top of page
358556.jpg

จี้รัฐเป็นเจ้าภาพช่วยเหลือ 'ส่งออกไทย'.....CBAM กติกาใหม่ EU-US



เร่งรัฐบาลสนับสนุนผู้ส่งออกด้วยการอัดฉีดงบในการเปิดตลาดใหม่ๆ เช่นตะวันออกกลาง เอเชียกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เพื่อชดเชยการนำเข้าจากอเมริกา ยุโรป จีน ที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งภาครัฐต้องตั้งธงรับมือปัญหาภัยแล้ง ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรมแปรรูปให้มีปัญหาน้อยที่สุด ก่อนที่จะบานปลายทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กระทบสายพานการผลิต พร้อมย้ำ...รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพจัดหางบในการจัดการดูแลช่วยเหลือผู้ผลิตซัพพลายเชน และผู้ส่งออก เกี่ยวกับกฎกติกาที่ EU อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ใช้บังคับให้ผู้ส่งออกทุกรายทั่วโลกต้องทำตามทั้งในเรื่องแรงงานที่ถูกกฎหมาย เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนเพาะปลูก ผลิต แปรรูปเพื่อส่งออก ฯลฯ ย้ำ...นับวันกฎกติกานี้จะยิ่งเข้มงวด บังคับในทุกสินค้าส่งออก ถ้าไทยเริ่มต้นช้าจะเป็นผลเสียต่อการส่งออกอย่างมาก


Interview : ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย


มุมมองของนักธุรกิจหรือผู้นำของสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยดูลีลานายกฯ ใหม่คนที่ 30 เป็นอย่างไร

ความตั้งใจของท่านนายกฯ ดีมาก มีความขยัน ท่านตั้งใจในการทำงานมาก ในเรื่องนโยบายต่างๆ ผมว่าตอบโจทย์ในระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกด้วย ไม่ว่าจะเป็นลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ผมว่าในช่วงระยะสั้นช่วยพวกเราได้แน่นอน


ในมุมมองของผู้ส่งออกสินค้าไทยอยากให้รัฐบาลทำอะไรบ้าง

ในแง่ระยะกลางกับระยะยาว คือ 1. เรื่องการให้งบประมาณสนับสนุนกับผู้ประกอบการ เพราะตอนนี้หลักๆ ยอมรับว่าติดขัดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ยุโรป ชะลอตัว อาจจะต้องมีงบประมาณสำหรับการทำตลาดใหม่ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เอเชียกลาง แอฟริกา หรือลาตินอเมริกา เป็นตลาดใหม่สำหรับพวกเรา ตรงนี้ต้องมีงบประมาณให้พวกเรา 2. อาจจะต้องดูระยะสั้นปีนี้และปีหน้าในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องของน้ำ เราเกิดปัญหาภัยแล้งแน่นอน เรื่องสินค้าเกษตรปีหน้าเป็นเรื่องท้าทาย


ค่าเงินบาทเดือนกันยายนอ่อนยวบเลย 3-4% อ่อนกว่าคู่แข่ง ต้องเข้ามาช่วยไหม หรือว่าดีแล้ว

ในแง่ค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไก ผมอยากฝากถึงผู้ส่งออกเหมือนกัน แม้ว่าตอนนี้ค่าเงินบาทเหมาะกับเรื่องการส่งออกเพราะค่าเงินบาทอ่อนมากว่า 36 บาทแล้ว แต่ก็อย่าไว้วางใจ เพราะความผันผวนอาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราต้องดูตรงนี้เหมือนกัน เวลารับคำสั่งซื้อลูกค้าก็อย่าชะล่าใจ เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตค่าเงินจะผันผวนขนาดไหน


เป็นห่วงไหมกับราคาน้ำมันที่ขึ้นมา 90 เหรียญต่อบาร์เรล เฉลี่ยทุกตลาด น่ากลัวไหม

ผมว่าเป็นไปตามที่สภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์เพราะเดือนที่ผ่านมาคาดการณ์แล้วว่าช่วงฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ราคาน้ำมันจะเป็นไปตามฤดูกาล พอเข้าหน้าหนาวเป็นโอกาสของราคาน้ำมันที่จะปรับขึ้น แต่ตรงนี้ต้องดูอีกทีว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นไหม ถ้าฟื้น ความต้องการน้ำมันจะสูง ก็เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่ถ้าจีนไม่ฟื้นเท่าไหร่ ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันก็ไม่เยอะ ผมว่าราคาน้ำมันจะอยู่ช่วงประมาณนี้ 90 บวกลบ 5 เหรียญต่อบาร์เรล


เกิดอะไรขึ้นกับค่าระวางเรือที่เห็นบอกว่าเดือนกันยายนขึ้นเอาๆ

ต้องบอกว่าสถานที่ปลายทางมีการปรับขึ้นเพราะความต้องการสูง เพราะมีการเร่งการส่งออก ตรงนี้เป็นแค่บางประเทศปลายทาง อาจจะเป็นโซนยุโรปที่มีการปรับขึ้นเล็กน้อย แต่อย่ากังวล เพราะการปรับขึ้นแบบช่วงโควิดคงไม่มีแล้ว ก็ยังอยู่ในช่วงบริหารจัดการได้ เพราะช่วงนี้ตลาดยังซบเซาอยู่


ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอไหม

ช่วงนี้ในระยะสั้นไม่มีแน่นอน เพราะตอนนี้ตลาดหดตัวเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือ จีน ตอนนี้ความต้องการยังสมดุล ในแง่การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในระยะสั้นคงไม่มี


เรื่องสำคัญ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism อียูตั้งป้อมแล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลาคม สินค้าที่คุณจะส่งมาให้ต้องอยู่ใต้กติกาไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อน ส่วนสหรัฐเพิ่งบอกของเขาเริ่มปีหน้า ผู้ส่งออกไทยได้เตรียมตัวไปถึงไหนแล้ว

เรื่องของ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM เป็นกฎระเบียบที่เรียกว่ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เรื่องนี้ยุโรปเขาเริ่มใช้แล้ว 1 ตุลาคม แต่ยังโชคดีสำหรับบางสินค้าอย่างเหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย และซีเมนต์ พวกนี้โชคดีที่ประเทศไทยส่งออกไม่เยอะเท่าไหร่ ประเด็นอยู่ที่ว่าในเมื่อเริ่มแล้วสินค้ากลุ่มอื่นชะล่าใจเพราะมีคนนำร่องแล้ว ตัวนี้อาจจะต้องดูต่อว่าสินค้าอย่างพลาสติกอยู่ในขั้นตอนต่อไป

เราต้องเรียนรู้ก่อนว่าตัวกฎระเบียบนี้เป็นยังไง จากที่เราศึกษาพบว่ายากเหมือนกันในแง่การกรอกข้อมูล เพราะต้องมีการทำข้อมูลของการใช้พลังงานซึ่งยากกว่าข้ออื่นๆ ตัวนี้ไม่ง่ายในการกรอกข้อมูล และที่สำคัญที่สุดคือการปรับปรุง ประเด็นอยู่ที่ตัวนี้ต้องมีเจ้าภาพ ทางสภาผู้ส่งออกฯ เคยเสนอหลายๆ หน่วยงานไปว่าเราน่าจะมีการตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อมสำหรับเอกชน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่บังคับเฉพาะ CBAM แต่คงมาอีกเยอะ ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ แน่นอนหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบและมีขอบเขตของเขา แต่มันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทำไมเราไม่ตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม เพื่อมาช่วยดูในเรื่องกลไก ในแง่มองภาพรวม การออกกฎระเบียบ แม้แต่การปรับปรุงอย่างการปรับปรุงเรื่องระบบการสั่งซื้อต่างๆ ต้องมีงบสนับสนุนช่วยเหลือ ต้องลงทุนหลายๆ อย่าง ต้องใช้เงินกู้ ตรงนี้อยากให้ภาครัฐบาลมองจุดนี้ด้วยว่าเราต้องมองลักษณะภาพกว้างแล้ว เพราะมีผลกระทบแน่นอนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน


ต้องใช้เงินเยอะไหมในการปรับให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาที่ยุโรป อเมริกา ตั้งขึ้นมา

ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ผมไม่กังวล แต่ถ้าเป็นขนาดกลางและขนาดเล็กผมกังวล เพราะเครื่องจักรที่คุณมีอยู่ใช้พลังงานเท่าไหร่ รวมถึงวัตถุดิบ คือเขามองเป็นซัพพลายเชน ห่วงโซ่อุปทาน ตัวนี้เราต้องระวัง ไม่ใช่เราทำดีอย่างเดียว แต่เขามองในแง่ซัพพลายเชนของเราด้วย ทั้งผู้ส่งวัตถุดิบและลูกค้าเราด้วย ในแง่ของโลจิสติกส์ ในโรงงานและนอกโรงงานด้วย


ไทยเป็นเมืองซัพพลายเชนของโลกที่เอาสินค้ามาประกอบ ผลิต และส่งไป

ใช่ ในยุโรปเคยมีการพูดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาในเรื่องการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม แน่นอนเขาต้องการให้พวกเราคืออุตสาหกรรมทั้งหมดให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อันนี้ผมเห็นด้วยในแง่ที่เราต้องรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นแล้วว่าสภาวะของภัยแล้งเอลนีโญที่โลกของเราร้อนขึ้นเรื่อยๆ พวกเราต้องมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน แต่เขาบอกว่าในเรื่องการปรับปรุงต่างๆ อาจจะต้องมีเหมือนกองทุนสนับสนุนตรงนี้ด้วย เพราะต้องใช้ปรับปรุงเครื่องจักร กระบวนการผลิตเช่นกัน ตรงนี้เรื่องของกองทุนผมว่าหลังจากตั้งกรอ.สิ่งแวดล้อมก็ต้องพิจารณาตรงนี้เพื่อช่วยบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่ามองแค่ตัวสินค้าที่ยุโรปและอเมริกาเขาระบุ ต้องมองถึงเรื่องซัพพลายเชนด้วย และต้องมองว่าอนาคตต้องมีการบังคับใช้เรื่องนี้กับสินค้าอื่นๆ ต่อเนื่องตามมาด้วย


ถ้าเป็นสินค้าที่ส่งออกไปอียูและต้องทำตามกรอบ CBAM การควบคุมเกี่ยวกับคาร์บอนอาจจะไม่มาก แล้วที่อเมริกามากไหม

ที่บอกว่าอียูยังส่งออกไปไม่เยอะเป็นสินค้านำร่อง แต่ต้องบอกว่าอนาคตอียูเป็นตลาดส่งออกหลักของเราเช่นกัน และถ้าเราทำ FTA อียูได้ เราก็จะกลับมาส่งออกไปอียูมากขึ้น ตรงนี้สินค้าต่างๆ ที่ส่งไปอียูผมว่าเราต้องเร่งศึกษา ที่สำคัญเราต้องลองดูว่าแบบฟอร์มในการกรอกเพื่อการปรับปรุงเรามีเตรียมพร้อมหรือยัง เพราะการทำงานแต่ละอย่างต้องใช้เวลา

เรื่องถัดมาอเมริกาจะเป็นอย่างไร จากการที่ติดตามต้องบอกว่าอียูเหมือนประเทศนำร่อง อเมริกา ญี่ปุ่น เป้าหมายต่อไปแน่นอน ไหนๆ เราทำแล้วก็ต้องรักษามาตรฐานให้ได้ อย่าคิดว่าทำแต่ของอียูเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ต้องตามมาด้วยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือญี่ปุ่น


แล้วคู่แข่งของไทยที่ส่งออกสินค้าเหมือนกัน ตอนนี้เขาเตรียมการเรื่องนี้อย่างไร

หลังกลับมาจากการประชุมผู้ส่งออกของเอเชียพบว่าในแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาตื่นตัวเหมือนกัน เขาก็เริ่มทำเหมือนกัน คือแจกข้อสอบพร้อมกัน ใครทำข้อสอบนี้ก่อนก็ได้รับโอกาสนี้ไป อันนี้น่าจะเป็นโอกาสด้วยในวิกฤตที่เราเห็นอยู่


เรื่องประมงยอมรับว่าหลายปีมานี้ตั้งแต่เจอ IUU นำมาสู่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกติกาเข้ม ถึงตอนนี้ชาวประมงบอกเขาเดือดร้อน อยากให้รัฐบาลแก้ไข นายกฯ ก็แก้ไขรวดเร็วทันใจ แต่ถ้าไม่ควบคุมดูแลให้ดีๆ จะทำให้ส่งผลกระทบต่อสินค้าอาหารทะเลที่จะส่งไปขายไหม

ผมว่าเราต้องรับความจริงว่า 1. ในเรื่องกฎระเบียบการส่งออกมีมากขึ้นเรื่อยๆ 2. ถ้าเราจะส่งออก ต้องทำตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้ ยกตัวอย่างคือระเบียบ CBAM เขาไม่ได้บังคับเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว กับคนอื่นก็ต้องทำตามเหมือนกัน เขาไม่ได้เลือกปฏิบัติ เรื่องนี้ทุกเรื่องในตอนนี้ผมว่าทุกธุรกิจโดนเรื่อง Social Audit ด้วยเช่นกัน คือตรวจสอบด้านแรงงาน ผมว่าไม่ใช่เฉพาะประมง สินค้าต่างๆ ที่ผลิตส่งไปประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป อเมริกา พวกเขาดูเรื่องแรงงานด้วยเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ได้ตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในอนาคตปริมาณสัตว์ทะเลจะน้อยลงเพราะเอลนีโญ ในเรื่องของการลดลงของสินค้าเกษตรและสินค้าด้านสัตว์ทะเลจะมีผลด้วย ตรงนี้ต้องสร้างมาตรฐานที่เป็นไปตามสากล


ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ตอนนี้มีการส่งสัญญาณเตรียมการรับมือเอลนีโญอย่างไรบ้าง

ถ้าฝั่งของสภาผู้ส่งออกฯ จากการที่เราแถลงข่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ปัญหานี้ส่งผลกระทบทั้งสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ น้ำตาล อ้อยก็มีผล รวมถึงสัตว์น้ำ ตรงนี้เราก็ส่งสัญญาณไปแล้วว่าเราควรมีการบูรณาการร่วมกันในแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละกระทรวงมาหารือร่วมกัน ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะทราบปัญหานี้แล้ว คงกำลังตั้งคณะทำงานหรือกรรมการติดตามและประเมินผล เพราะคงไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสรรน้ำ แต่ต้องดูว่าน้ำที่มีจำกัดจะไปลงพื้นที่ไหนได้ผลิตสินค้าเกษตรตัวไหนที่น่าจะมีมูลค่าสูงสุด ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ และเรื่องการแบ่งปันส่งออกประเทศไหนเป็นประเทศที่เหมาะสม เพราะในปีหน้าเรารู้แล้วว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงแต่ราคาจะมีการปรับตัวสูงขึ้น เราต้องมีการบริหารในภาพรวมสำหรับเอลนีโญหรือภัยแล้งที่เกิดขึ้นในอนาคต


พอจะมีตัวเลขไหมว่า 8-9 เดือนนี้การส่งออกของไทยมีภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง

ถึงแม้การส่งออกจะติดลบติดต่อกันมา 7 เดือน ติดลบไป 5.5% แต่เราอาจจะต้องดูในอนาคตอีก 5 เดือนจะเป็นอย่างไร ตัวเลขสำหรับเดือนสิงหาคมผมยังมองว่าอย่างน้อยถ้าไม่ติดลบหรือติดลบนิดเดียวยังน่าจะรักษาได้ เพราะยังมีสินค้าบางตัวที่ยังรักษาสถานะส่งออกได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล หรือรถยนต์ แต่ก็ยังมีสินค้าหลายตัวที่ยังเป็นตัวติดลบเยอะ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ยางล้อรถยนต์ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ซึ่งต้องทำให้ดีที่สุด เราคงไม่อยากเห็นตัวเลขติดลบเยอะเพราะส่งผลต่อรายได้ เพราะการส่งออกเป็นเครื่องมือตัวนึงที่จะหารายได้ให้ประเทศ

43 views

Comments


bottom of page