มูลค่าการค้าไทย-รัสเซีย เฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท สินค้าหลักที่รัสเซียนำเข้าจากไทยมีอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางเม็ดพลาสติก มูลค่ารวมปีละ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ หินแร่ เหล็กกล้า จากรัสเซียปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท สรุปไทยขาดดุลรัสเซียปีละเกือบ 3 หมื่นล้านบาท สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย-ตั้งเป้ามูลค่าการค้าต่อปีจะเพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท แม้ช่วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการคว่ำบาตรของอเมริกาและยุโรปจะทำให้เป็นปัญหาอยู่บ้าง แต่คาดว่าที่สุดแล้วรัสเซียจะเข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้ ชี้...รัสเซียวันนี้ต่างจากยุคก่อนที่อเมริกา-ยุโรปจะไล่บี้ได้ง่ายๆ เพราะด้วยศักยภาพและแต้มต่อของรัสเซียในเรื่องพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจุดแข็งสำคัญ รวมทั้งรัสเซียไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีจีนเป็นพันธมิตรสำคัญที่พร้อมจะรับซื้อน้ำมัน-ก๊าซจากรัสเซียอย่างไม่อั้นถ้ายุโรปคว่ำบาตรไม่ค้าขายกับรัสเซีย อีกทั้งถ้ายุโรปคว่ำบาตรรัสเซียจริง ฝ่ายที่ต้องเจ็บตัวกว่าใครคือเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ส่วนการคว่ำบาตรรัสเซียในแง่ธุรกรรมทางการเงิน คาดว่ารัสเซียเตรียมรับมือไว้เป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจบุกยูเครน สำหรับไทยจะได้รับผลกระทบบ้างในด้านการทำธุรกรรมการค้ากับนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ยูเครน ยุโรป ที่มาเที่ยวไทยจะลดลงในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน
Interview : คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย
สภาธุรกิจไทย-รัสเซียก่อตั้งมากี่ปีแล้ว
ก่อตั้งมากว่า 20 ปีแล้ว โดยสภาธุรกิจไทย-รัสเซียอยู่ภายใต้การดูแลของกกร. ซึ่งกกร.คือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันก็คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ภายใต้ กกร.เราก็เป็นหนึ่งในนั้นคือสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เป็นภาคเอกชนที่ทำงานเชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ระหว่างไทยกับรัสเซีย ซึ่งขณะนี้เรามีสมาชิกอยู่ประมาณกว่า 60 บริษัทที่อยู่ในฝั่งไทย ส่วนฝั่งรัสเซียก็มีจำนวนใกล้เคียงกับไทย
ธุรกิจที่ไทยนำเข้า-ส่งออกกับรัสเซียมีอะไรบ้าง
ในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าและส่งออกกับรัสเซียประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่สินค้าส่งออกหลักๆ จะมีชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของรถยนต์ สินค้าเม็ดพลาสติก ยาง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปทั้งหลาย โดยมีมูลค่าการส่งออกไปประมาณกว่า 1 พันล้านเหรียญ ในทางกลับกัน ไทยนำเข้าจากรัสเซียประมาณกว่า 1.7 พันล้านเหรียญ ดังนั้นในปี 2564 ไทยขาดดุลกับรัสเซียประมาณ 700 ล้านเหรียญ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียอันดับหนึ่งคือน้ำมันดิบ ต่อมาคือพวกเคมีต่างๆ เหล็กกล้า หินแร่โลหะต่างๆ พวกเครื่องร่อน เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ พวกอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียจะเป็นของใหญ่ๆ ทั้งนั้น เราจึงขาดดุลกับรัสเซียมาตลอด
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียมีมายาวนานกว่า 120 ปีแล้ว ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัส โดยตอนนั้นรัสเซียเป็นชาติที่ช่วยไทยจากการถูกล่าอาณานิคมโดยอังกฤษ ขณะนั้นทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจ้องไทยตาเป็นมัน พยายามที่จะแย่งและยึดครองเรา แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 และจากความช่วยเหลือของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ช่วงที่ รัชกาลที่ 5 เสด็จไปเยือนรัสเซียและได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกัน และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หน้า 1 ของยุโรปทั้งหมดเลย ในเวลานั้นรัสเซียเป็นมหาอำนาจที่ทุกชาติเกรงใจ ภาพดังกล่าวมีการพิมพ์ใต้ภาพว่า ร.5 เป็นเพื่อนของเรา แค่นั้นเองก็ทำให้อังกฤษกับฝรั่งเศสถอยจากไทยออกไป
ดังนั้น เราก็ตั้งเป้าว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมขนาดนี้ การค้าการขาย 3 พันล้านเหรียญถือว่ายังน้อยไป เราได้ตั้งเป้าไว้ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท น่าจะทำได้
ปกติไทยค้าขายกับรัสเซีย ธุรกรรมทางการเงินจะต้องไปผ่านแบงก์รัสเซียหรือไม่ เพราะมีข่าวว่าอเมริกาและประเทศตะวันตกจะมีการแซงชั่นบอยคอต เงินรูเบิลจะมีปัญหาหรือไม่
ก่อนหน้านั้น มีข่าวจะแซงชั่นรัสเซียมาหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งวิกฤตการณ์ไครเมีย ปี 2014 ตอนนั้นทางสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกก็มีการแซงชั่นขนานหนัก ซึ่งครั้งนั้นรัสเซียอยู่ใน G8 ก็ยังถูกขับออกมาจนถึงทุกวันนี้ มีการแซงชั่นมากมาย ไม่ให้ค้าขายด้วย แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาเหล่านั้นมันก็มีโอกาส เพราะทางรัสเซียเองเป็นลูกค้ารายใหญ่ในการนำเข้าพวกอาหารจากยุโรป ฉะนั้นเมื่อยุโรปแซงชั่นไม่ยอมขายอาหารให้กับรัสเซีย ทางรัสเซียก็เปลี่ยนนโยบายมาซื้อจากทางแถบเอเชียและไทย เราก็ได้รับอานิสงส์ ฉะนั้นคิดว่าวันนี้รัสเซียเปลี่ยนไปเยอะ
ดังนั้น มีคำถามที่บอกว่า ถ้าเกิดมีการแซงชั่น แน่นอนว่าจะมีอุปสรรค แต่นักธุรกิจทั้ง 2 ฝั่งเราหาทางออกได้ ก็อาจจะมีต้นทุนเพิ่มเติมหน่อย ขลุกขลักหน่อย เพราะตอนนี้เบื้องต้นทางประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศแซงชั่น ในเบื้องต้นจะมีการแซงชั่น 2-3 ธนาคารใหญ่ของรัสเซีย และแซงชั่นเป็นรายบุคคล ก็น่าที่จะเข้มข้น แต่เราต้องดู ถ้าเกิดไปถึงจุดเดิมก็คือแซงชั่นให้ตัดรัสเซียออกจากระบบการเงิน การโอนเงินอะไรทั้งหลายเรียกว่า SWIFT ตรงนี้ก็จะสร้างความยุ่งยากในการเปิด L/C ในการหาแบงก์อะไรต่างๆ แต่ตรงนี้ส่วนตัวมองว่ารัสเซียได้มีการเตรียมตัวมาตั้งแต่บทเรียนคราวที่แล้ว เขาได้ทำระบบเขาเองขึ้นมา แม้ว่าจะยังไม่แพร่หลายเหมือนกับระบบ SWIFT แต่ว่าตอนนี้เขาจะไปควบรวมระบบรัสเซียบวกกับของจีน เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วก็ไม่หนักหนาเหมือนคราวที่แล้ว
ตอนนี้สิ่งที่คาดว่าชาติตะวันตกอาจจะออกมาตรการที่เข้มงวด ก็คือการที่ประกาศแซงชั่นไม่ให้บริษัทอื่นๆ และประเทศอื่นๆ ค้าขายกับรัสเซีย และถ้าใครค้าขายก็จะโดนแบล็กลิสต์ หรืออาจจะโดนยึดเงิน คือทำแบบเกาหลีเหนือ แต่ตรงนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา สำหรับรัสเซียวันนี้ เชื่อว่าทางรัสเซียได้เตรียมแผนปัญหาเกี่ยวกับยูเครนมานานพอสมควร และสถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไปเยอะ มหามิตรของรัสเซียที่เป็นคู่หูและลงตัวที่สุดก็คือจีน โดยรัสเซียมีรายได้ 70% ของจีดีพีมาจากน้ำมันและการขายก๊าซ ส่วนก๊าซที่ยุโรปใช้กันมากกว่า 1 ใน 3 คือ 40% ก็ใช้ของรัสเซีย เมื่อก่อนบีบรัสเซียได้ว่าไม่ให้ซื้อ แต่ว่าวันนี้ลองคิดดูว่าคนที่เดือดร้อนคือใคร ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา คนเดือดร้อนก็คือยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นผู้ใช้ก๊าซจากรัสเซียเป็นอันดับต้นๆ เพราะมีอุตสาหกรรมหนักจำนวนมาก ดังนั้น ถ้ามีการแซงชั่นรัสเซียจนเกิดวิกฤตการณ์การขาดแคลนก๊าซ คนเดือดร้อนก็คือ 3 ประเทศที่ว่านี้
กลับกันเมื่อก่อนรัสเซียอาจจะเดือดร้อนที่เขาขายก๊าซไม่ได้ ไม่มีรายได้ แต่วันนี้กลับกันแล้ว เพราะรัสเซียเพิ่งจับมือกับสี จิ้นผิง ในช่วงที่ไปแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว คุยกันเรียบร้อยว่า จีนจะซื้อก๊าซเพิ่มจากรัสเซียทั้งหมดเลย มีเท่าไหร่เอาหมด และจะเดินท่อใหม่แถบไซบีเรีย จะเห็นว่าดุลอำนาจและเงื่อนไขมันเปลี่ยน เพราะวันนี้รัสเซียไม่ได้รับผลกระทบจากการแซงชั่นของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเหมือนในอดีตแล้ว
สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จะกระทบนักท่องเที่ยวรัสเซีย กลุ่มเป้าหมายหลักของไทย
ก็มี ในเบื้องต้นอย่างที่บอกคือหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น เราเปิดประเทศแล้ว ในปี 2565 เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 5-6 ล้านคนตามที่สภาพัฒน์ได้ประมาณการ แต่ด้วยสถานการณ์วันนี้ สิ่งที่เห็นคือนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่เราเคยมีมากที่สุดในปี 2016 ประมาณ 1.7 ล้านคน ได้ลดลงในช่วงโควิด เหลือประมาณ 1.4-1.5 ล้านคน แต่ก็ยังงติดท็อปไฟว์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทย ปีนี้ เดิมเราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียที่พร้อมจะหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทยพร้อมกับทางฝั่งยูเครนมากขึ้น แต่ด้วยภาวะสงครามนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยูเครนก็อาจจะลดลง อาจจะไม่มากเท่าที่ควร และก็จะไปกระทบต่อประเทศในยุโรปด้วยที่อาจจะเกิดวิกฤตในเรื่องของพลังงาน
ขณะเดียวกัน ตอนนี้น่านฟ้าทิศเหนือยูเครนปิดหมด ตอนนี้ใครจะทำอะไรก็ต้องเปลี่ยน จำได้หรือไม่เมื่อหลายปีที่แล้วที่มาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตกหายไปแบบลึกลับ จนวันนี้ก็ยังหาไม่เจอ ฉะนั้นตอนนี้ทุกคนก็กลัวกันอยู่ ก็มีผลทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาไทย อาจจะไม่ได้ตามเป้า เพราะไม่เฉพาะรัสเซียแต่จะรวมถึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปหลายประเทศด้วย
สิ่งที่เรากังวล อาจจะเป็นผลทางอ้อมจากการรบกันในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นชัดก็คือราคาน้ำมัน แพงทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล และเมื่อขึ้นไปเยอะๆ ก็จะซ้ำเติมสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก สิ่งของ วัตถุดิบ ต้นทุนทุกอย่างจะขึ้นกระฉูดเลย ซึ่งตอนนี้การกระฉูดของราคาน้ำมันจะไปซ้ำเติมสภาวะที่กำลังจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากโควิด 2-3 ปีมานี้เศรษฐกิจไม่ดี พอมาเจอตรงนี้ไปคนที่จะกลับไปหนักคือสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมที่ผ่านมา 7.5% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ฉะนั้นถ้าเจอภาวะแบบนี้ไป รับรองเลยว่าของในสหรัฐอเมริกาต้องพุ่งกระฉูดแน่
Comments