top of page
312345.jpg

ชูรถไฟไทย-ลาว-จีน...เชื่อมโลจิสติกส์โลก


แนะจับมือจีน-ลาวในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟบ่อเต็น-บ่อหานกับเส้นทางรถไฟไทย เริ่มเชื่อมที่จุดแรกคือหนองคาย ขยายต่อไปขอนแก่น-โคราช ลากยาวไปถึงแหลมฉบัง ชี้...เป็นการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ที่เป็นประโยชน์ด้านการค้าของไทยในการใช้เส้นทางรถไฟนี้เชื่อมต่อไปถึงคุนหมิงที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมถึงยุโรปคือสเปนและโปแลนด์ เชื่อมั่น...โลจิสติกส์ระบบรางดีกว่าและถูกกว่าการขนส่งทางบกทุกรูปแบบ และดีกว่าถูกกว่าการขนส่งทางทะเลและอากาศ


Interview : คุณสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์

ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล (อีบีซีไอ) และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา เพื่อการพัฒนากำลังคน ด้านโลจิสติกส์


เป็นอย่างไรบ้างหลังไปเข้าร่วมประชุมบิสิเนส ฟอรัม ที่กรุงเวียงจันทน์ แล้วไปนั่งรถไฟลาว-จีน

ได้รับเชิญไประหว่าง 9-11 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งได้รับเชิญให้ไปนั่งรถไฟจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าไทยจะเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้มาถึงโคราชได้ไหม เชื่อมต่อจากหนองคายมาถึงโคราช

สำหรับรถไฟขบวนนี้หลายคนเรียกว่ารถไฟความเร็วสูง แต่ในความจริงไม่ใช่ โดยรถไฟสายนี้มี 2 แบบ แบบแรกแวะ 6 สถานี คือออกจากเวียงจันทน์ไปสิ้นสุดที่บ่อเต็นซึ่งเป็นเมืองชายแดนของลาวติดกับบ่อหานของทางจีน ความเร็วที่วิ่ง 6 สถานีคือวิ่ง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแบบที่ 2 เป็นขบวนที่วิ่งธรรมดา แวะ 20 สถานี วิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น จึงไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงที่เซี่ยงไฮ้กับผู่ตง ตรงนั้นวิ่ง 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟคุนหมิงก็เคยไปนั่งมาแล้ว จากคุนหมิงออกนอกเมืองแล้วกลับเข้ามา คล้ายๆ กับรถไฟจีน-ลาวที่เปิดที่นี่ แต่จะมีความแตกต่างนิดนึงที่ว่ารถไฟที่วิ่งระหว่างเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น สังเกตดูว่าค่ารถขาไปเที่ยวเดียว 850 บาท หากไปกลับประมาณ 1,700 บาท ถ้ามองในแง่คนลาว ถือว่าค่าใช้จ่ายเขาสูง ทั้งนี้ จากที่นั่งรถไฟมา 2 วันจะสังเกตว่าเป็นคนลาวเสียส่วนใหญ่ มีคนไทยบ้าง มีนักท่องเที่ยวไปลงที่หลวงพระบางเยอะ ขณะที่เมื่อก่อนเส้นทางรถบรรทุกเดินทางไปถือว่าน่ากลัวมาก ต้องวิ่งผ่านป่าเหวไป

ทีนี้พอมาดูภาพรวม ทำไมลาวจึงเลือกบ่อเต็น ซึ่งบ่อเต็นถือว่าเป็นเมืองชายแดนด้านเหนือของลาวติดกับบ่อหานของจีน และถ้าจากบ่อหานก็จะไปที่เชียงรุ้งหรือจิ่งหง และจากจิ่งหงก็จะไปคุนหมิง ซึ่งลักษณะของการเดินทางของทางบ่อเต็นเป็นเมืองที่น่าจะเชื่อมต่อจากลาวมาถึงไทยได้ เท่ากับว่าจากบ่อหานมาบ่อเต็นแล้วมาถึงเวียงจันทน์แล้วเข้าไทยที่หนองคาย

ถ้าสมมติว่าจีนพัฒนาให้บ่อเต็นเจริญเติบโตขึ้นมาได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของลาวดีขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการลองเชิงไว้ก่อนว่า ถ้าเกิดไทยสร้างรถไฟจากโคราชแล้วเชื่อมต่อที่ขอนแก่นและหนองคายได้ ก็จะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อประตูแหลมฉบังได้ ก็จะมีทางออกทะเลที่ทางใต้ของจีนก็จะเป็นจุดยุทศาสตร์ ก็คือถ้าเกิดว่าเกิดสงคราม ทางตะวันตกที่ติดซินเจียง ที่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ทางใต้ไม่ใช่ทางออก ทางตะวันตกไม่มีทางออก ก็เลยจะต้องมาหาทางออกทะเลที่ไทยก่อนถึงเมียนมา

ตอนนี้จีนไปสร้างท่าเรือจ้าวผิว ซึ่งติดๆ กับคุนหมิง แต่ห่างจากมันดาเลย์ไปประมาณ 500 กิโลเมตร ตอนนี้ก็ไปสร้างท่อก๊าซ วางท่อน้ำมัน แล้วสถานีจ่ายก๊าซอยู่ในท่าเรือจ้าวผิว ซึ่งเป็นทางออกของจีนที่อันดามัน ซึ่งอย่างน้อยก็มีทางออก เขากะว่าถ้าสร้างสำเร็จ รถไฟสายจากคุนหมิงมาที่บ่อหาน บ่อเต็น อาจว่าจะเข้าไทยที่หนองคายแล้วก็ไปขอนแก่นและโคราช ต่อด้วยสระบุรีและกรุงเทพ สุดท้ายไปที่แหลมฉบัง ก็จะมีทางออกทะเล 2 ทางเลย ทั้งทางเมียนมาและไทย

ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าเส้นทางนี้ถ้าไทยเราสามารถใช้ประโยชน์ได้ก็น่าสนใจ เพราะเราสามารถจะส่งออกผลไม้จากไทยจากทางซีกตะวันออกของไทยไปที่คุนหมิงได้ แล้วตอนนี้ตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทยไปที่คุนหมิงในแต่ละปีมีเยอะมาก เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ที่สำคัญในอนาคตเราสามารถส่งไปยุโรปผ่านคุนหมิงได้ เนื่องจากคุนหมิงมีทางรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังมาดริดที่สเปน ไปถึงโปแลนด์ ฉะนั้นถ้าเราสามารถจับมือกับจีนได้ดีๆ ผลไม้ของไทยสามารถเข้าคุนหมิง และสามารถต่อยอดไปถึงโปแลนด์ สเปน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีกับผลไม้ และการเกษตรของไทยเรา


ตอนนี้ไทยควรทำอย่างไรดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องดูแนวโน้มในอนาคตด้วย จริงอยู่แม้เราจะสามารถใช้คุนหมิงเป็นแนวทางที่จะส่งออกพวกสินค้าเกษตรจากภาคตะวันออกของเรา จันทบุรี ตราด ระยอง และในอนาคตจะใช้เส้นทางนี้ในการส่งออกสินค้าประเภทเทคโนโลยี แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตว่า ถ้าเกิดเราต้องพึ่งพาเส้นทางนี้โดยไม่มีเส้นทางอื่นเลย ซึ่งจริงๆ ก็ยังมีอีกเส้นทางที่ใช้ได้ คือ ผ่านจากไทยไปลาวแล้วไปเข้าเวียดนามเพื่อไปจีนที่หนานหมิง ตรงนี้ก็ได้ ก็เป็นห่วงว่า วันดีคืนดี จีนมีปัญหาสงครามกับประเทศใดก็ตาม ก็จะมีปัญหาว่าเส้นทางทะเลจีนใต้เข้าออกไม่ได้เลย และเส้นทางทางบกก็ต้องปิด แล้วไทยเราจะไปส่งออกที่ไหน ตรงนี้ก็ต้องคิด

การที่จะไปพึ่งจีน หรือพึ่งบ่อเต็นอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องวางแผนระยะยาวว่าถ้าเกิด เราส่งออกผ่านเส้นทางที่จีน แล้วหากเกิดผ่านไม่ได้ และผ่านเส้นทางทางบกก็ไม่ได้ ไปทางรถไฟก็ไม่ได้ และผ่านทางเรือก็ไม่ได้ น่าจะมีทางอากาศทางเดียว แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เราก็มองดูว่าเส้นทางรถไฟโคราช ถ้าทำให้เสร็จได้ แล้วเราวางแผนยุทธศาสตร์ดีๆ ซึ่งจะต่อยอดให้สินค้าไทยไปถึงที่ยุโรปได้โดยผ่านคุนหมิงก็จะเป็นด้านที่ดี แต่ด้านไม่ดีก็มีคือเหรียญก็มี 2 ด้านเสมอ ดังนั้น ถ้าเกิดมีปัญหาว่าวันดีคืนดี เราไม่ค่อยถูกกับจีนเท่าไหร่ ก็อาจเป็นปัญหา แต่ส่วนตัวก็คิดว่าจีนพยายามทำให้เส้นทางสายนี้ประสบความสำเร็จเพราะมันจะเข้าล็อก ก็คือเส้นทางสายใหม่ทางบกที่เขาวางไว้ ก็คือต้องทำให้ทางรถไฟเส้นนี้ใช้ให้ได้ แล้วเขายังมองดูว่าเส้นทางสายบ่อเต็นและเวียงจันทน์ เป็นเส้นทางที่จีนจะทำไว้ต่อเข้าบ่อหานแล้วก็ไปเชียงรุ้งแล้วไปคุนหมิง แล้วทำให้หลายประเทศมองว่าลาวกับจีนเขาทำได้ แล้วทำไมจะต่อรถไฟจากลาวไปที่เวียดนาม ไปที่พนมเปญกัมพูชา แล้วก็ไปเข้ามาเลเซีย เข้าสิงคโปร์ แล้วจะกลายเป็นไปตามที่จีนวางไว้ โดยที่จีนพยายามทำให้เส้นทางนี้ประสบความสำเร็จโดยเป็นการเชื่อมทางรถไฟ ซึ่งคิดว่าจีนเขาวางตรงนี้เอาไว้เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์ของเขา


มีข่าวว่าจีน ไทย และลาว มีแผนจะสร้างมอเตอร์เวย์บริเวณที่เชื่อม 3 ประเทศนี้ แต่เป็นทางบก จะเทียบกับรถไฟได้ไหม

ต้องดูระยะทาง แต่ว่าขนส่งทางบกจะแพงกว่าขนส่งทางรถไฟ และที่น่าสนใจขณะนี้คือจีนเขาคุยฟุ้งเลยว่าเขาสามารถจะส่งสินค้าอาหารที่ควบคุมอุณหภูมิ เช่น ผลไม้ 10-14 องศา แช่เยือกแข็งลบ 20 องศา เขาสามารถส่งสินค้าแช่เยือกแข็งหรือสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิจากคุนหมิงไปยังกวางเจา แล้วไปถึงเซี่ยงไฮ้ด้วยระบบรถไฟ ซึ่งตามจริงแล้วการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิเป็นเรื่องยาก แต่จีนสามารถทำได้ เลยพูดได้ว่าจีนอาจจะเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิผ่านระบบรางได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ดังนั้น ถ้าจีน ไทย ลาวจะสร้างมอเตอร์เวย์ คิดว่าก็น่าทำได้ แต่ว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ใครออก แล้วใครจะได้สัมปทานตรงนี้ไป แล้วจะคุ้มหรือไม่ในการเดินทางจากจุดไหนไปอีกจุดหมายปลายทาง ในขณะที่การสร้างทางรถไฟก็มีค่าใช้จ่ายสูง เฉพาะไปจุดลาวที่สร้างกันก็ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นของจีนประมาณสัก 70% ของลาวประมาณ 30% แล้วการบริหารงานทั้งหมดเป็นการบริหารของบริษัทจีนที่ได้สัมปทานไป ดังนั้น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้หนัก ถ้าจะสร้างมอเตอร์เวย์ผ่านเข้าไทย ส่วนตัวมองแง่โลจิสติกส์มันก็ดี แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงเมื่อเทียบกับการขนส่งทางราง


รถไฟเวียงจันทน์-บ่อเต็น นั่งแล้วเป็นอย่างไร

เขามีเก้าอี้ 2 ข้าง ข้างหนึ่ง 3 เก้าอี้ ส่วนอีกข้าง 2 เก้าอี้ แล้วเวลาวิ่งนิ่งมากไม่เหมือนรถไฟไทย แต่เวลาออกตัวเริ่มต้นเขาช้า เวลาขึ้นถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็หลายช่วงอยู่ที่วิ่งเร็วระดับนี้ แต่วิ่งโดยเฉลี่ยแล้วคิดว่าอยู่ที่ประมาณ 145-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ถือว่าวิ่งได้เร็วพอสมควร ใช้เวลา 4 ชั่วโมงจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น ส่วนขากลับใช้เวลา 3 ชั่วโมงกว่า ขณะที่บรรยากาศภายในขณะวิ่งคือนั่งกันเงียบสงบเรียบร้อยดี ส่วนห้องน้ำคล้ายกับรถไฟไทย ถึงแม้จะดูดีกว่าเล็กน้อย แต่คนใช้เยอะก็ไม่น่าใช้เท่าไหร่

ส่วนอาหารการกินก็ไม่เหมือนรถไฟไทย ซึ่งรถไฟไทยก็จะมีอะไรมาเสิร์ฟ แต่รถไฟเวียงจันทน์-บ่อเต็นต้องเดินไปหาที่ตู้เอง แล้วทั้งโบกี้ก็มีน้ำขายอย่างเดียว คือยังไม่ค่อยจะเป็นระบบเท่าไหร่ แต่เนื่องจากรีบเปิดจนเกินไปคือ 4 ธันวาคมปี 2564 แต่สำหรับคนไปเที่ยว นั่งรถไฟสายนี้ก็ดี นั่งไปลงหลวงพระบาง ใส่บาตรข้าวเหนียวตีห้า ถือเป็นความประทับใจของชาวพุทธ ขณะที่การใช้บริการสายรถไฟเส้นนี้ต้องจองโดยใช้พาสปอร์ตซื้อตั๋วโดยสาร แล้วถือตั๋วต่อคิวขึ้นรถไฟ ก็สนุกสนานดี แต่ห้ามทำตั๋วหาย การแต่งตัวก็สบายๆ รองเท้าแตะก็ได้


225 views
bottom of page