เศรษฐกิจปี 64 เลวร้ายน้อยกว่าที่คาด เหตุโควิด-19 เริ่มบรรเทาเบาบางลงในไตรมาส 3 ส่วนปี 65 เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น GDP จะโตได้ 3.7% ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยระดับ 4 ล้านคน และโควิด-19 ไม่ระบาดรุนแรง แต่ถ้าการระบาดรุนแรง มีการล็อกดาวน์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแค่ 1 ล้านคน GDP จะโตแค่ 2.8% นอกจากนั้นยังมีปัจจัยชี้ขาดอีก 2 ตัวคือการส่งออกของไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงภาวะทางการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 65 ที่จะทำให้เกิดการไหลออกของเงินจากไทยไปอเมริกาอย่างมาก ส่วนในเรื่องมาตรการผ่อนปรนเช่นพักชำระหนี้ ถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นนั้น คาดว่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แบงก์ชาติและสถาบันการเงินคงไม่ยกเลิกมาตรการ-ความช่วยเหลือต่างๆ แบบทันทีทันใด ขณะที่ความช่วยเหลือในแง่การอัดฉีดของภาครัฐจะจำกัดวงแคบลง จะไม่มีการอัดฉีดในวงกว้าง แต่จะเป็นการกระตุ้นในบางจุด เพราะเม็ดเงินของรัฐร่อยหรอเต็มที พร้อมแนะทางรอดของประชาชน ยังต้องอดออม อดทน และประหยัดกันต่อไป เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจริงจังต้องรอไปก่อนถึงปี 66
Interview : ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ในแง่นักเศรษฐศาสตร์และเป็นผู้บริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองปี 2564 ว่าเหนื่อยกันมากไหม
เป็นปีที่ยากลำบากอีกปี แต่จริงๆ เลวร้ายน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะไตรมาส 3 เป็นต้นมาตัวเลขออกมาค่อนข้างดี และการแพร่ระบาดทยอยลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เราเห็นพีกเดือนสิงหาคม แต่มีประเด็นสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทยอยลดลงยังต่ำกว่า 4,000 เป็นสถานการณ์ที่ดี ทำให้เราสบายใจ พอจะเปิดท่องเที่ยวได้บ้าง
ปี 2565 จะดีขึ้นแบบจริงแท้แน่นอนไหม
จริงๆ แล้วอยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ให้ยืนยันคงลำบาก ประเด็นสำคัญคือเรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลวิเคราะห์ต่างๆ เป็นเพียงแค่การคาดการณ์จากข้อมูลเบื้องต้น แต่มาถึงตอนนี้เหตุการณ์ยังไม่ได้ดูแย่เหมือนกับช่วงแรกที่คนพบสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังต้องติดตามอยู่
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 คาดอยู่ช่วง 2.7-2.8 น่าจะดีกว่าปี 2564 ที่เราคาดไว้ 1% มองในแง่บวกคงจะดีขึ้นบ้าง แต่ในเรื่องไวรัสยังประมาณการจากข้อมูลในปัจจุบันที่ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นอยู่
ตอนนี้เหมือนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่มีสถานการณ์อื่นเข้ามา เช่น เฟดเริ่มทยอยปรับลดวงเงิน QE และบอกว่าจะดำเนินการให้เร็วขึ้น รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่ากำหนดเนื่องจากมีความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่สูง 6.8 ประเด็นเหล่านี้จะมีผลมากน้อยอย่างไร
ตลาดคาดการณ์ไปแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2564 ซึ่งตลาดคงดูจากเงินเฟ้อที่ตัวเลขล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ทำให้เฟดต้องเร่งลด QE และการที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะถ้าเป็นจริง ดอกเบี้ยปลายปี 2565 ของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าบ้านเราแน่นอน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยได้ ดอกเบี้ยของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5 แต่เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งหรือมากกว่านั้น มีสิทธิ์ที่จะแซงดอกเบี้ยเรา ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนเรื่องการย้ายเงินทุน เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้
จะกระทบไทยแง่ fund flow รวมทั้งเงินทุนต่างๆ ใช่ไหม
ใช่ ก็เป็นรอบๆ ไป กระทบเป็นรอบๆ ตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ นักลงทุนจะดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐของประธาน สมาชิกต่างๆ ดูโหวต FOMC ของเขา และดูว่าเฟดมีท่าทีอย่างไร ซึ่งความผันผวนในช่วงข้างหน้านั้นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะขึ้นๆ ลงๆ เหตุการณ์แบบนี้ โมเมนตัมยังดุดันอย่างนี้ อย่างน้อยในระยะสั้นๆ อาจจะยังได้รับแรงหนุน
ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องเจอดอกเบี้ยอเมริกาที่เตรียมขึ้นเร็วกว่าที่คาด
ตอนนี้ตลาดคาดการณ์รับรู้ระดับนึงแล้ว เราจะเห็นได้ว่าขณะที่การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่ออกมาสูงกว่าคาด แต่ตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นบวกได้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐไม่ได้ขยับขึ้น คือตลาดรับรู้ข่าวนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอยู่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขการจ้างงานข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าเฟดต้องขยับเร็ว ถ้าทำช้าไปก็เสียความน่าเชื่อถือ เพราะไล่ไม่ทันเงินเฟ้อ
GDP ไทยในปี 2565 จะบวกเท่าไหร่
เรามองไว้เป็นกรอบ 2.8-3.7 ซึ่ง 2.8 คือถ้าตัวโควิดแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรง มีการล็อกดาวน์ในวงจำกัดเป็นจุดๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ส่วน 3.7 ในกรณีที่ดีการแพร่ระบาดไม่รุนแรง ท่องเที่ยวได้ 4 ล้านคน ใน 2.8 ที่ตั้งไว้ประเมินจากนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นการประมาณการต่างๆ คงต้องติดตามและอัพเดทเป็นระยะๆ
ปัจจัยชี้ขาดอันดับแรกคือไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะโอไมครอนใช่ไหม
เรื่องแรกใช่
เรื่องที่ 2 คือการส่งออกของไทยว่าโมเมนตัมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงไหม เพราะปี 64 ฐานค่อนข้างสูง อันนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
เรื่องที่ 3 ที่ต้องตามคือ ภาวะการเงินต่างๆ เมื่อเฟดขยับโดยเฉพาะขยับปรับดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งหรือมากกว่านั้น ตอนนี้ตลาดหรือนักวิเคราะห์บางคนบอกมากเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยกว่า 3 ครั้ง
ในเรื่องฐานะของธุรกิจต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน เรื่องหนี้ท่วมทั้งหลายที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีที่หลายอย่างอยู่ภายใต้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน แบงก์ชาติผ่อนปรนให้สถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ ถ้าปี 2565 ทุกอย่างกลับเข้าสู่สถานการณ์ อาจจะปกติ จะทยอยถอยอย่างไรดีไม่ให้กระทบกับสิ่งที่ผ่อนปรนกันไว้
ผมคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงพูดคุยกับสถาบันการเงินเป็นระยะว่ากว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นได้ คุณภาพของหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้นไหม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วลูกหนี้จะต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นจะฟื้นบางส่วน เช่นการส่งออก ผมว่าแบงก์ชาติคงบอกธนาคารพาณิชย์ว่าพอไหวไหม คือคงไม่ได้รีบถอนมาตรการออกมาทันที
ภาครัฐควรเข้ามาดูแลอย่างไรต่อไป เพราะที่ผ่านมา อยู่ได้ด้วยเงินแจก เยียวยาคนละครึ่ง ต้องประคับประคองต่อไปหรือต้องมีมากกว่านี้
ประเด็นของภาครัฐคือเพดานหนี้ขยับขึ้นไปแล้ว รัฐบาลเองก็ขาดดุลต่อเนื่อง ด้วยข้อจำกัดนี้ถึงเขาอยากจะใช้เงินกระตุ้นเพิ่มก็อยู่ในกรอบจำกัด แม้จะมีการแพร่ระบาดก็ตาม รัฐบาลไม่น่าจะล็อกดาวน์ เพราะการล็อกดาวน์จะกลับมาเป็นภาระการคลังของรัฐบาล ก็คงต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจขยับเขยื้อนต่อไปได้ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลต้องแบกภาระต่างๆ เขาคงทำเท่าที่จำเป็นและติดตามเหตุการณ์ต่อไป คงไม่ได้แย่อย่างที่เราคาด ผมคิดว่าการกระตุ้นในภาคใหญ่คงไม่มี อาจจะกระตุ้นเพียงบางจุด เช่นสินค้าเกษตร คือคงจะเลือกทำ คงไม่ทำแบบเหวี่ยงแห
อาจจะต้องช่วยประคับประคองกันต่อไป
รัฐบาลคงยังติดตามอยู่ เพียงแต่กระสุนที่เขามีก็น้อยลง เขาต้องใช้อย่างระมัดระวัง ผมคิดว่าทางการทราบดี
ประเด็นเงินเฟ้อของไทยเท่าที่ดูน่ากลัวไหม จะสวนทางกันไหมกับชีวิตความเป็นอยู่ กับคนที่เพิ่งฟื้นไข้ขายังไม่แข็งแรง มาเจอข้าวของราคาแพง จะมีปัญหาไหม
ในแง่ความรู้สึกของผู้บริโภคเขารู้สึกได้ว่ากำลังซื้อลดลง อย่างคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ส่งสินค้า เวลาเติมน้ำมันเขาเห็นว่าราคามันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อันนี้รู้สึกได้ ดัชนีปี 2564 เทียบกับปี 2565 อย่างที่กระทรวงพาณิชย์คาดกรอบบนมองไว้ที่ 2.4 ถ้าดูจากตัวเลขอาจจะไม่เยอะเพราะอัตราการเพิ่มไม่มาก แต่ในแง่ผู้บริโภคนั้นกำลังซื้อลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ที่หาได้ ผมว่าทุกคนรู้สึกได้ว่ากำลังซื้อหดหาย
2 ปีที่ผ่านมารัฐก่อหนี้เพิ่มมาก เรียกว่าหนี้ท่วมหัว จะมีผลต่อฐานะการเงินการคลังของไทยไหม ทำให้ต่างชาติไม่ไว้วางใจเหมือนในอดีตอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งหรือเปล่า ตอนนี้มีปัญหาสถานะการคลังเข้ามาด้วย คิดว่าจะมีผลไหมกับเงินทุนที่จะเข้ามาเมืองไทย
ไม่น่าจะมี เพราะหนี้สาธารณะเราจะเพิ่มขึ้นไปจริงคือเกินร้อยละ 60 แต่ก็ยังถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบางประเทศ จึงยังไม่ใช่ระดับที่สูงเกินจนน่ากังวล บางประเทศเกินร้อยละ 80-90 อันนี้คงไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้มากคือระดับทุนสำรองของเรายังสูงมากคือ 280,000 ล้านดอลลาร์ สูงมากเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ยังครอบคลุมเงินทุนไหลออกได้ จึงน่าจะลดความกังวลลงได้ว่าไม่เหมือนช่วงปี 40 ตอนต้มยำกุ้งที่ตอนนั้นเราแทบไม่มีทุนสำรองเหลืออยู่เลยเพราะต้องเอาไปสู้กับการโจมตีค่าเงินบาท สถานการณ์ตอนนี้ต่างกันเพราะเงินทุนสำรองเราเยอะมาก คิดว่าประเด็นความมั่นใจหรือความกังวลต่างๆ ของนักลงทุนต่างชาติไม่น่าจะมี
ถ้าดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็ถือว่ามาก ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท จะมีปัญหาทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ไม่ได้ ต้องให้ไปฟื้นฟูกิจการเพราะเดี๋ยวจะมีปัญหา มองว่าจะมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนไหม
คงเป็นประเด็นที่ผู้ปล่อยกู้ตระหนักและให้ความสำคัญเพราะเขาก็ต้องหารายได้ โจทย์จะกลับมาที่จะทำอย่างไรถ้าระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่ม จะทำอย่างไรให้การปล่อยสินเชื่อไม่กระทบทั้งผู้ปล่อยและผู้กู้ยืม คงอยู่ในรูปแบบของความเป็นไปได้ เช่นเป็นวงเงินที่คิดว่าน่าจะอยู่ในความสามารถในการชำระหนี้ลักษณะของสินเชื่ออาจจะสอดคล้องกับธุรกิจ การดำเนินชีวิต คงต้องหารูปแบบที่ต้องจัดการบริหารความเสี่ยง
อยากให้แนะยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ประชาชนในปี 2565 ต้องทำอย่างไร
ในระยะสั้นคงเป็นการจัดการประคับประคองตามสถานการณ์ ถ้าโควิดไม่รุนแรงอย่างที่เรามอง เศรษฐกิจคงฟื้นได้ รัฐประคับประคองการฟื้นตัวกลับมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งอาจต้องใช้เงินเพิ่มเติมหรือให้ความช่วยเหลือเพื่อให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ คิดว่าภาครัฐคงสามารถช่วยเหลือให้เขาได้รับวงเงิน เพราะกิจการอย่างโรงแรมหรือท่องเที่ยวควรค่อยๆ ฟื้นกลับมา คิดว่าภาครัฐคงมองไว้เหมือนกัน ผมว่าควรให้กลับมาสู่ภาวะปกติในวงกว้างได้มากที่สุด
ในภาวะแบบนี้ประชาชนคนไทยต้องทำอย่างไร
ก็ยังต้องออมอยู่ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง 90% ของ GDP แม้จะฟื้นตัวได้แต่ความไม่แน่นอนต่างๆ ยังมีมาก กว่าที่ระบบเศรษฐกิจกลับมาเต็มร้อยต้องใช้เวลา อาจจะเป็นปี 66 ซึ่งก็อาจจะไม่สมบูรณ์ปกติเหมือนก่อนโควิด ก็ยังต้องระวังการใช้จ่ายและการออม เราเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เรื่องการออมเพื่อประทังชีพให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตระยะยาวยังเป็นเรื่องจำเป็น
ถ้าเปรียบประเทศเปรียบคนไทยกำลังดำน้ำมาเกือบ 2 ปีคิดว่ายังกลั้นหายใจอีกนานเท่าไหร่ดูจากตัวเลขเศรษฐกิจการเงินการคลังทั้งหมด
ผมมองในแง่ค่อนข้างดีน่าจะโผล่ขึ้นมาได้ปี 2565 ขึ้นมาหายใจได้คิดว่าครึ่งปีหลังช่วงที่การท่องเที่ยวกลับมาหลายๆ อย่างจะกลับมาแต่จากจุดนี้ถึงจุดปี 2565 อีก 1 ปีเรื่องกระแสเงินสดเรื่องการใช้จ่ายบริหารเงินในช่วงนี้แนวโน้มดอกเบี้ยต่างประเทศยังอยู่ขาขึ้นทำให้หลายๆ อย่างยากในการจัดการ ถ้าท่านจะใช้เงินก็ปรึกษาสถาบันการเงินขอความช่วยเหลือก็จะได้แนวทางได้
Comments