top of page
379208.jpg

อนาคตยางพาราไทยยังสดใส...เกษตรกรพร้อมรับมาตรฐาน EUDR



เกษตรกรสวนยางพาราไทยพร้อมรับมาตรฐาน EUDR ที่เน้นลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการใช้ปุ๋ยเคมี แจง...กว่า 2 ปีที่ผ่านมามีการปรับการปลูกสวนยางพาราไทยได้ตามมาตรฐาน EUDR ทำให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อแถบ EU อีกทั้งยังทำให้ขายยางได้ราคาสูงกว่าเดิม เป็นกำลังใจให้เกษตรกรสวนยางพาราปฏิบัติตามมาตรฐาน EUDR ต่อไป ยืนยัน...อนาคตยางพาราไทยยังสดใส ขอให้เกษตรกรยืนหยัดปลูกยางพาราต่อไปโดยปรับปรุงเป็นพื้นที่การเกษตรยั่งยืน ปลูกยางพาราผสมผสานการปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้โตเร็ว พืชหมวดที่เป็นอาหาร เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทาง ที่สำคัญคือเกษตรกรสวนยางพารายุคใหม่ต้องใส่ใจในการลดภาวะโลกร้อน และดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป


Interview : คุณบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่

 

มาตรฐานยุโรป EUDR เกี่ยวกับการห้ามธุรกิจกาแฟ ปาล์ม ยางพารา โกโก้ ฯลฯ ในการทำลายป่าเลื่อนการบังคับใช้จากปี 2568 ออกไป ให้เริ่มใช้ 30 มิถุนายน 2569 การเลื่อนมีผลอะไรไหมต่อชีวิตความเป็นอยู่ชาวสวนยางพาราไทย

           

ผมคิดว่าในส่วนของประเทศไทยเราไม่มีผลกระทบอะไรมาก ก่อนหน้านี้พี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทยได้พยายามที่จะดำเนินการในส่วนของการที่จะทำให้หลักฐานของพี่น้องเกษตรกรสวนยางเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ EUDR เท่าที่รับทราบมาก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับมาตรฐาน อาจจะมีขาดตกบกพร่องอยู่บ้างแต่ก็เล็กน้อย ไม่มาก ทำให้ในช่วงแรกๆ ของการเปิดราคาตามมาตรฐาน EUDR ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะเป็น 26 มีนาคม ปรากฏว่าขายยางได้ราคาสูงกว่าราคาปกติกิโลกรัมละเกือบ 10 บาท ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาเกษตรกร ก็ขายยางได้ราคาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา บวกเพิ่มจากราคาปกติของตลาดทั่วไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องเกตรกร ชาวสวนยางที่ปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องของการทำในลักษณะของลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการทำการเกษตรเกี่ยวกับสวนยางได้รับผลกระทบในเชิงบวก เราทราบดีว่าตามปกติในเดือนธันวาคมนี้ก็จะสิ้นสุดตามที่ EUDR ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ EUDR ประกาศเลื่อนออกไปเป็นเดือนมิถุนายน 2569

           

ถ้าผมดูลักษณะของการเลื่อนตรงนี้ อันนี้เป็นแนวคิดของผมเอง คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กับประเทศผู้ปลูกยางในส่วนของประเทศอื่นด้วย เพราะอย่างประเทศอินโดนีเซีย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม เขายังไม่ได้ปรับตัวให้สมบูรณ์แบบเหมือนไทย ผมคิดว่าถ้าหากใช้กฎเกณฑ์ของ EUDR เข้ามาจับผมคิดว่าก็คงจะวุ่นวายพอสมควร ฉะนั้น EUDR ก็เล็งเห็นแล้วว่าถ้าหากไม่ยืดระยะเวลาไปก็คงจะทำให้เกษตรกรเหล่านั้นจะต้องกระทบกระเทือน อันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วของการยืดหยุ่นเพื่อให้มีการปรับตัวกัน สำหรับในประเทศไทยผมคิดว่าพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าแล้วหลังจากตั้งแต่ปี 2554 ในส่วนนี้กรมป่าไม้ประกาศเกี่ยวกับเรื่องของการดำเนินนการในส่วนของพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่านี้

 

มาตรฐาน EUDR มาตรฐานยุโรปมีอะไรบ้าง

           

ประเด็นแรกคือเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า อันนี้เป็นหลักใหญ่ เขาถือว่าการบุกรุกพื้นที่ป่าเท่ากับว่าเราไปทำลายป่า ทำให้เป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อมของโลกและปัญหาก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทางยุโรปเขาเข้มงวดมากในการที่จะลดภาวะโลกร้อน ส่วนของมาตรฐานตัวอื่นๆ ก็เป็นประเด็นย่อยเช่นการใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าหากสามารถปรับมาเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ก็จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น ก็จะมี Point เพิ่มขึ้น ถ้าดูจากประเทศของ EUDR เขาจะเน้นเรื่องพื้นที่ป่าเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าในประเทศไทย การจัดการตรงนี้รัฐบาลจัดการได้มากพอสมควรแล้ว

 

ในเรื่องมาตรฐาน EUDR เกี่ยวกับยางพารา นอกจากไทยแล้วมีประเทศไหนที่มีความพร้อมทัดเทียมกับไทยเราบ้าง

           

ผมดูแล้วประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างของมาเลเซีย รู้สึกว่าเขาก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่ ถ้าดูจากข่าว ดูจากความเคลื่อนไหวรู้สึกว่าเขาจะมีเหตุผลส่วนตัวของเขา เพราะเราต้องยอมรับในส่วนของประเทศที่เขามีความพร้อมในเรื่องของการแปรรูป เรื่องของการใช้ยางอะไรต่างๆ เหล่านี้ค่อนข้างสูงมาก แล้วผลผลิตของเขาในขณะนี้ลดต่ำลงมามาก หมายถึงจากเดิมที่เคยเป็นที่ 2 ของโลก ตอนนี้ดูแล้วเขาลดพื้นที่ยางพาราลง ไปปลูกปาล์มน้ำมันสูงมาก เพราะฉะนั้นเขาคงคิดแล้วว่าคงจะไม่มีผลกระทบมากนัก ทำให้แนวทางในการที่จะปฏิบัติไม่เหมือนประเทศเรา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าสวนยางพาราของไทยมี 20 กว่าล้านไร่ และมีพี่น้องเกษตรกร 5-6 ล้านคน คิดดูแล้วส่วนที่มีความต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องของอาชีพยางอีกไม่รู้อีกกี่ล้านคน ถ้าหากเราไม่ทำให้ได้มาตรฐานของ EUDR จะทำให้ผลกระทบจะมีค่อนข้างสูงมาก

 

ถ้ามีการบังคับใช้มาตรฐาน EUDR ในวันที่ 30 มิถุนายน 2569 คิดว่าถึงตอนนั้นประเทศที่ผลิตยางพาราหรือคู่แข่งเรา จะมีความพร้อมไหมที่จะทําตามกฎของมาตรฐานยุโรป

           

ในส่วนตัวผมคิดว่าเขาคงสามารถปรับได้ แต่ละประเทศก็คงปรับไม่เหมือนกัน อาจจะขึ้นอยู่กับบริบทของความความตื่นตัวหรือความเร่งด่วนของภาครัฐแต่ละประเทศที่จะเข้าไปดำเนินการ ของเราในส่วนประเทศไทยโชคดีที่เรามีองค์กรยางชัดเจน ซึ่งเข้ามาจัดการตั้งแต่เริ่มแรกเลย ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเริ่มทำเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงปี 2567 เราก็ทำได้เต็มที่ ก็มีผลอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้

 

อยากจะบอกสมาชิกหรือชาวสวนยางด้วยกันไหมว่าให้กัดฟันปลูกยางต่อไป อย่าเพิ่งไปเปลี่ยน เพราะอนาคตยังดีอยู่ แม้จะมีมาตรฐาน EU ก็ควรกัดฟันทำต่อไปเพราะอนาคตดี

           

เราต้องยอมรับในขณะนี้การปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางไปปลูกพืชชนิดอื่นมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็จำนวนมากด้วย รวมทั้งผลผลิตยางพาราที่ลดลงจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ราคายางในช่วงปีนี้ค่อนข้างใช้ได้ ถือว่าเกษตรกรที่มีผลผลิตก็สามารถขายได้ราคาไม่ตกต่ำมาก แต่มีอยู่นิดเดียวคือในช่วงนี้ฝนตกมาก วันกรีดยางก็น้อย ทำให้รายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ในส่วนของราคาคิดว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูงต่อไปจนถึงสิ้นปี เหตุผลเพราะมันเกิดลักษณะของตัวอุปสงค์อุปทาน ซึ่งเราเองก็ทราบอยู่ว่าของมีน้อยราคาก็ดี ของมากราคาก็ตก แต่ในขณะนี้เราก็ทราบว่าราคาค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นจะทำให้เรามีโอกาสเกี่ยวกับเรื่องของการทำอาชีพสวนยางดีขึ้น

           

อยากฝากประเด็นเกี่ยวกับความตื่นตัวของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในส่วนของยุโรป จีน ในขณะนี้ เกี่ยวกับเรื่องของการทำสวนยางแบบลักษณะของผมที่ทำอยู่เป็นสวนยางยั่งยืน ลักษณะของการทำสวนยางยั่งยืนคือลดจำนวนพื้นที่หนาแน่นจาก ไร่ละ 72 ต้น ลงมาเหลือไร่ละ 40 ต้น แล้วเราก็ผสมผสานสิ่งอื่นลงไป เช่นอย่างที่ผมทำก็จะปลูกไม้ผสมผสานเข้าไปด้วย จะเป็นไม้เศรษฐกิจ ไม้โตเร็ว พืชต่างๆ ที่เราสามารถรับประทานได้ ตรงนี้จะทำให้เราจะไม่หวังพึ่งพาแต่ยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งวันที่ 16 เดือนนี้ มิชลินและฝรั่งเศสทั้งหมด 20 คนจะเข้ามาดูงานที่สวนเรา เขาสนใจเพราะเป็นวิถีชีวิตแบบสวนยางเกษตรที่จะทำให้ลดภาวะเกี่ยวกับโลกร้อนด้วย ผมอยากฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกรว่าเรายังมีความหวังกับอนาคตสายกลาง ขอให้เดินในแนวทางที่เราสามารถรักสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

26 views

コメント


bottom of page