top of page
312345.jpg

1,660-1,670 จุดขาย ยังไม่มีปัจจัยใหม่...ไม่ปักใจสถานการณ์หุ้นไทยช่วงที่เหลือของปี


ชยนนท์ รักกาญจนันท์ หรือ Mr.Messenger ไม่ปักใจสถานการณ์หุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีไต่ขึ้น จนกว่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 10,000 ภายในสิ้นเดือนกันยายน และการฉีดวัคซีนระดับ 5 แสนรายต่อวันไปเรื่อยๆ ตั้งข้อสังเกตหุ้นขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาต่อเนื่องต้นกันยาหลายวันเป็นการขึ้นแบบโยกหุ้นไม่ได้มีการเติมเม็ดเงินใหม่เข้ามาแบบขึ้นทั้งกระดาน และไม่มีปัจจัยใหม่นอกจากเรื่องคลายล็อกดาวน์ ส่วนเงินทุนต่างชาติที่เข้าไทยเกิดจากปัจจัยภายนอกเรื่องการลด QE เป็นหลัก

จังหวะนี้ที่หุ้นปรับขึ้นมา เราวางใจในเรื่องการลงทุนได้หรือไม่

ตั้งแต่ต้นปีแบงก์ชาติกับสภาพัฒน์มีการตั้งเป้าประมาณการ GDP ไทยปี 2564 ที่ประมาณ 3% แต่พอเราโดนไวรัสเข้ามาเล่นงาน ก็มีการปรับเป้า GDP ลดลงมาเรื่อยๆ ล่าสุดจากการประชุม กนง.ได้ปรับประมาณการ GDP ไทยจากเมื่อต้นปี 3% เหลือ 0.7% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ก็บอก GDP ของไทยติดลบที่ -0.5% ถึง 1% แสดงว่ามีความเสี่ยงแล้ว

ปีที่แล้ว 2563 GDP ติดลบ...เป็นที่รู้กันว่าทุกคนเรามีความหวังว่าเศรษฐกิจปี 2564 นี้จะฟื้นได้บ้าง แต่ก็เห็นแล้วว่าหลายๆ สำนักโดยเฉพาะสำนักที่มาจากทางภาครัฐมีการปรับเป้า GDP ลง คิดว่าตรงนี้ตลาดน่าจะรับรู้ คนในวงเศรษฐกิจรับรู้

ปัญหาคือว่ามันจะมีความเสี่ยงที่ GDP ปี 2564 จะติดลบไปได้อย่างนั้นจริงหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่รัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายล็อกดาวน์ ตรงนี้จะเป็นจุดตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะเราจะเห็นว่าก่อนหน้าวันคลายล็อกวันที่ 1 กันยายนนั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,520 จุด แล้วเราเห็นการดีดขึ้นมาจนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายนมาปิดที่ 1,650 จุด คือบวกขึ้นมาได้ 130 จุด หรือราวๆ 8% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น

มันปฏิเสธไม่ได้หรือจะบอกว่า 2 เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันไม่ได้ มันสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศที่มีแรงซื้อเข้ามาตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มันเกี่ยวข้องกับมาตรการการผ่อนคลายของทางรัฐบาล ซึ่งก็แปลว่าเราต้องมาติดตามเรื่องนี้ว่า ผ่อนคลายแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจมันฟื้นได้จริงหรือไม่ ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจมันจะเริ่มฟื้นกลับมาหรือไม่

ก่อนหน้านี้คาดว่าตัวเลข GDP หรือตัวเลขรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในช่วงเดือนสิงหาคมมันต่ำแน่ๆ ทุกคนรับรู้กัน แต่ตอนนี้มันเริ่มมีความหวังว่าเดือนกันยายนอาจจะฟื้น แต่จะฟื้นหรือไม่คงต้องจับตาดูประเด็นนี้กัน


ในมุมมองคุณชยนนท์ ว่าเดือนกันยายนนี้จะออกมาดีหรือออกมาในทางตรงกันข้าม จะออกมาในด้านไหนได้มากกว่ากัน

ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะเอาจริงๆ การผ่อนคลายมาตรการให้กลับมาเปิดห้าง ร้านอาหาร เท่าที่ผมสังเกตตอนออกไปซื้อของข้างนอกรู้สึกว่าไม่เหมือนบรรยากาศล็อกดาวน์ รถเต็มถนน รถติด แสดงให้เห็นว่า เมื่อล็อกดาวน์นานเกินไป ประสิทธิภาพของล็อกดาวน์จะลดลง คนเริ่มไม่ไหว เริ่มอยากออกมาใช้ชีวิตตรงนี้แล้ว ผู้ติดเชื้อที่ระดับประมาณ 2 หมื่นคนลดมาเหลือประมาณ 1.5 หมื่นคนบวก/ลบ คือตอนที่ผู้ติดเชื้ออยู่หลักร้อยคน เรายังจำกันได้หรือไม่ว่าจากหลักสิบขึ้นหลักร้อยในปีที่แล้วเราตกใจกันทั้งประเทศ แต่ตอนนี้หลักหมื่นกว่าเราเฉย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์มันยังอันตรายอยู่เลย

พอเป็นแบบนี้เลยไม่มั่นใจว่า การผ่อนคลายล็อกดาวน์ตรงนี้อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นบ้างในเดือนกันยายน แต่ถ้ามันตามมาด้วยผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและถ้ากลับไป 2 หมื่นคนอีกที เราจะเอาอย่างไรกันต่อ จึงยังตอบไม่ได้เลยว่าการผ่อนคลายล็อกดาวน์รอบนี้ดีกับเศรษฐกิจจริงหรือไม่ เพราะถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อกลับขึ้นมาใหม่อีกรอบ รัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งหนึ่ง ก็หมายความว่าต่อจากนี้ไปเดือนตุลาคม พฤศจิกายน มันจะเข้าหาความเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง

แล้วสมมุติเป็นแบบนั้นแล้วไปล็อกดาวน์ตอนไตรมาสสี่อีก ซึ่งไตรมาสดังกล่าวจะมีเทศกาลหลายๆ อย่าง เทศกาลอีคอมเมิร์ซ ป๊อกกี้เดย์ 11/11 คริสต์มาส ขึ้นปีใหม่...คิดดูว่าปลายปีที่แล้วเราไม่ได้ทำอะไร ปีที่แล้วเราไม่ได้เที่ยว เราไม่ได้ไปไหนเพราะช่วงนั้นมีการล็อกดาวน์อยู่ มาปีนี้คนอยากจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ามันไปติดล็อกอีกที ส่วนตัวคิดว่ามันจะเป็นการขุดหลุมให้ลึกมากขึ้น ทำให้ GDP ปีหน้ามีความท้าทายมากขึ้น

ดังนั้นจึงไม่กล้าบอกว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ผมจึงขอติดตามสถานการณ์ไปก่อน


มองปรากฏการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติหันกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยและพันธบัตรไทยช่วงปลายเดือนสิงหาต้นกันยาอย่างไร

มันเป็นประเด็นจากปัจจัยภายนอก กับอีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเทียบกับที่ตอนที่สหรัฐอเมริกาประกาศ

ถอน QE เมื่อปี 2013 ตอนนั้นจะเห็นว่าค่าเงินทางฝั่งประเทศ emerging markets อ่อนค่ารุนแรง ส่วนหนึ่งคือตลาดตกใจ และตอนนั้นการถอนสภาพคล่องคือเงินที่ออก QE ตั้งแต่ปี 2008-2013 มันถูกโยกจากดอลลาร์ไปซื้อสินทรัพย์พวกหุ้นหรือไปอยู่ในทุนสำรองสกุลอื่นๆ ทีนี้พอมันถูกแปลงกลับก็ทำกำไรเทขายออกมา...แต่รอบนี้จะเห็นว่าจริงๆ อย่างหุ้นไทย 8 ปีที่ผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท ก็คือแทบจะไม่มีปีไหนใน 8 ปีที่ผ่านมาที่ต่างชาติซื้อหุ้นไทย คือขายสุทธิมาโดยตลอด

สำหรับปีนี้ตั้งแต่ต้นปีมาก็ขายสุทธิเป็นแสนล้านบาท ถ้าไปดูประเทศ emerging markets โดยเฉพาะหลังโควิด ก็จะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาทำจุดสูงสุดใหม่ไปแล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำจุดสูงสุดใหม่ อินเดียทำจุดสูงสุดใหม่ ยุโรปก็ทำจุดสูงสุดใหม่ ส่วนตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้เลย มีอยู่ที่ขึ้นไป 1,840-1,860 คือเราวิ่งมาประมาณปีครึ่งแต่เรายังไม่ถึงจุดสูงสุดเดิมเลย

ดังนั้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่าไทยเราเอง ในเชิงศักยภาพที่ว่าทำให้ต่างชาติเขาเอาเงินมาลงที่เราเยอะ มันมีมุมมองเรื่องนี้อยู่ เพราะฉะนั้นเขาจะรีบเข้ามาตอนนี้มันก็ไม่ได้แปลกมากขนาดนั้น เพราะตัวเราเองฐานเรายังต่ำกว่าตลาดที่อื่น

เพราะอย่างนั้นอย่าไปมองว่าการที่ต่างชาติเขาเข้ามาช่วงนี้เพราะเขามีมุมมองที่ดี คิดว่าเข้ามาเพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนของเขาในแง่ของการเป็น global equity มากกว่า

ส่วนเรื่องต่อมาคือ ต่างชาติเข้ามารอบนี้ เพราะมีเรื่อง QE อย่างที่บอก อย่างล่าสุดนี้สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตลาดคาดว่าตัวเลขจะออกมา 7.4 แสนตำแหน่ง ปรากฏว่าออกมาจริงแค่ 2 แสนตำแหน่ง การจ้างงานชะลอแบบนี้แล้วอย่างนี้ เฟดจะถอน QE จะขอขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไร ก็เลยทำให้ดอลลาร์อ่อน...สะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่ผ่านมาที่บาทเราอ่อนมานี้ต่างชาติเขาขายเราออก แต่ว่าตอนนี้ดอลลาร์กลับมาอ่อนเมื่อเทียบกับตลาด emerging markets เราเลยเห็นค่าบาทแข็งค่าขึ้น

ในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยขึ้นจาก 1,500 วิ่งขึ้นไป 1,600 คิดว่าต่างชาติเริ่มมีมุมมองแล้วว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เร็วขนาดนั้น เฟดอาจจะถอน QE ได้ไม่เร็วขนาดนั้น เพราะฉะนั้นดอลลาร์ไม่จำเป็นต้องแข็งค่าเร็ว ถ้าอย่างนั้นก่อนหน้านี้เขาแพนิกกันมากเกินไป เพราะฉะนั้นเอาเงินกลับมาซื้อหุ้นดีกว่า ดังนั้นเราจึงเห็นฟันด์โฟลว์ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้ามาที่หุ้นเอเชีย หุ้นจีนที่ฐานต่ำๆ ก็เริ่มเด้ง หุ้นเกาหลี ไต้หวันก็เด้ง ทั้งๆ ที่ตัวชิปเซมิคอนดักเตอร์ก็ขาดแคลนกันอยู่ทั่วโลก กำลังการผลิตก็เต็ม แม้แต่เวียดนามที่ตอนนี้ผู้ติดเชื้อรายวัน 1.5 หมื่นราย ไปๆ มาๆ เวียดนามยอดติดเชื้อรายใหม่ใกล้เราแล้ว แต่ตลาดหุ้นเขาก็ดีดขึ้นมาเหมือนกัน ...พอฟันด์โฟลว์เข้ามาตลาดหุ้นไทยก็ได้รับอานิสงส์เรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ว่า เฟดอาจจะไม่สามารถจะขึ้นดอกเบี้ยได้ตามที่วางไว้ เพราะตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณชะลอ ตรงนี้จะเป็นปัญหาของเขาว่า พอถอน QE ออกมาไม่ได้ เดี๋ยวจะมีกรณีที่เรียกว่า export inflation เขาจะส่งต่อเงินเฟ้อออกมาให้ตลาด emerging markets ซึ่งเราต้องมารับรู้เรื่องนี้ต่อไปในปีหน้า


ดังนั้นเราจะดูสัญญาณอย่างไรว่า ฟันด์โฟลว์ ฝรั่งจะเข้ามารอบนี้นานแค่ไหน ดูที่เฟด หรือดูค่าเงินดอลลาร์อย่างไร

ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราอยากรู้ว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องบอกว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นมาได้ ไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรที่เปลี่ยนเป็นแง่ดีเลย ยกเว้นการคลายล็อกดาวน์เรื่องเดียว แต่การวิ่งขึ้นของตลาดหุ้นไทยขึ้นไปมันแปลว่า PE เราจะแพงขึ้น ก่อนหน้าอยู่ที่ 18 เท่า ตอนนี้ขึ้นไป 20 เท่า เวลา 2 สัปดาห์วิ่งขึ้นมาขนาดนี้ ตัวเลขนี้เริ่มแพงกว่าตลาดอื่นในเอเชีย และ earning เราตอนจุดสูงสุดตอนวิกฤตซับไพรม์ 2019 EPS อยู่ที่ประมาณ 115 แต่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 98 คือกำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดรวมกันตอนนี้ยังไม่ถึงจุดสูงสุดเดิมเลย ถามว่ามีการปรับขึ้นมั้ย-ก็มี ดอลลาร์อ่อนทำให้ค่าการส่งออกฟื้น เราเห็นหุ้นเกษตรกับหุ้นส่งออกหลายตัวดีขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา

แต่กลายเป็นว่าพอบาทแข็ง พวกหุ้นส่งออกก็โดนเทและเงินย้ายเข้ามา และรอบนี้ที่หุ้นไทยวิ่งขึ้นไปได้ โดยตลาดไปดันหุ้นกลุ่มพลังงาน เพราะมันก็มีพายุเฮอริเคนไอดาที่สหรัฐอเมริกา และกำลังการผลิตเขาลดลง อีกเรื่องคือมันดันกลุ่มไอซีที ดีแทค แอดวานซ์ฯ ทรู กลุ่มนี้เขาไม่ได้เล่นกันมาตั้งกี่ปี อยู่ดีๆ ก็ลากขึ้นมาเฉยเลย มันสะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยที่วิ่งขึ้นมารอบหลัง เป็นการวิ่งแบบขายหุ้นออกจากกลุ่มหนึ่ง แล้วมาซื้ออีกกลุ่มหนึ่ง มันไม่ได้พาให้ตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทั้งตลาด

ดังนั้น วิธีดูง่ายๆ ก็คือ เราเปิดสตรีมมิ่ง ของเราที่เป็นพอร์ตหุ้นออกมาดู สมมุติว่าเราขาดทุนอยู่ 10% ถ้าหุ้นไทยขึ้นจาก 1,500 ขึ้นมา 1,600 วันนี้เปิดขึ้นมาก็ยังขาดทุน 10% คาดว่าหลายๆ คนจะเป็นอย่างนั้น นั่นบอกชัดเจนว่ามันไม่ได้ขึ้นทุกตัวมันเป็นการลากบางตัวอย่างชัดเจน อย่างเช่นที่มีการลากขึ้นไปที่หุ้น DELTA จนมาร์เก็ตแคปขึ้นมาใกล้เคียง PTT อีกแล้ว ...การขึ้นของหุ้นแบบนี้ เป็นการขึ้นที่ไม่ยั่งยืน

พอมองอย่างนี้ ผมคิดว่าหุ้นไทยแถวๆ 1,660-1,670 นี่คือ valuation ที่เต็มมากๆ ของสถานการณ์ไทยในตอนนี้ ส่วนตัวผมมันแปลว่าถ้าขึ้นมาแบบนี้กลยุทธ์ก็คือ ถ้าเห็น 1,660-1,670 ผมขายก่อน...

มีคนถามว่าแล้วถ้ามันทะลุขึ้นไปได้ล่ะ...ผมว่าเราจะถือหุ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นผู้ติดเชื้อลงมาจาก 1.5 หมื่นรายลงไปต่ำกว่า 1 หมื่น ในปลายเดือนกันยายนนี้ และต้องเห็นการฉีดวัคซีนวันละ 5 แสนรายไปเรื่อยๆ มันจะได้เห็นว่าภาพของการเกิด maturity curve ก่อนสิ้นปี 2021 นี้จะเกิดขึ้นจริง...ถ้าเป็นแบบนั้นมันถึงจะเริ่มมีมุมมองที่ดี



12 views
bottom of page