ชี้...วิกฤตการเงิน-เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ยังเป็นแค่สัญญาณเตือน เปรียบเหมือนลมเพิ่งกระพือแรงๆ ก่อนที่พายุลูกใหม่จะตามมากระหน่ำไม่ช้าก็เร็ว จุดเปราะบางที่สุดในวิกฤตรอบนี้คือตลาดทุนที่จะลามต่อไปยังตลาดเงิน โดยมีตัวเร่งสำคัญคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงาน เงินเฟ้อ การขาดแคลนอาหารและวัตดุดิบในการผลิต ประเมิน...ถ้าเกิดวิกฤตขั้นรุนแรงเฟดอาจใช้นโยบายแบบกลับหลังหัน เบรกนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแบบฉับพลันทันที รวมทั้งกลับไปใช้มาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นปัญหาปากท้อง แล้วค่อยๆ ไปตามแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาค่าเงินทีหลัง ส่วนแบงก์ชาติของไทยจะอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สองจิตสองใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่นาทีนี้แบงก์ชาติคงมองว่าการไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ง่ายกว่าการขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งแบงก์ชาติคงยอมรับกับภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าเพื่อประคองภาคส่งออกเป็นหลัก พร้อมแนะแนวคิดเกี่ยวกับภาษีลาภลอยในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาน้ำมันแพง แต่ควรแก้โดยกำหนัดสัดส่วนการบวกกำไรที่เหมาะสมของโรงกลั่นเพื่อทำให้ราคาน้ำมันต่อลิตรไม่แพงเกินจริงและโรงกลั่นก็มีกำไรในเชิงธุรกิจ ซึ่งวิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย
Interview : คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อาจารย์เคยพูดเตือนเรื่องมหันตภัยพายุวิกฤตโลกมานาน ซึ่งขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว
ที่บอกว่าวิกฤตเกิดขึ้นมาแล้วนั้น จริงๆ มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง เหมือนกับลักษณะก่อนที่พายุจริงจะมา คือจะมีลมกระพือแบบแรง มีลักษณะของฟ้ามืด เหมือนเป็นอาการเพิ่งเริ่มต้น
ตอนนี้ที่ต้องระวัง และเตรียมตัวมากที่สุดคืออะไร
จุดที่เปราะบางที่สุดเลยจะอยู่ที่ตัวตลาดทุน เพราะในแง่ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรป ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็จะหนักแน่นอน แล้วเวลานี้ก็มีเค้า อย่างลักษณะของการตอบโต้กันไปตอบโต้กันมาระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาถึงขั้นสมมติรัสเซียมีการปรับการส่งก๊าซที่ส่งไปยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทันที เพราะก๊าซเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะทำให้เกิดปัญหาต่อความเป็นอยู่ เพราะก๊าซเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทำให้บ้านเรือนอบอุ่น และใช้ในเรื่องหุงหาอาหาร
เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดขึ้นปัญหาเช่นนี้ จะทำให้กระทบต่อกำลังซื้อและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปค่อนข้างจะเร็ว แล้วถ้ากระทบแล้วยุโรปจะมีจุดอ่อนอยู่ที่ฐานะของประเทศที่ฐานะอ่อนแอ อย่างเช่น กรีซ โปรตุเกส อิตาลี สเปน เวลานี้ตัวพันธบัตรที่รัฐบาลออกมาขายได้ คือไม่ได้ขายให้กับนักลงทุนอย่างแท้จริงทั้งหมด บางส่วนที่ขายได้ก็คือขายให้ธนาคารกลางยุโรปที่เข้าไปช่วยซื้อ ฉะนั้นถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมา ภาวะเศรษฐกิจจะไปกระทบต่อตลาดทุน จะไปกระทบต่อตลาดพันธบัตรเหล่านี้ และพอกระทบแล้ว จะเป็นจุดที่ธนาคารกลางยุโรปไม่สามารถเข้าไปรับซื้อได้เหมือนเดิม คือถ้าจะให้ปัญหานิ่งก็ต้องรับซื้อมากกว่าเดิม แต่ยิ่งรับซื้อมากกว่าเดิม เงินเฟ้อยุโรปก็จะยิ่งไปกันใหญ่
ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นสัญญาณทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของตลาดทุน ตลาดเงินในยุโรป จากนั้นก็จะกระทบถึงสหรัฐอเมริกา แล้วมีโอกาสที่จะกระทบไปกว้างขวางทั่วโลก
ทีนี้ พอเลยจากตรงนั้นไปแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงและน่าจับตาก็เป็นในเรื่องของผลกระทบจากตัวสงครามโดยตรง ไม่ว่าในแง่ของราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน ก๊าซ แล้วก็ราคาของอาหาร และต่อเนื่องไปถึงราคาปุ๋ย ทั้งหมดคือปัจจัยใหญ่ที่ส่วนตัวคิดว่าในแง่ของนักวิเคราะห์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตการเงินอย่างเดียว แต่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เลย
คิดว่าถ้าเกิดปัญหาอย่างนี้ ส่วนหนึ่งซึ่งขอเดาว่าจะทำให้ธนาคารชาติของสหรัฐอเมริกา เรียกว่ามุ่งมั่นในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะดูแลเงินเฟ้อ แต่ไม่แน่ว่าก็อาจจะถึงขั้นที่ว่าอาจจะต้องเพลาการขึ้นดอกเบี้ยลง อาจจะต้องเบรก ถึงจุดหนึ่งอาจจะต้องกลับไปเติมเงินเข้าระบบด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ เอาให้ตลาดประคับประคองอยู่ไปได้ก่อน แล้วปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาดอลลาร์อ่อน ค่อยมาหาทางแก้กันทีหลัง ฉะนั้น ตรงนี้ในแง่ของแต่ละประเทศเขาก็จะมีวิธีการที่จะดูแลแตกต่างกัน
ในรอบ 45 วัน เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง ขณะที่ไทยเรายังไม่ได้มีการปรับขึ้นใดๆ ถือว่าไทยเราฝืนตลาดหรือไม่
ทางแบงก์ชาติก็ต้องถือว่าเขาดูแลสภาวการณ์อย่างใกล้ชิดกว่าที่ส่วนตัวจะไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าเวลานี้เหมือนกับมันแย่ ถ้าจะขึ้นดอกเบี้ยมันจะมีปัญหาประการหนึ่ง ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็จะมีปัญหาอีกประการหนึ่ง
ทีนี้ถ้าไม่ขึ้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือถ้าเกิดชาวบ้านเขาขึ้น เงินบาทก็จะอ่อนค่า พออ่อนค่าไปแล้วก็จะทำให้เงินเฟ้อ คือเวลานี้เงินเฟ้อมาจากปัจจัยภายนอก ค่าน้ำมัน ค่าพลังงานทั้งหลาย รวมถึงค่าปุ๋ย เงินเฟ้อมันเป็นปัจจัยลบต่อการนำเข้าเยอะ ยิ่งบาทอ่อนค่า เงินก็จะเฟ้อสูงขึ้น ก็จะเป็นปัญหาประการหนึ่ง
แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะทำให้เป็นการเบรกเศรษฐกิจในแง่ของกิจกรรมต่างๆ เหมือนเรารัดเข็มขัด การกินการอยู่ก็จะฝืดเคือง ในแง่นี้ทางแบงก์ชาติก็ต้องเลือก ซึ่งค่อนข้างจะลำบากนิดนึง แต่ไม่แน่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างที่เราพูดถึง สมมติว่าภายในเดือนสิงหาคม กันยายน เกิดพายุโหมแรง แล้วก็ในแง่ของทางเฟดเปลี่ยนใจ เบรกการขึ้นดอกเบี้ย แล้วก็หันหลังกลับกะทันหัน จะเท่ากับว่าการที่แบงก์ชาติของเราอยู่นิ่งๆ มานั้น อาจจะทำถูกต้อง แต่พอถึงตอนนั้น วิธีแก้ปัญหาก็ต้องไปอีกแนวหนึ่ง
ตอนนี้แบงก์ชาติอุ้มค่าเงินบาทอยู่หรือเปล่า ซึ่งบางคนบอกตอนนี้ต้องไปถึง 40 บาทแล้ว
ส่วนตัวไม่ได้ตามตัวเลข ถ้าหากว่าทางแบงก์ชาติเข้าไปอุ้มค่าเงินบาท ก็คือต้องเอาทุนสำรองออกมาแล้วเข้าไปแทรกแซง ถ้าเราดูไม่นานก็จะเห็นตัวเลขทุนสำรองลดลง แต่ส่วนตัวเดาว่าทางแบงก์ชาติเขาคงไม่รู้จะอุ้มทำไม คือมองในแง่นี้ คือเหมือนกับว่าสมัยก่อนทางแบงก์ชาติมีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล หาทางเบรก เพราะเรามีหนี้ภาคเอกชนที่เป็นดอลลาร์มาก เวลานี้ส่วนตัวมองว่าหนี้มันเป็นสกุลบาทเป็นหลัก เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ในแง่ที่ว่าสภาวะค่าเงินมันปรับตัวตามตลาดในแง่นี้ ส่วนตัวเดาว่าทางแบงก์ชาติเขาคงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า เพียงแต่ว่าต้องมาเลือกวิธีการแก้ปัญหา บริหารจัดการเศรษฐกิจระหว่างเงินเฟ้อ กับการไม่มีกิน ต้องรัดเข็มขัด แบบไหนจะมีวิธีแก้ง่ายกว่ากัน
ส่วนตัวขอเดาถ้าเราเลือกบาทอ่อนค่า มองในแง่นี้ก็คือส่งออกก็ยังไปได้เรื่อยๆ แต่จะมีปัญหาเงินเฟ้อ มันก็เป็นอีกทางหนึ่ง เพียงแต่ว่าวิธีแก้ปัญหาจะต้องมาเน้นขึ้นค่าแรง แล้วก็ดูแลคนที่มีฐานะด้อยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ในภาวะเงินเฟ้อ เข้าไปดูแลเป็นการเฉพาะ ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่อาจจะง่ายกว่า
ในมุมกลับกัน ถ้าเราเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ย เท่ากับว่าเราเลือกที่จะรัดเข็มขัด จะกินจะใช้ก็จะลำบาก ถ้าเป็นแบบนี้ต้องยอมรับเลยว่าโดยภาพรวมของเศรษฐกิจ ความยากลำบากก็จะค่อยๆ กระจาย การบริหารก็จะยากกว่าหน่อย ถ้าเป็นแบบนั้น ถามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอะไรได้ อาจจะแก้ไม่ได้มาก เพราะเวลานี้การควักสตางค์ออกมาใช้ทางนโยบายการคลังก็ใช้จนโอเวอร์ มีหนี้จนท่วมหัว แล้วบอกว่าจะไปใช้วิธีรัดเข็มขัด แล้วรัฐบาลจะมีกระสุนอะไรมาช่วย คงไม่มี ก็มีทางเดียวก็คือปลอบใจประชาชนว่าให้เข้าใจนะ ทุกคนต้องปรับตัว ใครธุรกิจไม่ดี ล้มก็ล้มไป หาทางล้มให้เป็นระเบียบ ดังนั้น วิธีขึ้นดอกเบี้ย จะบริหารยากกว่าหน่อย
มีความพยายามที่จะไปหักคอเอาเงินจากโรงกลั่น จากบริษัทน้ำมัน มาช่วยอุดหนุนกองทุนน้ำมัน ตรงนี้ทำได้หรือไม่
สาเหตุที่โรงกลั่นเมืองไทยมีกำไร มันเป็นกำไรที่เราเรียกกันว่าลาภลอย กำไรที่ลาภลอยเนื่องจากว่ากระทรวงพลังงานเข้าไปกำหนดว่าให้เปรียบเทียบกับกำไรโรงกลั่นของต่างประเทศ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดคือเขาเอาสิงคโปร์เป็นหลัก โดยเอาราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์หักดูต้นทุนน้ำมันดิบ มันดูเหมือนกับเป็นทางดี แต่ว่าตัวนี้ในสภาวะทั่วโลกเกิดปัญหาขึ้นมาว่า พอเกิดสงครามยูเครน ลักษณะของตลาดน้ำมันเปลี่ยนไป พอเปลี่ยนไปแล้ว โรงกลั่นน้ำมันในยุโรปซึ่งเคยกลั่นน้ำมันรัสเซียก็เปลี่ยนไปใช้น้ำมันแหล่งอื่นไม่ว่าจะแอฟริกาก็ดี หรือต่อไปจะต้องมาแย่งซื้อจากตะวันออกกลางก็ดี
เข้าใจว่าโรงกลั่นบางแห่งมันก็ไม่ทันแล้ว วันนี้โรงกลั่นในสหรัฐอเมริกา เวลานี้ก็มีน้ำมันไม่พอ แล้วเดิมโรงกลั่นที่อยู่ทางภาคตะวันออกของเขาใช้น้ำมันจากรัสเซียมากลั่น เพราะขนส่งจากเท็กซัสไปไม่คุ้ม ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศตะวันตก ตอนนี้ขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปมาก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลราคาขึ้นไปสูง หายาก ทำให้โรงกลั่นทั่วโลกถือโอกาสบวกกำไรขึ้นไปแบบชนิดที่มากเป็นพิเศษ อย่างนี้เรียกว่าเป็นกำไรลาภลอย
ลักษณะแบบนี้ ถ้าเกิดในไทยมันไม่เหมาะ เพราะไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ส่วนตัวขอเสนอหลักว่า ทางรัฐบาลควรจะเปลี่ยนแนวให้ออกมาในแนวบังคับโรงกลั่นว่าต่อไปนี้ ห้ามเอากำไรจากเนื้อน้ำมัน คือน้ำมันซื้อมาถูกก็ต้องขายถูก ซื้อมาแพงก็ต้องขายแพง ขายตามนั้น แต่ให้ไปเอากำไรจากค่าการกลั่นเท่านั้น แล้วในตัวค่าการกลั่นให้ไปเปรียบเทียบหาต้นทุนกับต้นทุนการกลั่นในประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ เพราะต้นทุนการกลั่นใกล้เคียงกัน เอาตรงนั้นมา แล้วเอามาเป็นตัวเลขเฉลี่ย แล้วเอามาเป็นมาตรฐาน แล้วถึงจะกำหนดบอกว่าให้บวกกำไรเพิ่มเติมต่อลิตรได้ไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งเป็นกำไรที่มันจะต้องยุติธรรมและคุ้มทั้งสองฝ่าย คือคุ้มกับการลงทุนของทางฝั่งธุรกิจแต่ไม่มากเกินไป แล้วก็ทางประชาชนไม่โดนขูดรีด วิธีนี้จะทำให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แล้วก็โปร่งใส และประชาชนก็รู้ว่าไม่ได้โดนขูดรีด
Comments