top of page
358556.jpg

พิษขึ้นดอกเบี้ย - แบงก์มะกันล้ม...ระวังเศรษฐกิจถดถอยกระทบไทย


จุดอ่อนโครงสร้างการเงิน-การธนาคารของอเมริกาเริ่มปะทุเมื่อธนาคาร 3 แห่งเจ๊งระนาว ทางการต้องเข้ามาควบคุมแก้ปัญหา หวั่นวิกฤตแบงกล้มจะลามเป็นลูกระนาดไปทั่วอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แพร่พิษกระจายไปถึงธุรกิจ start up ด้านเทคโนโลยีและตลาดหุ้น งานนี้ Fed แบงก์ชาติอเมริกา-ยุโรปหืดขึ้นคอ อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากนโยบายขึ้นดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อ ส่วนไทยแม้จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องแบงก์ล้ม แต่สุดท้ายจะถูกกระทบจากวิกฤตแบงก์ล้มในอเมริกา-ยุโรปในแง่ของการส่งออกที่จะลดน้อยถอยลงเมื่อลูกค้ารายใหญ่ในอเมริกา-ยุโรปถูกล้อมกรอบจากวิกฤตการเงิน-ธนาคารและภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสถดถอย


Interview : คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


ตอนนี้สถานการณ์ธนาคารในอเมริกาถูกปิดกิจการ 3 แห่งซ้อน ทำให้กลัวกันว่าจะซ้ำรอยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อีก เหมือนน้ำลดตอผุดขึ้น ปัญหาใหม่ๆ โผล่ขึ้นมา

ขณะนี้คนเริ่มคำนึงว่าประเทศสหรัฐ ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่นด้วยกดดอกเบี้ยไว้ต่ำเป็นระยะเวลานานมาก ทำให้การบริหารงานและกิจการของภาคเอกชนบูม แต่อาจเป็นการลงทุนการทำโครงการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีผลตอบแทนที่ดีเท่าที่ควร มันกำลังจะบีบทำให้ปัญหาโผล่ขึ้นมา แล้วปัญหาเวลานี้ที่โผล่ขึ้นมาส่วนแรกที่โผล่ชัดเจนคือเรื่องของธนาคาร Silvergate ซึ่งอาศัยการทำธุรกิจเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกของคริปโต กับโลกการเงินปกติ ปรากฏว่าโลกคริปโตเกิดฟองสบู่แตกเนื่องจากมีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐ ทำให้ธนาคาร Silvergate ประสบปัญหา รวมทั้งเกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นที่ธนาคาร Silicon Valley ลักษณะของปัญหาอย่างนี้เป็นการบ่งชี้ว่าสภาวะเศรษฐกิจมีจุดเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงที่ภายใน 2-3 เดือนอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาต่อตลาดเงินตลาดทุนในสรัฐและยุโรปเกิดขึ้นได้


ธนาคาร Silvergate ไม่ได้เป็นแบงก์ขนาดใหญ่ใช่ไหม

ธนาคาร Silvergate มีขนาดไม่ใหญ่เท่าไหร่ พอเวลาเกิดปัญหาคนเลยไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่เวลานี้ปัญหาลาม มาถึง Silicon Valley ที่มีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ใหญ่ถึงขนาดช้างล้มที่จะต้องมีข้อกังวลมากเป็นพิเศษ ยังไม่ถึงขั้นนั้น


ขนาดไม่ใช่ช้างล้ม แต่ฉุดให้หุ้นกลุ้มแบงก์ของดาวโจนส์ลดลงมาอย่างแรง และดัชนีก็ลงแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาจุดอ่อนอยู่ในโครงสร้างของระบบการเงินธนาคารซึ่งก่อนหน้านี้คนไม่คำนึงถึงเท่าไหร่ แต่เวลานี้ปัญหาที่โผล่ขึ้นมาคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย พอดอกเบี้ยสูงขึ้นทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือราคาพันธบัตรจะลดลง ใครที่ซื้อพันธบัตรช่วงดอกเบี้ยต่ำพอดอกเบี้ยสูงขึ้นมันก็ขาดทุน

ตัว Silicon Valley Bank ปรากฏว่าเป็นธนาคารยอดนิยมที่มีการเชื่อมโยงการลงทุนของพวก start up กับระบบการเงินปกติ หมายความว่า ถ้า start up มีการระดมเงิน มีการลงทุน มีการออกโครงการใหม่ พอได้เงินมาแล้ว start up เหล่านี้จะนำเงินไปฝากไว้ที่ Silicon Valley Bank สิ่งที่ธนาคารดำเนินการกับเงินฝากนี้ คือเอาเงินที่ลูกค้าฝากไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุนาน พอไปซื้อก็เกิดปัญหาว่าเวลานี้เมื่อตีราคาตามตลาดมันขาดทุน พอการขาดทุนของ Silicon Valley Bank มันมากจนทำไปทำมาทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตเขาบอกไม่ไหวแล้ว จะต้องมีการลดอันดับเครดิตของธนาคารก็บีบธนาคารให้ต้องหาทางแก้ปัญหา ต้องขายพันธบัตรในมือออกไปโดยยอมขาดทุนบ้าง หรือไม่ก็ต้องมีการเพิ่มทุนต่างๆ ซึ่งก็กำลังดำเนินการอยู่ แต่ปรากฏว่าข่าวรั่วออกไป คนเลยแห่ถอนเงิน ไม่นานธนาคารก็ไปไม่รอด

ลักษณะแบบนี้คือปัญหาที่บอกว่าธนาคารเอาเงินฝากไปลงทุนพันธบัตรระยะยาว เวลานี้ขาดทุนก็เป็นการขาดทุนที่ยังไม่ได้ลงบัญชี รู้อยู่ว่าขาดทุน สำหรับธนาคารไหนขาดทุนแบบนี้ ก็จะเกิดปัญหากับพวกบริษัทจัดอันดับเครดิตที่บอกว่าตรงนี้คุณต้องลดอันดับเครดิต เป็นการบีบให้ธนาคารมีการขายพันธบัตรออกไป

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดว่าไม่ได้เกิดเฉพาะธนาคารนี้ มันเกิดขึ้นกับทุกธนาคารในสหรัฐและประเทศตะวันตกไม่มากก็น้อย เป็นปัญหาที่เวลานี้คนเริ่มมองออกว่าจะเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด เพียงแต่ธนาคารไหนขาดทุนตรงนี้มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับทุน แล้วนำไปสู่ลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่เท่านั้นเอง

สรุปว่าเวลานี้สาเหตุที่คนตกอกตกใจ ราคาหุ้นอ่อนตัวลง มันไม่ใช่เฉพาะธนาคารนี้เท่านั้น ธนาคารนี้ขนาดตัวไม่ได้ใหญ่เท่าไหร่ แต่เป็นการบ่งชี้ว่ามีปัญหาแบบเดียวกันซ่อนอยู่เต็มไปหมด และปัญหาแบบนี้ไม่ได้แก้ง่าย


เหมือนตอนแฮมเบอร์เกอร์พอเปิดตรงนี้ก็มีตรงนั้น กรณี Silicon Valley Bank ปัญหาไม่ใหญ่ แต่ปัญหาคือไปซื้อพันธบัตรเอาไว้แล้วราคาตกทำให้ขาดทุน แล้วเกิดลดอันดับเครดิต แบงก์อื่นๆ มีสิทธิ์อยู่ในสภาพเดียวกับ Silicon Valley Bank ใช่ไหม

ถูกต้อง แล้วปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะที่สหรัฐและยุโรป ที่ญี่ปุ่นปัญหานี้ใหญ่มาก เพราะธนาคารชาติญี่ปุ่นที่ผ่านมาเขาใช้วิธีควบคุม กดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวเอาไว้ไม่ให้สูง กดไว้นานมาก พอกดแบบนั้นก็พิมพ์เงินออกมาเพื่อที่จะซื้อพันธบัตร กลายเป็นธนาคารชาติญี่ปุ่นเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นใหญ่มาก บางรุ่นอาจจะถึงครึ่งนึง เวลานี้เจอปัญหาแบบเดียวกัน คือเขาไปกดดอกเบี้ยที่เรียกว่า Yield Curve Control ไปพยุงราคาพันธบัตรระยะยาวเอาไว้ไม่ให้ลง พยุงไปเรื่อยๆ เวลานี้พยุงไม่ไหว เขาเริ่มประกาศว่าเวลานี้จะพยุงเหมือนกันแต่ขีดเส้นถอยไปอีกหนึ่งเส้น ประกาศเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ตรงนี้กำลังแสดงอาการของปัญหาออกมาว่าปัญหาเดียวกันนี้ในญี่ปุ่นก็มีเยอะ และเมื่อไหร่ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่นยันไม่อยู่แล้ว ต้องปล่อยให้ราคาพันธบัตรระยะยาวอ่อนตัวลงตามสภาวะตลาดเมื่อไหร่ก็จะเกิดปัญหาไม่ใช่เฉพาะต่อระบบธนาคารญี่ปุ่น แต่เนื่องจากมีการใช้สกุลเงินเยนเป็นการทำสัญญาอนุพันธ์มีการกู้ในสกุลเงินเยนเพื่อลงทุนในสกุลอื่นซึ่งผลตอบแทนสูงกว่า ทำอย่างนี้มามาก ทำให้ถ้าหากมีการพลิกทางแตกต่างจากเดิมเมื่อไหร่ระบบการเงินของโลกจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระเพื่อมครั้งใหญ่


นอกจากญี่ปุ่น มีข้อสังเกตน่ากังวลเหมือนญี่ปุ่นอีกมากไหม

มันก็เป็นแบบนี้หมด เพราะอาชีพของนายแบงก์คือพอมีเงินเข้ามาก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปซื้อตราสารต่างๆ ส่วนนึงเอาไปปล่อยกู้ อีกส่วนนึงปล่อยแล้วไม่มีลูกค้ามากู้ หรือกลัวความเสี่ยงจากลูกค้าเงินกู้ เขาก็เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เดิมไม่มีใครนึกถึงว่าจะมีใครขึ้นดอกเบี้ยมากมายอย่างนี้ ก็เลยนึกว่าพันธบัตรรัฐบาลปลอดภัยทั้งในแง่ความเสี่ยงด้านเครดิตและความเสี่ยงด้านราคา ที่ไหนได้มันปลอดภัยแค่ความเสี่ยงด้านเครดิต คือรัฐบาลไม่ล้ม แต่ความเสี่ยงด้านราคาไม่ปลอดภัย พอธนาคารแห่งชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐ เวลานี้จึงเกิดปัญหาขึ้นมาและปัญหาก็คล้ายกันหมด


เมื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างกรณี Silicon Valley Bank เชื่อมกับกิจการไฮเทคด้วย และไฮเทคในอเมริกาเฟื่องฟูในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นแบบนี้ธุรกิจไฮเทคต่างๆ น่าจะได้รับผลกระทบเหมือนกันใช่ไหม

ขณะนี้พวก start up ที่ระดมทุนมา ปรากฏว่าเอาทุนไปฝากไว้กับธนาคารที่ถูกปิด อันนี้ก็เหนื่อยแล้ว เพราะกลายเป็นว่า start up เขามีภาระต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกเดือน ตอนนี้เงินมันติดอยู่ กลายเป็นว่าไม่มีเงินจ่ายแล้ว ไม่มีจ่ายค่าเช่าออฟฟิศต่างๆ

เรื่องที่ 2 เวลานี้อัตราดอกเบี้ยสูง กลายเป็นว่าเดิมโครงการไฮเทคพอออกบริษัทมาขอให้มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจระดับนึง มีเงินมาใช้ในแง่ของบัญชี แม้ว่าไม่กำไร กำไรมีน้อย หรือขาดทุน แต่ก็มีคนสนใจที่ยอมลงทุนซื้อเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เก็บเงินไว้ผลตอบแทนก็ต่ำ ก็ไปซื้อหุ้นกลุ่มไฮเทค ถึงแม้ว่าไม่มีกำไรก็ไม่เป็นไร แต่พอดอกเบี้ยขึ้นสูงแบบนี้ เก็บเงินเอาไว้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นก็ได้ 4-5% ถ้าเป็นแบบนี้ความนิยมในการเอาเงินลงทุนไปซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทไฮเทคจะลดลง มันลดลงโดยรวมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเมื่อมาเจอปัญหาธนาคารที่เป็นตัวสนับสนุนหลักมันเกิดติดขัดไปด้วย อาการก็ไม่ค่อยดี


ได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กของอาจารย์ที่มีความกังวลเรื่องของสถาบันประกันเงินฝากใช่ไหม กรณี Silicon Valley Bank ปิดทำให้เงินกองทุนไม่พอใช่ไหม

ผู้ฝากเงินในอเมริกาได้รับความคุ้มครองเงินฝากแค่รายละ 250,000 ดอลลาร์ แต่คนที่ฝากเงินกับ Silicon Valley Bank แต่ละรายหลายล้านเหรียญ เงินฝากส่วนที่เกินตอนนี้ไม่มีรับประกัน ก็ต้องรอดูพอร์ตที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งซื้อมา 100 ตอนนี้ราคาเหลือแค่ 70 หรือ 60 ต่อไปจะเก็บเอาไว้แล้วรอกระทั่งฟื้นขึ้นมันจะเป็นไปได้ไหม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วธนาคารแห่งชาติทั้งอเมริกาและยุโรปเขาจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันสะเทือนแน่นอน


มองตามภาพแล้ว แผลในระบบการเงินเป็นแผลไม่ธรรมดา อาจลุกลามเป็นมะเร็งได้

คือมันเป็นแผลใหญ่ เพียงแต่เดิมแผลมันซ่อนไว้ที่ใต้ผิวหนัง มองไม่เห็น ขณะเดียวกันตัวเลขอื่นๆ ทำให้ดูแล้วเศรษฐกิจดี เหมือนไปได้ ตัวเลขที่ดูเหมือนว่าไปได้คือตัวเลขตำแหน่งงานซึ่งโผล่ออกมา ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ และตัวเลขของคนตกงานก็น้อย ทำให้คนมีความรู้สึกว่ายังไม่มีปัญหา แต่พอทำไปทำมาจริงๆ แล้วปัญหาที่อยู่ในระบบแบงก์มันกำลังปะทุหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าฐานะเงินกองทุนของแบงก์มันรองรับได้แค่ไหน

ปัญหานี้ไม่ใช่มีเฉพาะในสหรัฐแต่มีในยุโรปด้วย และยุโรปยังเจอปัญหาว่าไปแซงชั่นพลังงานรัสเซียทำให้ต้นทุนพลังงานในยุโรปสูงขึ้นมาก ในเมื่อต้นทุนการดำเนินการในการประกอบธุรกิจของธุรกิจใหญ่น้อยสูงขึ้นแบบนี้ แล้วบอกว่าระบบแบงก์ในยุโรปจะไม่มีลูกหนี้ NPL เพิ่มนั้นผมว่าเป็นไปไม่ได้ อันนี้เราต้องคิดว่าขณะนี้มีความเสี่ยงในระบบแบงก์ยุโรปทั้ง 2 ส่วน ส่วนนึงจากการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว อีกส่วนเกิดจากพอร์ตลูกหนี้ธุรกิจ SME ต่างๆ ที่ยังมีความเสี่ยงอีกส่วนนึง


กลุ่มที่เคยมองว่าจะไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกา หรือที่มองกันว่าตัวเลขการจ้างงานยังดีอยู่ ดอกเบี้ยต่อให้ขึ้นเศรษฐกิจก็ยังดี ถึงตอนนี้อาจจะต้องคิดใหม่ ดูแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัญหากำลังจะเกิดใช่ไหม

สำหรับกลุ่มที่คิดว่าเวลานี้ปัญหาต่างๆ เคลียร์ คลี่คลายได้ ฝีมือของเฟดของอเมริกาสามารถประคับประคองเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้อย่างนิ่มนวลที่เรียกว่า Soft Landing คือ บินลงอย่างสวยงาม ขณะนี้ต้องคิดใหม่เพราะมีความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมันกำลังโผล่ออกมาเรื่อยๆ


ที่เขาคาดการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเฟดที่จะมีการประชุมกันในเดือนมีนาคมนี้ คือจะไม่รุนแรง

ผมมองว่าอาจจะเข้าใจผิด ผมคิดว่าเฟดกำลังเจอปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าเวลานี้เขาขึ้นดอกเบี้ยผมว่าขึ้นเยอะไป เร็วไป จนกระทั่งเกิดปัญหา และเวลานี้เขาเริ่มเห็นแล้วว่ามีปัญหาตรงนี้ ถ้าเขายังขึ้นดอกเบี้ยอีกปัญหาจะยิ่งหนักขึ้นไปอีก ในระบบแบงก์ตรงนี้เขาคงรู้อยู่แล้วว่ามีปัญหา ขณะเดียวกันเวลานี้เศรษฐกิจในอเมริกากับยุโรปทำท่าจะชะลอตัว แต่เศรษฐกิจในจีน เอเชีย อินเดีย ยังไปได้อยู่ กลายเป็น 2 โลกแยกกัน เศรษฐกิจเอเชียที่ยังไปได้อยู่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย แร่ธาตุ พืชผล รวมถึงราคาพลังงานมันยังขึ้นสูงได้ สรุปเงินเฟ้อที่คิดว่าจะลงมันจะลงแค่ชั่วคราว แต่มองระยะถัดจากนี้ไปเงินเฟ้ออาจจะกลับขึ้นมาอีก ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ก็จะเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ เวลานี้ผมคิดว่าเฟดอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก


ประเทศไทยมีข้อกังวลไหมว่าเกี่ยวกับการถือครองพันธบัตร สถาบันการเงินต้องถือครองพันธบัตรแบบนี้แล้วมีปัญหาเรื่องผลตอบแทนระยะสั้นระยะยาว ถ้ามีปัญหาขึ้นมาสถาบันประกันเงินฝากเราจะเอาอยู่ไหมเพราะค้ำประกันแค่คนละ 1 ล้านบาทต่อบัญชี

ในแง่ของประเทศไทยการลดดอกเบี้ยขึ้นดอกเบี้ยของเราเกิดขึ้นไม่ได้มากนัก เราไม่ได้กดดอกเบี้ยใกล้ศูนย์เหมือนอย่างตะวันตก ในส่วนนี้ข้อกังวลต่อฐานะธนาคารในไทยไม่น่าจะเยอะ แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพราะในตลาดสหรัฐหรือยุโรปเวลาเศรษฐกิจชะลอตัวมันจะดึงเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เช่นละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก ให้อ่อนตัวลงไปด้วย ในส่วนนี้ตลาดส่งออกของไทยต้องแผ่วลงไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องวางแผนรองรับเอาไว้


จะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว จะมีใครมาดูแลทัน


ในเวทีการประชุมของสภาที่ 3 มีผมขึ้นไปพูดกับ ปรีดา เตียสุวรรณ์ และอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ เราพยายามหยิบประเด็นต่างๆ ขึ้นมาเตือนว่ามีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการวางนโยบายของพรรคต่างๆ ในการเลือกตั้งคราวนี้ เพราะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญและอันตรายต่อการบริหารเศรษฐกิจของไทย ก็หวังว่าพอเราพูดไปแล้วจะมีคนเอาข้อมูลตรงนี้ไปคิดพิจารณาเอาไปใช้ประกอบการวางนโยบายของพรรคใน

56 views

Comments


bottom of page