top of page
369286.jpg

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์...ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นขานรับการทยอยเปิดเศรษฐกิจ


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียและตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมที่ได้รับแรงหนุนจากแผนการเตรียมกลับมาเปิดเศรษฐกิจ การคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ และความหวังต่อยารักษาโควิด-19 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายให้อ่อนค่าลง หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ย้ำสัญญาณพร้อมผ่อนคลายด้วยทุกเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

  • ในวันพฤหัสบดี (30 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.37 เทียบกับระดับ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 เม.ย.)

  • สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อไทยเดือนเม.ย. สถานการณ์ภายหลังการเปิดเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์


สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดอีกครั้ง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,301.66 จุด เพิ่มขึ้น 3.41% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 59,605.08 ล้านบาท ลดลง 12.54% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.12% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 256.19 จุด

  • ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนจากการทยอยกลับมาเปิดเศรษฐกิจบางส่วนของประเทศต่างๆ รวมถึงการเตรียมผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ โดยเบื้องต้นจะอนุญาตให้กิจการ/กิจกรรมใน 6 กลุ่มแรก (ตลาด, ร้านจำหน่ายอาหาร, กิจการค้าปลีก-ส่ง, กีฬา-สันทนาการ, ร้านตัดผม และอื่นๆ) กลับมาดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการทดลองยา Remdesivir เพื่อรักษาโรคโควิด-19

  • สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,285 และ 1,275 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,320 และ 1,355 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของบจ.ไทย สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงความคืบหน้าในการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของทั้งในและต่างประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI Composite เดือนเม.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนเม.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน

8 views

Comments


bottom of page