top of page
379208.jpg

สสว. - ธพว. กดปุ่มสตาร์ท "SMEs One" รอบ 2...ดูแลรายย่อย พาถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยพิเศษ


สสว. - ธพว. กดปุ่มสตาร์ท “SMEs One” รอบ 2  ดูแลรายย่อย พาถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยพิเศษ ช่วยรักษาการจ้างงาน 1.2 หมื่นราย

สสว. และ ธพว. เปิดรับยื่นขอสินเชื่อ “SMEs One” รอบ 2 ผ่านออนไลน์ มุ่งช่วยเหลือดูแลรายย่อยโดยเฉพาะ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี  กู้สูงสุด 5 แสนบาทต่อราย คาดพารายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 2,400 ราย รักษาการจ้างกว่า 12,000 ราย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อํานวยการ สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากที่ สสว. ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดแจ้งความประสงค์ยื่นขอกู้สินเชื่อ “SMEs One” รอบแรก วงเงินรวม 4,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นขอสินเชื่อทั้งหมดแล้ว  มีวงเงินเหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท  สสว. และ ธพว. จึงดำเนินการเปิดแจ้งความประสงค์ยื่นขอกู้สินเชื่อ “SMEs One” รอบ 2 วงเงิน 1,200 ล้านบาท ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะปิดรับคำขอ เมื่อวงเงินยื่นขอกู้เต็มจำนวน

สำหรับการเปิดครั้งนี้  สสว.มุ่งมั่นที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้กลับมาเข้มแข็ง ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้แนวทาง สสว. CONNEXT “เชื่อมคน เชื่อมเอสเอ็มอี เชื่อมโลก” ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 2. การลดค่าใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพ และ 3. การเพิ่มช่องทางการตลาด ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้กระจายความช่วยเหลือไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อย จึงกำหนดเป้าหมายเพื่อกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น เพื่อให้มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาดำเนินการได้ดีอีกครั้ง ซึ่งการสนับสนุนสินเชื่อครั้งนี้  คาดจะช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยได้ประมาณ 2,400 ราย  รักษาการจ้างกว่า 12,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินเชื่อ SMEs One คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี กำหนดระยะเวลาผ่อนนานสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี  คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เปิดโอกาสทั้งบุคคลธรรมดา และกลุ่มนิติบุคคล  สิ่งสำคัญต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย (MICRO)  ตามนิยามของ สสว. คือ รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานไม่เกิน 5 คน ซึ่งในวันที่ยื่นกู้ต้องขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. อีกทั้ง ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ, โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม, โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยผู้ขออนุมัติสินเชื่อต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และต้องมีหลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดาต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนนิติบุคคล ค้ำประกันโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวเสริมว่า ผู้สนใจยื่นขอกู้สินเชื่อ “SMEs One” รอบ 2  สามารถดำเนินการด้วยขั้นตอนดังนี้

1. แจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ สแกน QR Code ในโปสเตอร์, LINE Official Account: SME Development Bank , เว็บไซต์ของ ธพว. (www.smebank.co.th) และแอปพลิเคชัน “SME D Bank” ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android

2. กรอกข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ประเภทผู้ขอสินเชื่อ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) และเลขบัตรประชาชน  เพื่อตรวจสอบการเป็นสมาชิก สสว.  (กรณียังไม่เป็นสมาชิก สสว. จะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้  ต้องออกจากระบบ เพื่อไปสมัครสมาชิก สสว.เสียก่อน)

3. กรอกข้อมูลรายละเอียดกิจการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เช่น รายละเอียดกิจการ, ที่อยู่กิจการ, ผลประกอบการ, เลือกบริการ (สินเชื่อ/คำปรึกษา/ฝึกอบรม) เป็นต้น  จากนั้น กด “บันทึกข้อมูล”

และ 4. ผู้ลงทะเบียนจะได้ SMS ตอบกลับว่า “ธพว.ได้รับคำขอสินเชื่อ SMEs One รอบ 2 ของท่านแล้ว และจะติดต่อกลับโดยเร็ว” หมายถึงขั้นตอนแจ้งความประสงค์ยื่นกู้เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ไม่มีเลขสมาชิก สสว. สามารถเข้าไปสมัครได้ที่ https://members.sme.go.th/newportal/ และเริ่มกระบวนการใหม่อีกครั้ง ส่วนขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะเป็นไปตามกระบวนการของ ธพว. ต่อไป กรณีไม่ผ่านเกณฑ์ ทาง ธพว. จะมีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้คำปรึกษา และแนะนำการพัฒนาธุรกิจ ช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมต่อไป  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สาขา ธพว. ทั่วประเทศ และ Call Center ธพว. 1357  หรือ  Call Center สสว. 1301

5 views

Comments


bottom of page