ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
นักเศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐกิจทั่วโลกยังย่ำแย่ แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะฟื้นตัวได้ดีกว่า-เร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภายใน ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีจะเอาตัวรอดได้ดีกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก นาทีนี้จีนได้เปรียบมากสุดด้านเศรษฐกิจ แต่คู่กัดอย่างอเมริกายุค โจ ไบเดน จะยังแซะจีนไม่เลิก จ้องปิดล้อมจีนในทุกรูปแบบทั้งสงครามการค้า เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การสื่อสาร เทคโนโลยี ฟากจีนพร้อมสู้ยิบตา นำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากขึ้นในเขตทะเลจีนใต้-ทะเลจีนตะวันออก ส่วนคนไทยเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง รายได้หด ค่าครองชีพสูงโด่งทั้งอาหาร ค่าเดินทาง ขนส่ง ในขณะที่งบอัดฉีดประชานิยมเริ่มแห้งขอด รัฐเร่งถอนขนห่าน ขยายฐานจัดเก็บภาษีเพิ่ม
ประเมินวิกฤตขณะนี้อย่างไร
วิกฤตที่ผ่านมาเหมือนแหล่งน้ำ คือเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมันไปด้วยกัน มันไปช้ามาก พอเริ่มฟื้นตัวแบบช้าๆ ก็มีปัญหาใหม่เข้ามา มีเชื้อไวรัสระบาดเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไป แม้จะไม่ได้โจมตีแบบสงครามที่มีการทำลายบ้านเมืองเสียหายจนต้องบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ทำให้เศรษฐกิจหยุดไป ส่วนที่หยุดไปมากคือเศรษฐกิจฟุ่มเฟือยหรือเศรษฐกิจในเมือง ส่วนที่จำเป็นยังถือว่ากระทบน้อย อีกส่วนที่ถูกกระทบคือการติดต่อระหว่างประเทศ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ต้นทุนการส่งก็แพงขึ้น ตอนนี้เริ่มมีวัคซีนมาใช้เป็นระยะๆ และคงมีการนำมาใช้ต่อเนื่องต่อไป แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่จะตามมายังอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่ คือยังไม่ค่อยฟื้นตัว ต้องใช้เวลานาน ภาวะหนี้สินของรัฐบาล เอกชน และครัวเรือน ขยายมากในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโควิด ตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้ามาก
ถ้าสังเกตราคาหุ้นก็ปรับขึ้นมาแล้ว เป็นการปรับขึ้นมาล่วงหน้าว่าวัคซีนออกแน่นอนกลางปีนี้หรือไตรมาสแรกน่าจะมีภาพชัดขึ้น พวกที่ลงทุนในหุ้นปรับการประเมินใหม่หมด หุ้นก็ขึ้นมาพอสมควรแล้ว ถ้ามองตลาดหุ้นกับภาวะเศรษฐกิจต่อไปจะเริ่มไม่ไปด้วยกัน หมายความว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ราคาหุ้นมีการแกว่งตัว อันนี้เราต้องระวัง
ส่วนเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจเอเชียมีลักษณะน่าสนใจเหมือนกัน ถ้าเราดูแบบซอยย่อยประเทศพัฒนาแล้วที่ผ่านมาพอเจอโควิดจากการเป็นสังคมเมืองและเป็นประเทศหนาว การระบาดโควิดเกิดขึ้นง่ายกว่าประเทศในศูนย์สูตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นว่าสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลี พวกนี้จะถูกโจมตีหนัก บางส่วนของอินเดียก็ใช่โดยเฉพาะเขตโซนชุมชนหนาแน่น ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วจะมีปัญหามากในเรื่องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือช่วยประชาชนสูงมาก การช่วยเหลือในการใช้จ่ายส่วนมากไปได้ดีเพราะทำมาตรการไปแล้วก็นำไปใช้ ส่วนภาคเอกชนมักไปไม่ดี คือให้เยอะแต่ใช้น้อย เนื่องจากนักลงทุนไม่รู้จะลงทุนอะไร ในเมื่อช่องทางการกู้ดีขึ้นแต่ไม่รู้กู้แล้วจะคุ้มหรือไม่
เราจะเห็นว่าตัวเลขภาวะหนี้สินในเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนเริ่มขยายตัว หนี้ของภาคเอกชนขยายตัวมาก่อนแล้ว สิ่งนี้ทำนายได้คือในอนาคตการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ไปอย่างช้าๆ และมาตรการ QE ยังต้องใช้อยู่ต่อเนื่องจนถึง Q3 ของปีนี้ ซึ่งพวกนี้ต้องใช้ QE ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สหรัฐอัดฉีดหนักมาก ตอนนี้ถือว่าสูงแล้ว ก็คงพยายามชะลอให้อยู่ในระดับเรื่อยๆ
ในประเทศพัฒนาแล้วคิดว่าถูกกระทบด้วย 1. จากโควิดเยอะ 2. ใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะ ประเทศพวกนี้จะฟื้นตัวช้ามาก ประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วมีอยู่หลักๆ คือจีน ประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศที่มีความสามารถคอนโทรลโควิดได้ดีมาก และฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งจะไปได้ดี แต่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือส่วนใหญ่เศรษฐกิจจะไปได้ไม่ดีเพราะมีปัญหาโควิด อย่างอินเดีย ส่วนเวียดนามการระบาดของโควิดมีน้อย แทบจะไม่มี น้อยกว่าไทยมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงยังไปได้ดี
ในอนาคตการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะขยับดีขึ้นกว่าช่วงที่เกิดโควิดแน่ๆ แต่ประเทศที่จะดีขึ้นเป็นพิเศษ จะใช้เงินน้อยมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจีน ยกเว้นเกิดปัญหาขัดแย้งกับสหรัฐ อันนี้เป็นความเสี่ยงอีกประเภท อินเดียถ้าผ่านโควิดไปน่าจะกลับมาได้ดีเพราะสามารถพึ่งตลาดในประเทศได้ สหรัฐเป็นตลาดพึ่งเทคโนโลยีและตลาดภายในได้ก็ยังพอไปได้ดีพอสมควร ลาตินอเมริกาจะดีขึ้นในแง่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากขายได้ในราคาดีขึ้น แต่ทั่วโลกไม่สามารถผลิตได้มากกว่าแต่ก่อนแล้ว อินโดนีเซียดีขึ้นในแง่ประเทศผลิตโภคภัณฑ์ ลักษณะแบบนี้พอบอกได้ว่าประเทศที่พึ่งการบริโภคภายในจะได้เปรียบมากกว่าประเทศที่พึ่งการค้าระหว่างประเทศ ประเทศที่ส่งออกสินค้าเริ่มค้าขายยากเพราะการส่งออกแพงขึ้น บางอย่างเพิ่มเป็น 10 เท่าก็มี การทำการค้าแบบในอดีตมันเปลี่ยนไป จะส่งออกไม่ง่ายแบบเดิม บางสำนักบอกว่าประเทศในเอเชียจะดีมากเมื่อกลับมาค้าขายหลังโควิดจะเติบโตเร็ว แต่ผมคิดว่าอย่าคิดไปขนาดนั้น เพราะทั่วโลกจะไม่ดีมากเหมือนก่อนโควิด เพราะต้นทุนการขนส่ง การเดินทาง การติดต่อ แพงขึ้น ยกเว้นเทคโนโลยีที่พอจะไปได้
สำหรับพวกเราที่เป็นนักลงทุนถ้ามองประเทศเหมือนการลงทุนระยะยาวก็คงมองประเทศ 1. มีลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งตลาดภายในได้ เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย พอไปได้ 2. ประเทศที่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมาก เช่น จีน อินเดีย 3. ประเทศที่พึ่งเทคโนโลยีหรือสามารถทำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่รอดพ้นจากโควิดซึ่งจะเป็นจีนและสหรัฐ แต่ต้องระวังสงครามการค้า ยังต้องติดตาม แต่ก็เป็นแนวการมองยาวๆ
การเปลี่ยนตัวทรัมป์ที่แพ้ไบเดน แนวโน้มจะเป็นอย่างไร
จะมีนัย 2 อย่างต่อ 2 ประเทศ คือ 1. เรื่องจีน 2. ตะวันออกกลาง
เรื่องของจีนจะเป็นนโยบายใหม่ที่ออกมาของไบเดน คงไม่ไปเปลี่ยนนโยบายของทรัมป์มากเพราะเดโมแครตก็ไม่ชอบจีน แต่เดโมแครตใกล้ชิดกับนักธุรกิจมากกว่า ก็อาจไม่ใช้นโยบายที่กระโดดไปกระโดดมาแบบทรัมป์ แต่จะใช้นโยบายจัดการกับจีนทุกเม็ด เรียกว่าเปิดแนวรบกับจีนทุกดอก ที่ไม่เปิดแนวคือเรื่องภาษีศุลกากร แต่เดโมแครตมีนโยบายทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจได้ อันนี้ต้องระวังเพราะเดโมแครตมีแนวขยายประเทศ เรียกว่าบุกทุกประเทศ การปิดล้อมจีนมีแนวโน้มที่ปิดล้อมทุกจุด อันนี้เป็นนโยบายต่อจีนที่จะเปลี่ยนไป คือจะไม่โฉ่งฉ่างแต่จะไปแบบจุกจิก แต่จีนจะมีช่องทางดีขึ้นที่จะโจมตีตอบโต้สหรัฐมากขึ้น ในสมัยของทรัมป์จีนตอบโต้ทรัมป์ยากไม่รู้จะโฉ่งฉ่างมาแนวไหนและทำให้คอนโทรลไม่ได้ แต่พอเป็นเดโมแครตการคอนโทรลง่ายขึ้นเพราะอ่านทิศทางง่ายกว่าและมีการตอบโต้สหรัฐง่ายด้วย ซึ่งเราต้องรอดูว่าใน 2-3 ปีข้างหน้า ว่าจีนจะอยู่ในสภาพความพร้อมที่จะโจมตีตอบโต้สหรัฐหรือไม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต้องรอดูต่อไป
ต่อไปคือเรื่องตะวันออกกลาง เป็นเรื่องหลักใหญ่ของเดโมแครตคือหยุดสงครามในตะวันออกกลางและพยายามคงทหารในตะวันออกกลาง รวมทั้งเปิดช่องทางคุยกับอิหร่านให้มาก ซึ่งการคุยกับอิหร่านได้มากหมายความว่าอาจจะไม่บอยคอตอิหร่านเหมือนสมัยทรัมป์ที่ใช้มาตรการเศรษฐกิจบอยคอตอิหร่าน แต่เดโมแครตเอาทหารเข้าไปในตะวันออกกลางแล้วไม่บอยคอตเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้ทำให้การผลิตน้ำมันของอิหร่านเข้ามาในตลาดโลกได้และคลังน้ำมันจะได้รับผลกระทบ
หลักใหญ่ 2 จุดนี้ต้องคอยติดตามระมัดระวัง
การสร้างอาณาจักรการค้าอย่างไทยมี RCEP จะเป็นแต้มต่อมากไหม
เป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1990-2000 เป็นแนวคิดของประเทศต่างๆ หรือข้าราชการอยากให้มีการเปิดเสรีทั่วโลก พอถึงจุดนึงเปลี่ยนเป็นกลุ่มได้ไหมเพื่อให้ตัวเองมีน้ำหนักมากขึ้นในกลุ่มนั้นๆ สหรัฐก็มี TPP เพื่อให้ตัวเองมีจุดคอนโทรลส่วนนี้ได้ร่วมกับพันธมิตร แนวคิดพวกนี้เป็นเรื่องเก่า ผลจริงๆ น่าจะเป็นลักษณะปานกลาง คือผลไม่ได้เยอะจริงในทางเศรษฐกิจ และไม่ใช่นวัตกรรมทางนโยบาย แต่เป็นอะไรที่หลงเหลือมาจากยุค 1990 ส่วนใหญ่ทำมาจากหลังการรวมยุโรปเกิดแนวคิดการรวมกลุ่มขึ้นมา มาสูงสุดในช่วงก่อนหน้าทรัมป์สมัยโอบามาที่พยายามเปลี่ยนจากเอเปคมาเป็น TPP โอบามาอยากได้ TPP เพราะต้องการให้ตัวเองมีผลงานแต่มันก็คือเอเปค ถ้าจะเทียบเป็นอันเดียวกันก็ได้เพียงแต่ไปเพิ่มลาตินอเมริกามานิดหน่อย อันนี้เป็นแนวคิดผู้นำประเทศบางประเทศที่ต้องการผลงานให้ชัดขึ้นในยุทธศาสตร์เดิม
ในยุคที่สหรัฐอเมริกาจะมีการปิดล้อมจีน คิดว่าไบเดนจะมีการสร้างโครงข่ายการค้าใหม่ไหม
ปิดล้อมจีนมากขึ้นและไม่ใช่ทางการค้าอย่างเดียว ไม่เหมือนทรัมป์ที่ปิดล้อมเรื่องการค้าอย่างเดียว แต่เดโมแครตอยู่ที่ประธานาธิบดีจะว่าอย่างไรเป็นระบบสถานทูตบ้าง ข้าราชการต้องทำงานอย่างเป็นระบบ เขาต้องมาทุกจุดทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การเมือง สังคม วัฒนธรรม การสื่อสาร หรือแพลตฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะเข้ามาวุ่นวายในรอบๆ ประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องการปะทะกันในเขตทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก
อีกเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ Brexit สุดท้ายจะเป็นอย่างไร
Brexit อยู่ที่ยุโรป เพราะอังกฤษมีความผิดพลาดทางนโยบาย คือจะออกแต่ก็ไม่รู้จะออกแบบไหน เต็มตัวหรือบางส่วน พอหมดระยะเวลาของทรัมป์ก็จบ หมายความว่าถ้าจะออกมาเพื่อจับมือกับสหรัฐ ก็จับไม่ได้แล้วเพราะทรัมป์จบวาระแล้ว อังกฤษอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง มีอย่างเดียวคือเข้าร่วมหรือไม่เท่านั้น อำนาจต่อรองทางยุโรปก็แฮปปี้ แต่ท้ายสุดคิดว่ายุโรปตะวันตกรวมทั้งอังกฤษยังไม่ใช่เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก อังกฤษถ้ามีทรัมป์เขายังมีทางเลือกไปจับมือกับสหรัฐ ซึ่งทำให้ยุโรปอ่อนลง แต่ตอนนี้สถานการณ์เยอรมันก็ดีขึ้น ใน 1 ปีที่ผ่านมาอังกฤษก็ทำตัวไม่ถูกจะออกหรือไม่ออก 4 ปียังไปไม่ถึงไหน เพราะรัฐบาลตอบปัญหา Brexit ไม่ได้ ก็เป็นความล้มเหลวของอังกฤษ และยังเป็นปัญหาอยู่มาก
ขณะนี้สหรัฐพยายามฟื้นนโยบายหมาป่ากับลูกแกะ เพียงแต่ว่าจีนไม่ใช่ลูกแกะ อันนี้ก็เป็นปัญหา ซึ่งจีนก็โชคดีที่เป็นเดโมแครตเพราะจีนสามารถดำเนินนโยบายที่ชัดแจ้ง คือถ้าทำนโยบายการเมืองระหว่างประเทศแบบฮาร์ดคอร์ก็ทำได้แล้วเพราะสามารถอ่านเดโมแครตง่ายกว่า เพราะทรัมป์อ่านยากมาก ไม่รู้ว่ามาแบบปะทะหรือแบบไหน แต่เดโมแครตเป็นมวยเชิงมวยหลบ ไม่ใช่มวยแบบปะทะ และใช้หมัดฮุคเชิงมวยก็จะปิดล้อมแล้วโจมตีเป็นระยะๆ ถ้ามีแนวทางการต่อสู้หรือทำสงครามก็พออ่านได้ จีนก็วางนโยบายได้ง่าย
จีนจะเจอแบบที่ทรัมป์เคยทำไหม เช่นเล่นเรื่อง 5G จับ Tik Tok
ก็จะยาก เพราะเดโมแครตใกล้ชิดกับ Wall Street มาก เจ้าของพรรคจริงๆ คือใครก็ไม่รู้ รู้แต่ใกล้ชิดนักธุรกิจ เป็นพรรคที่ปกป้องนักธุรกิจ อันนี้เป็นเรื่องง่ายสำหรับจีน แต่ก็ยังลำบากในแง่ถ้าเจอแบบมาเป็นฝูงไม่ได้มาคนเดียวแบบทรัมป์ แต่ถ้าเทียบกันยุคเดโมแครตจีนต่อสู้ได้ง่ายกว่าเยอะ สามารถเล่นแนวทางต่อสู้แบบฮาร์ดคอร์ได้ ทรัมป์เล่นแนวฮาร์คอร์ไม่ได้เลยเพราะไม่รู้วันดีคืนดีทรัมป์จะทำอะไร
ทรัมป์เป็นมวยที่ไร้รูปแบบ
ถ้าเป็นภาษาการเมืองก็เป็นการเมืองใหม่ ทายท่วงทำนองไม่ได้ วันนี้ชกดีวันพรุ่งนี้ชกไม่ดี
เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย ถึงตรงนี้หายใจทั่วท้องไหม
ภาพชัดขึ้นคือประมาณการเศรษฐกิจมันไม่ได้แย่เหมือนต้นปี 2563 ที่ทางการมองไว้ ถ้าทางการมองไว้แบบติดลบ 8-10 บางคนมองลบ 12 ซึ่งคงไม่ถึงขนาดนั้น
แต่เรื่องนี้ต้องให้เครดิตอาจารย์ตีรณบอกว่าอย่ากลัวเกินเหตุ
คือเราประมาณการติดลบมากไปนิดนึงเพราะการบริโภคต่างๆ ใน sector ทั่วๆ ไปไม่ได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด อีกส่วนเป็นเพราะช่วงแรกน่าเป็นห่วงเพราะเรารู้จักโควิดน้อยมาก ไม่รู้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน และความสามารถขจัดความลำบากเป็นอย่างไร เราเรียนรู้ได้มากขึ้นในเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา เราพอมองออกว่าที่เราประเมินมามันเลวร้ายมากน้อยแค่ไหน แต่ช่วงนั้นก็ประเมินเลวร้ายพอสมควร ปี 2563 คิดว่าติดลบประมาณ 6-7% ก็ไม่น่าเกินนั้น แต่ sector ที่โดนหนักมากๆ คือ sector เกี่ยวกับการพักผ่อน ท่องเที่ยว โรงแรมระดับบน ร้านอาหาร ศูนย์การค้า จะได้รับผลกระทบมาก หรือธุรกิจเกี่ยวกับการรวมตัวของคนจะได้รับผลกระทบสูง โรงแรมบางที่อาจกลายสภาพเป็น state quarantine พวกนั้นทำได้ระดับนึงแต่ไม่ได้เรียกว่ากำไร ก็ลำบากเหมือนกัน เป็นเศรษฐกิจภาคใหญ่ปี 2562 ของไทยโต 2.4 ถือว่าโตต่ำมากทั้งๆ ที่เป็นช่วงก่อนโควิด โตแบบไม่น่าพอใจ น่าจะโตได้ดีกว่านั้นเยอะ พอปี 2563 ตกติดลบ 6% ขณะนี้ตัวเลขออกมาเริ่มดีขึ้น ส่งออก นำเข้า ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ปีนี้คิดว่าโตได้ 3-5% คิดว่าในระดับนั้นน่าจะพอไปได้ แต่จะเทียบต้นโควิดไม่ได้เพราะยังแย่กว่าช่วงนั้น ปีที่แล้วลงมา 6-7% แล้วปีนี้ขึ้นไป 3-5% ถือว่ายังไม่มากเท่าที่ควร
ส่วนเงินเฟ้อค่อนข้างชัดเจนว่าสินค้าเกี่ยวข้องอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เกษตรนั้นสถานการณ์ยังแย่อยู่ ความต้องการยังน้อย ตัวเลขเงินเฟ้อยังเห็นติดลบอยู่ ตัวเลขที่เกี่ยวกับอาหารก็ปรับตัวสูงขึ้น ตัวเลขตัวนี้ผมคิดว่าเป็นตัวที่ต้องระวังในอนาคตเพราะประชาชนที่รายได้น้อยพึ่งพาการบริโภคสินค้าอาหารมากต้องใช้งบ 60-70% ของตัวเองซื้ออาหารดำรงชีพ สินค้าพวกนี้จะแพงขึ้น สินค้าที่ไม่จำเป็นในการครองชีพจะถูกลงเพราะคนไม่อยากบริโภค แต่ของที่จำเป็นแพงขึ้น ปีที่แล้วขึ้นไป 2-3% ปีนี้น่าจะขึ้น 3-5% ถือว่าแย่มากสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย ปีนี้หรือปีต่อไปเป็นช่วงที่สินค้าทางการเกษตรจะแพงและแพงทั่วโลก เพราะค่าขนส่งแพงหมดและแพงมากๆ สินค้าวัตถุดิบจะขึ้นสูง สินค้าฟุ่มเฟือยจะเป็นสิ่งที่คนจะไม่สนใจ
ต้องเตรียมรับมือภาวะข้าวยากหมากแพง
ใช่ ต้องเตรียมตัว รายได้ก็ไม่ดี ค่าครองชีพแพงขึ้น ส่วนรัฐบาลใช้จ่ายเยอะและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องใช้ถึงอย่างน้อยไตรมาสแรกของปีนี้ คือมีนาคม-เมษายน แต่ตอนนี้เขาเลื่อนแล้วเพราะเขารู้ว่าจำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่สองจิตสองใจ เพราะกลัวถึงเวลาจริงไม่รู้ทำได้หรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่ต้องระวังว่าในอนาคตตัวเลขเศรษฐกิจภาครัฐบาลจะไม่ดี ปีนี้ทั้งเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้น
GDP ไทยที่เหมาะสมประมาณ 6% ถ้าบวกแค่ 3-5% จะเกิดอะไรขึ้น
ต้อง 5% เป็นอย่างน้อย ซึ่งก็แค่พอไปได้แต่ไม่ได้ดีขึ้น ประชาชนคนชั้นกลางลำบากมา 2-3 ปีแล้ว ส่วนนักธุรกิจใหญ่ที่ไปทำอสังหาริมทรัพย์ ซื้อโรงแรม พวกนี้ไม่ลำบากเพราะรวยมาก ถึงโรงแรมปิดไป 1 ปีก็ไม่เป็นไรเพราะเขาไม่ได้ยากจน แต่คนที่ทำงานในโรงแรมจะลำบาก ต้องไปหางานใหม่ เรียกว่าต้องตกงานเป็นปีๆ อเมริกาตอนนี้มีคนที่ตกงานมาประมาณ 2 ปีกว่าแล้วยังหางานทำไม่ได้
มีอะไรจะแนะนำรัฐบาลบ้าง
คือรัฐบาลพยายามใช้มาตรการที่คิดรายละเอียด ตอนนี้เริ่มมีรายละเอียด ตอนนี้คิดว่าจะทำอย่างไรให้โครงการที่ออกมาเตะตาได้ผลชัดเห็นเป็นรูปธรรม แต่ภาพ mission ยังเหมือนเดิมคือใช้เงินอนาคตมาช่วยเหลือไปก่อน พอเงินหมดก็จบ แต่ถ้าเงินไม่หมดก็สบายไป
ในแง่รัฐบาลผมคงไม่กล้าแนะนำเพราะถือว่าพวกนี้มีความรู้ความสามารถ เขารู้รายละเอียด แต่คิดว่าแนวทางที่ออกมาขณะนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ทำมา 20 ปี ถ้าเรียกแบบภาษาวิชาการก็เรียกว่าประชานิยม เอาใจประชาชนเพื่อให้รู้สึกว่าไม่ลำบากเพราะมีคนช่วยเหลือ แต่รายได้เป็นอีกภาพนึงที่ประชาชนจะไม่รู้ว่ากงสีมันหมดหรือยัง พอมีไหม แล้วเก็บเพิ่มกับใคร ขณะนี้เริ่มเก็บจากภาษีทรัพย์สิน
Comments