top of page
312345.jpg

สงครามทำขาดแคลน...คลังอาหารโลกแตก โอกาสทองครัวไทย


สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบคลังอาหารโลก ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันพืช ขาดแคลนหนัก ราคาพุ่งสูง ต้นทุนการผลิตอาหารคน อาหารสัตว์ ขยับตามราคาปุ๋ยที่แพงเป็นประวัติการณ์ ในวิกฤตนี้ถือเป็นโอกาสของไทยที่มีทั้งพื้นที่เพาะปลูกและความสามารถในการแปรรูปอาหาร แต่ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกตามหลักการทำเกษตรแม่นยำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การบำรุงดินเพื่อลดการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิตเพื่อแข่งขันได้ในระยะยาวหลังจากโลกพ้นวิกฤต


Interview : คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะ ประธานคณะธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย


สถานการณ์ขาดแคลนอาหารหลังเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้หลายประเทศถึงกับมีคำสั่งห้ามส่งออกอาหารไปต่างประเทศกันแล้ว

เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและกังวลปัญหาว่าจะมาถึงตัวเราถึงขั้นว่าจะขาดแคลนอาหารจริงหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นเนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นอาหารมันหายไป คือไม่ได้หายไปจากโลก แต่ส่งออกมาไม่ได้ทั้งจากรัสเซียและยูเครน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีที่ถือเป็น 1 ใน 3 ของโลก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถือเป็น 1 ใน 4 ของโลก และยังมีพวกน้ำมันพืชต่างๆ อย่างน้ำมันดอกทานตะวัน ก็เลยทำให้ซัพพลายของโลกอยู่ดีๆ หายไป แต่ไม่ถึงกับว่าจะไม่มีตัวทดแทน คือมีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรื่องของการนำเข้าส่งออกของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีขั้นตอนและใช้เวลา ไม่ใช่ว่าซื้อจากประเทศนี้ไม่ได้ปุ๊บ จะสามารถไปซื้อจากอีกประเทศหนึ่งได้ทันทีเลย ไม่เร็วขนาดนั้น มันมีเวลาต้องเซ็ตตัวหรือปรับตัว ส่วนที่ทำให้มีการแข่งขันทั่วโลกแล้วระดับราคาไม่สูงจนเกินไป ก็คือจะต้องมีซัพพลายจากหลายประเทศ พอหายไปประเทศหนึ่ง ก็ต้องแห่ไปซื้ออีกประเทศหนึ่ง ตรงนี้เป็นเรื่องปกติ และจะทำให้ราคาขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามกลไกตลาด

ถ้าติดตามจะมีหลายประเทศที่ใช้มาตรการงดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง 3-4 รายการ คือข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันพืชที่ได้บอกข้างต้น คือเขาไม่ได้จะงดหรือระงับส่งออกทั้งหมด เขาจะเลือกเป็นตัวๆ ไป 3-4 รายการที่บอก เพราะเขาต้องการปรับสมดุลราคาในประเทศ ยกตัวอย่างอินโดนีเซียที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งน้ำมันปาล์มก็เป็นตัวที่ไปทดแทนน้ำมันที่ทางรัสเซีย-ยูเครนออกมาไม่ได้ ฉะนั้น ก็มีความต้องการในตลาดโลกเยอะ ของเราเองก็สามารถส่งออกไปหลายๆ ประเทศได้ดี พอดีว่าเราไม่ใช่ประเทศรายใหญ่ในการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่ถ้าอินโดนีเซียใช่ เพราะเขาเป็นผู้นำของโลกเลยเรื่องน้ำมันปาล์ม พอมีการสั่งน้ำมันปาล์มเข้ามาเยอะๆ ก็ไปทำให้ราคาในประเทศเขาขยับสูงขึ้น และสูงขึ้นระดับหนึ่ง รัฐบาลอินโดนีเซียจึงตัดสินใจระงับส่งออกชั่วคราว พอหยุดได้ไม่กี่วันระดับราคาน้ำมันในประเทศก็ร่วงเลย ลงมา 20-30% คราวนี้สิ่งที่ถูกกระทบคือเกษตรกร ตอนแรกต้องการให้ราคาลง พอลงมาระดับหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายกลับมาส่งออก เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประชาชนที่จะเดือดร้อนจากราคาที่สูงเกินไปกับต้นทุนของทางเกษตรกรที่ขึ้นมาเยอะ และถ้าไม่มีการปรับเพิ่มราคาตรงนี้ เกษตรกรก็อยู่ไม่ไหว ในรอบต่อๆ ไปก็ไม่มีใครอยากอยู่ ไม่อยากจะมีใครใส่ปุ๋ย ตรงนี้คือยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเป็นลักษณะของการขาดแคลนบางสินค้า ซึ่งจะกระทบกับประเทศยากจน


สำหรับประเทศยากจน โอกาสที่เขาจะสั่งซื้อจากประเทศที่นอกเหนือไปจากที่เขาเคยไปสั่งซื้อแล้ว ก็จะซื้อได้ยาก ขณะที่ระดับราคาที่มันขึ้นไปบางรายการเพิ่มถึง 30% เขาก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อเพื่อมาดูแลประชาชนของตัวเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่มีรายได้น้อย


มีการสั่งซื้ออาหารจากไทยไปกักตุนบ้างหรือไม่

มีสัญญาณการซื้อเพิ่ม แต่ไม่ถึงกับกักตุน เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดไม่สามารถเก็บได้ระยะยาว การกักตุนที่ว่าจะเก็บได้หลายๆ ปีจะอยู่ในหมวดเดียวคืออาหารสำเร็จรูป ที่เก็บได้ 2-3 ปี จริงๆ โควิดในช่วงแรกๆ ก็มีสัญญาณนี้อยู่แล้ว มีการซื้อไปตุนกัน แต่พอถึงช่วงปีที่สองของโควิดยอดส่งออกก็ลดลงเพราะผู้ซื้อตุนพอแล้ว

พอมาถึงช่วงนี้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ก็มีสัญญาณออกมาอีกว่า ขอตุนอีกนิด อีกสักรอบหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้แรงมากนัก ก็ยังมีพอที่จะส่งเพิ่มได้ ซึ่งตรงนี้เรามองว่า น่าจะเป็นโอกาสสำหรับไทยเองที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ หรือมีโอกาสขายสินค้าให้กับบางประเทศที่ไม่เคยเป็นลูกค้า ของเรา หรือเป็นลูกค้าของประเทศอื่นที่เขาเคยส่ง แล้วมันแข่งขันกันสูงมาก


สำหรับประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้วส่งกลับไปใหม่ ส่วนนี้เราได้รับผลกระทบหรือไม่

ถามว่ามีเพียงพอหรือไม่ในการบริโภคในประเทศ คำตอบคือมีเพียงพออยู่ เพราะถ้านึกถึงวัตถุดิบอย่างเดียวที่เรามี และผลิตเพื่อส่งออก เราจะมีถึง 75% ที่เรามีเอง ยังไม่มี 25% ที่เราต้องนำเข้าวัตถุดิบมาแปรรูป หรือว่าเอามาทำเป็นอาหาร แต่ส่วนนั้นสมมติถ้าขาดหายไปจริงๆ เราก็ยังอยู่ได้ เพราะสิ่งที่เราส่งออกไปคือส่วนเกิน เราบริโภคในประเทศสองส่วน เราส่งออกหนึ่งส่วน ถ้าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ก็คือในส่วนนำเข้าวัตถุดิบเรายังเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ตลาดโลกเวลานี้เราอาจส่งออกได้มากกว่าเดิมก็ได้ ตรงนี้อาจจะเป็นโอกาสในวิกฤต ซึ่งในด้านนำเข้า ยังมีปัญหาพอสมควร เพราะต้นทุนสูงหมดเลย นั่นหมายความว่า การจะนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้เข้ามา ในฝั่งของผู้บริโภคในต่างประเทศจะรับราคาที่สูงขึ้นไหวหรือไม่ และจะยอมรับราคาสูงแบบนี้ได้อีกนานเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อ คือถ้ายืดเยื้อมากๆ ประเทศที่เขากำลังย่ำแย่เรื่องเศรษฐกิจอยู่ แรกๆ อาจจะอยากซื้อไปตุน แต่พอไปถึงระยะหนึ่ง การบริหารด้านเศรษฐกิจหรือการเงินชักลำบาก ก็มีส่วนแพงเกินไป เพราะเวลานำเข้ามาตอนนี้ที่สูงขึ้น อย่างที่ซัพพลายหายไปบางส่วน ตรงนี้แน่นอน ต้องแย่งกันซื้อ ซึ่งมีไม่กี่รายการที่เราต้องนำเข้า

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่าทำไมเราเป็นประเทศเกษตรยังต้องนำเข้า เราดูถั่วเหลืองเป็นหลัก ถั่วเหลืองเรานำเข้ามาทั้งเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ ส่วนที่เป็นอาหารสัตว์คือกากถั่วเหลือง สองอย่างนี้เรานำเข้ามาปีหนึ่ง 3 ล้านตัน ในขณะที่เราปลูกเองในประเทศ 5 หมื่นตัน ทำไมเป็นแบบนี้ทั้งที่เป็นประเทศเกษตร คำตอบคือเรื่องต้นทุนสู้กันไม่ได้ เพราะเรานำเข้ามาช่วงที่มีการแข่งขันสูงๆ ราคาจะถูกกว่าเราซื้อในประเทศหรือปลูกในประเทศเท่าตัวเลย ตรงนี้เราเลยติดตามดูว่าทำไมถึงห่างได้ขนาดนี้ เป็นเพราะค่าแรงหรือเปล่า ก็ไม่ใช่อย่างเดียว มันเป็นเรื่องเทคโนโลยีด้วย เป็นตั้งแต่เรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลประโยชน์สูง เรื่องของการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการเกษตร เป็นเรื่องที่เราพยายามทำอยู่ เรื่องเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน บ้านเราก็เริ่มมีใช้โดรน แต่ว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้ที่เขามีพื้นที่กว้างใหญ่เขาใช้เครื่องบินแล้ว ต้นทุนการจัดการตรงนี้ผิดกัน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบก็ต่างกันด้วย การแข่งขันของโลกในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้

แต่คราวนี้ก็ยังพอมองเห็นโอกาสในวิกฤตเหมือนกัน ถ้าระดับราคาสูงขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ บวกกับเรื่องค่าขนส่งทางเรือที่ยังไม่ลงเลยตั้งแต่ช่วงโควิด ซึ่งค่าขนส่งแพงกว่ามูลค่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์แล้ว อาจจะทำให้มีโอกาส ถ้าบ้านเรากลับมาปลูกเองเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าถ้าต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นมาจนถึงขนาดสองเท่าอย่างที่บอก ก็น่าจะปลูกเพิ่มได้เพราะบ้านเรายังมีพื้นที่เพาะปลูก และเราก็ยังมีเกษตรกรที่พร้อมจะปลูกด้วย

อย่างไรก็ดี การไปถึงจุดนั้นจะต้องมีความชัดเจน เราไม่สามารถทำในระยะเวลาสั้นๆ ได้ แล้วถ้าทำแบบบุ่มบ่าม แต่สถานการณ์กลับมาเหมือนเดิม มีการแข่งขันเรื่องราคาขึ้นมาเหมือนเดิม คนที่ปลูกไปก็จะเจ็บตัวมาก ก็จะเป็นนโยบายที่ค่อยๆ ไล่ทำกันมา แต่ต้องเป็นลักษณะที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศที่เขาปลูกพืชชนิดเดียวกับเราด้วย


วิกฤตที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสดีของเรา

ใช่ เพราะพื้นที่เพาะปลูกเรามี เรามีความสามารถในด้านการแปรรูปด้วย เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ในการแปรรูปเรามีค่อนข้างครบ และที่สำคัญคือได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก ยอมรับว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย

ส่วนอีกเรื่องที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือต้องดูแลเรื่องต้นทุนของเกษตรกรด้วย เรื่องปุ๋ยคือเรื่องสำคัญมากๆ เพราะเราต้องนำเข้า ตัวสุดท้ายเราจะเพาะปลูกอะไรก็ตาม ที่เราบอกอยากจะปลูกโน่นเพิ่มนี่เพิ่มเพื่อรักษาสมดุลเรื่องวิกฤตครั้งนี้ เส้นทางของปุ๋ยต้องมี ระดับราคาปุ๋ยต้องไม่แพงจนเกินไป เกษตรกรยังสามารถแข่งขันได้ด้วยเช่นกัน เพราะปุ๋ยมาจากเรื่องของการผลิตก๊าซ แน่นอนรัสเซียถือว่าเขาเป็นแหล่งใหญ่ ก็หายไปเยอะเหมือนกัน เพราะราคาปุ๋ยในช่วงที่ผ่านมาขึ้นจาก 700 บาทไป 1,500 บาท มันส่งผลด้านจิตวิทยาเกษตรกรเหมือนกันว่าขึ้นมาขนาดนี้ ในขณะที่บ้านเราพยายามตรึงราคาด้านการขาย ไม่ให้สินค้าเกษตรแพงเกินไป เพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน กลายเป็นว่าเกษตรกรใช้วิธีง่ายๆ เลย ลดปุ๋ยลงครึ่งหนึ่งเลย คราวนี้ก็จะส่งผลต่อผลผลิต กลายเป็นว่าผลผลิตต่อไร่ลดลง

แต่ในเรื่องนี้เองก็มีจุดหนึ่งเหมือนกันที่กระทรวงเกษตรฯ ทราบมานานแล้ว ก็ทำมานานแล้ว น่าจะถึงเวลาที่จะทำได้ คือเรื่องการทำเกษตรแม่นยำ ในแปลงเพาะปลูกแต่ละแปลงที่จะเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ส่วนตัวคิดว่าคือขุดดินก่อนว่ามีแร่ธาตุอะไรอยู่บ้าง จะได้ไม่ต้องใช้ปุ๋ยครอบจักรวาลอย่างที่เคยทำมา ใส่ปุ๋ยลงไปก็เป็นต้นทุนมหาศาล คราวนี้ตรวจดินก่อนและถ้ารู้ว่าขาดแค่ตัว P หรือตัว K ก็ใส่อย่างเดียวได้หรือไม่ พอทำแบบนี้ต้นทุนก็จะลดลง เกษตรกรก็อาจจะไม่ต้องจ่ายแพงอย่างที่เคยจ่ายก็ได้ ตรงนี้ก็อาจจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่เป็นทางออกทางรอดด้วยเช่นกัน


ถึงตรงนี้ ไทยควรจะปลูกอะไรบ้าง

สินค้าที่มีความต้องการมากๆ ในเวลานี้จะมี 2 หมวดคืออาหารคนกับอาหารสัตว์ สำหรับอาหารคนอะไรก็ตามที่สามารถทดแทนข้าวสาลีได้ เราก็ยังลุ้นว่าข้าวเราจะไปทดแทนในบางประเทศที่เขาบริโภคทั้งขนมปังและบริโภคทั้งข้าวด้วย เพราะอยู่ดีๆ จะไปส่งออกให้กับประเทศที่เคยบริโภคขนมปังอย่างเดียวอันนี้ยาก ส่วนอีกทางออกหนึ่งคือกลุ่มประเทศที่เขามีรายได้ไม่สูงมากนัก แต่เคยบริโภคข้าว ตรงนี้มีโอกาสแน่นอน เพราะข้าวสาลีแพงขึ้นไปมาก อย่างข้าวสาลีที่นิยมบริโภคกันทั่วโลกมากๆ คือเอาไปทำอาหารได้หลายอย่างและเป็นอาหารพื้นฐานด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขนมปัง พิซซ่า ซาลาเปา และก็ยังมีขนมต่างๆ ที่ทำจากข้าวสาลีแล้วอร่อย ก็กลายเป็นว่าประชาชนในโลกนี้ รู้จักข้าวสาลีอย่างดี บริโภคกันมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวเองก็มีบริโภคในบางโซน แล้วบางประเทศที่บริโภคได้ทั้งสองอย่าง ตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสเช่นกัน ส่วนนี้คือตัวแรกที่จะไปทดแทนข้าวสาลี

อีกตัวหนึ่งที่ยอดส่งออกกลับมาพุ่งสูง จริงๆ ไม่ได้พูดถึงเลยคือน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลมาจากเปลือกอ้อย บังเอิญว่าด้วยระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก ตัวอ้อยเองสามารถทำเป็นทั้งพลังงานก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ ก็เลยมีตลาดส่งออกทั้งสองอย่าง เลยกลายเป็นว่าตัวนี้กลับมาขายดี

ส่วนตัวที่ล่าสุดมาสัมพันธ์เรื่องข่าวที่มาเลเซียงดส่งออกไป คือมาเลเซียคิดแนวเดียวกัน คล้ายๆ กับอินโดนีเซียในเรื่องน้ำมันปาล์ม เพราะพอราคาในประเทศขยับสูงขึ้นจนประชาชนเดือดร้อน เขาก็ไม่ส่งออกเพื่อให้ปรับสมดุลราคาในประเทศก่อน เชื่อว่าเขางดได้ไม่นาน

อีกเรื่องคือไก่ ที่มีต้นทุนหลักๆ มาจากเรื่องของรากเหง้าคือมาจากอาหารสัตว์ ซึ่งอาหารสัตว์ก็มาจากพืชด้วย ที่จะต้องมีปุ๋ยที่ไม่แพงเกินไป ซึ่งถ้าจัดการจากต้นทางได้ ทั้งมาเลเซียหรือเราก็จะได้ไม่มีปัญหากัน เพราะเพิ่มเรื่องของการผลิตได้ บ้านเราเองถือว่าเป็นจังหวะดี เพราะก่อนหน้านี้จะมีอานิสงส์ด้านหนึ่งอยู่แล้วคือเรื่องไก่ คือหลายๆ ประเทศเจอปัญหาเรื่องของไข้หวัดนก แต่ของเราควบคุมได้ดีตั้งแต่เราเคยเจอไข้หวัดนกเมื่อประมาณกว่า 10 ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็จัดการได้ดีมาตลอด ก็เป็นที่เชื่อถือของทั่วโลก ก็ถือว่าเรามีในเรื่องของการไปเจาะตลาดที่ยากๆ หน่อย ซึ่งเป็นตลาดที่มาเลเซียเคยทำไว้ ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เขาซื้อจากมาเลเซียไม่ได้ แน่นอนเราก็มีโอกาสไปเจาะตลาดเขาได้ เพราะในช่วงปกติการแข่งขันสูงระหว่างเรากับมาเลเซีย การที่จะไปแลกลูกค้ากันหรืออะไรกันไม่ได้ทำกันง่ายๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกตัวที่มีโอกาส

จริงๆ มีพืชอีกหลายอย่างที่มีโอกาส แต่ในช่วงวิกฤตแบบนี้มักจะนึกถึงพืชที่เป็นลักษณะ ที่เราเรียกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ หรือผลิตกันเป็นจำนวนเยอะๆ เพื่อประชาชนทั่วโลก ตรงนี้จะกลับมา


ไทยเป็นครัวไทย ครัวโลก เป็นที่พึ่งของเขาโลก และไทยไม่ได้มีการห้ามส่งออกอะไร เรียกว่าผู้ซื้อประเทศต่างๆ ก็ยังให้ความเชื่อถืออาหารของไทย

ถูกต้อง ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของไทยเลยในเรื่องอาหาร สำหรับเรื่องความกังวลว่าจะขาดแคลน เราเบาใจได้ เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีพื้นที่ภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ลองไปดูได้ ประเทศต่างๆ ที่เขากังวลมากๆ และเดือดร้อนเรื่องนี้มากๆ เรื่องเงินเฟ้ออะไรต่างๆ ที่พุ่งไปสูง เขาจำเป็นต้องนำเข้า เพราะไม่สามารถปลูกเองได้ ตรงนี้เป็นก้าวแรกเลย แต่ส่วนที่เราต้องระมัดระวังคือเรื่องต้นทุน แน่นอนต้นทุนขึ้น ราคาสินค้าอะไรก็ขึ้นหมด จะทำอย่างไรให้ไม่ขึ้นสูงจนเกินไป ต้นทางสำคัญตั้งแต่ปุ๋ย เรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไรที่ดี เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำมาระยะหนึ่งแล้ว จะต้องดูแลกันต่อไป เรียกว่าเปิดสภาพการแข่งขันให้มากที่สุด ให้มีการนำเข้าสิ่งเหล่านี้เข้ามาได้โดยสะดวกมากขึ้น หรือตัวไหนมีกำแพงภาษีก็อาจจะลดลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ และทำให้เราแข่งขันได้


ราคาอาหารที่ไทยส่งไปขาย ตอนนี้เป็นอย่างไร

สูงขึ้นตามต้นทุนแต่ละสินค้า ถ้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปจะมีอีกตัวหนึ่งที่มาเกี่ยวข้องคือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถ้าเป็นกระป๋องจะทำจากเหล็ก ทำให้ราคากระป๋องขยับขึ้น โดยเฉพาะกระป๋องเปล่าขยับขึ้น 80% แล้วยังมีราคาวัตถุดิบที่ขยับขึ้นมาอีก ตัวนี้เวลาที่เสนอราคากันในต่างประเทศเราก็ไม่ได้ถึงกับเอาต้นทุนทั้งหมดมาบวกเพื่อเสนอราคาขาย ก็แบ่งเบากันไป เฉลี่ยแล้ว 10% บวกลบที่อยู่ในหมวดนี้ ส่วนในสินค้าอื่นๆ ก็แตกต่างกันไป ตามต้นทุน แต่ว่าโดยรวมแล้วถ้าเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกก็จะมีการปรับขึ้นมาสัก 5% ขึ้นไป ทั้งนี้ ตัวที่แพงจริงๆ คือค่าขนส่ง บางประเทศเพิ่ม 2 เท่า บางประเทศเพิ่ม 5 เท่าจากที่เคยจ่ายค่าขนส่ง เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อในประเทศผู้นำเข้าทั้งหลายที่เขาเจอตัวหลักมาจากค่าขนส่งสินค้า แล้วปัจจุบันยังมีเซอร์ชาร์จจากค่าน้ำมันอีกด้วย คือค่าน้ำมันขึ้นเท่าไหร่ก็บวกเข้าไปตามนั้น

190 views
bottom of page