top of page
379208.jpg

หนามตำ 'ทุเรียนไทย'



ชาวสวนทุเรียน-ล้ง จุก....สับสนอลหม่าน เจอมาตรการจีนเข้มข้นขั้นสูงสุด ทุเรียนทุกลูกต้องปลอดเชื้อโควิด หรือ Zero Covid ตั้งด่านคุมเข้มทั้งบก เรือ อากาศ บ่นอุบ...ภาครัฐ หน่วยงานราชการไม่ขยับเขยื้อน ไม่เร่งเจรจากับทางจีนถึงขั้นตอน หลักปฏิบัติ ให้คำตอบกับชาวสวน-ล้ง-ผู้ส่งออกไม่ได้ว่าต้องทำอะไรอย่างไรถึงจะส่งออกทุเรียนไปจีนได้ ไม่ตกค้างตามด่าน แจง...นาทีนี้เริ่มคอขาดบาดตาย ทุเรียนทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากร่วมล้านตัน ถ้าล้งไม่รับซื้อ ส่งไปขายจีนไม่ได้ราคาทุเรียนในประเทศจะต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือกิโลละ 50-60 บาท เกษตรกรจะขาดทุนอ่วมอรทัย วอน...ช่วยเข้าใจชาวสวน ล้ง ผู้ประกอบการ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งระบบ ได้กำไรไม่มาก ซึ่งถ้าทุเรียนไปตกค้างที่ด่าน ทั้งล้ง-ผู้ส่งออกจะขาดทุนกันรายละ 100-200 ล้านบาท พร้อมกระทุ้งรัฐบาล อย่าเป็นตัวการทำให้รายได้จากการส่งออกทุเรียนปีละ 1-2 แสนล้านบาท ต้องมีปัญหา


Interview : คุณภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย


ตอนนี้เริ่มเข้าใกล้ฤดูผลไม้ไทย และเริ่มเก็บเกี่ยวกันได้แล้ว

ใช่ ช่วงกลางเดือนมีนาคมน่าจะมีการตัดทุเรียนพันธุ์กระดุม ส่วนปลายเดือนมีนาคมก็เริ่มตัดหมอนทองที่ระยองและจันทบุรีด้วย ขณะที่เดือนพฤษภาคมจะกระจุกตัวพอสมควร มีของปักษ์ใต้ด้วยในหลายๆ พื้นที่ ตอนนี้ภาคเกษตรพี่น้องเกษตรกรไม่ได้คุมโซนไว้ ก็ไปทั่วประเทศแล้ว ผลผลิตมันจะออกมาพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะพันธุ์ภูเขาไฟหรือพันธุ์อะไร จากทางหัวหินอีก ทั้งนี้ กับการส่งออกทุกปีของเราก็ราบรื่นมาโดยตลอด แต่ปีนี้รู้สึกเราจะมีปัญหา จีนกำหนดสูงสุดไว้ว่าเรื่องโควิดเขาต้องเป็นศูนย์ เราก็จะเจอปัญหาหนักหน่วงพอสมควร ตรงนี้เรายังไม่เห็นทางออกว่าจะไปทางไหน คือเราแค่คุยกันภายใน แต่ยังไม่ไปเจรจากับจีน วันนี้ยังไม่มีใครไปเจรจา และก็ไม่มีใครให้คำตอบว่าไม่ต้องกังวล ไม่ต้องซีเรียส ปีนี้ทางการจีนเปิดด่านอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ไม่มีส.ส.กระทุ้งในสภา ความชัดเจนไม่มีให้ ก็อยู่ที่ผู้ประกอบการกับพี่น้องเกษตรกร

ราคาส่งออกทุกเรียนวันนี้เราเพิ่มไปที่กิโลละ 265 บาท และที่เหมากันไว้มีอยู่ 3-4 บริษัท ตกลงสัญญาซื้อล่วงหน้ากันเอาไว้ แต่ถ้าเขาเดินต่อไปไม่ได้ หรือซื้อไปแล้วไปติดที่ด่าน ปัญหาก็จะตามมาเป็นลูกโซ่ทันทีสำหรับสินค้าทางการเกษตร ทางจังหวัดได้คุมมาตรฐานเข้ม เรื่องเปอร์เซ็นต์เรื่องคุณภาพสูงสุด แต่ถ้าไปติดที่ด่านก็จะมีปัญหา ในส่วนทุเรียนพันธุ์กระดุมจะอยู่ได้ไม่เกิน 12 วัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย เรื่องตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อก่อน 2-3 แสนหรือ 5-6 แสน แต่ปีนี้ตู้หนึ่ง 5 ล้านกว่าบาท เวลาผู้ประกอบการเขาได้กำไรเขาได้นิดเดียว แต่ถ้าเขาขาดทุนเขาขาดตู้ละ 2-3 ล้านบาท เหล่านี้คือปัญหา

ล่าสุดนี้ที่ขึ้นไปของบริษัทนิรันดร์ไปโดนทิ้งที่ด่าน 2 ตู้แล้ว เหลืออีก 2 ตู้กำลังรอชะตากรรมว่าจะได้ข้ามหรือไม่ได้ข้าม พอไปทางบกเขาก็โยกไปทางเรือ พอไปทางเรือก็ไปติดที่ด่านฮ่องกงอีกเหมือนกัน วันนี้ผู้ประกอบการรายอื่นเขาก็ไม่กล้าไปซื้อสินค้า เพราะเกรงว่าเอาเข้าไปไม่ได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่ของเรา ฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการทั้งหมด เล็งเห็นความสำคัญ ต้องช่วยว่าถ้าไปต่อไม่ได้จะทำอย่างไร ก็ต้องเตรียมตามไปเจรจากับจีนเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ขยับตัวไม่ขับเคลื่อนจะมีปัญหาแน่นอน กรรมาธิการก็ไม่รู้ว่าประชุมไปถึงไหน ยังวกอยู่ที่เดิม คือตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนก็ไม่มีความชัดเจนให้เขา เขาก็เลยยังกลัวกันอยู่ พอกลัว ก็ตามมาเป็นลูกโซ่เลย ราคาอาจจะถูกลง พี่น้องเกษตรกรก็ต้องเดือดร้อน เป็นลูกโซ่ทันที


เห็นว่าราคาทุเรียน มังคุด อาจจะต่ำสุดในรอบ 20 ปี เลย

เชื่อได้เลย ถ้าไปต่อไม่ได้ นั่นคือราคาต่ำสุดๆ แต่ก็มีทางเดียวคือห้องเย็นต้องเข้าช่วยตรงนี้ พวกนี้ก็ดรอปเป็นรายปีแล้ว ปีนี้เขาก็กลับมา แต่ถ้ากลับมาแล้วเขาไม่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ถ้าเขาฉวยโอกาสกดราคาได้ เขาทำทันที ตรงนี้คือปัญหาว่าใครจะเป็นคนแก้ นี่คือปัญหาสำคัญ และบวกกับเวียดนามเขาก็ออกผลสดได้เป็นแสนตัน ถ้าเวียดนามออกได้ เวียดนามก็ต้องกีดกันเราเป็นเรื่องธรรมชาติ เขาไปไม่ได้ เขาก็ผลักมาที่เรา เราก็ต้องไปสกัดทุเรียนเวียดนามไม่ให้ส่งออกมาบ้านเราเช่นกัน พูดถึงเกมการค้าระหว่างประเทศ แล้วทางผู้ใหญ่ของเราคิดอะไรอยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไรตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการพร้อมล้ง 700 ล้ง พร้อมที่จะดำเนินการหมดแล้ว


ไม่ว่าอย่างไรล้งเขาต้องรับอยู่แล้วหรือเปล่า

เขาเตรียมตัวทุกอย่าง ถ้าจะลงมือ ทุกคนก็ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างทำกัน คือเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว เราพร้อม แต่ปีนี้กฎกติกามากมายเงื่อนไขยุ่งยาก คือการที่ผู้ประกอบการจะเดินแต่ละก้าวเชื่อได้เลยว่าจะมีปัญหา ฉะนั้นถ้าล้งเข้ามารับซื้อน้อยลง จาก 600-700 ล้ง ถ้าเหลือ 100 ล้ง หรือ 30-40 ล้งที่เป็นล้งมาตรฐานตามนโยบายที่เขาวางไว้ ขณะที่สินค้าของพี่น้องเกษตรกรเพิ่มมหาศาล จาก 4 แสนตัน วันนี้เพิ่มเป็นล้านตันแล้ว ถ้าส่งออกไม่ได้ถามหน่อยว่าคนไทยจะทานหรือไม่กิโลกรัมละ 200 บาท ก็ต้องมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ถ้าเป็นราคานี้ พี่น้องเกษตรกรเขาขาดทุน โดยต้นทุนของเกษตรกรวันนี้สูง ปุ๋ยทุกชนิดราคาขึ้นสูง ทุกอย่างเป็นเงาตามตัวหมดเลย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเขาไม่ได้คุมราคาเลย ราคาขึ้นตามเงาตามตัว แต่สินค้าเกษตรกรไปต่อไม่ได้ พี่น้องเกษตรกรก็ต้องเดือดร้อน

เดิมพี่น้องเกษตรกรต้องบรรทุกทุเรียนไปที่ศาลากลางเลย ไปสุขุมวิท ไปที่อบจ. ส่วนตัวบอกที่นั่นไม่ใช่ที่กองทุเรียน ที่กองทุเรียนอยู่ที่ล้ง พอล้งบริหารจัดการเสร็จก็ส่งไปจีน ทีนี้ด่านอยู่ตรงไหน ที่ด่านมีปัญหาอะไร ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐของเราต้องไปที่ด่าน ไม่ใช่มานั่งควบคุมกันอยู่ตรงนี้ นี่คือการบริหารจัดการที่ผิดระบบ ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ณ วันนี้ผู้ใหญ่ไม่ฟังผู้ประกอบการ ไม่ฟังนักธุรกิจ นักลงทุนที่ไหนจะกล้าลงทุน ตู้หนึ่ง 5 ล้านบาท ตอนนี้เขาได้กำไรนิดเดียว แต่ถ้าขาดทุนคือตู้ละ 2-3 ล้านบาทถ้าข้ามด่านไม่ได้ ของไปเสียหาย ใครจะรับผิดชอบเขา


ทุกฝ่ายมองเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และมีกระแสเสียงเรียกร้องดังมากขึ้น จนถึงตอนนี้รัฐบาลก็ไปเจรจา แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า อยากให้รัฐบาลเจรจาแบบไหน

การค้าขายระหว่างประเทศเจอโควิดมา 2 ปี เรากังวลกันมาก แต่ 2 ปีเราผ่านฉลุยไม่เคยมีปัญหา แต่ทำไมปีนี้ถึงมีปัญหามาก เราต้องไปถาม ไปเจรจากับจีน ว่าเขาต้องการอะไร ต้องการแบบไหน แล้วเราก็มาทำตามที่จีนต้องการ แต่วันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจีนต้องการอะไร ซึ่งเราก็ปรับปรุงคุณภาพยาวเหยียดจนผู้ประกอบการไม่รู้จะไปทางไหน จะไปอย่างไร บางที่ก็ไปอบรมการตัดทุเรียน ไปอบรมตัวโน้น คิวซี คุมเรื่องนั้นเรื่องนี้ ส่วนตัวถามว่าคิวซีเรามาแค่ทำทุเรียน เขาไม่ได้เกี่ยวกับโควิด เกี่ยวกับโรค เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่วันนี้เราเอามาครอบงำครอบคลุมไปหมดเลย เหมือน 10 ปีที่เราทำ พอวันนี้ทำขึ้นมาเยอะ เสร็จก็จับเปลี่ยนอย่างอื่นอีก ใบเดียวก็ส่งออกได้ ถามว่านี่หรือคือการบริหารจัดการระบบราชการ ทำกันอย่างไรจึงสับสนวุ่นวายไปหมด คือไม่มีความชัดเจน ถ้าไม่มีความชัดเจนผู้ประกอบการเขาก็เดินต่อไม่ได้ เพราะเขาเสี่ยง เพราะเขาเป็นนักลงทุน ลงทุน 10-30 ล้านบาทแล้วขาดทุน จะกล้าทำหรือไม่ ดังนั้น ทุกอย่างก็เวียนว่ายตายเกิดไปอยู่กับระบบนายทุนใหญ่ๆ แล้วนายทุนใหญ่ๆ จะกล้าซื้อกิโลกรัมละ 200 บาทหรือไม่ ส่วนตัวไม่พูดเลย ส่วนตัวจะไม่พูดเรื่องนี้เลย แต่วันนั้นถ้าความจริงเกิดขึ้นมา จะซื้อไหมราคานี้

แล้วมีระบบราชการ แต่ทำไมไม่ดูแลเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย พวกนี้คือแข่งขันกัน แย่งกันซื้อแย่งกันขาย ก็เป็นเรื่องที่ดีกับเกษตรกร แต่เราตัดแขนตัดขาคนเหล่านี้ให้ไปอยู่กับยักษ์ใหญ่ นายทุนใหญ่ๆ ส่วนตัวถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ปากก็บอกว่าเราจะส่งเสริมเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีตรงไหน เราไปส่งเสริมผู้ประกอบการตรงไหน ให้เขาอยู่ได้ตรงไหน สร้างความมั่นใจให้เขาด้วย


ลำไยก็มีปัญหา

วันนี้เรื่องลำไยมีใครพูดไหม เพราะประเทศไทยถ้ามีการโหมโรง มาขอเอี่ยว มาทำโน่นทำนี่ มีข้อเสนอกันมากมาย แต่พอตายใครจะพูดถึง ต้องโค่นต้นทิ้งตัดเป็นไม้เผาถ่าน ถ้าทุเรียนดรอปไปอีก เขาจะทำอะไร ทำไมเขาไม่วางรากฐานตรงนี้ ไม่ส่งเสริมเกษตรกรจริงจัง ที่ว่าส่งเสริมเกษตรกร มันไม่ใช่ วันนี้สรรพากรไม่ได้อยู่สำนักงาน ไปอยู่ตามสวนทุเรียน ไปเก็บภาษีเขา แล้วทำไมเราไม่ไปเจรจากับตลาดจีนว่าเขาต้องการอะไร คุยให้เป็นกิจจะลักษณะ แล้วมีความชัดเจนให้กับผู้ประกอบการ วันนี้ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนไทยล้วนๆ จะเป็นคนจีนส่วนมากที่มานั่งอยู่ในไทยเรา เขายังถามว่าไทยเราทำอะไรกันอยู่ ป่านนี้แล้วยังไม่มีความชัดเจนให้เขาเลย เขาพร้อมจะเอาเงินหยวนมาให้เราเป็น 1-2 แสนล้าน แต่ทำไมเราไม่ตื่นเต้นกับเรื่องนี้เลย เรายังสร้างเงื่อนไขอะไรมากมาย แล้วยังแบ่งพรรคเป็นคนละพวก เราไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และถ้าธุรกิจเดินต่อไม่ได้ จะเป็นอย่างไร แล้วส่วนตัวก็เป็นนักลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ไปเจรจา ขณะที่เริ่มจะมีผลผลิตออกมาช่วงกลางเดือนมีนาคมแล้ว แต่นี่เรารอความหวังจากจีน อาจจะผ่อนคลายลงมา เรารอตรงนั้น แต่วันนี้เราไม่ได้ไปถามว่าเขาต้องการอะไร ต้องการแบบไหน ยาฆ่าเชื้อตัวไหนที่สร้างความมั่นใจให้กับเขา และเชื้อโควิด เชื้อต่างๆ ไม่ติดในผลไม้พวกนี้ ซึ่งผลไม้ที่ส่งออกไป เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าส่วนไหนที่มันอาจจะติดเชื้อ


ชาวสวนเองมั่นใจหรือไม่ว่าผลไม้ของเราปลอดภัยคลีน

ผู้ประกอบการเราควบคุมเต็มที่ ยาฆ่าเชื้อทุกอย่างเราเตรียมพร้อม เราทำกันมาตลอดทุกปี แล้วที่ออกข่าวว่ารถพ่นยาฆ่าเชื้อก็เป็นของสมาคมเอง แต่พอทำเสร็จ ก็ไม่ตรง เราทำไปก็ขัดตรงนั้น ขัดตรงนี้ ส่วนตัวก็ไม่เข้าใจ สุดท้ายเราจะไปอย่างไร ทุกคนมาอยู่ที่ทุเรียนหมด คุยทุเรียน นักการเมืองก็มาคุยเรื่องทุเรียน มากันหมดเลย แต่ว่าตอนนี้ทุเรียนเขาดรอป จะมีใครรับผิดชอบตรงนี้บ้าง วันนี้เราแก้ที่ปลายเหตุทั้งหมด ต้นเหตุอยู่ตรงไหน ไปแก้ที่ต้นเหตุ คือถ้าแก้ต้นเหตุ ระบบสมาคม ระบบจังหวัด ถ้าไม่ถึงก็ไปที่คณะรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเขามองเห็นหรือไม่ รายได้ 1-2 แสนล้านเขาเห็นหรือไม่ และวันนี้มองไปทางไหน แต่ละพรรคทะเลาะกันทั้งนั้นเลย แล้วเวลาเลือกตั้งใหม่ก็หาเสียงกัน ก็ไปกันอีก และสุดท้ายเข้าไปแล้ว ก็ช่วยไม่ได้ ส่วนตัวถามว่าจะทำอย่างไร ทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นทางว่าใครจะไป ยังไม่เห็นแสงสว่าง รัฐบาลเรายังทะเลาะกันไม่เลิกเลย แล้วพี่น้องประชาชนจะเป็นอย่างไร


การขนส่งมีปัญหาไหม

ถ้ามีการบอกประกอบการว่าไปทางไหนได้ เราก็พร้อมมไปได้ทุกทาง ไปหมด ทั้งบก เครื่องบิน หรือทางน้ำ แต่นั่นมันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นๆ ไปเครื่องไปล้านกลับล้าน แต่ขากลับเครื่องบินเขาไม่มีของกลับ แล้วเราจะทำอย่างไร เราเช่า 2 ล้าน ผู้ประกอบการลงทุนหนัก พอลงทุนหนักแล้วอย่างไร ตรงนี้รัฐบาลต้องมาพยุง ดูแลช่วยเหลือ วันนี้ระบบโลจิสติกส์ทั้งหมดมันตันไปหมดเลย คือมีค่าใช้จ่าย ตอนนี้จ่อคิวขึ้นราคาทั้งกล่องกระดาษ ตะกร้า ขึ้นราคากันหมด แต่สำหรับผู้ประกอบการนำไปขาย ไปถึงผู้บริโภค ผู้บริโภคเขาไม่กิน เราจะทำอย่างไร พวกเราพยายามมองมุมหลายๆ ด้าน อย่าไปมองมุมคนที่พูดโดยไม่ลงทุน คนกลุ่มนี้พูดอะไรก็ได้ แต่คุณกล้าลงทุนหรือไม่ ตอนนี้ที่ใต้ขาดทุนคนละ 100-200 ล้าน ขาดทุนขนาดนี้ เพราะส่งไปขายไม่ได้ ต้องเอาไปทิ้งไปขว้างเสียหาย แล้วตู้ละ 2-3 ล้านที่เขาขาดทุน เพราะสินค้าขึ้นราคามา ตู้หนึ่ง 4-5 ล้าน ส่วนตัวทำมาตั้งแต่ตู้ละ 4-5 แสนบาท ตอนนี้ขึ้นมาตู้ละ 5 ล้าน เขาขาดทุนหนัก ขาเขาอ่อน ขาดทุนเป็น 100-200 ล้าน มหาศาล

บางคนมาพูด เอาทฤษฎีเขามาตั้ง คุณเอาหนังสือมากางมาอ่าน ถ้าคุณไปลงทุนมา คุณจะรู้เลยว่า เวลาขาดทุนมันเป็นอย่างไร แล้วจะกล้าลงทุนหรือไม่ แล้วล้งก็สร้างกันมากมาย แต่ละคนพยายามสร้างให้มาตรฐานขึ้น ลงทุนล้ง 20-50 ล้านบาท แล้ววันนี้ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้เขาเลย มาสร้างเงื่อนไขที่มากเกิน แล้วถามว่าเขาลงทุนไหวไหม เขาจะเดินอย่างไร แล้วถ้าผู้ประกอบการเขาดรอปลงไป ก็จะเดือดร้อนทันที เมื่อก่อนมีแค่ 10-100 ล้ง ที่เราคุยราคาได้ตลอดว่าราคาเกษตรกรตกต่ำ ผู้ค้าฮั้วกัน แต่วันนี้ผู้ประกอบการมี 600-1,000 ล้งแล้วที่เราขยายออกมา พอขยายออกมาเสร็จ การซื้อขายก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเราไฟเขียว ฟรีสไตล์ว่าใครจะซื้อเท่าไหร่


สมาคมจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่

เราจะมีการประชุมสมาชิกในวันที่ 5 มีนาคม ประชุมคณะกรรมการเสร็จวันที่ 15 มีนาคมก็จะบอกกล่าวเรื่องราวทั้งหมดให้เขารับทราบว่าปีนี้เราต้องระวัง อย่าผลีผลาม เพราะไม่รู้ใครจะช่วยเราได้ และวันนี้ที่ทุกคนออกมาคือมาขย่มที่ผู้ประกอบการทั้งหมดเลย กล่าวหาว่าผู้ประกอบการเป็นจำเลยให้เขามาโดยตลอด มีอะไรก็ด่าเรา แต่ทำไมคุณไม่ดูแลเรา ไม่ส่งเสริมไม่ให้เขาสะดุด วันนี้เรามาสร้างเงื่อนไขให้เขาสะดุด พอสะดุด ก็จะสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรทันที วันนี้มองไม่เห็นถึงทางออกที่จะให้ผู้ประกอบการเดินสะดวกเลย

65 views

Comentarios


bottom of page