เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่อย่าอ่อนเกิน ถ้าอ่อนเกินค่าครองชีพคนไทยจะพุ่งสูง ต้นทุนทุกอย่างจะแพงหมดรวมทั้งต้นทุนท่องเที่ยว ทำไปทำมาที่หวังว่าค่าบาทอ่อนจะทำให้ต่างชาติมาเที่ยวไทยไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะข้าวของ อาหารการกินแพงเกินที่ต่างชาติจะรับได้ ชี้...ปลายไตรมาส 3 ภาพเศรษฐกิจของไทยจะชัดทั้งด้านดีและด้านเลวร้ายว่าสุดท้ายแล้วไทยจะแจวหรือจอด แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือประชาชนและ SME รายย่อย ที่ต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น กำลังซื้อถดถอย ปัญหาหนี้ครัวเรือนหนี้นอกระบบจะลุกลามนำไปสู่ปัญหา NPL ความยากจนเรื้อรังและความเหลื่อมล้ำทางฐานะ-ชนชั้น แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่เป็นลักษณะการค่อยๆ ปีนจากก้นเหวที่ยังต้องปีนกันอีกนาน และไม่ใช่ทุกคนจะปีนขึ้นมาได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น ภาครัฐต้องปรับนโยบายแบบซอยย่อยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาแตกต่างกันไป
Interview : คุณเกียรติอนันต์ ล้านแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตอนนี้ผ่านปี 2565 มาได้ครึ่งปีกว่าแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจดูแล้วไม่ค่อยจะดี ศรีลังกา พม่า ลาว มีปัญหา ยุโรปขึ้นดอกเบี้ย มองแล้วเป็นห่วงอะไรบ้าง
การที่ ECB ขึ้นดอกเบี้ยเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ผ่านมาธนาคารกลางยุโรปต้องการรักษาเสถียรภาพของราคาให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจนิ่งจะได้วางแผนระยะยาวกันได้ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน รัฐบาล พอมาเจอและช็อกกับเงินเฟ้อที่ขึ้นมา เขาจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อส่งสัญญาณสุดท้ายว่าเขาต้องการรักษาเงินเฟ้อภายใต้กรอบ 2% ให้ได้ ก็ท้าทายอยู่
การส่งสัญญาณตอนนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวเศรษฐกิจยุโรปเท่านั้น แต่จะกระทบประเทศไทยด้วย ผมมองประเด็นจะมีทั้งโชคดีและน่ากลัวเกิดขึ้นพร้อมกันเพราะเนื่องจากยุโรปมาจาก 2 ส่วน คือการส่งออกและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาโดยเฉพาะช่วงปลายปี ปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 เขาจะเริ่มอพยพหนีหนาวมาเมืองไทยแล้ว ในด้านการส่งออก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้คนในยุโรประมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จะลดกำลังซื้อในประเทศ ไทยอาจจะส่งออกยากในสินค้าบางตัว ประเด็นที่น่าอุ่นใจคือเงินบาทก็อ่อนค่าอยู่ ถ้า 2 ตัวหักล้างกันได้อย่างน้อยสินค้าพื้นฐานที่เขาจำเป็นต้องใช้ที่มาจากประเทศไทยยอดจะไม่ตกมาก ส่วนนักท่องเที่ยวคิดว่าต้องรอดู 2-3 เดือนว่าสุดท้ายแล้วเงินบาทที่อ่อนค่าลง กับที่เขาลดค่าใช้จ่าย จะทำให้กระทบนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหนเพราะอีกด้านเขาอั้นไม่ได้เที่ยวมานานแล้ว เขาก็อยากมาเที่ยว ก็ต้องดูควบคู่กันไป
ไทยถูกหักล้างด้วยค่าเงินบาทอ่อนที่อ่อนมากที่สุดใน 16 เดือน แล้วระดับไหนถึงเข้าโซนอันตรายและน่าวิตก
ระดับน่าวิตกผมคิดว่ายังตอบไม่ได้เพราะเหตุการณ์เพิ่งจะเกิดขึ้น ต้องรอดู 1-2 เดือนว่าปฏิกิริยาของภาคธุรกิจและประชาชนในยุโรปเขามองอย่างไร เพราะจะสะท้อนความคาดหวังเขา สะท้อนการใช้จ่ายภาคการตัดสินใจ ถ้าเงินบาทอ่อนกว่านี้คงทำให้ค่าครองชีพเราสูงขึ้นด้วย เงินเฟ้อบ้านเราก็สูงขึ้น ถ้าสูงมากเกินไปจนสุดท้ายของแพง นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วไม่คุ้ม ต้นทุนการผลิตเราสูงขึ้นตามไปด้วยมันจะเกิดปัญหา สุดท้ายยุโรปจะแย่เราก็จะแย่ตาม นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมแบงก์ชาติเราส่งสัญญาณเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยด้วยเครื่องมือคล้ายๆ กันก็เพื่อสื่อสารให้ภาคธุรกิจและระวังเรื่องกำลังซื้อในประเทศ
เงินอ่อนในแง่หนึ่งก็ดี แต่อีกแง่หนึ่งก็ไม่สมควรใช่ไหม
อะไรก็ตามถ้ามากเกินไปไม่ดีอยู่แล้ว เงินบาทอ่อนลงมาหน่อยดี แต่ถ้าอ่อนมากไปอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตของเราเพิ่มขึ้น เราต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน ปุ๋ยเคมี แล้วจะไปดันให้ค่าครองชีพแพงขึ้นจะได้ไม่คุ้มเสีย
มีคนพูดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เป็นการขึ้นช้าเกินไป ดีไม่ดีอาจจะเห็นขึ้นดอกเบี้ยอีก เพราะครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นมาก ขณะที่เฟดก็ยังมีทีท่าขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง และ ECB ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามอีก มองเรื่องนี้อย่างไร
เราต้องมองทั้ง 2 ฝั่งว่าโยนบอลกันไปมา มองนโยบายของอเมริกาก่อนเพราะอเมริกาขยับก่อน ECB ขยับหลังไม่เป็นไร ในตลาดเงินที่มีการพัฒนาสูงนั้นการปรับอัตราดอกเบี้ยใช้เวลาไม่นานในการส่งไปถึงตลาด การจะขึ้นช้ากว่าเขาหน่อยนึงไม่มีผล ถึงแม้ว่าจะขึ้นช้าแต่การคาดการณ์ของภาคการเงินในยุโรปเขารู้ว่าถ้าอเมริกาขึ้นอีก ECB ก็จะขึ้นตาม แม้ว่าการประกาศของทางการจะช้า แต่เป็นความคาดหวังในข้อมูลของฝั่งอเมริกาอยู่แล้ว
ของไทยเองการขึ้นดอกเบี้ยจำเป็นต้องขึ้นแรงหรือไม่
ผมเชื่อการขึ้นดอกเบี้ยของไทยน่าจะขึ้นแบบละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป เพราะให้เวลาธุรกิจปรับตัวและเปิดช่องให้กำลังซื้อฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง ถ้าขึ้นแบบยุโรปไม่น่าจะเหมาะ ผมว่า กนง.คงจะดูข้อมูลเศรษฐกิจรอบด้านและปัจจัยรอบคอบอยู่แล้ว ต้องมาลุ้นกันว่าสุดท้ายพึ่งเครื่องมือทางการเงินอย่างเดียวที่ใช้ในประเทศไทยจะสามารถชะลอเงินเฟ้อได้แค่ไหน เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมันมีเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากต้นทุนและเกิดจากการคาดการณ์ของประชาชนว่าต่อไปของจะแพงควบคู่กันไปด้วย
มองกระแสการลงทุนนับจากนี้เป็นอย่างไร ถ้าดูจากบรรยากาศเรื่องการดูแลเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ประกาศ กระแสทุนจะพลิกไปมาแบบไหนอย่างไร
โมเดลของการลงทุนยุคก่อนเขาจะมองเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลักเพราะเงินเฟ้อกระทบค่าแรงและกระทบการผลิต โมเดลการลงทุนยุคก่อน 3.0 จะมองแบบนี้ แต่ยุค 4.0 เขาจะลงทุนโดยที่ไม่ได้สนใจเงินเฟ้อมาก จะสนใจศักยภาพคนในพื้นที่ สนใจการส่งเสริมต่างๆ เพราะถ้าเราดูข้อมูล BOI ที่เน้น EEC เราใช้คนไม่เยอะและมีเทคโนโลยีในการผลิต มีการใช้หุ่นยนต์ ใช้ AI ซึ่งพวกนี้แม้ต้นทุนจะเพิ่มแต่เขาสามารถบีบต้นทุนต่อชิ้นให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมประสิทธิภาพการผลิต ถามว่าเงินเฟ้อจะมีผลต่อการลงทุนไหม ถ้าเป็นการลงทุนแบบเดิมเน้นการใช้แรงงานก็จะมีผล แต่ถ้าเรามองการส่งเสริมลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่ออนาคต เงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมโอกาสที่เราจะเติบโต มาตรการสนับสนุน นโยบายที่ชัดเจนระยะยาว เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะมองมากกว่า
ไทยมีอะไรต้องจับตาดูเป็นพิเศษทั้งในเรื่องหนี้ครัวเรือน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราแลกเปลี่ยน
ผมเป็นห่วงภาคประชาชนและ SME เพราะค่าครองชีพภาคประชาชนขึ้น กลุ่มที่เดือดร้อนคือกลุ่มรายได้น้อยและมีรายได้ประจำไม่เยอะ พวกนี้ไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายได้เลย ยิ่งของแพงยิ่งลำบาก ทำให้เขาต้องสร้างหนี้เพิ่ม พอใช้โควตาหนี้ในระบบเต็มก็จะชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ เพราะหนี้ในระบบเขาใช้เต็มลิมิตแล้ว ถ้าระยะยาวน่าเป็นห่วงมากกลายเป็น 1. ความยากจนเรื้อรังไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่จะกลับมาอีกรอบ 2. ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคราวนี้จะเห็นว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะได้ประโยชน์ เศรษฐกิจฟื้นคนที่แข็งแรง คนที่แกร่ง คนที่เตรียมพร้อมเขาไปได้
ในภาค SME 3 ล้านรายที่มีอยู่ของเราที่ผมกังวล คือ 2-3 ปีที่ผ่านมา SME ล้มหายตายจากก็เยอะ เมื่อก่อนหน้าออกอาการเปลี้ย มาตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแต่เขาไม่มีโอกาส ไม่มีกำลังพอจะคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น มันจะเกิดความเหลื่อมล้ำ ภาคธุรกิจที่พร้อมก็วิ่งขึ้นไปได้ ใครไม่พร้อมก็ร่วงลงไปอีก ต่อไปโครงสร้างเศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจจำนวนไม่เยอะ แล้วทำให้การกระจายรายได้มีน้อย
จากปัญหาหนี้ครัวเรือนจะลามมาเป็น NPL อีก
ใช่ คิดว่าปลายไตรมาส 3 ภาพอะไรที่ดีจะเห็นชัด ภาพน่ากลัวก็ออกมาชัด และเราจะรู้กันว่าทีนี้สุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะไหวไหม
ผู้ประกอบการธุรกิจควรทำอย่างไร
สำหรับรายใหญ่ไม่ห่วงเพราะเขามีกลยุทธ์รับมืออยู่แล้ว แต่ผมห่วงผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่าว่าเขาจะบาลานซ์ตัวเองอย่างไร ตอนนี้แม้ว่าจะขายดี ถึงอย่างไรก็ต้องอดทน เพราะจะไม่เร่งขยายกิจการ แต่สะสมสภาพคล่องไว้ เพราะการขายดีในวันนี้ไม่ได้การันตีว่าอีก 3 เดือนจะยังขายดีอยู่ ท่ามกลางความเสี่ยง การทำธุรกิจ การสะสมสภาพคล่อง ต้องเน้นการเติบโตที่พอดี ไม่ได้หมายความว่าไม่โต แต่โตช้านิดนึง เอาความมั่นคงไว้ก่อนสำหรับในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ถ้าไปถึงปีหน้าค่อยขยับ ถึงตอนนั้นเงินที่เราสะสมไว้ สภาพคล่องที่มีจะช่วยเราขยับไปข้างหน้าง่ายขึ้น
ส่วนธุรกิจที่ยังมองเรื่องของการบริหารต้นทุนได้ไม่ดี ตอนนี้เป็นเวลาบริหารจัดการต้นทุน เพราะอีกหน่อยต้นทุนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ การจัดการคน การปรับโมเดลให้ต้นทุนต่ำที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำให้ได้ เพราะยอดขายขึ้นช้า การอยู่รอดไม่ใช่การสร้างยอดขาย แต่เป็นการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดในระยะสั้น
หวังกันว่า GDP ของไทยปี 2565 จะดี เปิดประเทศแล้วจะดี แต่ดูปัจจัยและปัญหาแล้วไม่น่าจะถึงฝั่งฝันใช่ไหม
ผมว่าปิดบวก แต่บวกเท่าไหร่ต้องรอดูอีกนิด ยังบวกอยู่แต่บวกจากฐานที่ต่ำ มันเป็นการปีนขึ้นจากเหว ปีนขึ้นมาได้นิดนึง ยังต้องปีนอีกไกล น่าจะเป็นลักษณะนี้มากกว่า และไม่ใช่ทุกคนจะปีนได้พร้อมกัน มาตรการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือประชาชนกับผู้ประกอบการในช่วงนี้ต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ ต้องเป็นมาตรการที่ซอยย่อยซึ่งรัฐบาลมีข้อมูลในระดับนึงเพราะการฟื้นตัวหลังจากนี้นโยบาย 1 ชุดสำหรับคนทั้งประเทศใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเป็นนโยบายซอยย่อย เป็นโครงการใหญ่แต่ซอยย่อยให้ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม
แจกอย่างเดียวไม่ได้แล้วใช่ไหม
ใช่ ตอนนั้นต้องใช้นโยบายแบบนั้นเพราะต้องการผลในวงกว้าง แต่ตอนนี้เจอคนมีปัญหาหลากหลาย เฟส 2 ต้องเป็นนโยบายที่เจาะกลุ่มได้แล้ว
Comments