ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 15-20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 20-25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 เม.ย. – 1 พ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศพร้อมร่วมเดินหน้าลดกำลังการผลิต โดยจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย.63 ที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมประชุมฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. อีกด้วย นอกจากนั้นตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐฯ ประกาศแนวทางทยอยเปิดเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่า 8 แสนคน จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดน้อยลง ส่งผลให้ล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. 63 ณ จุดส่งมอบ Cushing, Oklahoma ปรับตัวสู่ระดับกว่า 61 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของถังเก็บสำรองทั้งหมด โดยตลาดคาดว่าหากน้ำมันดิบคงคลังยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจรองรับได้อีกเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้มีการเทขายน้ำมันดิบออก ส่งผลกดดันราคาน้ำมัน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศที่จะคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายรัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง หลังการประกาศล็อคดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ประชาชนกว่า 20 ล้านคนต้องตกงาน อย่างไรก็ตาม แผนการคลายมาตรการล็อคดาวน์จะดำเนินการเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการรัฐจะตัดสินใจ หากสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
การผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง หลังได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ลดลงอีก 66 แท่นลงสู่ระดับ 438 แท่น ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่ปรับลดลงอีกหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป
หลังการประชุมฉุกเฉินของกลุ่มโอเปกพลัสในช่วงกลางเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมา โดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศพร้อมเดินหน้าลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการปรับลดจะเริ่มต้นในเดือน พ.ค. ที่ปริมาณรวม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้กลุ่มโอเปกยังพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เช่น การปรับลดกำลังผลิตลงอีก เพื่อรักษาตลาดน้ำมันร่วมกับประเทศพันธมิตร
ผลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเริ่มต้นที่ประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ล่าสุดประเทศจีนรายงานอัตราการเติบโตจีดีพีในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ระดับ -6.8% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวของจีดีพีที่มากสุดนับในช่วง 20 ปี นอกจากนั้นสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics : NBS) รายงานกำลังการผลิตเฉลี่ยของโรงกลั่นในประเทศจีนในช่วงไตรมาส 1/63 อยู่ที่ราว 65-70%% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตเฉลี่ยของโรงกลั่นในประเทศจีนจะกลับมาที่ระดับ 70-75% หลังหลายมณฑลในประเทศจีนเริ่มเปิดเศรษฐกิจตามปกติ
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศจีดีพีไตรมาส 1/63 ของสหรัฐฯ การประกาศอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งสหรัฐ (FOMC) และอัตราการว่างงานของกลุ่มยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-24 เม.ย.63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเมื่อวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยราคาปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ -37.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาเดือน พ.ค. ก่อนที่จะถึงวันสิ้นสุดสัญญา เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรับซื้อน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสหากสัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เม.ย. ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาโดยรวมปรับลดลง 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 16.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 6.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 21.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 18.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานส่วนเกิน เนื่องจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาด
Commentaires