Interview : ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
แจง...คนตกงานจริงจากโควิด-19 ระบาดรอบ 3 มากกว่าตัวเลขที่ภาครัฐประเมิน เหตุมีคนตกงานที่ไม่ถูกนับรวม เช่นคนตกงานจากเมืองใหญ่กลับไปชนบท คนทำงานที่ถูกลดเวลาทำงาน ถูกลดค่าจ้าง คนตกงานที่เป็นแรงงานสีเทาซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบคนมีงานทำ แถมยังมีเด็กจบใหม่อีกเพียบที่ไม่มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว แนะรัฐ..ต้องยกเครื่องเปลี่ยนนิยามการว่างงานใหม่เพื่อให้สอดคล้องความเป็นจริง พร้อมเตือนแรงงานยุค Next Normal ต้องเก่งด้านเทคโนโลยี ให้เข้ากับยุคที่เครื่องจักรกำลังเข้ามาแทนที่ และต้องท่องคาถาสำคัญ 4 ข้อ 1. ไม่เกี่ยงงาน 2. ไม่เป็นมนุษย์เจ้าปัญหา 3. ทำตัวให้คุ้มค่า-มีคุณค่า 4. ต้องมีก๊อก 2 ไว้รองรับกรณีตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว
จากการติดตามความคิดเห็นของดร.ธนิต ดูว่าค่อนข้างหนักใจมากกับเรื่องแรงงานกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19
ต้องบอกว่าหนักใจ เวลาอย่างนี้เรื่องแรงงานถือเป็นเรื่องที่ต้องกังวล เพราะแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจมันคู่กัน คือเราไม่ค่อยเจอด้วยซ้ำไปที่เรื่องโรคระบาดจะมาพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจ รอบนี้วิกฤตเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้เกิดเหมือนกับที่ผ่านมา เรื่องการเงิน เรื่องการใช้จ่าย และภัยต่างๆ มันมาจากเรื่องโควิด-19 และมันเป็นทั้งโลก พอไม่กินไม่ใช้ กลัว ไม่เดินทาง อะไรก็หยุดชะงักทั้งหมด
สำหรับประเทศไทย ถือว่าเราถูกกระทบมากกว่าชาวบ้านเขา ในอาเซียนด้วยกันถือว่าเราถูกกระทบมากกว่าเขา เพราะเราพึ่งต่างชาติในสัดส่วนที่สูงมาก ส่งออกปีที่แล้วไม่ดีเพราะคนไม่ใช้จ่าย ส่งออกของเราก็ติดลบ นอกจากนั้น เราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว สมัยก่อนเราก็ภูมิใจ ท่องเที่ยวเราติดท็อปเทนของโลก พอท่องเที่ยวหายไปกว่า 40 ล้านคน ซึ่ง 1 คนทานข้าว 3 มื้อต่อวัน คิดดูว่าเงินหายไปเท่าไหร่ พอเราทำท่าว่าจะฟื้นตัว เพราะเดือนตุลาคมปีที่แล้วมีสัญญาณการฟื้นตัว เราก็คิดว่าปลายไตรมาสหนึ่งปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมา แต่สุดท้ายไม่เป็นตามนั้น มันเหลืออยู่แค่นี้ ทุบกระปุกกันมานานแล้ว พอมาเจอรอบนี้นึกภาพแล้วกัน เงินที่ออกจากกระปุก หรือผ่อนผันกับแบงก์ ปรับโครงสร้างหนี้ยืดหนี้อะไรต่างๆ โดยหวังว่าเดือนเมษายนจะโงหัว พอรอบสองแจ็กพอตเลย เหมือนคนตกเครื่องบิน ก็หนักเลย
ดูเหมือนคนในแวงวงแรงงานจะเงียบๆ ไม่ค่อยมีใครออกมาเคลื่อนไหว
ก็เราไม่ได้เอาไมค์ไปจ่อปากเขาไง อย่างไรก็ดีต้องแยกก่อนว่านักธุรกิจเขาต้องระวังตัว ส่วนตัวเคยเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรม ซึ่งเพื่อนดันให้พูด โดยการพูดสาธารณะ ซึ่งคุณต้องไม่มีแผล เพราะรัฐบาลเขามองเรา แบงก์ก็มองเราว่าคุณพูดเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี หรือคุณไม่ดีหรือเปล่า ลองนึกภาพว่านักธุรกิจที่จะออกมาพูดสาธารณะเขาก็จะต้องกังวลนิดนึง แต่ส่วนตัวถือว่าเราก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เราก็กล้าพูดในสิ่งที่เราพบเห็นและที่อยู่ในองค์กร ผ่านมาเยอะแล้ว เป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมอยู่หลายปี และตอนนี้อยู่ในองค์กรสภาที่เกี่ยวกับแรงงานของนายจ้าง องค์กรของรัฐบาลคือไตรภาคี เราก็มาพูดสะท้อน
แต่ก็ไม่ได้บอกว่าทุกเซ็กเตอร์จะแย่หมด บางเซ็กเตอร์เขาก็ยังดีอยู่ คือปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจและแรงงานมันอยู่ตรงที่คุณอยู่ภาคไหน ตรงคลัสเตอร์ไหน หมายความว่าฝนตกเที่ยวนี้มันทั่วฟ้าก็จริง แต่บางคนอยู่ในบ้าน มีร่มใหญ่ๆ กางอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ไม่โชคดีแบบนั้น แต่ใครอยู่ในภาคท่องเที่ยวก็นึกภาพดูแล้วกัน เป็นไกด์ มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์ ส่วนนี้ก็น่าเห็นใจ ปิดไปกันมาก แล้วก็ไม่รู้จะฟื้นเมื่อไหร่ ถ้าคุณอยู่ในภาคส่วนนี้ คือปูเตียง นั่งเครื่องบินมา แท็กซี่ก็ได้เงินแล้ว ไปร้านอาหาร เข้าโรงแรมเช็กอิน คนในโรงแรมถือกระเป๋าก็ได้ทิปอีก ไปภูเก็ตไปแหล่งท่องเที่ยว มีเด็กขายดอกไม้ ซึ่งในส่วนเกี่ยวเนื่องภาคท่องเที่ยวมีคนอยู่ประมาณ 2.9 ล้านคน และต่อมาคนที่อยู่ภาคค้าปลีก อยู่ในห้าง คนที่ไปเปิดร้านอยู่ในห้าง คนไม่เดิน และรอบนี้คนกลัวมาก ร้านค้า ร้านอาหาร นวดแผนโบราณ เรายังไม่ได้พูดถึงสถานบันเทิง พวกแรงงานสีเทา คือแรงงานที่ไม่ปรากฏตัวร่วมแสนคน คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบของคนมีงานทำ จากการสำรวจเราไม่ยอมรับว่าเขามีตัวตนเพราะมันผิดกฎหมาย มันก็กระทบหมด
มีการประเมินว่าคนว่างงานรอบนี้เพิ่มขึ้นมาก แต่อยู่ที่ว่าจะเอาตัวเลขรัฐบาลหรือเอกชนเขาทำกัน ถ้าเป็นตัวเลขรัฐบาลก็ไม่มาก ไตรมาสแรกคนว่างงานต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่มันก็ย้อนแย้งกับประกันสังคมปีที่แล้วที่มีตัวเลขคนว่างงาน 1.2 ล้านคน 30% เป็นคนที่ถูกเลิกจ้าง แล้วตัวเลขที่เห็นชัดก็คือคนที่อยู่ประกันสังคมมาตรา 33 เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ตัวเลขลดลง เขาก็ประเมินว่าอาจจะมีคนตกค้างอยู่ 1.4 ล้านคน มันมีคนว่างงานหรือคนเสมือนว่างงาน คือทำงานไม่เต็มเวลาเช่น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ทำกันอยู่ไม่ถึงครึ่ง ทีดีอาร์ไอเขาวิจัยออกมาว่ามีสัก 10.3 ล้านคนที่ทำงานไม่เป็นเวลา แต่รอบนี้เขาก็มีการวิจัยว่าถ้าไปถึงเดือนมิถุนายนก็จะมีคนเสี่ยงอีกกว่า 1.4 แสนคน คือมีการปิดภัตตาคารปิดอะไร เห็นว่า ม.หอการค้าไทยเขาวิจัยออกมา อย่าลืมว่าเรามีเด็กจบใหม่ด้วย เด็กพวกนี้จบมาช่วงต้นๆ เดือนเมษายน ยังไม่เคยทำงานเลย แล้วจบในปีที่เขาไม่รับคน และในปีที่แล้วไม่รู้ว่าสะสมไปแล้วอีกเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพียงแต่ว่าเราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ที่ไหนในโลกที่มีวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ ก็จะมีวิกฤตว่างงานตามมาหมด ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ทุกประเทศ แล้วเราจะมาบอกว่าเราเก่งอยู่คนเดียว เราไม่มีการว่างงาน แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ ก็มีการวิจัยเหมือนกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นนักวิชาการของแบงก์ชาติ เขาก็วิจัยส่วนตัว ทีดีอาร์ไอเคยคุยกับผมว่าประมาณ 70% ของคนที่ออกจากงานเขาอยู่ในเมืองไม่ได้ ต้องกลับบ้าน ประเมินว่าน่าจะประมาณ 2 ล้านคน
หอพักที่ให้เช่าก็ว่างหมด
ใช่ว่างหมด คนไปอยู่ในชนบท แต่ปัญหารอบนี้คือไม่มีครั้งไหนที่จะสูงเท่าปีนี้ และจากที่สำรวจใครก็ได้ช่วงนี้ ทำงานสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง จะได้เงินก็ได้ ไม่ได้เงินก็ได้ ถือว่าเป็นคนที่มีงานทำ ส่วนคนที่อยู่ในชนบทก็ไปช่วยถอนหญ้า ช่วยโน่นช่วยนี่ทำงานบ้าน ก็ถือว่าเป็นคนมีงานทำ สิ่งนี้คือต้องเปลี่ยนนิยามการว่างงานของเรา ในต่างประเทศเขาจะสรุปคนว่างงานกันระหว่างเมืองกับชนบท
วันแรงงานที่ผ่านมาที่ยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี แรงงานมีการออกมาเดินประท้วง ส่วนของไทยเงียบเลย
บ้านเขาอย่างยุโรปสังคมเป็นคนเมืองแท้ๆ และไม่มีสังคมครัวเรือนรองรับ คือเขาจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ออกจากบ้านไปเลย เขาไม่อยู่กัน ตายายก็อยู่กันแค่ตายาย ลูกก็ไปของลูก สังคมชนบทของเขามันไม่มีคน เขาใช้เครื่องจักร 100% ดังนั้น เขาไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ในเมือง แต่บ้านเรา พอตกงาน ก็กลับบ้าน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล พอตกงานก็ย้ายกลับบ้านหมด ซึ่งมีงานวิจัยรองรับตัวเลขนี้ชัดเจน กลับบ้านหมดไป อยู่ต่างจังหวัดก็มีกิน อย่างน้อยก็ไม่อดตาย พ่อแม่ก็ยังอยู่ ก็อยู่ได้ คิดว่าสังคมไทยมีเสน่ห์ตรงนี้ และเราก็มีอาชีพแม่ค้าแผงลอยอะไรที่กฎระเบียบไม่เยอะ เข็นรถมาหน่อยก็ขายส้มตำ ขายโน่นขายนี่ แต่กฎหมายต่างชาติเขาแรง จะไปทำรถเข็นรถอะไรต้องมีใบอนุญาต ก็เป็นความแตกต่างกันระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานต่างชาติ จะมาเทียบกันไม่ได้
จากนี้แรงงานจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เมื่อเจอโควิด-19 กระทบ
เราควรมองไปอนาคตแล้ว โควิด-19 ถ้าฉีดยาได้ตามที่วางไว้ 70-80% คิดว่าปลายปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะเขาทำกันทั่วโลก ก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวไปถึงปีหน้า เวลาเรามองเรื่องแรงงานก็มองถึงการจ้างงานในความที่ผิดปกติจนกลายเป็น Next Normal อนาคต ที่สำคัญก็คือเทคโนโลยี การใช้หุ่นยนต์ ในโรงงานใช้ออโตเมติก ใช้ระบบอัตโนมัติ มันมาก่อนโควิด-19 อยู่แล้ว มันมาก่อนล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2560 ส่วนตัวเคยไปดูโรงงานที่อีอีซี เขาก็เริ่มเอาคนออก แล้วใช้เครื่องจักร เช่น เครื่องกลแขนยก 1 ตัวในโรงงาน จากเคยใช้ 10 คนเหลือคนเดียว ส่วนในค้าปลีกค้าส่งก็มีอีคอมเมิร์ซเข้ามาทดแทนกันเยอะ ขณะโลจิสติกส์ ก็มีเครื่องทุ่นแรงมาช่วยเยอะขึ้น คือโลกมันเปลี่ยน
พฤติกรรมครั้งนี้ ที่เรามี Work from Home นายจ้างก็เห็นว่า 3-6 เดือน ก็ยังทำงานกันได้ งั้น Next Normal ต่อไปนี้คุณทำงานกันที่บ้านได้หรือไม่ มันจะเกิดภาพนี้ นายจ้างก็ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ออฟฟิศ ค่าเช่าออฟฟิศบางที่เดือนนึงเป็นล้านบาท ก็จะประหยัดหมด ส่วนพนักงานที่ไปทำงานที่บ้านก็โอเค ได้อยู่กับครอบครัว มีความสุขดี แล้วมันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็เป็นฟรีแลนซ์ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย เปลี่ยนสภาพการจ้างงานไปเลย แต่ปัญหาคือคนที่อายุมากๆ จะทำอย่างไร
อีกเรื่องคือจะกินอะไรก็มากินกับครอบครัว ภาพเหล่านี้มันจะเกิดขึ้น คนจะไม่ออกนอกบ้านมากขึ้น จะใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น ซื้อของก็ไม่ต้องไปที่ห้าง ก็สั่งให้เขามาส่ง เราก็มีความรู้สึกว่าสะดวกสบายดี ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคและพฤติกรรมของลูกจ้างเองที่ Work from Home เป็น Next Normal จะเป็นการใช้เทคโนโลยี อุตสาหกรรมเจอรอบนี้ ก็จะเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น คนทำงานติดเชื้อโรค ทำงานไม่ได้ ธุรกิจเสียหาย ในบางโรงงานเป็นพาร์ตเนอร์เป็นหุ้นส่วนกันที่สมุทรสาคร ตอนนั้นเจอโควิด-19 เข้าไป หยุดงานเป็นเดือน นึกภาพดูแล้วกัน ต้องจ่ายค่าจ้างลูกน้องด้วย ไม่สนุกนะ
ดังนั้น จากนี้การลงทุนใหม่จะใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ และในจังหวะเดียวกันค่ายรถยนต์ก็ไปสู่ยุคอีวี รถไฟฟ้า ทุกอย่างเปลี่ยนหมด อุตสาหกรรมทำเบรก ทำท่อไอเสีย หม้อน้ำมันจะหายไป มันเป็นจังหวะที่มีการปรับเปลี่ยน ทุนใหม่จะเป็นเทคโนโลยีหมด และส่วนหนึ่งจะย้ายฐานการผลิตมากขึ้น ไปเวียดนาม ไปกัมพูชา คิดว่า Next Normal ที่เรากำลังพูดกันเราจะทำอย่างไร มันเกี่ยวข้องทั้งคนหนุ่มสาว วัยกลางคนและแรงงานสูงวัย โดยแรงงานสูงวัย ข้อบัญญัติขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศเขานิยามว่า 45 ปี ไม่เหมือนคนสูงวัย 60 แรงงานสูงวัยด้วยนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ LLO เขาวางไว้ที่ 45 ปี คนกลุ่มนี้จะลำบากหน่อย เพราะ 1. ต้นทุนสูง อยู่มานาน ค่าจ้างสูง 2. ผลตอบแทน ดูแล้วไม่ค่อยคุ้ม 3. ต้องมาเรียนรู้ของใหม่ๆ ดังนั้นเอาเด็กๆ มาดีกว่ามั้ย ถูกกว่า สดใสกว่า ถ้าท่านอายุอยู่ระหว่าง 45-50 ปี เราก็ต้องวางแผนชีวิตของเราเอาไว้เหมือนกันสำหรับผู้ที่เป็นลูกจ้าง ส่วนนายจ้างเขาต้องเปลี่ยนอยู่แล้วเพื่อความอยู่รอดของเขา ดังนั้น เด็กหนุ่มสาวต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี
คาถาสั้นๆ สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างสัก 4 ข้อ คือ 1. อย่าไปเกี่ยงงาน เวลานี้ไม่ใช่เวลาเกี่ยงงาน ไม่ใช่เวลาเกี่ยงค่าจ้าง 2. อย่าไปเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา เดี๋ยวขาดงาน เดี๋ยวสาย ให้ทำนั่นก็เกี่ยง เป็นปัญหาไปหมด 3. ทำตัวให้คุ้มค่า เวลานายจ้างจะปรับเปลี่ยนอะไร เราจะได้อยู่ในข่ายที่เขาจะเก็บเอาไว้ และข้อสุดท้ายคือ ก๊อกสอง สำหรับสถานประกอบการก๊อกสองเขาเรียกว่า BCP (Business Continuity Planning) คือมีแผนรองรับ ดังนั้น ตัวพนักงานเราก็ต้องดูด้วยว่าทำงานอยู่ในธุรกิจอะไร ถ้าเป็นโรงแรมก็เหนื่อยหน่อย หรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากโควิด-19 ฟื้นตัวยากตรงนี้มีความเสี่ยง คุณก็ต้องมองก๊อกสอง ถ้าเราไม่วางแผน พอโรงงานปิด บางคนร้องไห้เลย แต่ถ้าเราวางแผนไว้ว่าถ้าเราต้องออกจากงาน บริษัทอยู่ไม่ได้ จะทำอาชีพอะไรต่อไป ถ้าเราวางแผนตอนที่งานยังมีอยู่ คุณจะไปทำอาชีพอิสระ หรือไปเสริมความรู้ใหม่ต่างๆ เวลาเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวังจะตั้งสติได้ ไม่สติแตก
อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานผ่านนายจ้างอย่างไร
อย่าให้เขาเจ๊ง ให้เขามีสภาพคล่อง ซึ่งรัฐบาลมีเงินอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เขามีสภาพคล่องให้ได้ เขามีอยู่แล้ว เขาวางไว้สภาพคล่องเหลือ 2.5 แสนล้านบาท ทำอย่างไรให้ถึงกลุ่มเปราะบางจริงๆ จะใช้วิธีแบบปัจจุบันอย่างธนาคารเขาทำก็คงเข้าไม่ถึง ติดหลักประกัน แต่จริงๆ คือธนาคารคือเงินมีอยู่แล้ว
Comments