรฐาน ทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบในการที่จะอัปสกิล

ส่วนมาตรการสุดท้าย คือการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอน และสามารถทำให้ธุรกิจเติบโต และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


เรื่องสายป่านของเอสเอ็มอีตอนนี้

เอสเอ็มอีเป็นผู้ประกอบการที่มีสามขนาด คือขนาดกลาง เล็ก และย่อย สายป่านของผู้ประกอบการรายย่อยก็จะสั้นกว่าขนาดอื่น และเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีรายได้น้อย ก็คือรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤตอะไรขึ้นมา ทั้งนี้ หนี้เสียเองก็เป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะหนี้เสียรหัส 21 ซึ่งเอ็นพีแอล 21 ไม่เฉพาะหนี้เสียของเอสเอ็มอี แต่หมายถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนทั่วไปที่เป็นหนี้เสียรหัส 21 ก็คือเป็นหนี้เสียที่เกิดในช่วงโควิด มีประมาณ 2.1 ล้านราย

ตรงนี้เป็นจุดที่เราคิดว่า ต้องมีกระบวนการในการที่จะฟื้นฟูแล้วก็ถอดบทเรียนว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้เขาสามารถรีสตาร์ตใหม่ สามารถฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น


เอสเอ็มอีไทย มีความพร้อมเรื่องไอทีขนาดไหน

คิดว่าเอสเอ็มอีต้องมีการปรับตัวเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี ควรใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการสื่อสารหรือใช้โซเชียลมีเดีย ใช้ดิจิทัลในการเข้าถึงกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพย์เมนต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำธุรกรรมกับทางหน่วยราชการต่างๆ ก็ต้องมีการร่วมกันกับภาครัฐเอกชนในการที่จะบ่มเพาะ ในการที่จะอัปสกิลพี่น้องเอสเอ็มอีเรา รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย ในการที่จะเข้าถึงกลไกภาครัฐต่างๆ ในเรื่องของดิจิทัล

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่เราอยากยกระดับให้เกิดความเข้มข้นขึ้น และก็มีการขยายผลให้รวดเร็ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเอากลไกทางดิจิทัลมาใช้ มาช่วยในการเรียนรู้เรื่องการชำระเงินทางดิจิทัล เรื่องของศูนย์บริการครบวงจรโดยที่สามารถใช้บริการผ่านเครื่องมือสื่อสารคอมพิวเตอร์ดิจิทัลและทางมือถือได้ ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพื่อให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างดี

194 views
bottom of page