top of page
369286.jpg

'หนี้ครัวเรือน' ดื้อยา....หวั่นยิ่งแก้ยิ่งป่วย!


หนี้ครัวเรือนยังพุ่งกระฉูด แต่แบงก์ชาติประเมินว่ายังไม่ถึงขั้นปะทุอย่างรุนแรง ล่าสุด แบงก์ชาติแยกลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด กลุ่มแรกเข้าชั้นเป็น NPL เจ้าหนี้ต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือตัดหนี้ขายให้เจ้าหนี้ใหม่ไปติดตามทวงถามโดยลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระจ่ายคืนน้อยลง กลุ่มที่ 2 คือการก่อหนี้ใหม่ ต้องมีเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เข้มข้น ป้องกันไม่ให้คนที่มีหนี้อยู่เดิมกู้ได้ง่ายๆ และป้องกันไม่ให้หนี้ที่ก่อใหม่เป็นหนี้ที่มีปัญหา กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มหนี้เรื้อรัง เป็นลูกหนี้ที่ดี ผ่อนจ่ายหนี้มาตลอดแต่จ่ายเท่าไหร่ได้แค่ตัดดอก ไม่ตัดต้นได้สักที ซึ่งแบงก์ชาติให้เจ้าหนี้ลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ เพื่อให้การผ่อนจ่ายหนี้ตัดได้ทั้งดอกทั้งต้น โดยให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี กลุ่มที่ 4 คือลูกหนี้ที่ถูกตัดขายหนี้ไปแล้ว ต้องตรวจสอบเจ้าหนี้ใหม่ให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม ลูกหนี้จะได้ผ่อนจ่ายหนี้ครบได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ ในฐานะผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร มีมุมมองว่ายังมีจุดโหว่รอยรั่วอยู่ในระบบการเงินที่ทำให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโรหาทางออกด้วยการกู้หนี้นอกระบบ หรืออาจไปกู้หนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ดูเครดิตลูกหนี้บันทึกในเครดิตบูโร ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ไม่รู้ว่าคนที่มากู้เป็นบุคคลที่มีหนี้ที่เป็นปัญหา ดังนั้น แบงก์ชาติควรจับมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตบูโรเพื่อแบ่งปันข้อมูลลูกหนี้ จะได้ไม่เป็นช่องโหว่ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาไปกู้เงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อีก


Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 มากกว่าที่เราเห็นๆ กันอยู่

ปัญหายังคงมีอยู่ แต่ยังไม่ได้อยู่ในขีดที่ปะทุขึ้นมาอย่างท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติพูด ขณะเดียวกันเมื่อทิ้งไว้นานๆ มันก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาถ้าการฟื้นตัวยังพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว ทีนี้สิ่งที่แบงก์ชาติแถลงล่าสุดถ้าเราจับประเด็นคือเรามีลูกหนี้อยู่ 4 แบบ

กลุ่มที่ 1 เป็นหนี้เสีย คือค้างเกิน 90 วัน NPL จ่ายคืนไม่ได้ จะเค้นให้ตายก็คืนไม่ได้ กลุ่มนี้ก็ต้องจัดยาชุดแบบหนึ่ง ก็ไปจี้ฝั่งเจ้าหนี้ให้ปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ให้ได้ บางคนอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล บางคนอาจจะต้องถูกตัดขายออกไปแล้วไปเจรจากับบริษัทตามหนี้ให้จบ ผมยกตัวอย่าง เป็นหนี้เสีย 100 บาท ถูกขายออกไป 30 บาท คนที่ซื้อไป 30 บาท อาจต้องมาเจรจาว่าลูกหนี้มาเคลียร์หนี้ที่ 40 บาทได้ไหม เขาจะได้กำไร 10 บาท เพราะถ้ายังอยู่ 100 บาทที่เดิมก็ยังไปต่อไม่ได้ แบงก์ชาติก็จะตามไปดูว่าคนที่ซื้อหนี้ไปอย่าไปกดดันลูกค้าเกินขนาด ต้องทำตัวให้สมเหตุสมผลไม่ได้ซื้อไป 100 แล้วเอา 120 กลุ่มหนี้เสียไปแล้ว ยังไงก็ต้องแก้ แต่แก้ไม่ได้ 100 คน แก้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น

กลุ่มที่ 2 หนี้ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ คือลูกหนี้ใหม่ ซึ่งบอกว่าต่อไปนี้การกู้หนี้ใหม่เจ้าหนี้ต้องมีเกณฑ์ 1, 2, 3, 4 ลูกหนี้ต้องรู้ว่าตอนจะเซ็นสัญญา ตอนจะขอหนี้ ฉันจะเจอกับอะไร ไม่ใช่อยากได้แต่เงินกู้ อะไรก็เซ็น ฝั่งเจ้าหนี้ก็ไม่ให้ลูกหนี้ดูอะไรสักอย่าง เซ็นอย่างเดียว อย่างนี้ก็ไม่ได้ แปลความง่ายๆ คือ กู้กันในอนาคตไม่มีการทำอะไรแบบฉาบฉวย ไม่มีการทำแบบลวกๆ คนที่กู้ไปแล้วจะมานั่งบ่นทีหลังไม่ได้ ก็เธอเอามาให้ฉัน ตบมือข้างเดียวดังไม่ได้ เขาให้ดูเอกสารก็ต้องดู กลุ่ม 2 คือกลุ่มลูกหนี้ใหม่ ไม่หมูเหนื่อยแน่

กลุ่มที่ 3 ที่เขาพูดถึงคือกลุ่มที่เรียกว่าหนี้เรื้อรัง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถ้าดูจากมาตรการก็พุ่งเป้ากลุ่มนี้เป็นหลัก กลุ่มหนี้เรื้อรังเกิดจากผ่อนหนี้ดีมาตลอด แต่จ่ายได้แต่ดอกมันไม่เข้าต้น ยกตัวอย่างเรื่องจริงแบงก์ชาติก็รู้ มีลูกหนี้ที่คล้ายๆ ลูกหนี้สินเชื่อราชการ ลองคิดภาพ กู้ 290,000 ไม่มีหลักประกัน ผ่อนเดือนละ 3,000 รู้ไหมรายนี้ผ่อนมา 11 ปีจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ถ้าเอาดอกเบี้ยคูณ 11 ปี ก็เอา 11 คูณ 12 ประมาณ 121 เดือน แล้วเอามาคูณ 3,000 คิดว่ามันเกินต้นหรือยัง หนี้ 290,000 แต่เกินต้นไหม คำถามคือมันเกินต้น มันจบไม่ได้แล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไหม

เราจะบอกว่ากลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ที่ดี คือดีสำหรับเจ้าหนี้คือได้ดอกไปเรื่อย แต่ก็ไม่จบไม่สิ้น แบงก์ชาติก็ออกเกณฑ์ว่าต่อไปนี้ให้เจ้าหนี้กลับไปดูว่าบัญชีหนี้ไหนที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อหมุนเวียนไม่มีหลักประกัน ถ้า 3 ปี ย้อนหลังจ่ายดอกรวมกันแล้วมากกว่าจ่ายต้น จ่ายดอกรวมกัน 3 ปีมากกว่าจ่ายต้น ให้ถือว่ากลุ่มนี้เป็นหนี้เรื้อรังเริ่มต้น และถ้าย้อนหลังไปอีก 2 ปีเป็น 5 ปีย้อนหลัง จ่ายดอกมากกว่าจ่ายต้น อันนี้ไม่เกี่ยวกับสินเชื่อบ้าน ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรังรุนแรง คล้ายๆ โควิดรุ่น 1 กับเดลตา เขาจะบอกว่ากลุ่มนี้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องเสนอโครงการปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี โดยเจ้าหนี้จะลดดอกเบี้ยให้ได้ไม่เกิน 15% ถ้านายสุรพลมีบัญชีแบบนี้ เจ้าหนี้ต้องส่งหนังสือมาเชิญผมเข้าโครงการ ต้องเชิญแล้ว ถ้าผมเข้าโครงการต้องมีหนังสือมาหา พี่สุรพลพี่มีหนึ่งบัญชีเป็นหนี้เรื้อรังรุนแรง จ่ายได้แต่ดอก ต้นไม่เข้าเลย 5 ปี ต้นเข้านิดเดียว พี่ต้องจบหนี้ ผมเสนอหนี้ให้จบภายใน 5 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยเดิมอาจจะอยู่ที่ 25% ดอกเบี้ยใหม่อาจจะคิดที่ 14% ไม่เกิน 15% 60 เดือนต่อไปนี้พี่ต้องจ่ายเท่านี้ เงินที่จ่ายต้องเข้าต้นและดอกแล้ว 60 เดือนข้างหน้าผมจะจบหนี้ก้อนนี้ได้เสียที ถ้าผมเข้าโครงการนี้ก็ต้องบี้กันให้จบ

แล้วที่แบงก์ชาติพาดพิงมาถึงเครดิตบูโรคือ ถ้าผมเข้าโครงการนี้มันต้องมีการลงบันทึกว่า นายสุรพลเข้าโครงการนี้วันที่เท่าไหร่ แล้วในระหว่าง 60 เดือนข้างหน้าผมอาจจะไม่ได้สินเชื่อใหม่ ผมใช้คำว่าอาจจะ เพราะบางที่อาจจะบอกว่าพี่ต้องเคลียร์หนี้เดิม 60 เดือนให้ ถึง 30 เดือนก่อนผมถึงจะให้ บางที่ 40 เดือน บางที่ 50 เดือน แต่ไม่ใช่ว่าผมเข้าโครงการนี้แล้ว 3 เดือนต่อจากนี้ผมจะได้สินเชื่อใหม่ ก็คงไม่ใช่ ผมเป็นโรคเบาหวานชอบกินทุเรียนมันเป็นไปไม่ได้ที่พอผมเข้าโครงการอดทุเรียนแล้วพ้น 3 วันผมจะได้กินทุเรียนอีก เป็นไปไม่ได้ อันนี้เจ้าหนี้ลูกหนี้ก็ต้องไปชั่งใจกัน แต่เขาบังคับเจ้าหนี้ว่าต้องเสนอโครงการให้ลูกหนี้ แล้วถ้าลูกหนี้เข้าโครงการก็ต้องจัดการให้จบใน 5 ปี ภาษาอังกฤษเรียกว่า off channel in ผมถึงบอกพอใช้ภาษาเทพภาษาพรหมก็ไปกันยาก ภาษาผมง่ายๆ คือ พี่ต้องเสนอ ส่วนน้องสนอง


สำคัญว่าลูกหนี้จะสนองไหม

ถ้าลูกหนี้ไม่สนอง มันอยู่ที่แรงจูงใจคือตรงไหน เหมือนเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ คือผมเป็นหนี้เสียผมเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ต้องเซ็นสัญญาว่าผมจะไม่กู้เพิ่มใน 5 ปี แล้วพอยังไม่ครบ 5 ปีก็กำหนดต่อ ถ้าอย่างนั้นข้อมูลในเครดิตบูโรก็จะมีรหัสตัวนึงบอกว่าผมอยู่ในโครงการคลินิกแก้หนี้ก็จะไม่มีใครกล้าปล่อยกู้พี่จนกว่าจะผ่อนมาถึงครึ่งทางแล้วถึงจะเริ่มขอกู้ได้ คือคนที่อดเหล้ามันต้องเข้าสถานบำบัดไหม แต่สถานบำบัดจะมีข้าวให้กิน 3 มื้อ


ชื่อลูกหนี้กลุ่มนี้มีบันทึกไว้ในเครดิตบูโร แยกพอร์ตไว้เลยกับโครงการนี้ หรือขยุมรวมกับเดิมๆ

มันจะแยก ต่อไปนี้ข้อมูลในเครดิตบูโรมันจะชัด 1. เป็นลูกหนี้ดี ไม่เคยค้างเลย จ่ายต้นจ่ายดอกได้และจบหนี้ปิดหนี้ได้ กลุ่มที่ 2 เป็นหนี้เสียรอแก้หนี้อยู่ รอปรับโครงสร้างหนี้ กลุ่มที่ 3 เป็นลูกหนี้กำลังจะเสีย ลูกผีลูกคน กลุ่มที่ 4 เป็นลูกหนี้ดีแต่เป็นหนี้เรื้อรัง เป็นคนปกติแต่เป็นเบาหวานเป็นกรรมพันธุ์ อยากจะหายหรือเป็นคนปกติเป็นหนี้ปกติ แต่เป็นหนี้เรื้อรังรุนแรง แล้วมีคนเยอะๆ ที่เดินกันอยู่บนท้องถนนที่เป็นโรคหัวใจ ถ้าทำอะไรเยอะๆ มันก็ heart attack คนเป็นโรคเบาหวานเยอะแยะ เดินไปเดินมา


มาตรการของแบงก์ชาติที่ว่ามีลูกหนี้ 4 แบบ

กลุ่มสุดท้ายคือลูกหนี้ที่ถูกขายทิ้งออกไปแล้ว อย่างที่ผมบอกเป็นหนี้ 100 บาท เขาขายไป 30 คนซื้อไปเอามาเคลียร์กันกับลูกหนี้เก่า จะเคลียร์กันที่เท่าไหร่ 40 บาท 50 บาท แต่ไม่ใช่ 120 บาท เขาจะตามดูว่าหนี้ที่ถูกขายไปมันเป็นธรรมไหม แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนซื้อหนี้ไม่ใช่วัด แต่ก็ไม่ใช่นักเลง ไม่ใช่มูลนิธิ เขาทำธุรกิจก็ต้องมีกำไร แต่เขาต้องทวงหนี้ตามหนี้ด้วยความสุภาพ ไม่ใช่เอาขวดน้ำปลาไปขว้างบ้านคน ไม่เอาขวดน้ำโสโครกไปขว้างบ้านคน ต้องเข้าใจตรงนี้ หรือไม่ใช่เอากาวตราช้างไปหยอดกุญแจบ้าน

แต่ด้วยความเป็นห่วงลองนึกภาพตาม สมมติลูกหนี้เรื้อรังไปเข้าโครงการ พอเข้าโครงการตัวก็จะเบาขึ้นเพราะได้ลดดอกเบี้ย ทีนี้เขากู้ในระบบได้ไหม ก็ไม่ได้แล้วเพราะมีบางที่บอกพี่เป็นหนี้เรื้อรังต้องรักษาก่อน เขาจะไปกู้ที่ไหนได้ เขาก็ไปกู้หนี้นอกระบบได้ อันนั้นก็ไม่รู้จะทำยังไง อีกอันเขาจะไปกู้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้ไหมเพราะสหกรณ์ออมทรัพย์หักหน้าซอง หักเงินเดือนก่อน แต่ลองนึกภาพตามเขาจะไปกู้ที่สหกรณ์ได้ไหมก็ไม่รู้ คำถามตัวโตๆ แล้วแบงก์ชาติตามไปคุมสหกรณ์ได้ไหม แบงก์ชาติก็คุมสหกรณ์ไม่ได้ ใครคุมสหกรณ์ได้ก็กระทรวงเกษตรฯ ผมถึงบอกว่าวิธีต่อไปคือเอาสหกรณ์หรือคนกำกับดูแลสหกรณ์มาเซ็น MOU ตอนนี้เราฮิตเซ็น MOU ถ้าเป็นแบบนี้คุณอย่าเพิ่งไปปล่อยกู้เขาโดยคิดแต่จะเอากำไร คุณต้องเป็นพ่อค้าทุเรียนที่มีจริยธรรม จรรยาบรรณ คนนี้เขาเป็นเบาหวาน เขากำลังอดทุเรียนอยู่ แล้วคุณไปสั่นกระดิ่งหมอนทองมาแล้ว มันควรไหม


เขาไม่ได้อยู่เครดิตบูโรเขาเลยไม่รู้

ไม่ใช่ไม่รู้ คือมีทางให้รู้ จริงๆ จะให้รู้ก็รู้ได้ พี่ก็ไปตรวจเครดิตบูโร พี่จะมากู้สหกรณ์ ไม่ยาก เขาก็มีกติกาว่าถ้าหนี้เกิน 2 ล้านก็ไปตรวจเครดิตบูโร หรือถ้าคุณจะไปกำหนดเองว่าต่อไปนี้ถ้าให้ความร่วมมือกับสหกรณ์ ลูกหนี้ต้องไปตรวจเครดิตบูโรแล้วมาโชว์ ถ้ามีบัญชีหนี้เรื้อรังอยู่ก็สหกรณ์จะไม่เห็น เป็นโอกาสว่าเขากู้ที่ไหนไม่ได้ ก็มากู้ที่มีจุดรั่ว มันอยู่ตรงนี้


แบงก์ชาติบอกเลย ว่ามาตรการที่ออกมาเป็นการแก้หนี้อย่างยั่งยืน จะประสบความสำเร็จ ในมุมมองคิดว่าจะประสบความสำเร็จไหม ทำไมทำตอนนี้ไม่ได้ ทำไมต้องรอ 1 มกราคม 2567

มันมีเรื่องระบบ เรื่องการเตรียมตัวทั้งหลาย มันมีมาตรการอื่นด้วยที่เกี่ยวข้อง เขาจึงออกมาตรการให้ทุกคนจะได้เตรียมตัว เตรียมใจ ทำใจให้เรียบร้อย แล้วชี้เป้าภายในให้จบ พอถึง 1 มกราคม 2567 ก็เริ่มลุยเลย ตอนนี้เท่าที่สำรวจเบื้องต้น 500,000 บัญชี แต่ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่ามีมากกว่า 500,000 บัญชี แล้วจะทำยังไง ตรงจุดรอยรั่วผมเสนอว่าไปทำ MOU แบงก์ชาติกับสหกรณ์ทำให้เหมือนกันคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเหมือนๆ กัน อย่ามองว่าเป็นโอกาส


ทำไมแบงก์ชาติไม่บอกไปเลยว่าให้พักหนี้ พักดอกเบี้ย 6 เดือนก็ยังดี ทีฝั่งแบงก์ชาติสั่งไม่ให้แบ่งเงินปันผลกับผู้ถือหุ้นได้

ไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นคนที่จ่ายดีมาตลอดแล้วไม่ใช่ลูกหนี้เรื้อรังเขาจะมีความรู้สึกว่าฉันไปเป็นลูกหนี้เรื้อรังดีกว่า มันจะเข้าสู่ศีลธรรมวิบัติ

47 views

ความคิดเห็น


bottom of page