top of page
312345.jpg

จี้รัฐเลิกภาษีนำเข้าวัตถุดิบ...'ผู้เลี้ยงไก่' รายย่อยเจ็บหนัก


ราคาอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ กระทบผู้เลี้ยงไก่รายย่อยที่โดนหลายเด้ง ทั้งต้นทุนสูง ยอดขายไข่-ไก่ลดลงในช่วงโควิด พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ขาดแคลน จำใจปิดเล้า ลดจำนวนไก่เลี้ยงจากสัปดาห์ละ 30 ล้านตัว เหลือสัปดาห์ละ 20 ล้านตัว กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ทำให้ซัพพลายไข่-ไก่ลดลง ราคาไข่-ไก่เพิ่มสูงขึ้น ผู้เลี้ยงไก่ร้องขอให้ปลดล็อกด้วยการงดเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ข้าวโพด แป้งสาลี เพื่อลดต้นทุน ช่วยได้ตั้งแต่ผู้เลี้ยงจนถึงผู้บริโภค แจง...ร้องขอไปนานแล้ว แต่ภาครัฐยังนิ่งเฉย ไม่มีท่าทีตอบสนองแต่อย่างใด


Interview : ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์



ตอนนี้ฟาร์มไก่เป็นอย่างไรบ้าง

ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยังไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งมาช่วงนี้สงครามน่าวิตกขึ้นทุกวันและรุนแรงด้วย ข้าวโพดตอนนี้ราคา 12 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อก่อนขึ้นมากิโลละ 10 บาทก็ร้องกันแล้วว่าแพงมากมาย และกากถั่วเหลืองจากที่เราเคยซื้อ 18.30 บาท ตอนนี้ขึ้นมา 22 บาทกว่า ขึ้นราคาเร็วมากทั้งกากถั่วเหลืองและข้าวโพด พวกนี้เป็นอาหารหลักของการทำอาหารสัตว์ ไก่ หมู ไก่ไข่ บางอย่างที่นำเข้ามาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ยูเครน-รัสเซียก็ขึ้นราคาทุกตัว ไม่มีอะไรลง มีแต่จะขึ้นทุกตัว เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้เลี้ยงที่เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออก เพราะประเทศไทยเป็นครัวของโลก ส่งออกไก่ไปต่างประเทศมาก ก่อนช่วงโควิดการเลี้ยงก็ลดลงอยู่แล้วเนื่องจากเกิดวิกฤตโลก เกษตรกรไม่กล้าเลี้ยงไก่จำนวนมาก ยิ่งมาเจอเรื่องอาหารสัตว์ขึ้นราคาแบบนี้ทุกคนยิ่งกลัวกันใหญ่


อย่างข้าวสาลีต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศมากไหม

ระยะหลังต้องมีเฉลี่ยสัดส่วนกับข้าวโพดที่ปลูกในไทย แต่การนำเข้าข้าวสาลีก็มากพอสมควร เป็นการลดต้นทุนเพราะตอนนั้นเราซื้อกันอยู่ 8.90 บาท ตอนนี้ขึ้นมาแล้ว 12 บาทกว่า


สงครามรัสเซียเพิ่งจะบุกยูเครนได้ไม่กี่วัน ราคาวัตถุดิบขึ้นมามากเลย

พอมีข่าวจะรบกันราคาสินค้าก็เริ่มรอขึ้น ผู้นำเข้าก็อ้างว่าตอนนี้ลำบากมาก เรือที่จะขนส่งก็เริ่มที่จะติดขัดไปหมด เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของคนเลี้ยง ไม่มีอะไรเป็นข่าวดีเลย เป็นข่าวร้ายหมด


ราคาไก่ ไข่ เนื้อไก่ ได้ปรับขึ้นตามไหม

ในช่วงนี้เราไม่สามารถปรับได้เพราะเรายังอยู่ในโครงการภาครัฐอยู่ อย่างของเก่ามีก็เอามาขายเพื่อไม่ให้ราคาขึ้น แต่ต่อไปถ้าราคาอาหารสัตว์ขึ้นมากๆ เราคงต้องขอขึ้นไปตามสภาวะต้นทุนการผลิตที่ขึ้นมา เราจะขายอยู่แบบเดิมคงไม่ได้


สมมุติเราต้องปรับราคาขึ้นตาม จะขายได้ไหม คนจะซื้อไหม เพราะไก่ก็ดี ไข่ก็ดี มีโปรตีนที่ถูกที่สุดในบรรดาเนื้อทั้งหลาย

เราพยายามช่วยคนในประเทศให้ได้รับประทานอาหารที่ถูก เพราะการส่งออกมีราคาที่ขอจากต่างประเทศได้ ขอเพิ่มได้ ก็มาถัวเฉลี่ยกัน เราพยายามที่สุดในการคงราคาไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศเดือดร้อนมาก แต่เมื่อต้นทุนอาหารสัตว์เป็นเช่นนี้ มานั่งมองอยู่ว่าจะทำอย่างไร เราจะหาตัวไหนมาเสริมเพื่อจะช่วยลดต้นทุนได้บ้าง เมื่อก่อนในประเทศไทยเราได้ข้าวโพดจากพม่า แต่ตอนนี้เกิดสงครามในพม่าทำให้เรานำเข้าลำบาก ข้าวโพดกัมพูชาเราก็เคยนำเข้ามาแต่ช่วงนี้เริ่มขาดแคลน น้ำมันพืชที่เราเคยใช้ก็ขึ้นราคามาก วัตถุดิบทุกตัวทั้งในประเทศหรือนำเข้าก็ขึ้นทุกตัวอยู่แล้ว


ขอปรับขึ้นราคาขายในต่างประเทศได้ไหม

เราก็บอกเขา ขอเขาว่าเที่ยวนี้ต้นทุนสูงมาก ก็ขอเพิ่ม 200-300 เหรียญต่อตัน ก็คุยกันได้อยู่ แต่ราคาขายภายในประเทศถ้าเราไปขึ้นเยอะๆ ก็คงยาก รู้อยู่ว่าประเทศไทยตอนนี้ลำบากเรื่องรายได้ เศรษฐกิจก็ตกต่ำ


สถานะผู้เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ ไข่ ในช่วง 2 ปีที่โควิดระบาดเป็นอย่างไรกันบ้าง

ไม่ดีเลย 2 ปีนี้ ช่วงที่ผ่านมาแรงบริโภคภายในไม่ค่อยมี กำลังซื้อในประเทศเราตกต่ำมาก แต่บริษัทที่เลี้ยงครบวงจรเขามีโรงงานที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ เขาส่งออกได้ ยังมาถัวเฉลี่ยได้ แต่ถ้าพูดถึงเกษตรกรถ้าเป็น Contract Farming ยังพอไหว แต่ถ้าเป็นผู้เลี้ยงอิสระจะลำบาก พอกระทรวงพาณิชย์เขาบังคับไม่ให้ขายราคานู้นราคานี้ก็จะลำบากมาก เพราะตลอด 2 ปีนี้แรงซื้อไม่มี ต้นทุนการผลิตก็สูง ขาดทุนอยู่แล้ว และพอจะมีรายได้บ้างเขาก็บอกว่าขายไม่ได้ มันแพง ก็ยิ่งลำบาก แต่ตอนนี้ก็ปรับทิศทางกันไปเพื่ออยู่ให้ได้


อย่างผู้เลี้ยงรายย่อยที่ไม่มีสัญญากับพวกขาใหญ่ เสียหายจากการปิดกิจการหรือเลิกเลี้ยงไปเลยมากไหม

เยอะ เพราะตอนนี้เลี้ยงกันน้อยมาก เขาเคยลงเลี้ยงสัปดาห์ประมาณ 50,000-100,000 เขาเจอสภาวะเช่นนี้ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขนาดนี้เขาอาจจะเลี้ยงบ้างประมาณ 20,000-30,000 ประทังไม่ให้อาชีพเขาล้มไปเลยทีเดียว แต่ในที่สุด 2 ปีนี้เขาก็ขาดทุนกันมากสำหรับการเลี้ยงสัตว์เพราะต้นทุนการผลิตสูงเหลือเกิน อาหารสัตว์แพงมาตลอด ยิ่งมาเจอสงครามยิ่งหนัก


ขายในประเทศยากขึ้นไหม จากคนเคยซื้อไก่ตัวนึงตอนนี้ซื้อเหลือครึ่งตัว

เนื่องจากช่วงนี้ขายได้ยากเพราะการเลี้ยงน้อย เราเคยเลี้ยงไก่อยู่สัปดาห์ละ 30 ล้าน เราลดเหลือ 20 กว่าล้าน จำนวนตัวหายไป และทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงอิสระที่ขายในประเทศเขาขาดทุนมา 2 ปี สู้ไม่ไหว เขาก็หยุดไป ในที่สุดของก็น้อย กลายเป็นว่าขายเรื่อยๆ ขายได้ดี เพราะไม่มีของจะขาย สินค้าเกษตรอยู่ที่ดีมานด์ซัพพลาย ถ้ามันโอเวอร์ราคาจะถูก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น


พวกขาใหญ่มาเล่นงานขาเล็กไหม อาศัยทุนเยอะมากดราคาเรา

ไม่ คือไม่มี จริงๆ แล้วภาคเกษตรในการเลี้ยงไก่ทุกคนเป็นอิสระของตัวเอง ไม่มีการฮั้วกันหรือไปขัดกัน ยิ่งบริษัทที่เลี้ยงครบวงจรเขาทำเพื่อส่งออก เขามีตลาดต่างประเทศ เขาไม่ค่อยสนใจในประเทศเท่าไหร่ เขาให้คนภายในประเทศที่เลี้ยงอิสระขายกัน ตลาดไก่จะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่โรงงานใหญ่ๆ จะมาแย่งตลาดในประเทศ เขาไม่ทำกัน


อย่างไก่ของไทยไม่ว่าจะเป็นเนื้อหรือไข่ ส่งไปรัสเซีย ยูเครน บ้างไหม

เคยมีส่งไป คือความต้องการเขามีเรื่องการส่งเนื้อไก่จากไทยไปขายในต่างประเทศจะไม่ค่อยติดขัด เพราะประเทศไทยเน้นเรื่องสุขอนามัย ด้านคุณภาพ ด้าน Food Safety ด้านการผลิตเป็นที่ยอมรับของโลก คือมาตรฐานของเราสูง ประเทศไทยผลิตได้เท่าไหร่ก็ขายได้หมด ส่งขายได้โดยไม่ต้องแย่งตลาดกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราภูมิใจมากที่ตลาดต่างประเทศต้องการไก่ไทยมาก สมกับที่เราเป็นครัวของโลกอันดับ 3-4 ของโลก


ถึงตรงนี้ในฐานะนายกสมาคมอยากให้ทางการหรือใครก็ได้มาช่วยอะไรบ้าง

เคยพูดหลายครั้งว่าขอลดภาษีนำเข้าอาหารไก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพด แป้งสาลี ลดให้เราบ้างสัก 2% ให้ต้นทุนลดลงบ้าง แต่ก็ยังไม่มีการตอบสนอง


ทุกวันนี้เสียภาษีนำเข้าเท่าไหร่

2% ถ้าเราได้ลดส่วนนี้เราจะได้ลดต้นทุนลงไป


ทำไมเขาถึงไม่ลดให้


ไม่ทราบนโยบายของภาครัฐที่ไม่ตอบสนองตรงนี้



พวกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีปัญหาไหม

ช่วงนี้ก็ขาดแคลน เพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตโควิดและกำลังซื้อภายในประเทศลดลง การขนส่งเดินเรือไปต่างประเทศก็หาเที่ยวเรือยาก ในที่สุดพวกเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็ลดกำลังการผลิตลง ช่วงนี้กำลังขาด ไม่ค่อยพอ อีกหลายเดือนกว่าจะเหมือนเดิม พันธุ์สัตว์ขาดแคลนมากตอนนี้


มีโอกาสเกิดภาวะขาดแคลนไข่ไก่ เนื้อไก่ ในท้องตลาดไทย แบบเดียวกันตอนที่ราคาหมูแพง

คือช่วงนี้สายพันธุ์ที่จะเอามาเลี้ยงเริ่มขาดแคลนจริงๆ ประกอบกับอาหารสัตว์ก็แพง ผู้เลี้ยงยังไม่กล้าที่จะลงทุนกันมากเพราะต้นทุนการผลิตสูง คิดว่าคงไม่มีเหลือมาก คงพอมีรับประทานกัน ไม่ถึงกับขาดแคลนมาก แต่ก็ไม่แน่ว่าถ้าต้นทุนการผลิตแพงกว่านี้ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร อย่างวันนี้เราซื้อกากถั่วเหลืองกันที่กิโลกรัมละ 22 บาท ซึ่งไม่รู้ว่ากากถั่วเหลืองจะขึ้นอีกเท่าไหร่ ส่วนข้าวโพดเราคิดว่าน่าจะถึง 15 บาทต่อกิโลด้วยซ้ำ ซึ่งต้นทุนสูงเช่นนี้เรามาคำนวณเช่นนี้แล้วเราจะขายอย่างไร ยังจับทิศทางไม่ได้เพราะราคาขึ้นทุกวัน


มีพวกขาใหญ่ไปกักตุนเนื้อไก่ในห้องเย็นบ้างไหม รอว่าขึ้นราคาเมื่อไหร่ค่อยเอาออกมาขายทำกำไร

ไม่ ตลาดไก่ไม่เป็นแบบนั้น เนื่องจากทุกโรงงานเขาเลี้ยงไก่เพื่อส่งออก เพราะฉะนั้นออร์เดอร์ต้องส่งตลอด คงไม่เอามาเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อเก็งกำไร นอกจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่เลี้ยงกันมา 70-80 วัน ขายไม่ได้ ถ้าจำเป็นแบบนั้นก็มี แต่ช่วงนี้ไม่มีแล้ว ของไม่มีในห้องเย็นแล้ว เพราะหลังจากที่รัฐบอกให้ขายถูกก็เอาออกมาขายกันถูกๆ ต่างประเทศมีออร์เดอร์เราก็ต้องส่ง ไม่มีการมากักตุนกัน อย่างไข่ไก่ก็เหมือนกัน เก็บได้ไม่กี่วันก็ต้องรีบขาย เวลาขาดทุนไม่มีใครช่วยได้จริงๆ ธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ยังนั่งกลุ้มใจกันอยู่ว่าเงินเฟ้อขนาดนี้ เรามีวงเงินขนาดนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร การลงทุนก็สูงมาก

43 views
bottom of page