top of page
312345.jpg

ปี 64 'ส่งออกอาหารไทย' แรงไม่ตก...ได้อาหารสัตว์ทัพหนุนช่วย



สูตรเด็ดส่งออกของไทย#ข้าวมันไก่ ยังไปต่อได้ดี ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และไก่ แม้การแข่งขันในตลาดโลกจะดุเดือด แต่ประคองตัวอยู่ได้ภายใต้ยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ที่เน้นพัฒนาผลผลิตให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างจากเดิม ล่าสุด...มูลค่าส่งออกหมวดอาหารของไทยปี 64 สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้มีแนวโน้มเดินหน้าขาบวกต่อเนื่อง ที่โดดเด่นเพิ่มเติมจากอาหารคนคืออาหารสัตว์ที่การส่งออกเติบโตอย่างน่าสนใจ รวมถึงกลุ่มผลไม้สดที่เป็นดาวเด่นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พร้อมแจงยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อยอดธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตของไทยคือทุน นวัตกรรม เทคโนโลยี และการเป็นสมาชิกในภาคีสำคัญของโลก เพื่อให้มีแต้มต่อในการผลิต การตลาด และการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างยั่งยืน


Interview : คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป



คุณวิศิษฐ์เข้ามาดูแลเรื่องยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตมาเกือบปีแล้ว เรื่องยุทธศาสตร์มีการเปลี่ยนหรือเพิ่มขึ้นเพื่ออนาคตอย่างไรบ้าง

เริ่มจากเรื่องความหวัง ปัญหาค่อนข้างเยอะ แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นความสำคัญสำหรับประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่ในมือผู้ประกอบการระดับ SME เยอะ ความหมายคือผู้ประกอบการ SME ที่เป็นผู้ประกอบการต่างๆ มาอยู่หมวดเกษตรและอาหารเยอะที่สุดเพราะลงทุนไม่มาก สามารถปรับตัวในการผลิตอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย

ประเทศไทยค่อนข้างมั่นใจเรื่องความมั่นคงอาหารมานาน แต่สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้โลเลนิดหน่อย จริงๆ สถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่เราพูดถึงอาหารแห่งอนาคต เราพยายามปรับเปลี่ยนตั้งแต่ด้านเกษตรและด้านการผลิตอาหารให้อยู่ในหมวดการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เข้าสู่หมวดการทำนวัตกรรมกับอาหารมากขึ้น เพราะการแข่งขันในโลกที่ผ่านมาหลายปีค่อนข้างดุเดือด การส่งออกอาหารไทยเทียบกับระดับโลกแล้วเราเคยเป็นผู้ส่งออกอาหารลำดับที่ 11 ของโลก แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเราหล่นไปที่อันดับ 13 เพราะมีประเทศคู่แข่งเยอะที่แซงเราไปอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย และที่ตามเรามาติดๆ คือ เวียดนาม

เดิมเราท่องกันมานานที่เราส่งออกเยอะๆ ดีๆ ทั้งข้าว ไก่ มันสำปะหลัง เมื่อก่อนมีกุ้งด้วย 3 ตัวนี้แข่งขันกันสุดๆ ถ้าอุตสาหกรรมไม่ใหญ่จริง ไม่ได้ลงทุนเยอะจริง ไม่ได้เพิ่มการผลิตแต่ละวันขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำเพื่อแข่งขันได้ จะอยู่ยาก พอเป็นแบบนี้ก็มานึกถึงว่าประเทศไทยจะไปต่ออย่างไรที่ทำให้ SME เดินต่อได้ด้วย ก็มาถึงเรื่องอาหารอนาคตว่าผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีความรู้ใหม่ๆ ต้องการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ในอนาคตที่ไปตอบโจทย์เขาได้ และที่สำคัญคือมีกำลังซื้อเพียงพอ เรื่องพวกนี้เราเป็นคนคิดกันมา


ทั้งข้าว มัน ไก่ ที่ว่าเป็นตัวชูโรง พออันดับของไทยตกลงมา ข้าว มัน ไก่ ตกลงไปมากไหม

เอาข้าวก่อน เราเคยส่งออกปีละ 10-11 ล้านตัน บริโภคในประเทศพอๆ กันคือ 10 ล้านตัน แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมายอดส่งออกของเราลดลงมาเหลือ 6-7 ล้านตัน ปีนี้อาจจะขยับมา 8 ล้านตันได้เพราะตลาดเริ่มกลับมา อันนี้เป็นภาพให้เห็นถึงการแข่งขัน แต่ในการแข่งขันข้าวไทยมีส่วนนึงที่เขาปรับตัวคือไม่เอาข้าวขาวไปแข่ง จำนวนมากก็หันมาทำข้าวที่มีมูลค่าสูงในตัวเองเพิ่มเป็นข้าวคุณภาพ ยกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิ ข้าวกข 43 ถึงแม้ตลาดจะเล็กเมื่อเทียบกับตลาดโลกของข้าวขาว แต่ระดับราคาสูงกว่าข้าวขาว ทำอะไรที่แตกต่างแบบนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ไม่ใหญ่ไม่สามารถลงทุนแข่งในปริมาณเยอะได้ ถ้าจะขายเยอะคุณต้องลดราคาเวลาไปประมูลหรือเสนอราคาแข่งกัน อันนี้เป็นสภาพการแข่งขันที่ผ่านมา

ส่วนมันสำปะหลังสถานการณ์กลับดีขึ้นมาหน่อยเพราะตอบโจทย์ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาชัดเจนมากว่าอาหารสัตว์ขาดแคลน เวลาทำเป็นอาหารสัตว์จะเป็นมันเส้น ส่วนอาหารคนที่ทำจากมันสำปะหลังคือแป้งมัน อันนี้คร่าวๆ ว่าเขามีทางไปของเขา อยู่ได้เพราะไม่ได้แค่ส่งหัวมันสดอย่างเดียว แต่ทำแบบแปรรูปไปด้วย แน่นอนว่าการแข่งขันมีเหมือนกันและยอดลดลงไป 2-3 ปีจากเรื่องของโรคใบด่าง ก็เป็นพันธุ์ที่ต้องมาพัฒนาปรับปรุงว่าแต่ละปีพันธุ์พืชจะต้องแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาคือไก่ถือว่าเป็นโปรตีนที่ดีในระดับราคาที่ไม่สูงนัก ที่สำคัญบริโภคได้ทุกชาติทุกศาสนารวมทั้งมุสลิมด้วย เราทำไก่ฮาลาลแล้วขายได้ด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นตลาดที่ไปได้ และแน่นอนว่าค่อนข้างเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องทำให้ใหญ่จึงจะแข่งขันเรื่องต้นทุนได้

3 ตัวนี้ท่องง่ายๆ คือข้าว มัน ไก่ แต่ตอนนี้มีตัวที่โดดเด่นขึ้นมาคือ ผลไม้สด ปีที่ผ่านมาบอกได้เลยว่าอาหารเราชูโรงด้วยผลไม้สด ซึ่งเป็นปีประวัติการณ์พอสมควร โดยเฉพาะทุเรียนเป็นปรากฏการณ์นึงเพราะ 2-3 ปีนี้ทุเรียนทำตัวเลขแซงหน้าลำไยที่เคยส่งออกเยอะมาแล้ว และดูท่าจะพุ่งต่อเรื่อยๆ เพียงแต่ปีนี้อาจจะเจอปัญหาพอสมควรเพราะตลาดใหญ่อยู่ที่จีนและจีนมีมาตรการ Zero Covid ซึ่งด่านตรวจโควิดยาวมากๆ สิ่งที่น่ากลัว คือการต่อคิวยาวและตัวสินค้าเกิดความเสียหายหากส่งเข้าไปไม่ได้


ถึงวันนี้จีนยังใช้ Zero Covid อย่างเข้มข้น

มีเจรจาหลายรอบ เราพยายามทำฝั่งเราให้ดีที่สุด ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ปลายทางว่าตั้งแต่ต้นทางเราดูตั้งแต่พนักงาน โรงคัดบรรจุที่ปลอดเชื้อ มีการพ่นฆ่าเชื้อ มีการตรวจพนักงาน มีมาตรการอะไรใช้หมด เพื่อให้ปลายทางมั่นใจ สิ่งที่เราต้องการคือ ทำ Fast lane ได้ไหม ตรวจจากฝั่งเราเลย ไม่ต้องรอตรวจที่ด่านของจีนได้ไหม ก็เป็นข้อเสนอของเรา อีกข้อเสนอคือ เมื่อแต่ละด่านใช้เวลาในการตรวจเยอะ ขอเปิดช่องในการตรวจเพิ่มได้ไหม ก็พยายามกันอยู่ทั้งภาครัฐเอกชน ค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้พอสมควรเพราะฤดูผลไม้มาแล้ว


ไม่เฉพาะทุเรียน แต่โยงไปถึงมังคุด มะม่วง ด้วย

ใช่ ก็ยาวเลย คือเขาตอบมาตรงๆ ว่านโยบายนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว เขาใช้กับทุกประเทศ สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าถ้าเราสร้างความมั่นใจดีกว่าประเทศอื่นที่ส่งเข้าไป ผมว่าจะเป็นแต้มต่ออันนึงที่สำคัญ การสื่อสารต้องชัดเจนและการปฏิบัติก็ต้องชัดเจนด้วยว่าเราดูแลตั้งแต่ต้นทางอย่างปลอดภัยและสร้างความมั่นใจได้


อาหารของไทยที่ส่งออกคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ของการส่งออกทั้งหมด

8-10% โดยที่มูลค่าการส่งออกอาหารแต่ละปีบ้านเราอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ปี 2564 ยอดทะลุ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ถึงแม้ไม่ได้อยู่อันดับต้นๆ ของการส่งออกก็ถือว่ามาก เพราะมูลค่าอาหารถูกกว่าเมื่อเทียบกับยานยนต์ ชิ้นส่วนฯ อันนั้นมูลค่าสูงเขาอยู่อันดับต้นๆ แต่อันนี้จะมาเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและภาคเกษตรค่อนข้างเยอะ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในหมวดนี้ ในหลายปีที่ผ่านมาถือว่ากราฟไม่ได้พุ่งแบบชัน เฉลี่ยแล้วเรามีขึ้นมีลง แต่หลายปีที่ผ่านมาเฉลี่ยโตปีละ 1% ปีที่ผ่านมาโตเยอะหน่อยเป็นตัวเลข 2 หลัก ปีนี้มีแนวโน้มไปต่อได้ แต่หมวดของการส่งออกอาหารมีตัวน่าสนใจพุ่งขึ้นมา เช่นอาหารสัตว์เลี้ยงก็เป็นตัวอย่างนึงว่าผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้อาหารบางชนิดเติบโตได้ดีด้วย


ยอดส่งออกของไทยหลุดอันดับมา มีคู่แข่งเยอะ จะยังมีความหวังกลับขึ้นไปอันดับเดิมหรือ TOP 10 ได้ไหม

ถือว่ามีโอกาส แต่จะต้องมีตั้งแต่ต้นทาง คือระดับรัฐมีการเจรจาเรื่องเปิดตลาดเพิ่มเติมในตลาดที่เปิดไม่สุดหรือยังไม่เปิด อย่าง FTA ประเทศต่างๆ อันไหนเคยมีภาษีอยู่ จะทำอย่างไรให้ลดภาษีหรือภาษีเป็นศูนย์ได้ อันนี้จะเป็นแต้มต่อเหมือนกัน เพราะถ้ามีประเทศอื่นทำอาหารส่งออกเหมือนเราแต่เขาได้แต้มต่อนี้ไป เขาก็จะได้เปรียบ ยกตัวอย่างเช่นเวียดนามที่มีข้อตกลงทางการค้ามากกว่าเรา สมมติภาษีห่างกันแค่ 5% แต่ในหมวดอาหารมีผลต่อราคามาก สินค้าอื่นที่เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าสมมติห่างกัน 20% ก็แข่งกันได้ อาหารถ้าห่างเกิน 5% มันไปยาก

เรื่องที่ 2 คือเรื่องการพัฒนาตั้งแต่ภาคเกษตรมาถึงภาคการผลิต ความเปลี่ยนแปลงต้องขยับมาเร็ว เกษตรกรในปัจจุบันอายุเฉลี่ยเกิน 50 ไปแล้ว เรี่ยวแรงเริ่มถดถอย การที่จะใช้วิธีการดั้งเดิมหรือใช้เครื่องมือเครื่องจักรเก่าๆ แข่งขันก็ไม่ได้แล้ว ต้องหาวิธีเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเสริม เราเริ่มเห็นแต่ยังไม่แพร่หลายมาก เช่นการให้น้ำแบบฝังเซนเซอร์ ในอดีตระบบทันสมัยสุดคือน้ำหยด แต่อันนั้นเราต้องเปิดปิดเองและประเมินกันเองว่าชื้นพอหรือยัง แต่คราวนี้มีเซนเซอร์เลย หรือการใช้โดรนที่ชัดเจนว่ามีบริษัทที่ลงทุนสร้างโดรนแล้วให้เช่าตามแปลงเพาะปลูกต่างๆ เพราะเกษตรกรไม่ค่อยมีกำลังจะไปลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้นึกถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่อยากให้แปลงเกษตรกร มีแต่เขาลงทุนไม่ได้ อันนี้จะทำอย่างไร ถ้ามีบริษัทกลางลงทุนตรงนี้ไปแล้วให้ใช้เป็นระบบเช่าซื้อหรือเหมาจ่ายกันไป ก็เป็นเทคโนโลยีจำเป็นในภาคเกษตรกรเพราะแรงงานก็หายากแล้ว


การปะทะกันของรัสเซีย-ยูเครนกระทบครัวไทยครัวโลกมากน้อยแค่ไหน

อันนี้กระทบทั้งโลก เรื่องนี้จริงๆ ควรจบให้เร็ว ถ้าจบช้า ยืดเยื้อ ปัญหาราคาสินค้าจะยิ่งแพง อาหารแพง เงินเฟ้อเพิ่ม มันหาจุดจบยากพอสมควร ตอนนี้นึกภาพง่ายๆ รัสเซีย-ยูเครนเป็นแหล่งเกษตรสำคัญนอกจากเรื่องพลังงานที่เขาส่งออก พลังงานเยอะอยู่แล้ว และทำให้ราคาพลังงานโลกปั่นป่วน น้ำมันแพง ก็มาจากสงครามด้วยแน่นอน มีผลต่อเรื่องขนส่งเราอยู่แล้ว และต้นทุนการผลิตต่างๆ เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญด้วย เขามีทั้งข้าวสาลี มีทั้งอาหารคนกระทบและอาหารสัตว์ และมีสัดส่วนถึง 30% ของโลก แต่ส่งออกไม่ได้เพราะโดนคว่ำบาตร รวมทั้งหรือระงับเองหรือท่าเรือไม่สามารถใช้งานได้ ของหายไปเลย 30% ก็ต้องมีการแย่งซื้อของจากที่อื่น แน่นอนคือเมื่อซัพพลายขาด ระดับราคาก็ขึ้นไปอัตโนมัติแน่นอน ต้องแย่งกันซื้อ เป็นพื้นฐานที่เห็นชัด

คนเลี้ยงสัตว์เหมือนกัน โซนนั้นมีเยอะ 1 ใน 4 ของโลกอยู่ที่นั่น เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตปุ๋ย ราคาปุ๋ยจึงแพงขึ้น ตอนนี้ขึ้นไป 100% กว่าแล้ว ถ้าแพงมาตั้งแต่ต้นทาง จะมาบีบที่ปลายทางก็คงไม่ได้ จะบอกว่าอย่าเพิ่งขึ้นราคา แรกๆ ก็คงพอได้ถ้าในสต็อกมีของ ผู้ประกอบการต้องดันออกมาขายอยู่แล้วเพราะผู้ประกอบการมี 2 ปัญหา 1. เงินหมุนเวียนไม่ทัน สต็อกต้องดันออกมาขาย 2. สินค้าพวกนี้ผลิตแล้วมีวันหมดอายุ เก็บนานไม่ได้ ก็ต้องดันออกมาขายด้วยเช่นกัน จะมีปัญหาตรงที่สต็อกหมดวันไหน ระดับราคาที่ต้นทุนแซงราคาขายแล้ว ถ้าคนที่ต้องรักษาตลาดแล้วมีฐานการเงินเพียงพอ แน่นอนไปต่อได้ ยิ่งมีโอกาสให้เขาสามารถครองตลาดส่วนแบ่งเพิ่มได้ แต่ผู้ประกอบการระดับ SME จะต้องมีการหยุดผลิตพอสมควร เพราะยังไม่ทันผลิตเขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำแล้วขาดทุน และที่สำคัญแบงก์คงไม่ให้กู้เงินเพราะที่ผ่านมาขาดทุนอยู่ อันนี้เรามองปัญหาอยู่ว่าแล้วจะไปต่ออย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ 3-4 อย่าง ที่พูดมาวัตถุดิบหลายอย่างแพงขึ้นหมดเลย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดขึ้นหมด เหล็กขึ้นมา 100% เหล็กทำกระป๋อง พลาสติกขึ้นตามราคาน้ำมัน กระดาษขึ้นด้วยต้นทุนการผลิตที่มาจากพลังงานเหมือนกัน ต้นทางขึ้นราคาไปหมดแล้ว เป็นเรื่องยากมากว่าจะทำอย่างไรให้ชะลอราคาด้านต้นทางได้ อันนี้เป็นการช่วยฝั่งผู้ผลิตให้สามารถคงการผลิต ยังผลิตต่อได้ ก็มีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล


การผลิตหายไป 50% แล้วหรือยัง

ยังไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้ถ้าผู้ผลิตมีโอกาสทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ จะมีบางประเทศที่เขากลัวมากกว่าราคาขึ้น คือกลัวไม่มีของ มีการยอมปรับราคาให้มีขึ้นบ้าง แต่ยังมีอีกด้านนึงพอเป็นตัวช่วยให้หายใจได้ดีกว่าปีที่แล้วคืออัตราแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีตัวช่วย ปีนี้จะล้มกันเยอะเลยถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเท่าปีที่แล้ว เพราะทนมา 2 ปีที่ค่าเงินบาทแข็งและการแข่งขันในตลาดทำได้ยาก



93 views
bottom of page