สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมา หลังขยับอ่อนค่าช่วงสั้นๆ แตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ ประกอบกับมีปัจจัยลบจากเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศทำ QE แบบไม่จำกัดวง นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์แตะ 3.28 ล้านราย ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เพิ่มแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (27 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.56 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 เดือนที่ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ เทียบกับระดับ 32.53 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 มี.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 มี.ค.-3 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนม.ค. และเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนก.พ. ของไทย และมาตรการรับมือความเสี่ยงจากโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.พ. และดัชนีราคาบ้านจากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ เดือนม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,099.76 จุด ลดลง 2.44% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,311.79 ล้านบาท ลดลง 6.47% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 5.20% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 214.60 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องยกระดับความเข้มข้นในการดูแลสถานการณ์การระบาดภายในประเทศเพื่อชะลอผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากมาตรการบรรเทาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ของทั้งในและต่างประเทศ และการประกาศอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงินของเฟดด้วย
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 มี.ค. – 3 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,075 และ 1,060 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,110 และ 1,135 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการบรรเทาผลกระทบสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันโลกหลังผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเม.ย. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนมี.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
Comments