top of page
456218.jpg

มูดี้ส์ปรับ Rating สหรัฐ เป็นปัจจัยลบระยะสั้น

Updated: 2 days ago



แรงกดดันระยะสั้นเลี่ยงยาก ! ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มถูกกดดันสั้นๆ จากการที่มูดี้ส์ เรทติ้งส์ (Moody's Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐลงสู่ระดับ Aa1 จากระดับ Aaa โดยให้เหตุผลว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น และภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงหนึ่งขั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับใกล้เคียงกันอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 66 มูดี้ส์เคยปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "เชิงลบ" โดยมูดี้ส์ไม่เชื่อว่าแผนงบประมาณปัจจุบันจะสามารถลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการขาดดุลงบประมาณได้อย่างมากในระยะยาว โดยในช่วง 10 ปีข้างหน้า มูดี้ส์คาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายสำหรับโครงการสวัสดิการต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐบาลยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม ทั้งนี้การขาดดุลงบประมาณที่ต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่จะผลักดันให้ภาระหนี้และดอกเบี้ยของรัฐบาลเพิ่มขึ้น โดยมูดี้ส์คาดว่า ภาระหนี้ของรัฐบาลกลางจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2578 เทียบกับระดับ 98% ในปี 2567

           

มูดี้ส์ระบุว่า ภายในปี 2578 การชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลกลางอาจต้องใช้สัดส่วนถึงประมาณ 30% ของรายได้รัฐบาล เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2567 และ 9% ในปี 2564

           

นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดจีนลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในเดือน มี.ค. 68 ส่งผลให้ลงมารั้งอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ซึ่งแซงขึ้นมาเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอันดับ 2 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่ายอดถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐโดยนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือน มี.ค. 68 โดยเพิ่มขึ้นรวม 2.331 แสนล้านดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.05 ล้านล้านดอลลาร์

           

ทั้งนี้จีนเคยเป็นผู้ถือพันธบัตรรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ จนกระทั่งปี 2562 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะขึ้นมาแทนที่ ล่าสุดข้อมูลจากบลูมเบิร์กระบุว่า สหราชอาณาจักรได้แซงหน้าจีนในเดือน มี.ค. 68 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ ส่งผลให้จีนร่วงไปอยู่ที่อันดับ 3 โดยความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มถูกตั้งคำถามในตลาด หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 ที่ทรัมป์เรียกว่าเป็น "วันปลดแอก" ซึ่งกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายในตลาดพันธบัตรสหรัฐ รวมถึงส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์และตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐเองยังคงมีความเสี่ยง หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 2.7% สู่ระดับ 50.8 ในเดือน พ.ค. 68 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 65 และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากระดับ 52.2 ในเดือน เม.ย. 68 โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ

           

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 7.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย. 68 ที่ระดับ 6.5% ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ย "โดยเร็ว อย่าช้า" พร้อมตำหนิประธานเฟด เจอโรม พาวเวล ที่อยู่เฉยไม่ดำเนินการอะไร

        

เฟดยังคงยืนยันท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย ! อย่างไรก็ดีนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือน ก.ย. 68 และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่แสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อ พร้อมกับคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน มิ.ย. 68 และ ก.ค. 68

           

นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. 68 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือน ต.ค. 68 ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Thomas Laubach Research Conference ซึ่งมีการทบทวนกรอบนโยบายของเฟด นายพาวเวลระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ที่เฟดได้ทบทวนกรอบนโยบายครั้งล่าสุดในปี 2020 นายพาวเวลกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฟดเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ และแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวยังคงใกล้เคียงกับเป้าหมาย 2% ของเฟด แต่ยุคของอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% อาจจะไม่กลับมาอีกในเร็วๆ นี้ ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือน เม.ย. 68 โดยดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน เม.ย. 68 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 3.4% ในเดือน มี.ค. 68 และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.5% ในเดือน เม.ย. 68 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับตัว 0.0% ในเดือน มี.ค. 68

           

แม้ว่านายพาวเวลไม่ได้ระบุถึงการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการกล่าวถ้อยแถลง แต่ก่อนหน้านี้ เขาได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่มาตรการภาษีดังกล่าวจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น แต่เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบของภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐได้ผ่อนคลายท่าที พร้อมเปิดช่องเจรจากับประเทศคู่ค้าเป็นเวลา 90 วัน

           

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 2 ปี 2568 หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 0.3% ในไตรมาส 1 สอดคล้องกับการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 1.361 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. 68 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.360 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 4.7% สู่ระดับ 1.412 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. 68 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.450 ล้านยูนิต

        

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

        

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TQ

Kommentare


bottom of page